เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้ ครั้งที่ 6” ศึกษาดูงานที่ กลุ่มสิ่งแวดล้อมซานเฟิง (Sanfeng Environment Group) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะผ่านเทคโนโลยี หรือการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ณ นครฉงชิ่ง ประเทศจีน
ผู้เข้าร่วมอบรมร่วมเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เรียนรู้กระบวนการจัดการขยะจากการใช้งานในครัวเรือน การนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับการจัดการขยะให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายการให้ความสำคัญด้านการจำกัดขยะด้วยการเผาของรัฐบาลจีน เห็นได้จากตัวเลขการกำจัดขยะในลักษณะดังกล่าวในจีนเพิ่มสูงขึ้นนับแต่ปี พ.ศ. 2543-2566 เนื่องจากมองว่าก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน จึงเป็นแนวทางการจัดการขยะที่ได้รับความนิยมในขณะนี้
มหานครฉงชิ่ง มีสถานีจัดการขยะทั้งหมด 4 แห่ง กระจายในพื้นที่ต่าง ๆ สำหรับกลุ่มสิ่งแวดล้อมซานเฟิงนี้ รับผิดชอบการจัดการขยะทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของนครฉงชิ่ง มีกำลังในการกำจัดขยะมูลฝอย 3,000 ตันต่อวัน โดยเผาด้วยความร้อนสูง เศษกากขยะที่หลงเหลือจากการเผาจะนำไปขายเป็นวัตถุดิบในการทำพื้นผิวถนน ความร้อนที่ได้นำไปผลิตกระแสไฟฟ้า มีระบบเทคโนโลยีทันสมัยช่วยให้ควบคุมการปล่อยมลพิษได้ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานที่สหภาพยุโรปกำหนด มีกระบวนการจัดการน้ำเสียซึ่งสามารถบำบัดน้ำที่เกิดจากการเผาให้บริสุทธิ์เพียงพอจะนำกลับมาดื่มได้ ขณะเดียวกันยังนำเทคโนโลยีและ AI มาใช้หลายขั้นตอนเพื่อทดแทนแรงงานคน ทำให้ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุจึงปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น
นอกจากให้บริการกำจัดขยะแล้ว กลุ่มสิ่งแวดล้อมซานเฟิงยังพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือด้านการจัดการขยะที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งด้านมลพิษทางอากาศ (กลิ่น) น้ำและอันตรายจากสารเคมีอื่นๆ โดยร่วมกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมขยายการส่งออกเทคโนโลยีนี้ไปยังต่างประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย เช่นจังหวัด ภูเก็ต สระบุรี นครราชสีมาและกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการที่จังหวัดนครปฐม โดยมีบริการทั้งขายเทคโนโลยีการเผาขยะแบบใหม่รวมทั้งระบบบริการและบำรุงรักษา (Operate & Maintenance)
กลุ่มสิ่งแวดล้อมซานเฟิง กล่าวด้วยว่า “นี่คือสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าผลกำไร เพราะการผลิตไฟฟ้าคือคุณค่าที่เกิดขึ้นกับสังคม และพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นก็เกิดเป็นพลังงานทางเศรษฐกิจ (win-win) ซึ่งเป็นระบบนิเวศแบบครบวงจร“