การปฏิรูปสื่อ
ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศสภาปฏิรูปแห่งชาติได้จัดทำข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและสารสนเทศ เสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติพร้อมทั้งเสนอ ร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมีเหตุผลและความจำเป็นดังระบุไว้ในร่างดังกล่าวแล้วนั้น
ก่อนที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯ ได้เสนอรายละเอียดพร้อมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อสภาปฏิรูป คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯ ได้ศึกษาวิเคราะห์ จัดทำ แนวทางและข้อเสนอแนะ เพื่อการปฏิรูปด้านการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ มาตามลำดับ โดยได้จัดทำรายงานข้อเสนอ ในระดับหลักการและสาระสำคัญ รวมทั้งกรอบความคิดรวบยอดและสาระสำคัญในการปฏิรูป ระบบการสื่อสารเพื่อประชาชน เพื่อเป็นกรอบแนวคิดและเป็นฐานของการจัดทำข้อเสนอแนะทางออก รวมถึงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
รายงานดังกล่าวของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯ มีสาระสำคัญระบุว่า การปฏิรูปสื่อครั้งนี้ ได้คำนึงถึงปัญหาที่สั่งสมจากการดำเนินการปฏิรูปสื่อที่ผ่านมา อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงความท้าทายใหม่ในหลายประการ ประกอบด้วย
- ปัญหาความเป็นอิสระและเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน
- ปัญหาความรับผิดชอบของสังคมสื่อวิชาชีพ และปัญหาการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรม ขององค์กรวิชาชีพสื่อ
- ปัญหาสวัสดิภาพและสวัสดิการของผู้ปฏิบัติวิชาชีพสื่อที่ยังมิได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร ส่งผลให้ระบบสื่อมวลชนไม่เข้มแข็งและพึ่งตัวเองไม่ได้ เสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐและทุน
- ปัญหาการกำกับดูแลสื่อโดยองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ
- ปัญหาความท้าทายจากภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป
- ปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชน
ด้วยกรอบปัญหาดังกล่าว คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯ ได้กำหนดวาระการปฏิรูปสื่ออย่างเป็นระบบภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ
- การปฏิรูปด้านเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ
- การปฏิรูปด้านการกำกับดูแลสื่อ
- การปฏิรูปด้านการป้องกันการแทรกแซงสื่อ
คณะกรรมาธิการ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ทั้ง 3 โดยระบุว่า แต่ละยุทธศาสตร์มีหลักการและสาระสำคัญโดยเฉพาะมีการบ่งชี้ผลสัมฤทธิ์ ดังต่อไปนี้
หลักการและสาระสำคัญในการปฏิรูปด้านเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ
ประเด็นปัญหา
ปัญหาสถานการณ์ด้านจริยธรรมสื่อในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา มีปัญหาในความไม่เป็นกลาง นำเสนอเนื้อหาไม่ถูกต้อง นำเสนอเนื้อหารุนแรง ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ตัดสินผู้ตกเป็นข่าว รับอามิจสินจ้าง การไม่ปฏิบัติตามหรือการละเมิดจริยธรรมของสื่อมวลชน มีสาเหตุมาจากการไม่มีเกณฑ์ด้านจริยธรรมที่ชัดเจน รวมถึงขาดการใส่ใจด้านจริยธรรมอย่างจริงจัง ขององค์กรสื่อและผู้ปฏิบัติงาน
ปัญหาที่พบมากที่สุดคือ การโฆษณาที่ผิดกฏหมาย ขายสินค้าที่ไม่มีข้อมูลความจริง หรือเกินความจริง เนื้อหาหรือภาพข่าวที่ล่อแหลม เป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิมนุษยชน ขาดความเป็นกลางในการนำเสนอข้อมูล นำเสนอเนื้อหาที่ยั่วยุ สร้างความเกลียดชัง ก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคม โดยเฉพาะข่าวสารทางการเมือง
การกำกับดูแลกันเองโดยองค์กรวิชาชีพ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงเสือกระดาษ ไม่สามารถดูแลด้านจริยธรรมของสมาชิกได้จริง อย่างไรก็ดี หากใช้การกำกับดูแลโดยรัฐ ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อประเด็นด้านเสรีภาพของสื่อมวลชน จึงได้มีความพยายามในการรณรงค์ให้เกิดการกำกับดูแลตนเอง แต่เท่าที่ผ่านมา การกำกับดูแลตนเองยังทำได้ไม่ครบถ้วน
ในระดับผู้รับสื่อ ภาคประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดช่องทางเข้ามามีส่วนร่วม กำหนดทิศทางของข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และขาดความรู้เท่าทันสื่อ
รายงานของคณะกรรมาธิการ ระบุว่า กลไกที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้คือ
- จัดให้มีกฎหมายประกันเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ โดยพิจารณาร่างกฎหมายหรือแก้กฎหมายเท่าที่จำเป็น อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อปกป้องเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม คุ้มครองสวัสดิภาพและสวัสดิการของสื่อมวลชน รวมถึงการกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ สังกัดเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพที่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดโดย สภาวิชาชีพสื่อมวลชน
- ระบบและกลไกด้านมาตรฐานวิชาชีพ กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมีพันธะสัญญากับองค์กรสื่อ /องค์กรวิชาชีพสื่อด้วยจริยธรรมวิชาชีพ มีการบรรจุวิชาจริยธรรมสื่อในหลักสูตรวิชานิเทศศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย รวมถึงจัดให้มีกลไกส่งเสริมงานวิจัยทางด้านจริยธรรมสื่อ
- กลไกด้านภารกิจเพื่อประชาชน เนื้อหาควรมีความหลากหลายและคุณภาพในมิติของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสนใจแก่กลุ่มคนด้อยโอกาส มีบทบาททางการศึกษาเป็นต้น จึงต้องมีการวางระบบและกลไกที่เข้มแข็ง และยั่งยืนด้านการเสริมบทบาทหน้าที่ของสื่อ ให้เป็นสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
- ระบบกลไกด้านเสริมจิตสำนึก จัดให้มีกลไกรณรงค์ส่งเสริมจิตสำนึกเสรีภาพบนความรับผิดชอบ แก่บุคลากรในวิชาชีพสื่อ
ตัวบ่งชี้ผลสัมฤทธิ์
- มีกฎหมายคุ้มครองด้านเสรีภาพสื่อ
- มีกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการมีส่วนร่วมกำกับดูแลโดยภาคประชาชนและส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ
- มีจำนวนเนื้อหาที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะมากขึ้น
- มีงานวิจัย วิทยานิพนธ์ที่มีประโยชน์ ต่อการพัฒนาเสรีภาพและจริยธรรมสื่อมากขึ้น อย่างมีนัยยะสำคัญ
- มีวิชาจริยธรรมปรากฎในหลักสูตรนิเทศศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย
- มีการมอบรางวัลสื่อสร้างสรรค์และสื่อสันติภาพประจำปี โดยสภาวิชาชีพสื่อมวลชน
