ปาฐกถาเรื่อง “เครือข่ายต้านคอร์รัปชั่น”
โครงการสัมมนาทางวิชาการติดตามนโนบายสาธารณะเรื่อง“4 ปีประเทศไทย:ภาพจริง-ภาพลวง ?”
วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม 2547 ณ ห้องประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดย รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์
รองประธาน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
วันนี้เป็นวันที่ประชาชนทั่วโลกได้ร่วมกัน ผนึกกำลังในการที่จะคัดค้าน เปิดโปง และต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นที่ครอบคลุมโลก สิ่งที่องค์กรภาคประชาชนได้ร่วมใจกันจัดการประชุมในวันนี้เป็นประสบการณ์ที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยว่าในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ใครกันแน่ที่เป็นคนที่ยืนหยัดต่อสู้กับเรื่องคอร์รัปชั่นอย่างแท้จริง
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงคอร์รัปชั่นกันอย่างกว้างขวาง ผมพยายามคิดว่าทำไมปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยจึงได้มีความรุนแรงมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และคิดว่านี้เป็นประสบการณ์ที่สำคัญของคนไทย และของสังคมไทยโดยส่วนรวมด้วยว่า ทำไมถึงได้มาเผชิญหน้ากับการคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรงที่สุด
ถึงขนาดมีนักวิชาการพูดกันว่าเป็นสถานการณ์คอร์รัปชั่นที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ไม่มีรัฐบาลไหนที่ผ่านมาที่สามารถจะถูกกล่าวขวัญในเรื่องการคอร์รัปชั่นรุนแรงเท่ากับในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา
รัฐบาลชุดปัจจุบันเริ่มต้นก่อนที่จะเข้าสู่อำนาจ ผู้นำพรรคถูกกล่าวหาในเรื่องของการซุกหุ้น ซึ่งเป็นการคอร์รัปชั่นแบบหนึ่งของภาคเอกชน การคอร์รัปชั่นไม่ได้มีแต่เฉพาะในภาคของรัฐบาล หรือภาคราชการเท่านั้น แต่ยังมีการคอร์รัปชั่นในส่วนของภาคเอกชน
ผู้นำของรัฐบาลชุดนี้ถูกกล่าวหาเรื่องซุกหุ้นตั้งแต่เริ่มต้น ที่หลุดพ้นจากคดีนี้ได้ที่สำคัญส่วนหนึ่ง เพราะการเป็นผู้นำขององค์กรภาคประชาชนที่ได้รับการเคารพรักจากภาคประชาชนนั้นเป็นส่วนสำคัญในการที่จะขอฉันทานุมัติจากภาคประชาชนให้โอกาสแก่ผู้นำของพรรคการเมืองในการเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำรัฐบาล
ประสบการณ์จากการทำวิจัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้พบสิ่งหนึ่งคือ ผู้นำรัฐบาลที่มาจากวิชาชีพ กับผู้นำที่มาจากนักธุรกิจ ระดับความรุนแรงของการคอร์รัปชั่นจะไม่เท่ากัน ผู้นำที่มาจากนักธุรกิจ หรือเป็นนักธุรกิจมีความโน้มเอียงที่จะทำให้การคอร์รัปชั่นรุนแรงมากกว่าผู้นำที่มาจากนักวิชาชีพ เพราะเหตุว่าเวลาที่นักวิชาชีพมาเป็นนายกรัฐมนตรี การคอร์รัปชั่นก็ยังเป็นแบบ 3 ฝ่าย หรือไตรภาคี ประกอบด้วย นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่นักธุรกิจมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำทางการเมือง การคอร์รัปชั่นไม่ได้เป็นไตรภาคี แต่เหลือเพียง 2 ฝ่าย เนื่องจากนักธุรกิจมาเป็นผู้นำในองค์กรของรัฐบาลเอง ก็จะเหลือกลุ่มธุรกิจกับข้าราชการเท่านั้น
แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ทำให้เหลือแค่เพียงทวิภาคี 2 ฝ่ายเท่านั้น แต่ทำให้เหลือเพียงเอกภาคี หรือว่ามีเพียงภาคีเดียว เนื่องจากมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือข้าราชการ ทำให้ระดับความรุนแรงของคอร์รัปชั่นนั้นมีสูง
