ข่าวข้อเสนอองค์กรวิชาชีพสื่อต่อร่างแผนแม่บท กสทช.

 

 

วันนี้ (๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕)  ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้จัดประชุมเสวนา ผ่าแผนแม่บทบริหารวิทยุโทรทัศน์ เพื่อหารือและร่วมกันแสดงความคิดเห็นที่มีต่อร่างแผนแม่บทบริหารความถี่ แผนแม่บทบริการกิจการกระจายเสียงและกิจการ ตามที่ กสทช.กำลังจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอยู่ในขณะนี้ นั้น ที่ประชุมมีความเห็นต่อร่างแผยแม่บททั้งสองแผนโดยสรุปดังนี้

๑.  ร่างแผนแม่บททั้งสองแผนโดยภาพรวม ยังมีความขัดแย้งกัน เช่น แผนแม่บทคลื่นความถี่กำหนดให้ “กรณีที่มิได้กำหนดอายุการใช้คลื่นความถี่ไว้ กสทช.จะกำหนดเวลาการสิ้นสุด ทั้งนี้ กิจการกระจายเสียงให้มีระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน ๕ ปี และโทรทัศน์ไม่เกิน ๑๐  ปี” แต่ในแผนแม่บทบริหารกิจการฯ ที่กำหนดให้ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐคืนคลื่นความถี่ กลับกำหนดให้มีการคืนคลื่นความถี่ภายใน ๒ ปี และจะพิจารณาให้ได้ใช้ภายใน ๓ ปี  นอกจากนี้ ยังไม่มีความครบถ้วน ครอบคลุมสาระสำคัญที่ควรอยู่ในแผน เช่น แผนการปรับเปลี่ยนระบบการออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ไปเป็นระบบดิจิตอล ที่ กสทช. แถลงข่าวเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ที่ผ่านมานั้น ควรได้รับการบรรจุไว้ในร่างแผนแม่บทด้วยเพราะเป็นรายละเอียดที่สำคัญและควรผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ แต่กลับไม่ได้รับการบรรจุไว้ในร่างแผนแม่บทฯ เป็นต้น

๒.  การคืนคลื่นความถี่ ควรมีกำหนดระยะเวลาไม่นานเกินไป เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์การปฏิรูปสื่อ และควรเริ่มดำเนินการได้ภายในกำหนดเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.ชุดนี้ โดยควรกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นในกิจการกระจายเสียงไม่เกิน ๒ ปีและกิจการโทรทัศน์ไม่เกิน ๔ ปี ซึ่งจะทำให้ปัญหาต่างๆที่รอการแก้ไข เช่น ปัญหาวิทยุชุมชนไม่ถูกละเลยหรือเพิกเฉยต่อไป

นอกจากนี้ยังพบว่า แนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ยังไม่มีความชัดเจนในกรณีที่มีการอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรทัศน์ว่า จะมีการอนุญาตให้ใช้เป็น “ช่องรายการ” หรือ “เป็นย่านความถี่” ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำมาแบ่งเป็นช่องรายการได้อีกหลายช่อง โดยที่ประชุมมีความเห็นว่าควรเป็นการอนุญาตให้ประกอบกิจการในลักษณะเป็น “ช่องรายการ”

๓.  การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำกับดูแลด้านเนื้อหารายการ  กสทช.ควรมีแนวทางการกำหนดบทบาทหน้าที่ของตนเองเพื่อการกำกับดูแลเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงไว้ให้ชัดเจน

๔.  การส่งเสริมการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบวิชาชีพ ควรมีการจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อรองรับไว้ด้วย เช่น ต้องมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำที่พึงประสงค์ในการรวมตัวกันเป็นองค์กรวิชาชีพ ว่าควรมีลักษณะเช่นใด องค์กรวิชาชีพนั้นๆต้องมีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นระบบอย่างไร เมื่อมีการใช้มาตรการใดๆทางจริยธรรมกับองค์กรสมาชิกต้องรายงานและส่งสำนวนการสอบสวนมาประกอบเพื่อให้กสทช.รับทราบด้วย เป็นต้น

๕.  ควรมีการกำหนดว่าจะมีการจัดทำหลักเกณฑ์การขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนาฯเพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความคิดเห็นในประเด็นความไม่สอดคล้องกันระหว่างร่างแผนทั้งสองแผนกับแนวทางที่ควรจะนำมาปฏิบัติได้จริงอีกหลายประการ โดยที่ประชุมสรุปว่าจะนำเสนอความคิดเห็นทั้งหมดที่ได้รับจากการประชุมวันนี้จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเพื่อเสนอต่อ กสทช. ในนามสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ภายในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เพื่อให้ กสทช.รับไปพิจารณาปรับปรุงร่างแผนแม่บททั้งสองในรายละเอียดต่อไป