หลักการและสาระสำคัญในการปฏิรูปด้านการกำกับดูแลสื่อ
ประเด็นปัญหา
การกำกับดูแลสื่อในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทั้งการกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชนและการกำกับดูแลโดยองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมาย รวมถึงภาคประชาชนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อ ทำให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องตามมามากมาย
การกำกับดูแลกันเอง ทางจริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชนในกรณีสื่อหลักได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ พบปัญหาการกำกับดูแลกันเองภายใต้ความสมัครใจ มีการละเมิดมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพและปัญหาการบังคับใช้มาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ เนื่องจากองค์กรวิชาชีพมิได้มีสถานะใดๆในกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจในการลงโทษ (Sanction) ผู้ประกอบวิชาชีพที่กระทำการขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ ที่ได้ร่วมกันกำหนดขึ้น เนื่องจากองค์กรเหล่านี้ ไม่ใช่สภาวิชาชีพหรือคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพที่ได้รับอำนาจตามกฎหมาย
นอกจากองค์กรวิชาชีพไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่สมาชิก สมาชิกที่ถูกตัดสินว่าทำผิดมาตรฐานจริยธรรม ก็สามารถที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามคำตัดสินดังกล่าว และลาออกจากองค์กรวิชาชีพได้ และคณะกรรมการองค์กรวิชาชีพหลีกเลี่ยงการตัดสินชี้ผิดถูก เพราะเป็นผู้ประกอบการสื่อด้วยกัน
ขณะเดียวกันการกำกับดูแลเนื้อหาออนไลน์ โดยภาคอุตสาหกรรมอินเตอร์เน็ตยังไม่เข้มแข็ง การพัฒนาเว็ปไซต์เข้าสู่ยุค 2.0 ผู้ใช้เว็บไซต์สามารถผลิตเนื้อหาเข้าสู่เว็ปไซต์ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เอง จึงทำให้เกิดการกระจายอำนาจการกำกับดูแลตนเองลงไปสู่หน่วยที่เล็กที่สุด คือผู้ใช้
องค์กรวิชาชีพในกิจการวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ยังมีบทบาทน้อยในด้านการคุ้มครองแก่สมาชิก ในเรื่องของสวัสดิภาพและสวัสดิการ และการเปิดช่องทางในการรีบเรื่องราวร้องทุกข์หรือร้องเรียนในกรณีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมีการปฏิบัติงานไม่ถูกต้องเหมาะสม ส่วนกิจกรรมที่องค์กรและวิชาชีพสื่อในกลุ่มสื่อวิทยุชุมชน วิทยุธุรกิจท้องถิ่น เคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และสื่อออนไลน์ ยังไม่ค่อยทำนักคือ กิจกรรมในเรื่องการรับเรื่องราวร้องทุกข์หรือร้องเรียนจากผู้บริโภค ในกรณีผู้ประกอบวิชาชีพมีการปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะสม หรือละเมิดหลักจริยธรรมและกิจกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของผลงานสื่อมวลชน
การกำกับดูแลโดยองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมาย ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) พบปัญหาธรรมาภิบาลขององค์กร ในการเปิดเผยข้อมูล การกำหนดนโยบาย การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ การจัดการเรื่องร้องเรียน และการใช้งบประมาณซึ่งขาดความโปร่งใส และการรับผิดชอบต่อสังคมภายนอกที่ดีเพียงพอ กสทช.ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนและรัฐ ความไม่โปร่งใส การกีดกัน การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จากกลุ่มประชาชนผู้บริโภค และการพยายามแทรกแซงสื่อ
ภาคประชาชนยังไม่สามารถมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์ ของการปฏิรูปสื่อในเรื่องการกำกับดูแลสื่อ
- ได้โครงสร้างการกำกับดูแลที่รักษาความเป็นอิสระขององค์กรสื่อในวิชาชีพ แต่มีการประสานสัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาชน และองค์กรกำกับดูแลของรัฐที่เป็นอิสระ อีกทั้งเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
- ได้โครงสร้างขององค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับ มีขอบเขตการคุ้มครองเสรีภาพ และการกำกับดูแลจริยธรรมสื่อวิชาชีพทุกชนิด มีกองทุนที่ทำให้การบริหารจัดการเป็นไปโดยสะดวกและมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมการกำกับดูแลตนเอง ด้านจริยธรรมขององค์กรสื่อทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด
- ได้ระบบที่มีกลไกในการปฏิรูปการทำงานของสื่อให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของสื่อมวลชน
- ได้ระบบที่มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อ และส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน
- ได้ระบบและกลไกด้านองค์กรกำกับดูแลของรัฐที่เป็นอิสระที่กำกับดูแลการสื่อสารโทรคมนาคม สื่อสารมวลชน และสารสนเทศเพื่อประโยชน์สาธารณสูงสุด และมุ่งไปสู่การกำกับดูแลในยุคดิจิทัล โดยมีการเปลี่ยนแปลงองค์กรในเชิงโครงสร้าง วิธีการใช้กฎหมายและการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นอิสระ โปร่งใส และมีธรรมาภิบาลมากขึ้น
คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ ระบุถึงการขับเคลื่อนกลไกที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ดังนี้
- ระบบและกลไกด้านกฎหมายวิชาการ
- ระบบและกลไกด้านกำกับกันเองโดยวิชาชีพ ให้มีกฎหมายกำหนดการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นองค์กรกลางในการกำกับกันเองที่ครอบคลุมสื่อทั้งหมดเป็นอิสระจากรัฐและทุน มีธรรมนูญของตนเอง มีฝ่ายกำกับนโยบาย ฝ่ายบริหารกองทุน ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนที่มีระบบการพิจารณาที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรม โดยรับเรื่องร้องเรียนในระดับสูง ซึ่งอาจส่งต่อมาจากองค์กรวิชาชีพสื่อ หรือองค์กรภาคประชาชน ที่ไม่สามารถจัดการกับกรณีนั้นได้
2.1 องค์กรสภาวิชาชีพสื่อมวลชนดังกล่าวนี้ จะต้องถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างรอบคอบ ทั้งทางด้านกฎหมายรองรับ และการคัดสรรผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการสภาฯ ต้องมีการวางระบบและกลไก ในการบริหารจัดการ และเชื่อมร้อยความสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆเป็นอย่างดี เพื่อรองรับบทบาทขององค์กรในฐานะที่พึ่งพาของสื่อมวลชนและประชาชน
2.2 สร้างกลไกพัฒนามาตรฐานจริยธรรมในการกำกับดูแลตนเองทางด้านจริยธรรมขององค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน โดยคำนึงถึงความแตกต่างทั้งมิติ ประเภท หรือรูปแบบของเนื้อหา มิติประเภทของสื่อ และมิติระดับการครอบคลุมของการประกอบการ อีกทั้งมีกลไกส่งเสริมการกำกับดูแลตนเองด้านจริยธรรมขององค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- ระบบและกลไกด้านกำกับโดยภาครัฐ และองค์กรภาครัฐที่เป็นอิสระ