นอกจากนี้ปัจจัยเงื่อนไขของการคอร์รัปชั่นมีการเปลี่ยนแปลงไป การคอร์รัปชั่นก่อนหน้านี้มักจะโกงกินเรื่องของงบประมาณแผ่นดินโดยเฉพาะการก่อสร้างเป็นหลัก รวมทั้งมีการคอร์รัปชั่นด้วยการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือบางทีก็หาประโยชน์ หาโอกาสต่างๆ เพื่อความได้เปรียบทางการเมือง ด้วยการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่การงานของข้าราชการ
แต่ว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมาถูกกล่าวหามากกว่ามีรูปแบบการคอร์รัปชั่นที่เปลี่ยนแปลงไป คือมีการคอร์รัปชั่นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องมีการศึกษา มีการตรวจสอบกันในระยะยาวต่อไปว่ามีความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน
เพราะฉะนั้นการคอร์รัปชั่นในตลาดหุ้น ในตลาดหลักทรัพย์ได้กลายเป็นแหล่งในการหาผลประโยชน์ของนักการเมือง เป็นครั้งที่มีการกล่าวขวัญกันมาก แล้วพูดกันว่าได้กลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญในการที่จะใช้ในการเลือกตั้งที่จะถึงในต้นปีหน้า
นอกจากนี้ การที่คอร์รัปชั่นในสังคมไทยมีความรุนแรงมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญคือการที่รัฐบาลสามารถที่จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือระบบราชการ ระบบการเมือง รวมทั้งองค์กรอิสระได้ ทำให้องค์กรอิสระเองไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะทำหน้าที่ของตัวเองได้
และที่สำคัญที่สุด สิ่งที่สังคมไทยได้เรียนรู้ในรอบ 4 ปีก็คือ องค์กรอิสระที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ตรวจสอบการคอร์รัปชั่นนั้นกลายเป็นองค์กรที่คอร์รัปชั่นเสียเอง เป็นสิ่งที่คนไทยได้เรียนรู้ความเจ็บปวดจากการปฏิรูปทางการเมือง
องค์กรที่หวังว่าจะทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ เป็นหู เป็นตา เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน กลับกลายเป็นองค์กรที่คอร์รัปชั่นเสียเอง ทำให้การคอร์รัปชั่นของรัฐบาลยิ่งทำได้มากขึ้น
การคอร์รัปชั่นที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบันนี้มีหลักฐานที่บ่งชี้จากการที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช ไปสำรวจองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ แล้วพบว่าประชาชนเห็นว่าการคอร์รัปชั่นในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเกิดขึ้นในระดับสูงมาก มากกว่าร้อยละ 90 เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนมองเห็นว่าการคอร์รัปชั่นนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวกับพวกเขามากขึ้น
การที่การคอร์รัปชั่นระบาดไปแม้กระทั่งในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่า ประชาชน องค์กรภาคประชาชนยังไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการคอร์รัปชั่นในสังคมใหญ่ได้
เพราะแม้กระทั่งคนธรรมดาพ่อค้าที่เข้าไปสู่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็ยังประพฤติในทางที่ไม่ควรจะกระทำ เวลาที่คนเหล่านี้ทำงานอยู่นอกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็มองเห็นปัญหาการคอร์รัปชั่นแต่เมื่อได้อำนาจ ก็กลับคอร์รัปชั่นเสียเอง นี่คือประสบการณ์ของคนไทยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา
ผมคิดว่าการที่นักธุรกิจเข้ามามีอำนาจในการปกครองประเทศ แล้วมีการคอร์รัปชั่นกันอย่างกว้างขวางไม่ใช่เพราะว่านักธุรกิจเป็นคนไม่ดี แต่สิ่งสำคัญที่สุด มาจากการที่นักธุรกิจมีการให้นิยามความหมายของการคอร์รัปชั่น ซึ่งไม่เหมือนกับประชาชนทั่วๆ ไป
เมื่อหลายปีก่อนช่วงที่ได้ลงไปทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ผมได้บอกไว้ว่า นักธุรกิจนิยามความหมายของคอร์รัปชั่นไว้ไม่เหมือนกับข้าราชการ ไม่เหมือนเกษตรกร ไม่เหมือนคนงาน แล้วนักธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กก็ให้นิยามความหมายของคอร์รัปชั่นไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อคนไทยได้รัฐบาลที่มาจากนักธุรกิจขนาดใหญ่ และยังเป็นนักธุรกิจระดับผูกขาดของประเทศ เป็นนักธุรกิจระดับข้ามชาติของประเทศ การให้ความหมายในเรื่องของคอร์รัปชั่นจึงไม่เหมือนกับประชาชนทั่วๆไป
ที่พูดอย่างนี้ ต้องการให้เข้าใจว่า เวลาที่นักการเมืองที่มาจากนักธุรกิจขนาดใหญ่คอร์รัปชั่นนั้น เขาไม่ได้รู้ตัวว่ากำลังคอร์รัปชั่นอยู่ ฉะนั้นการที่องค์กรภาคประชาชนบอกว่ารัฐบาลกำลังคอร์รัปชั่นนั้น มาจากมุมมองของภาคประชาชน กลุ่มวิชาชีพมา นักวิชาการ หรือคนธรรมดาสามัญ
ในขณะที่นักธุรกิจขนาดใหญ่มองว่าการจ่ายเงินใต้โต๊ะไม่ใช่เรื่องคอร์รัปชั่น ถือว่าเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจ นักธุรกิจขนาดใหญ่มีประสบการณ์มีความเคยชินที่แตกต่างจากประชาชนทั่วไป เนื่องจากคนที่จะทำธุรกิจขนาดใหญ่ได้นั้นต้องมีวัฒนธรรมในการทำธุรกิจแบบหนึ่ง ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่มีความเคยชิน
คนที่ทำธุรกิจขนาดใหญ่ โดยมากจะเคยชินกับการคอร์รัปชั่น
ประสบการณ์อีกอย่างหนึ่งที่ได้เรียนรู้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คือ การคอร์รัปชั่นในสังคมไทยไม่ใช่เป็นเรื่องของเงินๆ ทองๆ ที่มีขนาดใหญ่โตผิดปกติยิ่งกว่าทุกรัฐบาล แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคิดว่ามีการคอร์รัปชั่นอีก 2 เรื่องที่คนไทยมีความคุ้นเคยน้อยกว่า
เรื่องแรกคือ การคอร์รัปชั่นในเชิงการบริหารราชการแผ่นดิน จะพบว่ามีการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการตามอำเภอใจ ข้าราชการครู ข้าราชการทั่วไป ตกอยู่ในความกลัวอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน เรียกว่าไม่มีเคยมีข้าราชการยุคไหนในรอบ 50 ปีที่ตกอยู่ในความกลัวรัฐบาลยิ่งกว่าในขณะนี้ แม้กระทั่งในสมัยที่มีรัฐบาลทหาร ข้าราชการก็ไม่เคยตกอยู่ในความกลัวเท่านี้
ทั้งหมดเป็นผลมาจากที่มีการโยกย้ายตำแหน่งด้วยการที่ไม่ได้ถือเอาระบบคุณธรรม ความสามารถเป็นที่ตั้ง
แต่อย่างน้อยที่สุดคิดว่าในแวดวงราชการได้เรียนรู้ว่าปัญหาคอร์รัปชั่นทางการเมืองเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่คนไทยได้เรียนรู้ร่วมกัน
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำทรัพยากรของรัฐไปใช้อย่างกว้างขวางอย่างแทบไม่น่าเชื่อ มีการจัดงานจากรากหญ้าถึงรากแก้ว ใช้เงินจำนวนหลายร้อยล้านบาท มีการนำเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไปให้นักการเมืองทอดกฐินวัดละ 30,000 บาท 50,000 บาท ทั่วประเทศ รัฐบาลจะอธิบายปรากฏการณ์ลักษณะนี้อย่างไร ถ้าไม่เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์การคอร์รัปชั่นทางการเมือง รวมทั้งการที่มีปัญหาความรุนแรงในภาคใต้นั้นจะอธิบายอย่างไร
แล้วยังมีนโยบายในเรื่องของการปราบยาเสพติด ที่มีคนหายไปเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งจนถึงขั้นรุนแรงรัฐบาลจะอธิบายอย่างไร ถ้าไม่อธิบายว่าเป็นคอร์รัปชั่นด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
