ถอดประสบการณ์จริง จาก”นักข่าว”สู่ทีมสื่อสารพรรคการเมือง “คอนเนคชั่น”สำคัญมากสำหรับอาชีพนี้

รายงานพิเศษ

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน

...............................................

อาชีพ”คนทำสื่อ-นักข่าว”ก็เหมือนกับอาชีพอื่น ที่ก็มีคนที่ทำอาชีพนี้ พอถึงจุด ๆหนึ่ง ก็อาจเปลี่ยนสายงานเพื่อไปประกอบอาชีพอื่น ด้วยสาเหตุแตกต่างกันไป บางคนก็เกิดจากถึงจุดอิ่มตัว จึงต้องการเปลี่ยนสายงานเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิต บางคนก็เปลี่ยนเพราะต้องการไปทำอาชีพอื่นที่มีความมั่นคงมากกว่า และก็มีเช่นกันที่เปลี่ยนสายงานเพราะสภาพเศรษฐกิจของตัวเองและต้นสังกัด  

            โดยพบว่า ที่ผ่านมามีอดีตคนสื่อ-อดีตนักข่าว เปลี่ยนสายงานของตัวเองไปทำงานด้าน”การสื่อสาร-ประชาสัมพันธ์ให้กับพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ที่มีทั้งทำงานแบบเต็มเวลา เปิดเผยตัว แต่บางคนก็ทำฟรีแลนซ์เช่นมารับทำงานให้ตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พอจบการเลือกตั้งก็ปิดจ๊อบ เป็นต้น 

ทาง”ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน” เลยไปพูดคุยกับอดีตคนข่าวที่ตอนนี้ ไปทำงานด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้กับพรรคการเมืองเพื่อให้มาถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานด้านนี้ รวมถึงการให้ความเห็นมุมมองว่า เมื่ออดีตนักข่าวมาทำงานในส่วนนี้ การเป็นนักข่าวมาก่อน ช่วยสนับสนุนการทำงานให้กับตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน  

เริ่มที่คนแรก "แพรประพันธ์ นัยยุติ"หรือ"จุ๋ม อดีตนักข่าว-คนทำสื่อที่ผ่านการทำข่าวมาแล้วหลายสำนัก" เช่น แนวหน้า-เสรีรายวัน-ผู้จัดการ ฯลฯ อีกทั้งช่วงที่เป็นนักข่าว เป็นสตริงเกอร์หรือฟรีแลนซ์ให้กับสื่ออีกหลายค่ายเช่น อสมท.-สำนักข่าวไทย , บางกอกทูเดย์ และเป็นคอลัมนิสต์อีกหลายแห่งอาทิ  medical time , นิตยสารชีวิตต้องสู้, นิตยสารชาวไทย เป็นต้น ก่อนที่ต่อมาจะลาออกจากวงการนักข่าวไปเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปัจจุบันก็มาร่วมบุกเบิกก่อตั้งพรรคกล้า พรรคการเมืองใหม่ที่จัดตั้งมาได้สองปี โดยมาช่วยงานพรรคในด้าน"การสื่อสาร-ประชาสัมพันธ์ทางการเมืองให้กับพรรคกล้า" มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค แต่ก่อนหน้านั้นก็เคยไปช่วยงานด้านสื่อสารทางการเมืองให้กับ"กรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง-อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์"มาก่อนด้วย 

            "จุ๋ม-แพรประพันธ์"เล่าเส้นทางชีวิตในวงการสื่อก่อนจะมาทำงานกับพรรคกล้า ให้ฟังโดยสังเขปว่า แม้จะเรียนและจบการศึกษาด้านบัญชี -บริหารธุรกิจมาแต่ก็คิดมาตลอดว่า อยากเป็นนักข่าว โดยหลังเรียนจบเคยไปทำงานตามสายที่เรียนมาแต่ทำแล้วไม่ชอบ ทำได้แค่สิบห้าวันก็ลาออก และมาเริ่มต้นอาชีพด้านสื่อสารมวลชนกับนิตยสาร กรังด์ปรีซ์ และนิตยสารแทบลอยด์ชื่อสยามกอสซิปที่เป็นข่าวแนวกอสซิปในเครือกรังด์ปรีซ์

            ...เริ่มต้นงานข่าวจากสายบันเทิงแต่ตอนที่ทำก็รู้ตัวดีว่าไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่ตอนที่ทำ ก็ทำงานเต็มที่เพราะอย่างตอนที่ทำสยามกอสซิปก็เป็นแนวก็กอสซิปหนักๆ เลย รวมถึงอีกบางฉบับในเครือเช่น เลดี้สไตล์ ที่เป็นแนวรถยนต์ หัวหน้าสั่งให้หาข่าวหรือเขียนข่าวอะไรก็ทำเต็มที่เช่นแนวกอสซิปดารา ใต้เตียงดารา ใต้เตียงคนดัง แล้วก็เขียนคอลัมน์ต่างๆ เป็นคอลัมนิสต์ เพราะเป็นคนชอบเขียนหนังสืออยู่แล้ว ก็ทำได้ไม่ถึงปี ก็เริ่มรู้สึกว่างานข่าวสายบันเทิงไม่ค่อยเหมาะกับตัวเองเท่าไหร่นัก ต่อมา ก็เขียนจดหมายสมัครงานไปที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า ที่ตอนนั้นเป็นสื่อที่เราอยากไปทำงานด้วยมากเพราะเคยเห็นบทบาทการเสนอข่าวของแนวหน้า เช่น เป็นสื่อที่เสนอข่าวการทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้งกลับมาประเทศไทย เพราะเราชอบสไตล์ประวัติศาสตร์อะไรแบบนี้อยู่แล้ว ก็เลยเขียนจดหมายสมัครงานไปสี่หน้ากระดาษ ตอนนั้น บรรณาธิการข่าวของแนวหน้าคือ พี่แว่น วันชัย วงศ์มีชัย ก็เลยเรียกมาสัมภาษณ์และรับเข้าทำงานเป็นนักข่าวแนวหน้าเมื่อปี 2538 