การแยกอำนาจหน้าที่ระหว่างผู้กำกับดูแล (Regulator) และผู้ประกอบการ (Operator) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำกับดูแลการประกอบกิจการสารสนเทศไทยในปัจจุบัน องค์กรกำกับดูแลจะต้องคำนึงถึงการจัดสรรและแบ่งปันทรัพยากรการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์กันทั่วถ้วน อาทิ การส่งเสริมให้มีสื่อทางเลือก สื่อชุมชน ส่งเสริมความหลากหลายในเนื้อหาช่องทางการสื่อสาร และความเป็นเจ้าของ
ปรับปรุงองค์กรกำกับดูแลสื่อภาครัฐ ในเชิงการใช้อำนาจโดยองค์กร การกำกับดูแลต้องใช้อำนาจอย่างเหมาะสม
สร้างกลไกการมีส่วนร่วมโดยให้ภาคประชาชนรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวัง (Media Watch) การถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐและทุน ได้รายงานต่อองค์กรรับเรื่องร้องเรียนต่อสื่อมวลชน ทั้งในระดับองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ และสภาวิชาชีพสื่อมวลชนด้วย
4. ระบบและกลไกด้านการกำกับโดยประชาชน
4.1 จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการมีส่วนร่วมกำกับสื่อโดยภาคประชาชน และส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ มีฐานะเป็นหน่วยงานอิสระจากหน่วยงานของรัฐ และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อ รวมทั้งเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับสื่อ ในกรณีที่เกิดปัญหา ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชน มีความรู้เท่าทันสื่อ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
4.2 จัดให้มีระบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ เพื่อช่วยสะท้อนผลการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ และการกำกับดูแลกันเองของสื่อ
5. ความสัมพันธ์ระหว่างภาควิชาชีพ ภาครัฐ และภาคประชาชน
ระบบและกลไกทั้งสี่ประเภท ข้างต้น เพื่อดำเนินการประสารสัมพันธ์ ระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาควิชาชีพ และภาคประชาชน เพื่อการกำกับดูแลสื่อเพื่อเป็นไปโดยประสิทธิภาพ โดยที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะต้องมีกลไกประสานสัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาชนและองค์กรกำกับดูแลสื่อภาครัฐ เช่น กสทช.ด้วย เพื่อบูรณาการความร่วมมือ ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน และการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ
ส่วนองค์กรกำกับดูแลสื่อภาครัฐก็จำเป็นที่จะต้องดึงองค์กรประชาชนเข้ามาร่วมเป็นหูเป็นตา ร่วมกำกับและส่งเสริมให้ประชาชนเข้มแข็ง รวมถึงส่งเสริมภาควิชาชีพ ในการยกมาตรฐานสร้างความเข้มแข็ง และให้มีการกำกับกันเองที่ได้ผล ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีกองทุนจัดสรร เพื่อการสนับสนุนการบริหารงาน และการจัดการอื่นๆ ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และองค์กรภาคประชาชน ที่จะจัดตั้งขึ้นจากเงินคืนคลังขององค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย และ / หรือ กองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือเงินอื่นๆ ในอัตราส่วนที่เหมาะสม
ตัวบ่งชี้ผลสัมฤทธิ์
- มีกฎหมายเพื่อการจัดตั้งองค์กรหนึ่ง ทำหน้าที่กำกับดูแลเสรีภาพและจริยธรรมสื่อ
- มีประมวลจริยธรรมที่เป็นมาตรฐานสำหรับทุกองค์กรสื่อ
- มีรายงานผลการวินิจฉัยข้อร้องเรียนจากองค์กรกำกับดูแลกันเองในสื่อวิชาชีพทุกปี และเผยแพร่ต่อสาธารณะ
- องค์กรกำกับดูแลสื่อภาครัฐ ได้รับผลประเมินในระดับดี จากองค์กรที่กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ติดตามประเมินผลกำกับดูแลสื่อภาครัฐ
- มีการจัดตั้งและดำเนินการขององค์กรอิสระเพื่อการมีส่วนร่วมกำกับดูแลสื่อโดยภาคประชาชน และส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ
- มีการประเมินการพึงพอใจของประชาชน ต่อองค์กรต่างๆในระบบการกำกับดูแลสื่อและการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ อยู่ในระดับสูงอย่างมีนัยยะสำคัญ
หลักการและสาระสำคัญในการปฏิรูปด้านการป้องกันการแทรกแซงสื่อ
เสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของระบบประชาธิปไตย ถ้าสื่อมวลชนถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐ สื่อมวลชนจะกลายเป็นกระบอกเสียงในการโฆษณาชวนเชื่อของผู้มีอำนาจรัฐ
ช่องทางของรัฐในการแทรกแซงสื่อ มี 3 ช่องทางคือ
- เป็นเจ้าของสื่อเองโดยตรง อย่างกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทำให้การครอบงำเป็นไปโดยง่าย
- เป็นผู้ให้สัมปทานสื่อในโทรทัศน์และวิทยุ
- ซื้อสื่อโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์
การป้องกันการแทรกแซงสื่อจากอำนาจรัฐและทุน เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ในขณะเดียวกันสื่อมวลชนที่ดีต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นอิสระทั้งจากรัฐบาลและนายทุน
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันการแทรกแซงสื่อที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
- ระบบและกลไกหลักประกันการแทรกแซงจากอำนาจรัฐ
จัดให้มีกฎหมายประกันเสรีภาพสื่อ คุ้มครองความเป็นอิสระขององค์กรสื่อ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองความเป็นอิสระ ขององค์กรสื่อภาครัฐ กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐ กฎหมายประกันความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ
- ระบบและกลไกหลักประกันการแทรกแซงจากอำนาจทุน
จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างกลไกป้องกันการผูกขาด ควบรวม ของสิทธิ์ข้ามสื่อ จัดให้มีกลไกส่งเสริมการจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของทุนได้แสดงความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมภิบาลและคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ
- ระบบและกลไกด้านการดูแลสื่อด้วยสวัสดิภาพและสวัสดิการ
จัดให้มีกองทุนพัฒนากิจการสื่อวิทยุโทรทัศน์ โดยระดมทุนจากภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน ประชาชน เพื่อช่วยให้สื่อขนาดเล็กอยู่รอดได้และผลิตเนื้อหาให้มีคุณภาพปลอดภัยและสร้างสรรค์
- ระบบและกลไกด้านการเฝ้าระวังจากภาคประชาชน
สร้างกลไกการมีส่วนร่วมโดยให้ภาคประชาชนรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวัง (Media Watch) การถุกครอบงำโดยอำนาจรัฐและทุน ได้รายงานต่อองค์กรรับเรื่องร้องเรียนต่อสื่อมวลชน ทั้งในระดับองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ และสภาวิชาชีพสื่อมวลชนด้วย
