"สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสถานทูตสหรัฐฯจัดเวิร์คช็อปเข้มข้นเตรียมความพร้อมนักข่าวไทยในการทำข่าวศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ 2567 โดยมีผู้เชี่ยวชาญร่วมแบ่งปันความรู้และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อไทยและทั่วโลก"
วันที่ 17 สิงหาคม ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การทำข่าวเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.อนุชาเจริญโพธิ์ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม โดยมี นายโรเบิร์ตเอฟ. โกเดคเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกาพิเศษ
จากนั้นกิจกรรมช่วงเช้าเป็นการเสวนาหัวข้อ “เลือกตั้งผู้นำสหรัฐ 2024 กับฉากทัศน์ต่อไปเองไทยและโลก” โดย ผศ.ดร.ประพีร์อภิชาติสกล อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน นี้ ทั่วโลกจับตามองการเลือกตั้งเพราะมักจะเกิดสิ่งไม่คาดฝันเสมอ ครั้งนี้ก็ได้เกิดขึ้นจริงในการลอบสังหาร “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้รับสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคริพับลิกัน และมีการเปลี่ยนตัวผู้รับสมัครเลือกตั้ง “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครต พร้อมแสดงจุดยืนหนุนหลัง “คามาลา แฮร์ริส” ลงชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ แทน ซึ่งยังเหลือเวลาอีกราว 90 วันก่อนการเลือกตั้ง ยังต้องลุ้นว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก เพราะการเปลี่ยนแปลงของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อทั่วโลก ทั้งนี้ ความคาดหวังของชาวอเมริกาต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ปัญหาเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ไปจนถึงความมั่นคงของประชาธิปไตยในประเทศ
ผศ.ดร.ประพีร์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องอายุของผู้นำ ตนขอพูดรวมถึงประสบการณ์การทำงานด้วย ซึ่งกรณีเลือกตั้งครั้งนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ มีอายุมากที่สุดจากเดิมที่เคยเป็นโจ ไบเดน แต่เชื่อว่าคนเห็นประสบการณ์ของทรัมป์ครั้งที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาก่อน เมื่อเทียบกับ คามาลา แฮร์ริส ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ได้เป็นรองประธานาธิบดี ยังไม่ค่อยเห็นบทบาทมากนัก จึงเป็นจุดอ่อน รวมถึงยังไม่มีประสบการณ์เรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วย จึงเป็นการบ้านที่เขาต้องเสริมขึ้นมา ต้องเน้นประเด็นนี้ให้ไม่น้อยกว่าประเด็นสิทธิสตรีที่เป็นจุดแข็งของเขา ทั้งนี้ การเลือกตั้งสหรัฐฯ มักใช้กลยุทธ์หาเสียงด้วยการสังหารภาพลักษณ์คู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูด การขุดประเด็นของอีกฝ่ายขึ้นมา เพราะมีงานวิจัยระบุว่า การทำเช่นนี้มีผลต่อการตัดสินใจโหวตของประชาชน อย่างขณะนี้ทรัมป์ก็ได้พูดถึงเรื่องกมลา เดวี แฮร์ริส ว่าเคยเป็นชู้มาก่อน ซึ่งตรงนี้ผู้สื่อข่าวจะต้องสรรหาข้อเท็จจริงมานำเสนอ และสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือประเด็นนโยบาย ว่าจะเกิดผลดีกับประชาชนแค่ไหน
