เปิดกฏหมายคุ้มครองสิทธิ์ “เหยื่อ”คดีความผิดล่วงละเมิดทางเพศ

“ ….เอาจริงๆ เมื่อเกิดคดีความผิดล่วงละเมิดทางเพศ เราต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย หากมีเหตุการณ์ลักษณะนี้สังคมส่วนใหญ่มักจะตัดสินก่อนเจ้าหน้าที่ เพราะความเห็นอกเห็นใจมองว่าผู้หญิงเป็นฝ่าถูกกระทำ แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ในมุมของสื่อมวลชนเราไม่ควรตัดสินทันที แต่ต้องให้ความเป็นกลางและเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย สื่อควรรับฟังและนำเสนอข่าวอย่างครบถ้วนรอบด้าน แต่สิ่งที่สำคัญคือสื่ออย่าเพิกเฉยต่อการกระทำหล่านี้…. ”

ออม - จันทรพร กุลโชติ ผู้สื่อข่าวประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้จัดรายการ สน.100.5 ยอมรับว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศต่อเพศหญิงกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อเกิดข่าวอดีตรองหัวหน้าพรรคการเมือง ถูกกล่าวหาล่วงละเมิด ลวนลามและข่มขืนมีหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อหลายราย ทำให้สังคมกำลังจับตามองว่า บทสุดท้ายคดีจะจบหรือปิดฉากลงอย่างไร และหญิงสาวที่ถูกระทำเหล่านั้นจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ เนื่องจากหลายรายเป็นเหตุที่เกิดขึ้นย้อนหลังไปหลายปี ซึ่งคดีข่มขืน หากเกิดก่อน 28 พ.ค. 2562 ก่อนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 ครั้งล่าสุด (ฉบับที่ 27) เป็นความผิดที่ยอมความได้ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน

จันทรพร กล่าวว่า หากจะพูดถึงเรื่องคดีผู้หญิงถูกคุกคามหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ในมุมของสื่อสารมวลชน เรามีหลักการนำเสนอข่าวอยู่แล้ว หัวใจสำคัญคือเราต้องไม่ข่มขืนซ้ำหรือกระทำเขาซ้ำ ในฐานะสื่อมองว่าเหตุลักษณะนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เราต้องทำหน้าที่ปกป้องทั้งข้อมูลส่วนบุคคล และช่วยเหลือเรื่องกระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมาย เพราะหลังมีการแก้ไขข้อกฎหมาย หากเกิดขึ้นหลังวันที่ 28 พ.ค. 2562 ถือเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน เหมือนเป็นการยกระดับการให้ความสำคัญกับคดีการล่วงละเมิดทางเพศ หรือคดีข่มขืนมากขึ้น

ทั้งนี้ ในอดีตคนมองว่าคดีล่วงกระเมิดทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัว ผู้เสียหายหรือผู้ถูกระทำต้องเป็นฝ่ายไปแจ้งความร้องทุกข์เอง แต่ทุกวันนี้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะช่วยเหลือเหยื่อหากเราเป็นผู้พบเห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์ เราสามารถเป็นผู้เข้ามาแจ้งความได้เลยถือว่าเป็นการให้สิทธิ์กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมากขึ้น

ขณะที่สื่อต้องนำเสนอข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อ หรือรายละเอียดของบุคคล แต่บ่อยครั้งที่มักจะเห็นตลกร้ายในแวดวงข่าว แม้จะมีการปิดชื่อ-นามสกุลจริง หรือใช้นามสมมุติแทน เป็นนางเอ หรือนางสาวบี แต่ในเนื้อข่าวกลับบอกรายละเอียดบ้านเลขที่ทั้งหมดของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ในฐานนะสื่อเราควรปกปิดข้อมูลให้ได้มากที่สุด ยิ่งปัจจุบันเรามีโลกโซเชียล ข้อมูลทั้งหมดของผู้เสียหายจะยังอยู่ในระบบข้อมูลโซเชียลไปอีก10-20ปี

แต่ในอีกมุมหนึ่งเราก็ได้เห็นพลังของสื่อโซเชียล ที่ช่วยขับเคลื่อนให้เหยื่อได้รับความเป็นธรรม อย่างคดีเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นเหตุที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครสวรรค์ กรณีผู้หญิงคนหนึ่งถูกเพื่อนผู้หญิงด้วยกันพาไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนผู้ชาย ก่อนจะถูกกลุ่มผู้ชาย4-5คนกระทำอนาจาร ผู้ปกครองของผู้เสียหายพาไปแจ้งความแล้วแต่คดีไม่คืบหน้าเลย เพราะยังมีความคิดเดิมๆว่าคู่กรณีก็คงเข้าเจรจาไกล่เกลี่ยกันจบ ทำให้เป็นที่มาของการติดแฮทแท็ค5 เดือนนรก ในโซเชียล ส่วนตัวมองว่าเป็นการขับเคลื่อนพลังสังคมไปพร้อมๆกับสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้เจ้าหน้าที่มีการสอบสวนและปิดคดีได้ภายใน 2 วัน หลังจากที่เป็นข่าวขึ้นมา และจนถึงทุกวันนี้เราก็ยังไม่ทราบว่าผู้หญิงที่ถูกกระทำเป็นใคร ตรงนี้ต้องชื่นชมสื่อมวลชน