ตัวชี้ผลสัมฤทธิ์
- มีกฎหมายเพื่อป้องกันการแทรกแซง โดยอำนาจรัฐและทุน
- มีผลงานวิจัยที่ชี้ชัดความเป็นอิสระของสื่อ แต่มีนัยยะสำคัญ
- มีสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสื่อที่ประกาศความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการแก่สาธารณชน
ข้อสังเกตและข้อเสนอของคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป
การปฏิรูปสื่อโดยเน้นเรื่องเสรีภาพโดยความรับผิดชอบ การกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการสร้างกลไกการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาค ทั้งภาควิชาชีพ ภาครัฐ และภาคประชาชน รวมทั้งการป้องกันการแทรกแซงสื่อ จากอำนาจรัฐ และทุน เป็นประเด็นที่ เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ อีกทั้งการกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการสร้างกลไกการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาค ทั้งภาควิชาชีพ ภาครัฐ และภาคประชาชนนั้น จะเกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพได้ หากพิจารณาประวัติศาสตร์ความเป็นมาและการพัฒนาของกลไกการกำกับดูแลของแต่ละภาคทั้งวิชาชีพ ภาครัฐ และภาคประชาชน ซึ่งมีความเป็นมาและมีประสิทธิภาพและมีปัญหาที่แตกต่างกัน
การปฏิรูปสื่อครั้งนี้ต้องพิจารณาถึงความท้าทายใหม่หลายประการที่คณะกรรมการปฏิรูปสื่อได้ระบุว่ามีความท้าทายอยู่ 6 ประการ
คณะทำงานด้านการปฏิรูปสื่อของทั้ง 4 องค์กร มีความเห็นเพิ่มเติม ในเรื่องปัญหาที่สั่งสมจากการปฏิรูปสื่อที่ผ่านมา นอกเหนือจากที่คณะกรรมาธิการได้ระบุถึงแล้ว ดังนี้
1.ปัญหาความเป็นอิสระเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อภาครัฐและภาคเอกชน นั้นมีลักษณะที่คล้ายกันอยู่ 3 ระดับคือ มีปัญหาจากความพยายามการแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจรัฐ ทุน ซึ่งหมายรวมถึงการเป็นเจ้าของและการเซ็นเซอร์ตนเอง
ในประเด็นนี้ คณะทำงานเพื่อการปฏิรูป 4 องค์กรเห็นว่า แนวทางการขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์การป้องกันและการแทรกแซงสื่อ ใน4 โครงสร้างที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ ได้วางแนวทางไว้นั้นมีความเหมาะสมแล้ว เช่น ให้มีกฎหมายในการควบคุมการประชาสัมพันธ์ภาครัฐ การสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง สร้างกลไกการมีส่วนร่วมโดยให้ภาคประชาชนรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวัง (Media Watch) การถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐและทุน ได้รายงานต่อองค์กรรับเรื่องร้องเรียนต่อสื่อมวลชน ทั้งในระดับองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ และสภาวิชาชีพสื่อมวลชนด้วย
คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปของ 4 องค์กร เห็นว่าองค์กรสื่อภาครัฐและภาคเอกชนมีความแตกต่างกันในแง่ของความเป็นเจ้าของ แต่มีความสำคัญเช่นเดียวกันในเรื่องการปฏิรูปสื่อและการปฏิรูปสื่อจะไม่ได้ผลสมบูรณ์เลย หากเกิดขึ้นแต่ในภาคสื่อเอกชน โดยไม่รวมองค์กรสื่อภาครัฐ
การแก้ไขปัญหาเรื่องความเป็นอิสระในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นเจ้าของนั้น การทำมาตรการป้องกันการผูกขาดเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะอาจจะนำมาซึ่งความครอบงำหรือผลกระทบสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน แต่ประเด็นเรื่องการครองสิทธ์ข้ามสื่อนั้น ไม่น่าจะมีกฎหมายป้องกันในเรื่องนี้ เพราะจะขัดต่อสภาพข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ทั่วโลก
หากจะประกันเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบเพื่อคุ้มครองการเป็นอิสระขององค์กรสื่อภาครัฐ จำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์และความเป็นมาของสื่อประเภทนี้อย่างจริงจัง ในส่วนของสื่อภาคเอกชนนั้น คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปสื่อ 4 องค์กร เห็นว่า มีกลไกและรูปธรรมที่สื่อภาคเอกชนได้ริเริ่มจัดทำมาแล้ว และได้พัฒนามีประสบการณ์ ที่น่าสนใจคือการใช้รูปแบบการจัดตั้งสหภาพในองค์กรสื่อ แต่เนื่องจากการจัดตั้งสหภาพในองค์กรสื่อ จำต้องอยู่บนหลักของความสมัครใจ จึงควรมีมาตรการในการส่งเสริมสหภาพกลางในองค์กรวิชาชีพสื่อเป็นกลไกสำรอง ในกรณีที่มีปัญหาการจัดตั้งในระดับองค์กรสื่อ ประเด็นนี้ไม่มีข้อจำกัดในทางกฎหมาย แต่จำเป็นต้องมีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง การจัดตั้งสหภาพฯยังเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญที่จะเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาในการเซ็นเซอร์ตนเองอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกจากการส่งเสริมการตั้งสหภาพฯแล้ว การแก้ปัญหาการเซ็นเซอร์ตนเองของผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้ผลอีกอย่างหนึ่ง คือ การกำหนดให้มีคณะบรรณาธิการเพื่อทำหน้าที่เป็นกำแพงศักดิ์สิทธิ์ระหว่างทุนและกองบรรณาธิการ ซึ่งประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่ควรกำหนดไว้ในมาตรฐานขั้นต้นทางจริยธรรมในระดับองค์กรสื่อทุกองค์กร
ปัญหาความรับผิดชอบต่อสังคมของสื่อวิชาชีพ และปัญหาการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพสื่อ คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป 4 องค์กร ให้คุณค่ากับการกำกับดูแลกันเองภายใต้ความสมัครใจและการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ การกำกับดูแลกันเองที่ผ่านมาของสื่อภาคเอกชน มีบทเรียนที่เป็นรูปธรรมและน่าศึกษาที่สุด เพราะมีความต่อเนื่องยาวนานที่สุด นั่นคือ การทำหน้าที่ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เกิดขึ้นโดยความสมัครใจของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพื่อให้เป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุมกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ สถานภาพผู้ประกอบวิชาชีพและกิจการหนังสือพิมพ์ ตลอดจนส่งเสริมสิทธิการใช้สื่อหนังสือพิมพ์เพื่อการรับรู้ข่าวสารและความคิดเห็นของพลเมือง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สภาการหนังสือพิมพ์ มีธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยสมาชิกกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ การพิจารณาเรื่องร้องเรียน และความรับผิดทางจริยธรรม โดยมีการตราข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2541 และข้อบังคับว่าด้วยการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 และประกาศข้อบังคับ แนวปฏิบัติ ต่างๆ เช่น แนวปฏิบัติเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวล ชน เป็นกฎและเครื่องมือสำคัญ