            ...ทำงานข่าวอยู่ที่แนวหน้าเป็นสิบกว่าปี  โดยอยู่กองบก.ที่ทำงานหลายสาย เป็นคล้ายๆ นักข่าวเฉพาะกิจ ทำหลายอย่าง ทั้งข่าวปกติ ข่าวรายวัน ข่าวเจาะ การทำสกู๊ปข่าว อย่างการเจาะข่าวเราก็ลงพื้นที่จริงๆ หรืออย่างทำรายงานพิเศษ สกู๊ปข่าวเรื่องราวของวัดวาอารามต่างๆ รวมถึงข่าวแนวอาชญกรรม เพราะเราค่อนข้างเป็นคนที่มีความคล่องตัว พี่ๆในกองบก.ก็ใช้ไปทุกที่ คล้าย ๆนักข่าวเฉพาะกิจ ส่วนสายงานข่าวด้านการเมือง ก็ไปอยู่ประจำมาหลายที่รวมถึงไปช่วยเสริมทีมข่าวที่เขาประจำอยู่แล้ว ก็มี เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และได้เป็นนักข่าวประจำที่ ฏระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข  ก็อยู่แนวหน้ามาเกือบสิบปี 

            จนต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านในกองบก.แนวหน้า ที่อดีตกองบก.ส่วนหนึ่งแยกตัวออกไปเปิดหนังสือพิมพ์ชื่อ"เสรีรายวัน" ที่ตอนนั้น พี่ช้าง สมชาย มีเสน (รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด) อดีตบก.แนวหน้า แยกตัวออกจากแนวหน้าไปเป็นทีมงานผู้บริหารของนสพ.เสรีรายวัน โดยช่วงอยู่ นสพ.เสรีรายวันก็รับผิดชอบงานหลัก ๆ ก็คือ ทำข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยบก.ข่าวสังคม ก็ทั้งทำข่าวปกติและเขียนคอลัมน์ต่าง ๆ ซึ่งช่วงนั้น ข่าวเกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข จะเยอะมากและหลายเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ๆ ทั้งนั้นโดยเฉพาะเรื่องโรคระบาดในประเทศไทยตอนนั้นคือไข้หวัดนก โรคซาร์ส เปิดตัวผลิตหนังสือพิมพ์รายวันออกมาได้ประมาณเก้าเดือนก็ปิดตัวลงในช่วงปี 2546

            ...ต่อมานสพ. เสรีรายวันประกาศปิดตัว เราตกงานอยู่ได้ประมาณครึ่งชั่วโมง พี่แคน สาริกา ก็โทรไปหาพี่วสันต์ ภัยหลีกลี้ ที่ตอนนั้นเป็น บก.บห.อยู่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ก็บอกว่ามีน้องนักข่าวคนหนึ่งทำงานดีใช้ได้ ซึ่งตอนนั้นเครือผู้จัดการ เป็นสำนักข่าวที่บุกเบิกการทำข่าวออนไลน์ทางเว็บไซด์ที่กำลังเฟื่องฟูมาก เขาก็ต้องการทีมงาน ก็เลยเรียกไปสัมภาษณ์ แล้วก็รับเข้าทำงาน โดยให้ประจำกอง บก.สายคุณภาพชีวิต-ข่าวสังคมทั่วไป โดยเข้าไปตอนแรก ก็ไปประจำที่กระทรวงสาธารณสุข ที่ตอนนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เป็นรมว.สาธารณสุข ก็ทำข่าวหลายอย่างตอนนั้นเช่น ทุจริตการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ในกระทรวงสาธารณสุข แล้วต่อมาเกิดเหตุ สึนามิในประเทศไทย กองบก.ก็ส่งไปทำข่าวในพื้นที่เป็นเดือน ๆ จนต่อมา ในยุครัฐบาลไทยรักไทยหลังเลือกตั้งปี 2548 ก็มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรี โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ก็ปรับย้ายจากกระทรวงสาธารณสุข ไปเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ ทางกองบก.ก็ให้ไปทำข่าวที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอนนั้นก็จะมีข่าวเช่นเรื่องทุจริตจัดซื้อกล้ายาง ที่ทางผู้จัดการก็นำเสนอมาต่อเนื่อง โดยระหว่างที่ทำข่าวไป ก็ปรากฏว่า ต่อมาในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาหน่วยงานหนึ่งชื่อว่า สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Office of Knowledge Management and Development – OKMD โดยสบร.มีหน่วยงานหนึ่งชื่อว่า "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์" เป็นองค์การมหาชน หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ที่ต่อมาไปอยู่ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เดิมหรือปัจจุบันคือกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่มี นพ.ธงชัย ทวิชาชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย(TCELS) คนแรก ที่เป็นอดีตผอ.องค์การเภสัชกรรม พอนพ.ธงชัยไปทำงานที่ ทีเซลส์ เขาก็ติดต่อไปยังพีอาร์กระทรวงสาธารณสุข เพราะอยากได้คนมาทำงาน คนที่เขาติดต่อไปก็แนะนำว่าตัวเราทำงานน่าจะทำงานได้ดี เราก็เลยไปคุยรายละเอียดการทำงาน-ค่าตอบแทน เราก็เลยลาออกจากอาชีพนักข่าวไปทำงานที่ทีเซลส์ ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ 