ผมคิดว่ายังเป็นบุญของประเทศไทยที่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจส่วนหนึ่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในช่วงที่ผ่านมาจะพบการนำรัฐวิสากิจจำนวนหนึ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีคนจำนวนหนึ่งร่ำรวยขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ
ความร่ำรวยของนักการเมืองในยุคนี้แตกต่างจากนักการเมืองยุคก่อนๆ นักการเมืองยุคก่อนๆ อาจจะรวยระดับหลายร้อยล้าน เป็นพันล้าน แต่ความร่ำรวยของนักการเมืองในยุคปัจจุบันได้ก้าวไปถึงระดับหมื่นล้านบาท และเป็นแสนล้านได้
ฉะนั้นจึงเป็นบุญของคนไทยที่การแปรรูปไฟฟ้า ประปายังไม่ประสบความสำเร็จ
อีกเรื่องหนึ่งที่คนในสังคมไทยได้เรียนรู้ร่วมกัน คือเรื่องของค่าหัวคิดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลที่องค์กรภาคประชาชนออกมาเปิดเผยเป็นระยะๆ ทำให้คนไทยทราบว่าค่าหัวคิดที่เดิมเก็บกันเพียง 5-10 % เพิ่มเป็น 20 % บางกิจกรรมสูงถึง 40 % ตรงนี้แหละที่แสดงให้เห็นระดับความรุนแรงของการคอร์รัปชั่นที่สูงขึ้นชัดเจน
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหากถามว่าองค์ไหนกันแน่ที่ยืนหยัดต่อสู้กับเรื่องคอร์รัปชั่นอย่างแท้จริง เราพบว่ารัฐบาลที่ประกาศจะทำสงครามกับการคอร์รัปชั่น ไม่ได้ทำสงครามคอร์รัปชั่นจริง องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่คนไทยทั้งประเทศต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้ปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก โดยมีความหวังว่าจะทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียง เป็นหูเป็นตาให้ประชาชนก็ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ตรวจสอบแต่กลับทรยศกับประชาชนด้วยการคอร์รัปชั่นเสียเอง สถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้มีแต่องค์กรของภาคประชาชนเท่านั้นที่ยืนหยัดต่อสู้กับเรื่องคอร์รัปชั่นอย่างแท้จริง
ในช่วงที่ผ่านมาเห็นแต่การเคลื่อนไหวของคนธรรมดาสามัญที่เป็นคนชั้นกลาง นักวิชาการ นักพัฒนาองค์การเอกชน นักวิชาชีพ กลุ่มคนที่ทำงานเท่านั้นที่ตั้งใจต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างแท้
ในการเลือกตั้งต้นปี 2548 จึงอยากเห็นองค์กรภาคประชาชนเข้าไปในมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างกระฉับกระเฉง เพราะว่าเราไม่อาจวางใจองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ของตัวเองตามกฏหมายได้
เพราะถ้าเราไม่สามารถหยุดยั้งกลุ่มบุคคลที่กำลังใช้อำนาจ ใช้เงินทองไปซื้อเสียงเข้า การคอร์รัปชั่นในอนาคตก็มีโอกาสจะรุนแรงมากขึ้น
ฉะนั้นองค์กรภาคประชาชนต้องผนึกกำลังกันในการหาทางที่จะสกีนให้คนที่ตั้งใจเข้ามาทุจริตเข้ามาได้ยากมากขึ้น เราอาจป้องกันไม่ได้ทั้งหมด แต่อาจจะป้องกันได้บ้าง ตรงนี้จะเป็นคุณูปการที่สำคัญที่สุด ที่พวกคนไทยทุกคน รวมทั้งองค์กรภาคประชาชนที่กำลังทำหน้าที่ของตนเองด้วยความรับผิดชอบคงจะได้รับความขอบคุณจากประชาชน รวมทั้งผมที่ได้ทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาที่ปรึกษามาครบ 3 ปี และในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ขอขอบคุณองค์กรภาคประชาชนทุกองค์กรที่ได้ทำหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริตตลอดมา ..................