ในเรื่องของการรับผิดทางจริยธรรมนั้น คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมีอำนาจในการแจ้งเป็นหนังสือให้หนังสือพิมพ์ฉบับที่ถูกร้องเรียน ลงตีพิมพ์คำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของคณะกรรมการ ในตำแหน่งและขนาดตัวอักษรที่เห็นได้ชัด ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ได้รับคำวินิจฉัยนั้น โดยสภาการหนังสือพิมพ์ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
2.แจ้งเป็นหนังสือให้หนังสือพิมพ์ที่ถูกร้องเรียน บรรเทาความเสียหายด้วยการตีพิมพ์ข้อความคำขอโทษ ต่อผู้เสียหาย ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการโดยสภาการหนังสือพิมพ์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
3.ในกรณีผู้ประพฤติผิดเป็นผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ให้ส่งคำวินิจฉัยไปยังหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดของผู้นั้น เพื่อดำเนินการลงโทษ แล้วแจ้งผลให้สภาการหนังสือพิมพ์ทราบโดยเร็ว
4.ในกรณีที่เห็นสมควร สภาการหนังสือพิมพ์อาจตักเตือน หรือตำหนิ และเผยแพร่คำวินิจฉัยนั้นต่อสาธารณะได้ด้วย
ทั้งนี้มีข้อห้ามมิให้ คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รับเรื่องไว้พิจารณาดำเนินการในกรณีที่ศาลรับฟ้องในประเด็นเดียวกัน และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลหรือที่ศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว
การตราความรับผิดทางจริยธรรม และข้อห้ามการรับเรื่องไว้พิจารณาดำเนินการดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึง การจำกัดอำนาจ ขอบเขต การควบคุมกันเองว่า อยู่บนพื้นฐานของการสมัครใจโดยไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายในกรณีที่จะใช้สิทธิ์ฟ้อง ใช้สิทธิที่จะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อฟ้องสื่อในฐานความผิดทางแพ่งและอาญา
ฉะนั้น ประเด็นที่จะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ในการปฏิรูปสื่อคราวนี้คือ องค์กรวิชาชีพสื่อ และสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ควรจะมีอำนาจในการลงโทษ (Sanction)ผู้ประกอบวิชาชีพที่กระทำขัดต่อมาตรฐานวิชาชีพที่ร่วมกันกำหนดขึ้น อย่างไร และสัมพัทธ์กับความคาดหวังของสังคมและผู้ถูกละเมิดอย่างไร
หากพิจารณาอำนาจในการลงโทษที่เป็นอยู่ในปัจจุบันขององค์กรวิชาชีพสื่อจะพบว่า เป็นการให้อำนาจแก่ประชาชนและสังคมในการกำกับดูแลควบคู่ไปกับการใช้กระบวนการกฎหมายและการควบคุมกันเอง เป็น 3 ดุลยภาพ
ถ้าผู้กระทำความผิด ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ ไม่ยอมรับ หรือ ลาออกจากองค์กรวิชาชีพ จึงมีความหมาย เท่ากับการไม่ยอมรับการลงโทษโดยตีพิมพ์ข้อคำวินิจฉัยของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แต่เลือกหนทางไปต้องเผชิญกับพรหมทัณฑ์จากสังคม ซึ่งการควบคุมจากสังคมถ้าจะเข้มแข็งขึ้นกว่านี้อีก ถ้าภาคเอกชนระงับการสนับสนุนโฆษณา
ทั้งหมดนั้นพึงตระหนักว่า มิได้ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายจะดำเนินการทางกฎหมายกับสื่อที่กระทำผิดจริยธรรม
พึงเข้าใจว่าสถานะของสื่อนั้นขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของผู้อ่านและสังคมเป็นสำคัญ ถ้าปราศจากสิ่งนี้สื่อนั้นๆก็ไม่มีความหมาย บวกกับการลงโฆษณาจากภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้สื่อภาคเอกชนจะดำเนินการอยู่ได้โดยดีหรือไม่ ถ้าหากสังคมมีความเข้มแข็งการใช้มาตรการทางสังคม ซึ่งหมายรวมถืงการใช้โฆษณา ซึ่งจะมีผลสำคัญที่สุดในการกำกับดูแลสื่อ และจะเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลมากกว่ากฎหมายด้วยซ้ำไป
ประเด็นการสร้างขบวนการการมีส่วนร่วมของสังคม จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและการปฏิรูปสื่อควรจะให้น้ำหนักกับการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง (Media Watch) การถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐและทุน ได้รายงานต่อองค์กรรับเรื่องร้องเรียนต่อสื่อมวลชน ทั้งในระดับองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ และสภาวิชาชีพสื่อมวลชน อย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง
3.ปัญหาสวัสดิภาพและสวัสดิการของผู้ปฏิบัติวิชาชีพสื่อที่ยังมิได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร ส่งผลให้ระบบสื่อมวลชนไม่เข้มแข็งและพึ่งตัวเองไม่ได้ เสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐและทุน
ในเรื่องนี้ มีประเด็นที่ควรตระหนักคือ ในรายงานข้อเสนอการปฏิรูประบบการสื่อสารเพื่อประชาชนของคณะกรรมาธิการการปฏิรูปสื่อระบุไว้เองว่า ปัญหานี้ยังรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดประสิทธิภาพและล่าช้า กรณที่สื่อมวลชนถูกทำละเมิด หรือมีการทำร้ายร่างกายสื่อมวลชนหรือคุกคามสื่อมวลชน ในหลายรูปแบบ และเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่หากแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ รวมถึง กรณีมีการฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำของสื่อมวลชนที่ละเมิดต่อกฎหมายด้วย
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาสวัสดิภาพและสวัสดิการของผู้ปฏิบัติวิชาชีพสื่อ เป็นปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการคุ้มครองประชาชนด้วย สมควรหรือไม่ที่จะมีการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งการใช้มาตรการอื่น เช่น การใช้ตำแหน่งบรรณาธิการเพื่อประกันตนของผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้ หรือการยกเลิกโทษหมิ่นประมาทมิให้เป็นความรับผิดทางอาญา เช่น ที่เป็นหลักปฏิบัติทั่วไปในทางสากล ฯลฯ
4.ปัญหาการกำกับดูแลสื่อโดยองค์กรสื่อของรัฐที่เป็นอิสระ
ต่อประเด็นนี้ คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป 4 องค์กร จะมีความเห็นในเรื่องของการแก้กฎหมายของ กสทช. ที่อยู่ในกระบวนการของรัฐบาล รวมทั้งเคยมีความเห็นในบางส่วนแล้ว ในประเด็นที่ควรกล่าวถึงเฉพาะในที่นี้คือ การตีความและการบังคับใช้ กฎหมาย กสทช. มาตรา 37 นั้นควรจะมีแนวทางและมาตรฐานที่ชัดเจน รวมทั้งมีระเบียบและแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ในเรื่อง การวินิจฉัยว่าประเด็นใดเป็นเรื่องทางกฎหมายจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทางด้านวิทยุโทรทัศน์ ที่องค์กรวิชาชีพหรือสภาวิชาชีพสื่อทางด้านนี้ที่ควรพิจารณา และเรื่องใดที่จะเป็นอำนาจของ กสทช.