            "จุ๋ม-แพรประพันธ์"เล่าต่อไปว่า ต่อมา เมื่อมีการตั้งรัฐบาลยุคคสช. ก็มีการตั้ง "พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์" เป็นรมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เขาก็เลยดึงเราไปเป็นทีมงานหน้าห้องรัฐมนตรี ก็เลยเป็นการทำงานกับนักการเมืองครั้งแรก ทำให้มีประสบการณ์ทำงานกับนักการเมืองก็ตอนนั้น โดยเป็นทั้งทีมงานพีอาร์ประชาสัมพันธ์ให้รัฐมนตรีด้วยและทำงานที่ทีเซลส์ด้วย ต่อมาพอทำงานไปสักพักถึงจุดอิ่มตัว ก็เลยลาออกจากทีเซลส์ที่เป็นองค์การมหาชน โดยออกมาเป็นฟรีแลนซ์ทำงานหลายอย่าง รวมถึงทำงานให้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์ด้วยฯ ในลักษณะเป็นสัญญาจ้าง รวมถึงทำงานให้ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ด้วย 

            ...ระหว่างนั้น ก็พอดีรู้จักกับรุ่นน้องคนหนึ่ง ซึ่งเป็นภรรยาของ เลขานุการส่วนตัวของคุณกรณ์ จาติกวณิช ที่เชี่ยวชาญด้านสื่อต่างประเทศ ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งปี 2562 ตอนนั้น คุณกรณ์นอกจากเป็นรองหัวหน้าพรรคแล้ว ก็ยังเป็น ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ด้วย คุณกรณ์ก็อยากได้คนมาช่วยงานที่เป็นลักษณะฟรีแลนซ์ มีความถนัดด้านข่าวการเมือง ไปช่วยงาน ทางเลขาคุณกรณ์ ก็เลยไปถามภรรยาเขา ซึ่งภรรยาเลขาคุณกรณ์ ก็แนะนำเราให้ไปคุยกับคุณกรณ์ดู ตอนนั้นเราก็ไม่ได้รู้จักกับคุณกรณ์ เป็นการส่วนตัวมาก่อน เพียงแต่เคยไปทำข่าวเขาตอนหาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่โดยเฉพาะตอนที่ไปร้องเรียนเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง (ซึ่งเป็นการลงสมัคร ส.ส.สมัยแรกของคุณกรณ์)  หลังจากนั้นก็ไม่เคยเจอกันอีกเลยมาเจออีกทีตอนไปคุยเรื่องไปช่วยงานที่เวลาห่างกันกับตอนทำข่าวตอนนั้นถึง 14 ปีแต่ระหว่างนั้น ก็ติดตามการทำงานของคุณกรณ์บ้าง ก็มองว่าเป็นคนเก่ง และที่สำคัญไม่เคยทิ้งคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงทางการเมืองอะไร คนที่ยืนอยู่ข้างๆ ตลอดก็คือ คุณกรณ์ เราก็เลยประทับใจ จนเมื่อพูดคุยกันแล้วก็เลยตกลงมาร่วมงานด้วยในลักษณะฟรีแลนซ์ 

            "จุ๋ม-แพรประพันธ์ "เล่าให้ฟังอีกว่า ช่วงแรกๆที่ทำงานร่วมกับ"กรณ์-อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์"ก็เป็นทีมงานส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับพรรค โดยมีทีมงานกันอยู่สามคน ช่วยกันทำข่าว ถ่ายรูป คุณกรณ์ตอนหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 ที่เป็นทีมงานส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับทีมของพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด  จนหลังเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง คุณกรณ์ มองว่าตัวเองมีความพร้อมที่จะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เลยลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีการเปิดตัวและหาเสียงกับโหวตเตอร์ เราก็ยังไปช่วยงานตรงนั้นอยู่ และเมื่อผลออกมาคุณกรณ์ไม่ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเกิดอะไรหลายอย่างขึ้น จนคุณกรณ์ตัดสินใจออกจากประชาธิปัตย์มาตั้งพรรคการเมือง 

            ....ทีมงานพีอาร์ที่ทำงานให้กับคุณกรณ์และคุณกรณ์ เราก็มาคุยกันสามคน ทุกคนก็รับรู้มาตลอดเรื่องการเตรียมจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งเราก็มองว่าเป็นเรื่องดีที่จะออกมาตั้งพรรคการเมือง ช่วงแรก ๆ ของการฟอร์มทีมงาน ตอนแรกก็ยังไม่มีใคร ก็มีการไปคุยกับคนหลายกลุ่มเพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้ จนท้ายที่สุดเมื่อตกลงกันว่าจะตั้งพรรคการเมือง เราก็เลยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกล้าด้วย หลังจากนั้นก็มีการเปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการตอนปี 2562  

            "จุ๋ม-แพรประพันธ์"เล่าถึงการทำงานด้าน"การสื่อสารทางการเมืองและประชาสัมพันธ์ให้กับพรรคกล้า"ว่า หลังจากตั้งพรรคกล้าและเริ่มมีการขยับขยายออกไปเรื่อย ๆ ทั้งคนที่เข้ามาร่วมงานการเมืองและการวางระบบต่างๆ ในพรรค ที่รวมถึงการตั้งทีมสื่อสารของพรรคกล้าขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบดูแลเรื่องข่าวต่างๆ ของพรรคกล้า แต่ตัวเราเอง แม้จะร่วมก่อตั้งพรรคด้วยตั้งแต่แรก แต่ก็ไม่ได้เป็นทีมงานประจำ เพราะส่วนตัวมีงานอย่างอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคกล้าเยอะ เลยไม่สามารถทำแบบ full-time ได้ แต่ก็ยังช่วยงานด้านข่าวของพรรคกล้า แต่ทำลักษณะเป็นฟรีแลนซ์แต่ก็เป็นฟรีแลนซ์ที่ช่วยทำงานด้านยุทธศาสตร์ให้พรรค โดยเฉพาะดูแลเรื่อง"การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์