“ จริงๆต้องยอมรับว่าการจะดำเนินคดีกับใครก็ตาม สิ่งที่ศาลจะรับฟังในการประกอบพิจารณาคือ หลักฐาน เราอาจจะรู้ว่าคนนี้คือผู้กระทำความผิด แต่เราไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดเขาได้ ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าระบบกฏหมายบ้านเราเป็นระบบกล่าวหา ดังนั้นการที่จะกล่าวหาใครต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนด้วยเช่นกัน ……” จันทรพร กล่าวว่า

ที่ผ่านมาเคยมีนักอาชญาวิทยา ให้ความเห็นว่าแม้กระทั่งตำรวจยังยอมรับว่า “หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์”คือพยานหลักฐานที่สำคัญในคดีล่วงละเมิดทางเพศ อาจจะเป็นคราบอสุจิ DNA หรือร่องรอยต่างๆของร่างกาย จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศต้องมีหนังสือรับรองการตรวจร่างกายของโรงพยาบาล ก่อนมาแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปสู่การพิสูจน์ว่าร่องรอยที่เกิดขึ้นนี้มาจากการถูกล่วงละเมิดหรือไม่ เมื่อไปสู่ชั้นศาลมันก็ต้องชัดว่าเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ และใครเป็นผู้กระทำ

อย่างที่บอกหลักฐานสำคัญคือหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุมีพยานแวดล้อมต่างๆ เช่น วัตถุภาพวงจรปิด ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ยกตัวอย่างกรณีคดีการล่วงละเมิดทางเพศคดีเณรคำ นอกจากโดนเรื่องคดีการฉ้อโกงแล้ว เณรคำยังมีคดีพ่วงการพรากผู้เยาว์ โดยถูกกล่าวหาว่าเคยก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์จนมีลูกด้วยกัน คดีนี้มีหลักฐานที่นำมาสู่การลงโทษเณรคำ ซึ่งจริงๆแล้วเณรคำมีความสัมพันกับผู้หญิงคนนี้นานแล้ว จนมีลูก แต่หลักฐานที่เจ้าหน้าที่DSI มีเป็นหลักฐานที่ได้มาจากบ้านผู้หญิงคือ DNA ของเณรคำที่ได้จากซิการ์ เศษจีวรที่ตกอยู่ แต่หลักฐานที่ชัดที่สุดคือ DNA ของบุตรที่เกิดจากหญิงสาวคนดังกล่าว

เหตุการณ์นี้สะท้อนว่าคดีลล่วงละเมิดทางเพศ เป็นคดีที่ยอมความไม่ได้เพราะแม้จะถูกล่วงละเมิดทางเพศนานแล้ว จนมีลูกแต่ทาง DSI ยัคงดำเนินคดีแจ้งข้อกล่าวหา ในฐานของการพรากผู้เยาว์เพราะเหตุเกิดขณะที่ผู้หญิงคนนี้เป็นผู้เยาว์

อีกมุมหนึ่งแม้กระทั่งการข่มขืนของผู้ที่เป็นคนรักหรือคู่สามีภรรยา อันนี้เป็นเรื่องที่สื่อหรือคนทั่วไปต้องตื่นตระหนักและให้ความสำคัญ แม้แต่การแก้กฎหมาย เพราะการยอมความในคดีข่มขืนได้จะเป็นกรณีสามีภรรยาจดทะเบียนสมรสเท่านั้น แต่หากอยู่ด้วยกันโดยไม่มีการจดทะเบียนสมรส จึงไม่สามารถยอมความได้ เพราะฉะนั้นเราอย่าเพิกเฉยต่อการกระทำความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ ต่อเด็ก สตรี หรือผู้ชาย

จันทรพร ยังได้ฝากข้อคิดการทำงานถึงสื่อรุ่นหลัง โดยมองว่าการทำงานสื่อในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเราถูกยึดจากกระแสโซเชียลมีเดีย ทั้งของกลุ่มคนที่หิวแสงอยากเป็นข่าว จึงมีผู้ออกมาให้ความเห็นมากมาย ดังนั้นหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องมีความรู้เรื่องกฎหมาย หากเราไม่มีตรงนี้ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อที่เราจะนำเสนอข่าวได้อย่างถูกต้องมีหลักกฏหมาย อะไรที่พูดได้หรือไม่ได้ แม้แต่แคปชั่นภาพหรือข้อความสั้นๆ ที่สื่อพาดหัวข่าว หากเราทำให้สังคมเข้าใจผิด อาจส่งผลเสียหายตามมา ที่สำคัญในฐานะสื่ออย่านำเสนอข่าวที่ใส่ความคิดเห็นที่ไม่มีข้อเท็จจริง เพราะทุกคนมีสิทธิ์ให้ความเห็น แต่เราควรจะเลือก คัดกรองวิเคราะห์ได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อคดีและไม่ทำให้ใครเสียหาย หลักๆคือควรคำนึงถึงสิทธิของทุกคน แม้ส่วนตัวเราจะรู้สึกเห็นใจผู้เสียหาย แต่ต้องอย่าลืมว่า ผู้ถูกกล่าวหาก็ยังเป็นผู้ถูกกล่าวหาอย่าให้อารมณ์ของสังคมมาตัดสินทิศทางข้อเท็จจริงของคดี