5. ปัญหาความท้าทายจากภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป
รายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อซึ่งระบุว่า การกำกับดูแลเนื้อหาออนไลน์ โดยภาคอุตสาหกรรมอินเตอร์เน็ตยังไม่เข้มแข็ง การพัฒนาเว็ปไซต์เข้าสู่ยุค 2.0 ผู้ใช้เว็บไซต์สามารถผลิตเนื้อหาเข้าสู่เว็ปไซต์ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เอง จึงทำให้เกิดการกระจายอำนาจการกำกับดูแลตนเองลงไปสู่หน่วยที่เล็กที่สุด คือผู้ใช้
ในเรื่องนี้ ประเด็นที่ควรจะทบทวนคือความเหมาะสมของเนื้อหาทางด้าน พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
6.ปัญหาความมีส่วนร่วมของประชาชน
ปัจจุบันประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางข่าวสารข้อมูลอย่างมาก เนื่องจากการเติบโตของโซเชียลมีเดีย และประชาชนใช้โซเชียลมีเดียในการตรวจสอบสื่อมวลชนด้วย และทิศทางนี้ก็ชัดเจนและกำลังมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ
จากประเด็นปัญหาที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯได้ตั้งฐานไว้นี้แสดงให้เห็นว่า มีรูปแบบการจัดการปัญหาอย่างหลากหลายที่ควรตระหนักและเอามาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด
ข้อสังเกตและข้อเท็จจริงในเรื่องเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ
จากประเด็นปัญหาที่คณะกรรมการปฏิรูปสื่อฯได้ศึกษาและตั้งไว้เป็นฐานนั้น ระบุว่าปัญหาทางจริยธรรมที่พบมากที่สุดคือ การโฆษณาที่ผิดกฏหมาย ขายสินค้าที่ไม่มีข้อมูลความจริง หรือเกินความจริงซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวพันกับงกระบวนการทำงานของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องอื่นอาทิ กสทช. สำนักงานอาหารและยา (อย.) ฯลฯ ทั้งด้านประสิทธิภาพและอำนาจตามกฎหมาย หากมีการประสานการแก้ไขกันทั้งระบบปัญหานี้น่าจะลดลง
สำหรับเนื้อหาหรือภาพข่าวที่ล่อแหลม เป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิมนุษยชน ขาดความเป็นกลางในการนำเสนอข้อมูล นำเสนอเนื้อหาที่ยั่วยุ สร้างความเกลียดชัง ก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคม โดยเฉพาะข่าวสารทางการเมือง นั้น เป็นข้อบ่งชัดว่า การปฏิรูปสื่อต้องครอบคลุมถึงสื่อภาครัฐและมาตรการอื่นที่สำคัญเช่นการส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งควรจะมีการกำหนดกลไกหน้าที่และบทบาทของผู้ที่จะทำงานด้านนี้ให้ชัดแจ้งเป็นพิเศษ เพราะที่ผ่านมามีแต่สื่อเอกชนและสถาบันการศึกษาบางแห่งเท่านั้นที่ดำเนินการอยู่
คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป 4 องค์กร เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปสื่อฯในเรื่องนี้ว่า หลายมาตรการที่เสนอมานั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ สังกัดเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพที่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดโดย สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ,กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมีพันธะสัญญากับองค์กรสื่อ /องค์กรวิชาชีพสื่อด้วยจริยธรรมวิชาชีพ มีการบรรจุวิชาจริยธรรมสื่อในหลักสูตรวิชานิเทศศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย รวมถึงจัดให้มีกลไกส่งเสริมงานวิจัยทางด้านจริยธรรมสื่อ
คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป 4 องค์กร เห็นว่า รูปธรรมที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สุดคือ มีกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการมีส่วนร่วมกำกับดูแลโดยภาคประชาชนและส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ องค์กรนี้ควรจะมีบทบาทและทำหน้าที่ระบบและกลไกด้านการเฝ้าระวังจากภาคประชาชน สร้างกลไกการมีส่วนร่วมโดยให้ภาคประชาชนรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวัง (Media Watch) การถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐและทุนโดยทำรายงานต่อสาธารณะ ไปพร้อมๆกับกำกับและตรวจสอบสื่อแทนประชาชน โดยใช้เครื่องมือคือ การจัดทำรายการ การศึกษาวิจัยในประเด็นปัญหาต่างๆ รวมทั้งรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนต่อสื่อมวลชน ทั้งในระดับองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ และสภาวิชาชีพสื่อมวลชนด้วย
ข้อสังเกตและข้อเท็จจริงในเรื่องการปฏิรูปด้านการกำกับดูแลสื่อ
ข้อวิจารณ์ที่ว่า การกำกับดูแลกันเองโดยองค์กรวิชาชีพ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงเสือกระดาษ ไม่สามารถดูแลด้านจริยธรรมของสมาชิกได้จริงนั้น ต้องพิจารณาว่า การออกแบบสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยกำหนดให้มีอำนาจในการลงโทษดังที่กล่าวมาข้างต้นสัมพัทธ์กับความคาดหวังของสังคมและผู้ถูกละเมิดอย่างไร และผู้ถูกละเมิดได้ใช้สิทธิในทางกฏหมายอย่างไรและผู้ที่ลาออกไปต้องเผชิญมาตรการทางสังคมอย่างไรแล้ว ควรพิจารณาสถิติและมมูลเหตุการเพิ่มขึ้นและลดลงของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติประกอบด้วยดังนี้
ตั้งแต่ปี 2540-2557 มีองค์กรสื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกทั้งสิ้น 47 องค์กร ลาออก 12 องค์กร มูลเหตุของการลาออกเป็นเพราะปิดกิจการ และสาเหตุอื่น เช่น ผู้บริหารเสียชีวิตไม่มีผู้ดำเนินการต่อ ปิดกิจการเพราะสภาพเศรษฐกิจ ฯลฯ รวม 9 องค์กร มี 3องค์กรที่ลาออกเพราะไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯนั่นคือ เครือมติชนลาออกเพราะไม่ยอมรับมติเรื่องการตรวจสอบเรื่องสินบนสื่อ สยามกีฬารายวันลาออกด้วยเหตุผลในกรณีเดียวกัน และสยามกีฬารายวัน ลาออกเพราะไม่ยอมรับข้อบังคับเรื่องการเสนอข่าวเกี่ยวกับพนันฟุตบอล
ปี |
|
จำนวนสมาชิก |
เพิ่ม |
ลาออก |
หมายเหตุ-ลาออก |
40 |
|
40 |
|
|
|
45 |
|
|
3 |
|
|
46 |
|
|
7 |
|
|
47 |
|
|
4 |
2 |
เดลิไทม์, กลุ่มคู่แข่ง – ปิดกิจการ |
48 |
|
|
1 |
|
|
49 |
|
|
4 |
|
|
50 |
|
|
4 |
1 |
นสพ.ไอ.เอ็น.เอ็น. เอ็กซ์คลูซีฟนิว - ปิดกิจการ |
51 |
|
|
4 |
|
|
52 |
|
|
2 |
4 |
บิสิเนสไทย, พลเมืองเหนือ - ปิดกิจการ / เม็งราย-หยุดกิจการชั่วคราว/ |
53 |
|
|
2 |
|
สยามกีฬารายวัน - ค้างจ่าย ลาออกจากสมาชิก (ไม่ยอมรับข้อบังคับเรื่องการเสนอข่าวเกี่ยวกับการพนันฟุตบอล) |
54 |
|
|
3 |
3 |
ไทยไฟแนนเชียล(ลาออกตามมติชน), เครือมติชน (ไม่ยอมรับมติสภาการนสพ.กรณีการตรวจสอบเรื่องสินบนสื่อ), |
55 |
|
|
1 |
|