         "หน้าที่ของเราไม่ได้ดูทุกข่าวของพรรคกล้า แต่ดูในลักษณะข่าวของทีมผู้บริหารพรรค เช่น คุณกรณ์ จาติกวณิช พี่หมู วรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า แต่สำหรับข่าวของพรรคกล้า รวมถึงข่าวของแกนนำพรรคเช่น ข่าวคุณกรณ์ ที่เป็นข่าวเชิงภาพรวม ก็จะมีทีมสื่อสารของพรรคกล้า รับผิดชอบเป็นหลักอยู่ เราก็จะดูในเชิงภาพรวม เป็นทีมงานเบื้องหลัง"

            ....ที่ผ่านมาแม้จะไม่ได้ทำข่าวมาแล้วหลายปี แต่ก็ยังทำงานในลักษณะการประชาสัมพันธ์หน่วยงานภาครัฐอยู่หลายแห่ง และที่ผ่านมา ก็ยังมีการติดต่อสื่อสารพูดคุยกับคนที่อยู่ในองค์กรสื่อหลายแห่ง เพราะด้วยความที่เราเป็นอดีตคนข่าวที่เคยทำข่าวเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ดังนั้น มาวันนี้ เพื่อนเรา น้องเรา พี่เรา ในวันนั้น ขึ้นเป็นผู้บริหารแทบทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องการทำงานในสายงานอย่างเรา เรื่องของ"คอนเนคชั่น"เป็นเรื่องสำคัญมาก เราอาจไม่ได้รู้จักนักข่าวรุ่นใหม่มาก คือรู้จักบ้างแต่ก็ไม่ได้รู้จักเยอะ แต่เราจะรู้จักผู้บริหารหลายคน เราก็จะทำข่าวของพรรคที่เป็นข่าวเชิงยุทธศาสตร์ เพราะด้วยความที่เราเคยเป็นสื่อ เคยเป็นประชาสัมพันธ์องค์กรภาครัฐ และทำงานด้านยุทธศาสตร์พีอาร์ เราเคยเป็นที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บางครั้งเราก็เคยไปสอนไปเป็นอาจารย์บ้าง ทำให้เราจะรู้ว่าสื่อคิดในแต่ละเรื่องอย่างไร รวมถึงผู้บริหารองค์กร และนักการเมืองคิดอย่างไร และเราจะรู้ว่าเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายบาลานซ์กัน ควรทำอย่างไร และสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาจากการทำประชาสัมพันธ์ก็คือ เราต้องรู้ดีเอ็นเอของพรรคการเมือง และต้องรู้ดีเอ็นเอของคนที่เป็นผู้บริหารองค์กรที่เราทำงานด้วย เพื่อที่ว่าเวลามีประเด็นอะไร แล้วสื่อติดต่อสอบถามมา เราก็จะตอบได้ว่าสิ่งที่เขาถามหรือสงสัยอยากรู้ หัวหน้าพรรคเขาคิดในประเด็นนั้นอย่างไร แล้วสิ่งที่สื่อคิดหรือสื่อสะท้อนผ่านเรามา เราก็นำไปคุยกับผู้บริหารพรรค แล้วเราก็มาวิเคราะห์กัน

            เพราะฉะนั้น ข่าวทุกชิ้นที่ออกไปจากเรา จะผ่านการพิจารณาจากผู้บริหารพรรคว่าควรเป็นแบบนี้ ข่าวจึงออกมาในลักษณะเชิงยุทธศาสตร์ แต่หากเป็นข่าวที่เกี่ยวกับนโยบายของพรรค จะถูกนำเข้าที่ประชุมยุทธศาสตร์ของพรรคเหมือนกัน ซึ่งการที่จะนำข่าวอะไรออกไปนำเสนอ ก็ผ่านการพิจารณาของทีมยุทธศาสตร์เหมือนกัน ยกเว้นข่าวทั่วไป ก็อยู่ในอำนาจของทีมโฆษกพรรคที่สามารถพูดได้เลย แต่ว่าส่วนใหญ่ก็จะต้องนำเข้าที่ประชุมยุทธศาสตร์พรรคก่อนว่า พรรคควรนำเสนอหรือพูดแสดงความเห็นในประเด็นไหนบ้าง ภายใต้หลักที่เป็นดีเอ็นเอของพรรคกล้าคือ จะไม่โจมตีใคร และเป็นพรรคที่เน้นการลงมือทำ ปฏิบัตินิยม 

การสื่อสารทางการเมืองของพรรคการเมือง

สิ่งที่ต้องทำแต่ละวันมีอะไรบ้าง?

         "จุ๋ม-แพรประพันธ์ "กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องการมอนิเตอร์ข่าวสารของพรรคกล้าผ่านสื่อต่างๆ ว่า อย่างตัวเราเอง แต่ละวันก็จะมอนิเตอร์ข่าวหลายแหล่ง เช่นการดูจาก clipping news สรุปข่าวที่เขาจะสรุปมาจากหนังสือพิมพ์ ส่วนข่าวที่เผยแพร่ทาง โซเชียลมีเดีย เช่น เว็บไซด์ข่าวต่างๆ  ทางทีมสื่อสารของพรรคกล้า ก็จะช่วยกันมอนิเตอร์ ส่วนทีมที่ทำคอนเทนต์เพื่อสื่อสารทางการเมืองของพรรคกล้า ผ่านสื่อดิจิตอลมีเดียต่างๆ เช่น เฟซบุค ทวิตเตอร์ คลับเฮ้าส์ ก็จะมีคนรับผิดชอบด้วยอีกส่วนหนึ่ง เช่น จะคอยดูกระแส ดูเทรนด์ในโซเชียลมีเดียว่าประเด็นหรือเรื่องไหน อยู่ในกระแสที่คนสนใจ หรือคิดคอนเทนต์ต่าง ๆ เช่น TikTok ของคุณกรณ์ ที่แกะปู ที่ตอนนั้นทำออกมาแล้วกระแสตอบรับดีมาก ทางทีมงานก็มีการนำไปขยายผลในส่วนอื่น ๆ อีกเช่น เพจของพรรคกล้า 

