วันที่ 20 มีนาคม 2568 บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall นำโดย นายกชศร ใจแจ่ม กรรมการผู้จัดการ นางสาวมนประภา รัตนกนกพร หัวหน้าฝ่ายการตลาด นางสาวสาวิตรี ไชยวิสุทธิ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และนายโชติธนินท์ ปิติทิพยเกียรติ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ธุรกิจใไหม่ หารือกับตัวแทนกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย(TJA) ประกอบด้วย นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการและโฆษกฯ นางอุษา มีชารี อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ นายวัฒนะชัย ยะนินทร อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ นายชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม รองเลขาธิการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และนายสมศักดิ์ ศรีกำเหนิด เหรัญญิก ถึงแนวทางความร่วมมือของทั้ง 2 องค์กรในการจัดกิจกรรมและโครงการเพื่อให้สื่อมวลชนมีความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักรู้ให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากการหลอกลวงออนไลน์

โอกาสนี้ บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย ได้มอบรายงานประจำปี 2567 วิเคราะห์สถานการณ์กลโกงของมิจฉาชีพในประเทศไทยตลอดปีที่ผ่านมา ผ่านการรายงานมิจฉาชีพจากแอปพลิเคชัน Whoscall ทั้งจากสายโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์ต่าง ๆ ซึ่งพบว่าในปี 2567 ประเทศไทยมีจำนวนการตรวจพบสายโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงเพิ่มขึ้นประมาณ 168 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 112% จาก 79.2 ล้านครั้งในปี 2566 และถือเป็นยอดที่สูงสุดในรอบ 5 ปีของประเทศไทย ในส่วนของจำนวนการโทรหลอกลวงเพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านครั้ง จาก 20.8 ล้านครั้งในปี 2566
ขณะที่จำนวนข้อความ SMS หลอกลวงพุ่งสูงถึงเกือบ 130 ล้านครั้ง จาก 58.3 ล้านครั้งในปี 2566 กลโกงที่พบมากที่สุด ได้แก่ การหลอกขายบริการและสินค้าปลอม การแอบอ้างตัวเป็นหน่วยงาน และหลอกว่ามีเงินกู้อนุมัติง่าย การหลอกทวงเงิน การหลอกว่าเป็นหนี้
และในปีที่ผ่านมา บริการ Smart SMS Assistant หรือ ผู้ช่วย SMS อัจฉริยะที่ช่วยตรวจสอบข้อความจากหมายเลขที่ไม่รู้จัก พบว่ามีข้อความ SMS ที่เข้าข่ายการหลอกลวงมากถึง 130 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่ากลุ่มมิจฉาชีพยังคงใช้การส่งข้อความเป็นช่องทางหลักในการหลอกลวง
ข้อความ SMS หลอกลวงที่แนบลิงก์ฟิชชิง เช่น ข้อความ SMS ที่หลอกให้กู้เงิน และโฆษณาการพนันยังคงพบมากที่สุด นอกจากนี้กลุ่มมิจฉาชีพยังเปลี่ยนกลยุทธ์มาแอบอ้างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เช่น แอบอ้างเป็นบริการจัดส่งสินค้า รวมไปถึงการปลอมเป็นหน่วยงานสาธารณูปโภค เพื่อส่งข้อความชวนเชื่อที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับมาตรการลดค่าไฟฟ้า คืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า มาตรการคนละครึ่ง และดิจิทัล วอลเล็ต
ในรายงานประจำปีครั้งนี้ยังได้เปิดเผยถึงปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลโดยตรวจสอบผ่านฟีเจอร์ "ID Security" ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองได้ ในปีที่ผ่านมา ฟีเจอร์ ID Security กลายเป็นตัวช่วยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความระมัดระวังความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล โดยผลการวิเคราะห์พบว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ 41% รั่วไหลไปยังที่ต่าง ๆ เช่น ดาร์กเว็บ และดีพเว็บ ในบรรดาข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลพบว่า 88% เป็น อีเมล และ 97% เป็นเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งอาจมีข้อมูลเช่น วันเดือนปีเกิด ชื่อนามสกุล พาสเวิร์ด รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ หลุดร่วมไปด้วย
อ่านรายละเอียดรายงานที่นี่ https://whoscall.com/th/blog/articles/1538-Whoscall%20%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B5%202567%20