อีคอนนิวส์ - ลาออกจากสมาชิก (สภาพเศรษฐกิจ) |
56 |
|
|
- |
2 |
เสียงเสรีภาพ (ปิดกิจการ) ผู้บริหารเสียชีวิตไม่มีผู้ดำเนินการต่อ / ล้านนาไทย นิวส์ (ปิดกิจการ) สภาพเศรษฐกิจ |
57 |
|
|
12 |
|
|
|
|
|
47 |
12 |
|
ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนว่า มีองค์กรสื่อจำนวนมายอมประกาศตัวยอมรับพันธสัญญาว่า ประสงค์จะมีจริยธรรมแห่งวิชาชีพตามที่ตกลงกัน แต่มีจำนวนน้อยที่ลาออกเพราะไม่ยอมรับมาตรฐานนั้นและพร้อมเผชิญมาตรการทางสังคมซึ่งก็ปรากฏให้เห็นแล้ว
คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป 4 องค์กร เห็นว่าการกำกับดูแลจริยธรรมสื่อนั้นต้องกระทำด้วยความระมัดระวังเพราะมิฉะนั้นจะมีปัญหากระทบไปถึงเรื่องความเป็นอิสระและเสรีภาพ เนื้อหาและกลไกใดๆที่จะมีขึ้นควรจะชัดเจนว่ามุ่งเน้นไปเรื่องจริยธรรมเท่านั้น อาจใช้การกำกับดูแลด้านรัฐถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อด้านเสรีภาพสื่อมวลชน
คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป เคยเสนอแนวทางในการกำกับดูแลสื่อ ต่อคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 ไปแล้วโดยระบุว่า เพื่อให้องค์กรสื่อมีความรับผิดชอบมากขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบจริยธรรม เห็นควรให้มีกลไกในการกำกับดูแลกัน 2 ชั้นดังนี้
1.กลไกการกำกับดูแลชั้นที่ 1
ต้องมีการสร้างกลไกและกระบวนการในการกำกับดูแลกันเอง(Ombudsman) โดยเจ้าของ หรือ ผู้ประกอบการสื่อ ในนิยามความหมายของคำว่า “องค์กรสื่อ” ทุกองค์กรมีหน้าที่สร้างกลไกการกำกับดูแลกันเองชั้น ๑ ตามขั้นตอน โดยจะต้องสร้างกระบวนการเพื่อควบคุมคุณธรรมที่เป็นระบบขึ้นภายในองค์กรสื่อเอง ดังนี้
จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย
ก. ข้อตกลงสภาพการจ้าง
ข. บัตรแสดงตนที่ระบุตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ประกอบวิชาชีพในสังกัด
การจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบตัวบุคคลและจำนวนคนที่เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแล และเพื่อทำให้การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และการสังกัดองค์กรสื่อจะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้รับการยอมรับว่าเป็นมืออาชีพ ทำให้มีความแตกต่างจากการสื่อสารโดยทั่วไปด้วยการบังคับใช้มาตรฐานจริยธรรมที่จะเป็นหลักประกันที่จะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อได้รับความเชื่อมั่นเชื่อถือ
ต้องมีการจัดทำมาตรฐานจริยธรรมขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักการและแนวปฏิบัติขององค์กร (Code of Esthic & Conduct) ที่เหมาะสม สอดคล้องเป็นที่ยอมรับร่วมกันของผู้ประกอบวิชาชีพและเจ้าขององค์กรสื่อ
ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมขององค์กรที่เปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมต่างๆ (จำนวนของคณะกรรมการอาจยืดหยุ่นตามความสามารถขององค์กร) จัดทำข้อบังคับและกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน
2กลไกการกำกับดูแล ชั้นที่ 2
เป็นการออกแบบกลไกการกำกับดูแลเพื่อติดตามให้การกำกับดูแลของ องค์กรสื่อ ในชั้นที่ 1 ได้รับการทบทวนตรวจสอบบทบาทหน้าที่และการปฏิบัติให้เป็นไปตามกลไกการกำกับดูแล ชั้นที่ 1 อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การกำกับโดย “สภาวิชาชีพ” โดยควรมีแนวทางและรูปแบบดังนี้
ควรมีการออกกฎหมายเพื่อรับรองการการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพ” เพื่อเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้อยู่ภายใต้มรรยาทและมาตรฐานเดียวกัน แต่ความเป็น “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” นี้จะมีลักษณะที่แตกต่างจากสภาวิชาชีพที่มีการจัดตั้งตามกฎหมายอื่น กล่าวคือ เป็นองค์กรวิชาชีพที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายปกครอง และรับการกระจายอำนาจทางปกครองเพียงบางส่วนมาจากรัฐ เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งจากรัฐ ทุน และการเมือง ทั้งนี้สภาพบังคับขั้นตอนสุดท้ายอาจต้องสร้างช่องทางให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดคำวินิจฉัยด้วย
กำหนดให้ “องค์กรสื่อ” ต้องเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพอย่างน้อยแห่งใดแห่งหนึ่งด้วยระบบสมัครใจ
สภาวิชาชีพที่ก่อตั้งขึ้นต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ(ผู้บริโภค)ไปพร้อมๆกับการปกป้องเสรีภาพของสื่อมวลชนบนพื้นฐานความรับผิดชอบและควรมีวัตถุประสงค์ดังนี้คือ
ส่งเสริม สนับสนุนและกำกับดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานจริยธรรมแห่งวิชาชีพที่องค์กรประกาศกำหนด
คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ และคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน รวมถึงการป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้รับข้อมูลข่าวสาร
ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานจริยธรรมขององค์กรให้มีความครบถ้วนครอบคลุมทุกด้านและสอดคล้องกับพัฒนาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
พิจารณาทบทวนและปรับปรุงข้อบังคับให้มีความทันสมัยเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการพิจารณาเรื่องร้องเรียนแก่ผู้เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงรักษาไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์ของผู้ประกอบวิชาชีพ
ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อ และให้ความสำคัญกับการติดตามตรวจสอบการทำงานของสื่อ
นอกจากนี้การเกิดขึ้นหรือการจัดตั้งสภาวิชาชีพในแนวทางนี้อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการรวมกลุ่มและเกิดการจัดตั้งสภาวิชาชีพขึ้นหลายสภาวิชาชีพ และเพื่อส่งเสริมกลไกการกับดูแลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงมีแนวทางการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้บริหาร หรือผู้ประกอบกิจการด้านสื่อสารมวลชนในรูปแบบ “สภาวิชาชีพผู้ประกอบธุรกิจสื่อ” เพื่อเป็นช่องทางในการแสดงความรับผิดชอบของเจ้าของสื่อต่อผู้บริโภค และการคุ้มครองความเป็นอิสระของผู้ประกอบธุรกิจสื่อได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย
คณะทำงานด้านการปฏิรูปสื่อ เห็นว่า การรวมตัวกันตั้งเป็นองค์กรวิชาชีพขั้นต้น โดยสร้างกลไกและกระบวนการในการกำกับดูแลกันเอง(Ombudsman) โดยเจ้าของ หรือ ผู้ประกอบการสื่อเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งและการรวมตัวกันเป็นองค์กรวิชาชีพมีธรรมนูญของตนเอง มีฝ่ายกำกับนโยบาย ฝ่ายบริหารกองทุน ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนที่มีระบบการพิจารณาที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรมก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญควรจะได้รับการส่งเสริมและหากจะมีองค์กลางในการกำกับกันเอง โดยจะเป็นรูปแบบจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นองค์กรกลางหรือไม่จะเรียกชื่ออื่นใดก็ตาม โดยให้ทำหน้าที่ในเรื่องการพัฒนาจริยธรรมที่เป็นมาตรฐานกลาง เป็นหน่วยงานที่ช่วยพิจารณาทบทวนและปรับปรุงข้อบังคับขององค์กรต่างๆให้มีความทันสมัยเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการพิจารณาเรื่องร้องเรียนแก่ผู้เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่องค์กรที่จะรับเรื่องร้องเรียนแทนประชาชนให้เป็นองค์กรที่เกิดจากพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมโดยให้ภาคประชาชนรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวัง (Media Watch)โดยให้มีหน้าที่ตามที่กล่าวมาข้างต้น
ทั้งนี้ให้โดยให้องค์กรกลางที่ดูแลพัฒนาเรื่องจริยธรรม รวมทั้งกลไกลที่จะเกิดจากภาคประชาชนเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังได้รับทุนจากกองทุนซึ่งมีรายได้จากเงินคืนคลังขององค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย และ / หรือ กองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือเงินอื่นๆ ในอัตราส่วนที่เหมาะสม
องค์กรกลางที่ดูแลพัฒนาเรื่องจริยธรรมจะจัดให้มีกองทุนจัดสรร เพื่อการสนับสนุนการบริหารงาน และการจัดการอื่นๆ ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนก็ได้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้องค์กรเหล่านั้นได้ทำหน้าที่อย่างเต็มบทบาทอย่างที่ควรจะเป็น
รูปแบบนี้จะเป็นการแยกอำนาจหน้าที่ระหว่างผู้กำกับดูแล (Regulator) และผู้ประกอบการ (Operator) อย่างชัดเจนในทุกระดับและเป็นการป้องกันการแทรกแซงจากทั้งรัฐและเจ้าของ อีกทั้งประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งการจัดตั้งสภาวิชาชีพก็จะมีความหลากหลายไปตามความเป็นจริง เช่น อาจจะมีสภาวิชาชีพตามประเภทของสื่อ มีสภาวิชาชีพตามภูมิศาสตร์ที่ตั้ง มีลำดับในการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพอย่างเป็นรูปธรรม และเหมาะสม เป็นไปตามมาตรฐานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน โดยคำนึงถึงความแตกต่างทั้งมิติ ประเภท หรือรูปแบบของเนื้อหา มิติประเภทของสื่อ และมิติระดับการครอบคลุมของการประกอบการ
ขณะเดียวกัน การปฏิรูปสื่อรัฐก็ให้อยู่บนพื้นฐานเดียวกันนี้ โดยจะเชื่อมโยงกันในเรื่องจริยธรรมกลางก็ได้หรือ จะแยกก็ได้แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องมีการแยกการแยกอำนาจหน้าที่ระหว่างผู้กำกับดูแล (Regulator) และผู้ประกอบการ (Operator) อย่างชัดเจนในทุกระดับ
แนวทางนี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯในทุกประเด็น ระบบและกลไกการกับกับกันเองโดยวิชาชีพที่ทำมาได้รับการส่งเสริมพัฒนา และเปิดโอกาสให้มีการรวมตัวกันและได้รับการส่งเสริมพัฒนาอย่างเท่าเทียม มีเส้นแบ่งทางกฎหมายที่แจ่มชัด การกำกับโดยภาครัฐและองค์กรภาครัฐมีแนวทางที่ชัดเจน ประสิทธิภาพของการกำกับโดยประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีการประสารสัมพันธ์ ระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาควิชาชีพ และภาคประชาชน เพื่อการกำกับดูแลสื่อเพื่อเป็นไปโดยประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัยสภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะต้องมีกลไกประสานสัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาชนและองค์กรกำกับดูแลสื่อภาครัฐ เช่น กสทช.อย่างเหมาะสมด้วย
ข้อสังเกตและข้อเท็จจริงในเรื่องหลักการและสาระสำคัญในการปฏิรูปด้านการแทรกแซงสื่อ
คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของระบบประชาธิปไตย ถ้าสื่อมวลชนถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐ สื่อมวลชนจะกลายเป็นกระบอกเสียงในการโฆษณาชวนเชื่อของผู้มีอำนาจรัฐ
เพื่อป้องกันการแทกแซงของรัฐ เห็นควรในหลักการว่า ควรปรับกฎหมายกสทช.และ ตรากฎหมายว่าด้วยการใช้งบประมาณภาครัฐซื้อสื่อโฆษณา ดังได้ระบุไปแล้ว โดยมีรายละเอียด หลักการที่จะมิขอกล่าวในที่นี้
นอกจากนี้เห็นควรว่า น่าจะจัดให้มีกฎหมายประกันเสรีภาพสื่อ คุ้มครองความเป็นอิสระขององค์กรสื่อ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองความเป็นอิสระ ขององค์กรสื่อภาครัฐ
สำหรับความเป็นอิสระของผู้ประกอบวิชาชีพและเพื่อจูงใจให้มีการจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของทุนได้แสดงความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมภิบาลและคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะควรมีมาตรการจูงใจด้วยวิธีอื่นเช่น การให้มีสิทธิในการประกันตัวหากถูกฟ้องรอ้งโดยผ่านการเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพหรือสมาคม น่าจะเป็นแรงจูงใจที่ได้ผล
ระบบและกลไกด้านการดูแลสื่อด้วยสวัสดิภาพนั้น ให้เป็นรายละเอียดที่องค์กรกลางที่ทำหน้าที่พัฒนาจริยธรรมเป็นผู้พัฒนาร่วมกับสภาวิชาชีพแต่ทั้งนี้ให้อยู่บนหลักการสำคัญที่ว่า สื่อจะคงความเป็นอิสระได้ต่อเมื่อสามารถยืนอยู่บนความเป็นอิสระทางด้านเศรษฐกิจของตนเอง
สำหรับระบบและกลไกด้านการเฝ้าระวังจากภาคประชาชนนั้นได้เสนอไปในข้างต้นโดยละเอียดแล้ว
บทสรุป
ผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรสื่อทุกระดับเห็นความสำคัญของการปฏิรูปสื่อว่า เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นระยะๆตามสภาพการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และการปฏิรูปสื่อมิอาจจะเป็นจริงได้หากปราศจากความร่วมมือจากภาคอื่นๆในสังคม แต่ทั้งหมดนั้นควรจะเป็นไปด้วยความรอบคอบ สร้างสรรค์ และเป็นจริงตามประวัติศาสตร์ ตามลักษณะประเภทของสื่อ ฯลฯ แนวทางที่นำมาใช้อาจจะประกอบด้วยความหลากหลายแล้วแต่ความสภาพปัญหา มีได้ทั้งการออกกฏหมายใหม่ การปรับปรุงกฎหมายเดิม การออกเป็นระเบียบ การใช้มาตรการอื่นที่มิใช่มาตรการทางกฎหมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของเหมาะสมของแต่ละฝ่ายที่พึงมีตามระบอบประชาธิปไตยด้วย