            ...ส่วนการส่งข่าวสารต่างๆ ที่เป็นความเคลื่อนไหวหรือความเห็นของคนในพรรคกล้าในบริบทต่างๆ ไปยังสื่อมวลชน ก็เป็นไปตามยุคสมัย อย่างปัจจุบันที่สื่อมีความหลากหลาย มีหลายแพลตฟอร์ม  นอกจากส่งข่าวสารปกติแล้วก็ยังส่งพวกคลิปหรือภาพถ่ายประกอบข่าวให้กับสื่อมวลชนด้วย แต่ช่วงหลังพอพรรคมีทีมสื่อสารมารับผิดชอบโดยตรง ก็เลยให้เป็นหน้าที่ของทีมสื่อสารเป็นผู้รับผิดชอบหลักไป ซึ่งด้วยบุคลากรของทีมสื่อสารพรรคกล้า บางคนเป็นอดีตสื่อมวลชนมาก่อน เคยเป็นคนข่าวสายโทรทัศน์ ตัดคลิป-เขียนข่าวได้ โดยประสบการณ์ตรงนี้ก็ช่วยการทำงานของทีมสื่อสารพรรคกล้าที่มีอยู่ประมาณ 6 คนได้มาก เพราะเขาจะเข้าใจได้ว่าสื่อมวลชนต้องการคลิปหรือภาพนิ่งลักษณะใด

            ...ขณะเดียวกัน ก็มีการคอยมอนิเตอร์ข่าวสารการเมืองในภาพรวมและข่าวเกี่ยวกับพรรคกล้าที่สื่อแต่ละแห่งนำไปเสนอหรือวิพากษ์วิจารณ์แต่ละวันด้วย ที่หลัก ๆ ก็คือจะดูจาก clipping ข่าวรายวัน โดยทุกเช้าจะมีการส่งไลน์สรุปข่าว-ประเด็นข่าวแต่ละวันให้กับผู้บริหารพรรคกล้า ส่วนการทำงานบางช่วงก็จะหนักมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะการเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมา พรรคกล้าก็ส่งคนลงเลือกตั้งซ่อมลงไปบ้างแล้วแต่ช่วงที่งานหนักมากเป็นพิเศษก็คือตอนหาเสียงเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร ที่ตอนนั้น เลขาธิการพรรค อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ลงสมัครด้วย ซึ่งอยู่ในช่วงใกล้เคียงกับตอนเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพร-สงขลา ทางทีมงานสื่อสารของพรรคกล้า ก็ต้องแบ่งงานกันไปช่วยทำข่าวเขียนข่าว  ถ่ายรูป-ถ่ายคลิป-ตัดต่อคลิป  ก็แบ่งกันลงพื้นที่แล้วก็นำข่าวมาเผยแพร่ทางช่องทางต่าง ๆ ซึ่งหากไม่ได้เป็นนักข่าวมาก่อนก็อาจลำบากเหมือนกันแต่ส่วนใหญ่ในทีมงานสื่อสารของพรรคก็เป็นอดีตนักข่าวมาก่อนก็เลยทำกันได้หมด   

            เมื่อถามถึงว่าการเป็นอดีตสื่อมวลชน อดีตนักข่าว พอมาทำงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์พรรคการเมือง คิดว่ามีจุดแข็งหรือเป็นประโยชน์ต่อการทำงานด้านนี้หรือไม่"แพรประพันธ์-อดีตคนข่าว ที่ตอนนี้เป็นหนึ่งในทีมงานด้านการสื่อสารทางการเมืองและประชาสัมพันธ์ พรรคกล้า"ตอบว่า มีประโยชน์แน่นอนเพราะทางผู้บริหารและทางพรรคกล้า ก็ย่อมต้องอาศัยคอนเนคชั่นจากเรา เพราะด้วยความที่เราอยู่ในวงการสื่อมานานมาก และเพื่อนฝูง รุ่นน้องรุ่นพี่ ตอนนี้หลายคนก็ขึ้นเป็นผู้บริหารในองค์กรสื่อ เป็นกองบรรณาธิการข่าวระดับฝ่ายบริหาร และแม้ว่าเราจะไม่ได้ทำอาชีพสื่อมานาน แต่เรายังติดต่อกับเพื่อนเราตลอด ช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เป็นนักข่าวจนลาออกมาทำอาชีพอื่น เราก็ยังติดต่อไปมาหาสู่กับพรรคพวกเพื่อนฝูงตลอด ดังนั้นเรากับนักข่าว-กองบก.สื่อหลายแห่ง จึงไม่ได้มีความรู้สึกแปลกแยกกันเลย ยังเป็นเพื่อนกันหมด นัดกินข้าวพบปะกัน เราไปได้หมดเกือบทุกที่ นี้คือข้อได้เปรียบของเรา อย่างพอมาทำงานกับพรรคกล้า ก็มีบ้างที่มีบางประเด็นข่าวหรือสื่ออยากได้ข้อมูลอะไรบางอย่างเพื่อนำไปเขียนรายงานหรือเขียนคอลัมน์  เขาก็จะโทรศัพท์มาหาหรือสอบถามกับเราโดยตรง  