“จุดพลิกผันการเลือกตั้งสหรัฐฯ ถ้าดูจากโพล ณ วันนี้ คามาลา แฮร์ริส มีแต้มต่อในเขตอุตสาหกรรมรกร้าง แถบรัฐเพนซิลเวเนีย รัฐมิชิแกน เป็นต้น ส่วนบริเวณตอนใต้แถบรัฐฟลอริดา รัฐเท็กซัส ก็จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ชิงเสียงโหวตได้ ซึ่งจุดพลิกผันเป็นสิ่งที่เหนือการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ทั่วโลก จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะผลกระทบต่อประเทศจีน ที่ผ่านมาทรัมป์ค่อนข้างเผชิญหน้า ส่วนโจ ไบเดน อาศัยกลยุทธ์การปิดล้อมจากพันธมิตร แต่ตนเชื่อว่า คามาลา จะมีวิธีการจัดการกับจีนได้ดีกว่า” ผศ.ดร.ประพีร์ กล่าว
ด้าน นายสนั่นอังอุบลกุลประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้ มองในมุมของตนที่เป็นภาคธุรกิจ มีความเห็นว่า “คามาลา” มีภาษีดีกว่าแคนดิเดตผู้รับสมัครเลือกตั้งคนอื่น ๆ ด้วยนโยบายหลักอย่าง สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกัน ในมุมภาคธุรกิจมีความเห็นว่า หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก เนื่องจากทรัมป์มีนโยบายในการปรับขึ้นภาษีการค้า อย่างประเทศไทยอาจจะไม่มากนัก อยู่ที่ร้อยละ 10 ขณะที่ประเทศจีนจะถูกปรับขึ้นถึงร้อยละ 60 สิ่งนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับจีน ย่อมส่งผลต่อไทยด้วย ฉะนั้น ไทยจะต้องรับมือเรื่องนี้อย่างระวัง ตนจึงอยากให้รัฐบาล ฟังเสียงภาคธุรกิจเยอะ ๆ อย่างที่ทราบกันดีว่าการเมืองของสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศมหาอำนาจ ย่อมสะเทือนทุกประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไทยจะต้องยกระดับขึ้นมาคือ เทคโนโลยีระดับสูง เรื่อง AI และอัตราค่าไฟฟ้าที่ไทยราคาแพง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในไทยไม่แพ้กับเรื่องเสถียรภาพการเมือง
นายสนั่น กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยจีดีพีเฉลี่ยสิบกว่าปียังโตเพียง 1.9 ไม่ถึง 2 แสดงว่าต้องมีอะไรที่ไปต่อไม่ได้ เมื่อมาสำรวจตัวเองก็พบว่า ไทยยังกินบุญเก่าด้วยอุตสาหกรรมเก่า ๆ ฉะนั้น ไทยต้องรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ อย่างที่เห็นได้ชัดคือ 1 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยทรุดลงชัด และยังไม่เห็นกลยุทธ์ที่จะแก้ปัญหา ทำให้ไทยกลับมารุ่งอีกครั้ง จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำประเทศไทยคนใหม่ด้วย ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นใจในการลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศด้วย ซึ่งกลยุทธ์ของไทยที่สำคัญคือ 1.ความท้าทายภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เราคุมได้ดีมาก หลายประเทศยังต้องพึงพาเรา แม้ว่าจะถูกกดดันแต่ก็รับมือได้ 2.ความท้าทายด้านประชากร ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ เราต้องมาดูกันว่าจะแก้ปัญหาให้เหมือนสหรัฐฯ หรือสิงคโปร์ทำได้ เมื่อคนของเราไม่พอ ก็ต้องเปิดกว้างรับคนเก่ง ๆ จากต่างประเทศเข้ามา ต้องแก้กฎหมายให้เอื้อต่อการนำเข้าแรงงานคุณภาพ 3.ความท้าทายทางเทคโนโลยี 4.ความท้าทายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ตนเชื่อว่าถ้า คามาลา ได้คว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีได้ เขาบี้เรื่องนี้แน่นอน