            "จุดแข็งของคนที่เคยทำสื่อ เป็นนักข่าวมาก่อน แล้วมาทำงานด้านการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ทางการเมือง ก็คือ เรื่องของคอนเนคชั่น ที่เรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับแวดวง การทำงานด้านการสื่อสาร ไม่ว่าจะอยู่ในวงการการเมือง รวมถึงแม้แต่กับวงการอื่นด้วย และด้วยความที่เราทำงานด้านสื่อ ทำข่าวมานาน และแม้จะออกมาจากวงการสื่อแล้วแต่เราไม่เคยทิ้งพรรคพวกเพื่อนฝูง พี่น้องของเรา เราดูแลกันมาตลอด ความเป็นเพื่อนทำให้เรารักกัน พอหลายคนรู้ว่าเรามาร่วมบุกเบิกการตั้งพรรคกล้า มาทำงานด้านประสานสื่อ หลายคนก็สนับสนุน เพราะคนที่เรารู้จักในแวดวงสื่อ มีอะไรก็พูดกันตรงๆ ก็ยังยกหูคุยกันอยู่"จุ๋ม แพรประพันธ์ กล่าวตอนท้าย

“จุดแข็งของคนที่เคยทำสื่อ เป็นนักข่าวมาก่อน แล้วมาทำงานด้านการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ทางการเมือง ก็คือ เรื่องของคอนเนคชั่น ที่เรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับแวดวง การทำงานด้านการสื่อสาร ไม่ว่าจะอยู่ในวงการการเมือง รวมถึงแม้แต่กับวงการอื่นด้วย

จากอดีตนักข่าวรัฐสภา

สู่น้องใหม่วงการสื่อสารประชาสัมพันธ์พรรคการเมือง

            ถัดมาที่อีกหนึ่งอดีตผู้สื่อข่าวสายการเมืองที่วันนี้ มาทำงานด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์พรรคการเมือง ให้กับอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นั่นก็คือ "นางสาวปราณี ประสพคุณ-อดีตผู้สื่อข่าวสายการเมืองหนังสือพิมพ์บ้านเมือง"ที่วันนี้เป็นหนึ่งในทีมงานสื่อสารของ"พรรคสร้างอนาคตไทย"ที่มี"อุตตม สาวนายน อดีตรมว.คลังและสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พลังงาน เป็นแกนนำในการตั้งพรรค"นั่นเอง 

            ก่อนจะไปคุยกันเรื่องการทำงานด้านการสื่อสาร-ประชาสัมพันธ์ให้กับพรรคสร้างอนาคตไทยว่ามีขอบเขตการทำงานและงานที่ทำแต่ละวันเป็นอย่างไรบ้าง "ปราณี"บอกเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้สมัยเป็นนักข่าวอยู่นสพ.บ้านเมือง เคยเป็นนักข่าวสายการเมืองประจำทำเนียบรัฐสภา- รัฐสภา โดยดูแลรับผิดชอบการทำข่าวพรรคชาติไทย และพรรคประชาธิปัตย์  ส่วนที่ตอนนี้เข้ามาทำงานด้านสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้กับพรรคสร้างอนาคตไทยนั้น เป็นเพราะเคยรู้จักกับนายวัชระ กรรณิการ์ กรรมการประสานงานพรรคสร้างอนาคตไทย ตั้งแต่สมัยเป็นนักข่าวประจำพรรคชาติไทย  และได้กลับมาพบกันอีกครั้งเมื่อครั้งคุณวัชระ มาเป็นโฆษกกระทรวงพลังงาน ซึ่งขณะนั้นเป็นที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ให้กระทรวงพลังงาน ภายใต้บริษัท ซิน คัมปานี จำกัด บริษัทพีอาร์เอเจนซี่ ที่ทำงานให้กับกระทรวงพลังงาน จากนั้นพอคุณวัชระได้ร่วมเป็นผู้ก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย จึงได้ประสานให้มาร่วมงานด้วย ด้วยความนับถือในตัวคุณวัชระ และศรัธาในตัวคุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พลังงาน  ในแนวคิดด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานต่างๆ เมื่อครั้งได้ทำงานด้วยในช่วงที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงได้ตัดสินใจเข้ามาทำงานพีอาร์สายการเมือง ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายใหม่ๆ ในชีวิต

            สำหรับหน้าที่ความรับผิดชอบหลักๆ ในตอนนี้ "ปราณี"เล่าว่า ช่วงนี้ก็มีการลงพื้นที่ เขียนข่าว ประสานสื่อมวลชนส่วนกลางและสื่อมวลชนในพื้นที่ต่างๆที่ผู้ใหญ่ของพรรคลงพื้นที่เข้าร่วมทำข่าว เนื่องจากพรรคสร้างอนาคนไทย ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นก่อตั้ง ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมเรื่องข้อมูลเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับสื่อก่อนที่ผู้ใหญ่จะให้สัมภาษณ์ในกรณีสื่อท้องถิ่น แต่ถ้าเป็นสื่อส่วนกลางในสายการเมืองทุกคนติดตามข่าวอยู่แล้วตรงนี้เรื่องข้อมูลความเป็นมาก็ส่วนน้อยที่จะต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติม

            เมื่อเราถามถึงงานที่ทำแต่ละวัน แต่ละช่วง เป็นยังไงบ้าง เพราะหลายคนคงอยากรู้ว่าการทำงานพีอาร์ประชาสัมพันธ์พรรคการเมืองหลักๆ ต้องทำอะไรบ้าง "ปราณี-อดีตคนข่าวการเมือง"บอกว่า ช่วงนี้ ยังคงเป็นช่วงแรกๆ ของการเปิดตัวพรรค ซึ่งทางผู้ใหญ่จะเดินสายทำงานเชิงพื้นที่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จึงต้องติดตามไปทำข่าว และเชิญสื่อมวลชนในพื้นที่ร่วมทำข่าว ซึ่งโดยส่วนตัวห่างหายไปจากการทำข่าวการเมืองมาค่อนข้างจะหลายปี สิ่งหนึ่งที่ต้องทำมากกว่าคนอื่นคือ ต้องติดตามข่าวสถานการณ์การเมืองเยอะๆ และต้องศึกษาโครงสร้างของสื่อทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น เนื่องจากต้องเตรียมพร้อมเพื่อการประสานหากผู้ใหญ่มีกำหนดการลงพื้นที่นั้นๆ ซึ่งตรงนี้ต่างจากการทำพีอาร์ที่กระทรวงพลังงานมากพอสมควร ส่วนการทำงานช่วงเลือกตั้งยังไม่เคยได้มีประสบการณ์ตรงนั้น เพราะยังใหม่ในวงการพีอาร์ด้านการเมือง แต่ก็เตรียมใจไว้แล้วว่าจะต้องเป็นงานหนักอย่างแน่นอน

            ถามอีกว่า ต้องมีการบริหารงานข่าวพรรคหรือไม่ มีการทำอย่างไร ต้องประชุมกับทีมผู้บริหารพรรคหรือไม่ ในแต่ละประเด็น คำตอบที่ได้"ปราณี"บอกว่า หน้าที่ของพีอาร์ ต้องมีการบริหารประเด็นข่าวของพรรคอยู่แล้ว ส่วนการประชุมประเด็นข่าวก็ทั้งการรับบรีฟจากผู้ใหญ่โดยตรงในบางประเด็น    ส่วนเรื่องการมอนิเตอร์ข่าวของพรรคแต่ละวันในยุคที่ปัจจุบันมีสื่อทั้ง ทีวี -หนังสือพิมพ์-- เพจ- เว็บไซด์ข่าว-โซเชียลมีเดีย- ยูทูป นั้น เนื่องจากโครงสร้างงานพีอาร์ของพรรค เป็นการทำงานที่ครบวงจรอยู่แล้ว ซึ่งแต่ละส่วนงานก็มีทีมที่รับผิดชอบที่ชัดเจน มีทั้งในส่วนของทีมมอนิเตอร์ที่ต้องดูทิศทางข่าวทั้งสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ ข่าวความเคลื่อนไหวของพรรค เพื่อสนับสนุนการเตรียมประเด็นในส่วนของพีอาร์ มีทีมที่ทำพีอาร์ด้านโซเชียลมีเดีย ทีมประสานสื่อลงพื้นที่ รวมถึงช่างภาพ 

         -หากสมมุติว่า ถ้ามีข่าวเกี่ยวกับพรรค หรืองานในพรรคที่รับผิดชอบ หากเป็นข่าวเชิงลบหรือข่าวที่ต้องการชี้แจง จะทำอย่างไร?

            ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าข่าวการเมืองประเด็นบวกและลบทิศทางไม่ต่างกัน กรณีเกิดข่าวเชิงลบ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเช็คกระแสข่าวว่ามีการกระจายในวงกว้างมากน้อยแค่ไหน เฉพาะสื่อหรือว่าแทบทุกสื่อ และต้องดูด้วยว่าข่าวเชิงลบที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเชิงลบในภาพรวมของพรรค หรือตัวบุคคล ซึ่งจะต้องมีการรายงานให้ผู้ใหญ่ได้ทราบในทันที 

            ส่วนแนวทางการชี้แจงไม่ได้มีกำหนดตายตัว ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ หากเป็นกระแสที่แรงมาก ผลกระทบต่อภาพลักษณ์สูงก็ต้องมีการจัดแถลงข่าว เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ลดทอนกระแสสังคม แต่ถ้าหากเป็นกระแสกลางๆ ก็อาจจะเป็น Press Release ชี้แจง ส่วนหากเป็นกรณีที่เฉพาะสื่อก็อาจจะมีการประสานไปยังสื่อนั้นๆ โดยตรงเพื่อชี้แจง เพราะบางครั้งกระแสข่าวลบอาจเกิดจากการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน หรือความเข้าใจผิด อันนี้จะต้องมีการประเมินอย่างรอบคอบ และเลือกใช้ให้เข้ากับสถานการณ์เฉพาะหน้านั้นๆ

         -การติดต่อกับสื่อที่ทำข่าวพรรคสร้างอนาคตไทย  มีวิธีการอย่างไร เช่น นอกจากส่งข่าวในไลน์กลุ่ม ไลน์ส่วนตัว แล้วมีช่องทางอะไรอีกหรือไม่?

            ปัจจุบัน การติดต่อสื่อสารระหว่างพีอาร์กับนักข่าว หลักๆ คือช่องทางไลน์ แต่บางครั้งหากเรามีคอนเนคชั่นส่วนตัวก็อาจจะมีส่งในไลน์ส่วนตัวเพิ่มเติมด้วย หรือบางท่านที่เราทราบเรื่องข้อจำกัดเรื่องการสื่อสาร ก็มีบ้างที่อาจจะต้องโทรหาเป็นการส่วนตัวเพื่อแจ้ง อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของพีอาร์ที่ต้องทำความรู้จักสื่อที่เราประสานงานด้วย

            เราถามอีกว่า จากประสบการณ์การทำงานมา เท่าที่ติดต่อทำงานร่วมกับสื่อ พบว่าส่วนใหญ่สื่อต้องการให้ช่วยติดต่อ หรือต้องการข้อมูลแบบไหน เช่น ขอรูปภาพนิ่ง ขอคลิป ขอให้นัดสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ในพรรค เป็นอย่างไร ขอให้เล่าประสบการณ์ที่เคยเจอ แล้วที่ผ่านมาเคยเจอปัญหาอะไรหรือไม่ เช่น รูปหรือคลิป ที่สื่อต้องการ หากสื่อบอกว่ามาช้าเกินไป หรือไม่ตรงกับที่ต้องการ จะแก้ปัญหาอย่างไร "ปราณี"บอกเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า   การทำงานร่วมกับสื่อ หน้าที่พีอาร์ก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อsupport สื่อทั้งในส่วนของภาพ คลิป และข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ชื่อ ตำแหน่ง ของแหล่งข่าวที่ถูกต้อง ซึ่งที่เจอส่วนใหญ่ก็จะเป็นรูปแบบนี้ ส่วนการประสานขอสัมภาษณ์ผู้ใหญ่เชื่อว่าผู้สื่อข่าวหากเป็นสายการเมืองแล้วมักจะมีเบอร์ส่วนตัวของแต่ละท่าน เพื่อประสานโดยตรงเสียเป็นส่วนใหญ่ 
            สำหรับปัญหาที่เจอคือ ความล่าช้าของภาพ คลิป ที่บางครั้งอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่สื่ออยากได้ เพราะสื่อบางฉบับก็มีเอกลักษณ์ของสื่อเช่นกัน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องพยายามปรับเพื่อให้มีการทำงานมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์สิ่งที่สื่อต้องการ

         -ปัญหาหน้างานในการติดต่อกับสื่อที่เจอมากที่สุด คืออะไร?
            การขอข้อมูลหน้างานที่บางครั้ง เราอาจจะมีความล่าช้าบ้าง หรือการขอนัดสัมภาษณ์เดี่ยวแล้วผู้ใหญ่ไม่มีเวลามากพอ ซึ่งบางครั้งอาจจะมีไปงานต่อ ซึ่งตรงนี้ คิดว่าไม่ใช่ปัญหานะคะ เป็นเรื่องที่เราต้องชี้แจง และขอโทษ แต่ส่วนใหญ่สื่อจะเข้าใจ

            -การเป็นนักข่าวมาก่อน ทำให้การทำงานง่ายขึ้นหรือไม่ ถ้าเทียบกับคนอื่นที่อาจไม่เคยทำข่าวหรือเป็นนักข่าวมาก่อน เช่นเรื่อง

การเขียนข่าว จับประเด็นข่าว หรือความสัมพันธ์กับสื่อ ทั้งในกองบก.และนักข่าวภาคสนาม ช่วยได้หรือไม่ในการทำงาน?

            แน่นอนว่าสิ่งที่นักข่าวเมื่อผันตัวมาเป็นพีอาร์ได้เปรียบคือ การจับประเด็นข่าว การเขียนข่าว ซึ่งเรารู้ธรรมชาติของสื่อว่าข่าวแบบไหนจึงจะได้รับความสนใจ 

            ส่วนความสัมพันธ์กับสื่อความเป็นเพื่อน เป็นพี่เป็นน้อง ถือว่ามีส่วนสำคัญในการประสานงานที่ราบรื่น และได้รับความช่วยเหลือ  แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่เราต้องทำคือการทำงานของเราให้มีประสิทธิภาพ ต้องดูจากเนื้องานของเราก่อน เพราะสื่อเค้าก็มีหน้าที่ของเขาเช่นเดียวกัน มีจุดยืนของต้นสังกัดที่เราต้องให้ความเคารพข้อจำกัดของเขาด้วยแม้จะเป็นคอนเนคชั่นส่วนตัวก็ตาม โดยส่วนตัวมองที่การพัฒนาตัวเอง พยายามเรียนรู้ ให้การทำงานของเราตอบโจทย์สื่อมากกว่าการมองแค่คอนเนคชั่นส่วนตัว มิตรภาพที่ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์มันไม่ค่อยยั่งยืนหรอก

         -สิ่งที่ผู้บริหารพรรค เขาอยากเห็นข่าวของพรรคหรือข่าวของตัวผู้บริหาร เขาต้องการเห็นข่าวแบบไหน?

            หน้าที่พีอาร์คือการสร้างภาพลักษณ์ ภาพจำ การโน้มน้าว การสร้างความเข้าใจในบทบาทและตัวตน ที่พรรค บุคคล หรือองค์กรต่างๆ ที่สื่อสารออกไป

             ในมุมส่วนตัวมองว่าแน่นอนทิศทางที่ผู้บริหารต้องการก็ต้องเป็นข่าวด้านดีๆ ชัดเจนในบทบาท ภารกิจ และนโยบาย ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด ยิ่งข่าวการเมือง พรรคการเมือง นักการเมือง การได้รับการยอมรับ และเชื่อถือของประชาชนน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะต่อให้เป็นคนดีแค่ไหน นโยบายสุดยอดแค่ไหน แต่ถ้าไม่เป็นที่รู้จัก  ก็คงไม่ตอบโจทย์หน้าที่ของพีอาร์
สิ่งที่นักข่าวเมื่อผันตัวมาเป็นพีอาร์ได้เปรียบคือ การจับประเด็นข่าว การเขียนข่าว ซึ่งเรารู้ธรรมชาติของสื่อว่าข่าวแบบไหนจึงจะได้รับความสนใจ 

            “ส่วนความสัมพันธ์กับสื่อความเป็นเพื่อน เป็นพี่เป็นน้อง ถือว่ามีส่วนสำคัญในการประสานงานที่ราบรื่น และได้รับความช่วยเหลือ  แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่เราต้องทำคือการทำงานของเราให้มีประสิทธิภาพ ต้องดูจากเนื้องานของเราก่อน เพราะสื่อเค้าก็มีหน้าที่ของเขาเช่นเดียวกัน มีจุดยืนของต้นสังกัดที่เราต้องให้ความเคารพ”