ขณะที่ น.ส.วรรษมนอุจจรินทร์ อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และอดีตผู้สื่อข่าว Voice of America Thai หรือ VOA Thai กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ในการลอบสังหารทรัมป์ เกิดเป็นภาพสำคัญทางประวัติศาสตร์แวดวงข่าวอย่างมาก ภาพนิ่งภาพเดียว มีผลกระทบใหญ่หลวงมาก ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เป็นการจัดฉากหรือไม่ เพราะหลายคนมองว่าหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นโอกาสของทรัมป์ที่แสดงถึงความไม่กลัวตายของเขา ซึ่งถ้ามาดูโพลหลังจากเกิดเหตุการณ์เพียง 3 วัน ที่น่าสนใจคือ คะแนนนิยมของโจไบเดน ร้อยละ 41 และทรัมป์ ร้อยละ 43 ถือว่าสูสีกัน แต่หลายคนก็มองว่า โจไบเดนมีภาวะผู้นำสูงกว่าทรัมป์ อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 69 มองว่าโจไบเดน แก่เกินไปจะทำงานให้รัฐบาลแล้ว
น.ส.วรรษมน กล่าวว่า การสำรวจโดย Ipsos ระหว่างวันที่ 2 – 7 สิงหาคม 2567 ชาวอเมริกันให้ความสำคัญประเด็นเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงถึงร้อยละ 50 การแบ่งขั้วภาวะสุดโต่งทางการเมือง ร้อยละ 24 ความรุนแรงจากปืนและอาชาญกรรม ร้อยละ 22 บริการสาธารณสุข ร้อยละ 17 และ ราคาการเข้าถึงด้านที่อยู่อาศัย ร้อยละ 17 ขณะที่โพลรอยเตอร์ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ระบุว่า คะแนนนิยม คามาลา นำอยู่เล็กน้อย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจในตัวของโจไบเดน และกลุ่มคนที่เคยบอกว่าจะไม่ใช้สิทธิการเลือกตั้ง ก็เปลี่ยนใจมาสนับสนุน คามาลา มากขึ้น ส่วนคำถามกลุ่มคนที่ไม่มีความเห็นทางการเมืองว่าถ้าต้องเลือก ทรัมป์ กับ คามาลา คำตอบร้อยละ 49 ตอบว่าเลือกทรัมป์ และร้อยละ 35 เลือกคามาลา
น.ส.วรรษมน กล่าวว่า ในมุมมองของผู้สื่อข่าวในต่างประเทศนั้น ผู้เสพสื่อในปัจจุบันอาจไม่ได้เลือกเสพจากข้อเท็จจริง หลายคนอยากได้ยินในสิ่งที่อยากได้ยินมากกว่า ซึ่งสื่อที่จะทำแบบนั้นได้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่สื่อกระแสหลัก คนจึงมักเสพสื่อจากอินฟลูเอนเซอร์ หรือนักวิจารณ์มากกว่า ทำให้เกิดแนวคิดทฤษฎีสมทบคิดขึ้นทั้งกลุ่มซ้ายจัด และขวาจัด อย่างที่เกิดขึ้นใหม่คือ กระแสทฤษฎีสมทบคิด BLUEANON ซึ่งเป็นการเล่นคำจาก QANON ที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทฤษฎีสมทบคิดฝ่ายขวาจัดของสหรัฐฯ โดย BLUEANON เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทฤษฎีสมทบคิดฝ่ายซ้ายของสหรัฐฯ โดยคำว่า Blue อ้างอิงจากสีประจำพรรคเดโมแครต ซึ่งกลุ่มนี้มองว่าการลอบสังหารทรัมป์ เป็นการจัดฉากขึ้นมา
“สำหรับการทำข่าวในต่างประเทศนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการยืนยันข้อมูลที่ถูกต้อง และการนำเสนอนั้นต้องไม่มีอคติ ซึ่งต้องใช้วิธีการเช็กข้อมูลจากแหล่งข่าว หรือเช็กกับสื่ออื่นที่เชื่อถือได้ จะต้องเช็กให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นตัวเลข ที่สามารถเช็กแหล่งที่มาได้แน่นอน เราก็ต้องเช็กให้มั่นใจ” น.ส.วรรษมน กล่าว
สำหรับกิจกรรมในช่วงบ่าย เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้สื่อข่าว ได้แก่ กิจกรรมสร้างความรู้จัก, ทำแบบประเมินก่อนอบรม, กิจกรรม “ศัพท์เกี่ยวกับข่าวเลือกตั้ง”, เวิร์คช็อปการวางแผนการทำข่าวเลือกตั้งสหรัฐฯ และทำแบบประเมินหลังอบรม พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้าอบรม