สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-30 ก.ย.2562
1.สื่อมวลชนท้องถิ่นภาคตะวันตก ประกาศปฏิญญา “รวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมภาคตะวันตก” หวังสร้างมาตรฐานสื่อท้องถิ่นคุณภาพ วอนสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ปลดล็อกการเข้าเป็นสมาชิก เพื่อผลประโยชน์ในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน
โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบัน ChangeFusion และสมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “สื่อท้องถิ่นกับการรับมือข่าวลวงและด้านมืดยุคดิจิทัล” ภายใต้โครงการพัฒนากลไกการแก้ปัญหาข่าวลวงเพื่อสุขภาวะสังคมยุคดิจิทัล และร่วมประกาศ “ปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมภาคตะวันตก” เพื่อสร้างบรรทัดฐานในการผลิตและนำเสนอข่าวและข่าวออนไลน์ที่ถูกต้องมีคุณภาพให้กับสื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อต้านข่าวลวง (Fake News)
โดยเฉพาะปฏิญญา "ลดข่าวลวง" 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือซึ่งกันและกันในภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาควิชาการ เพื่อสร้างความตื่นตัว สนใจ ในข้อมูลข่าวสารที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ร่วมกันทำงานเพื่อรับมือ ติดตาม ตรวจสอบ รายงาน เผยแพร่ข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ และรวมพลังต่อต้านข่าวลวงในทุกระดับของสังคม 2.ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายและประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจในการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร สื่อสารสนเทศและดิจิทัล เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อปัญหาข่าวลวง ตั้งแต่เด็ก เยาวชน จนถึงผู้ใหญ่ เพื่อพัฒนาประชาชนไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) 3.พัฒนากระบวนการ รูปแบบการทำงานและนวัตกรรม ตลอดจนเครื่องมือหรือกลไกเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมข่าวลวงอย่างมีส่วนร่วม สามารถประยุกต์ใช้ทั้งภาคีวิชาการ วิชาชีพ ผู้ผลิตสื่อ ภาคประชาชน และผู้ใช้สื่อ 4.สนับสนุนการรวมพลังเพื่อผลักดันให้แพลตฟอร์มต่างๆ มีมาตรการในการลดการเกิดขึ้นของข่าวลวง ร่วมสกัดกั้นการแพร่กระจายของข่าวลวงอย่างรวดเร็ว 5.การตั้งองค์กระระดับชาติน่าเชื่อถือได้ คอยช่วยตรวจสอบข่าวว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวลวง ขณะที่สื่อท้องถิ่นก็ต้องพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นสำนักข่าวที่รายงานข่าวอย่างถูกต้อง น่าเชื่อถือ ก็จะทำให้ประชาชนที่เสพข่าวสามารถรีเช็คข่าวบนโซเชียล ได้ที่เว็บไซต์หรือเพจเฟซบุ๊กของสำนักข่าวท้องถิ่นในพื้นที่เกิดเหตุนั้นๆ ได้ ซึ่งแนวทางนี้น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้แต่มีสิ่งที่ต้องคิดต่อไปว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้จักเว็บไซต์หรือโซเชียล
2.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (อีดี.) พร้อมด้วย น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผบก.ปอท. และ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะโฆษก ปอท. ร่วมแถลงการปิดล้อมจับกุมเพจเฟซบุ๊กข่าวปลอม 9 คดี ใน “ปฏิบัติการทลายล้างข่าวปลอม 09.09.2019” อาทิ ข่าวประกาศพื้นที่ควบคุมพิเศษระเบิด 7 จุดในกรุงเทพมหานคร” หรือข่าวหลอกรักออนไลน์ (โรแมนซ์ สแกม)” จับกุมผู้ต้องหา 1 ราย ใน จ.พระนครศรีอยุธยา มูลค่าความเสียหายกว่าล้านบาท
ปอท.วิเคราะห์ข่าวปลอมหรือ Fake News แบ่งได้ 4 ประเภท 1.กลุ่มเกรียนหรือนักเลงคีย์บอร์ดโพสต์ข้อความสร้างกระแสเพื่อความสนุกส่วนตัว 2.กลุ่มหวังรายได้ นำภาพดารา ผู้มีชื่อเสียง โพสต์สร้างกระแส หวังยอดติดตามเพื่อโฆษณา 3.กลุ่มสร้างความเกลียดชัง โพสต์ข้อความดูหมิ่น ยุยง ปลุกปั่นหรือกลุ่ม Hate Speech และ 4.กลุ่มหลอกลวง นำเข้าข้อมูลเท็จ หลอกขายสินค้า
3.สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5) ได้ผลิตรายการ “Weekly News Thailand” รายการข่าวภาคภาษาอังกฤษ พร้อมคำบรรยายภาษาไทยตลอดทั้งรายการ เพื่อเสริมสร้าง การเรียนรู้ควบคู่ทั้ง 2 ภาษา เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายไปสู่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่ต้องการติดตามข้อมูลข่าวสาร รวมถึงกลุ่มผู้ชมคนไทยที่สนใจรับฟังข่าวในรูปแบบภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นการสรุปข่าว เหตุการณ์สำคัญ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง และประเด็นเรื่องราวที่อยู่ในความสนใจของประชาชนในรอบสัปดาห์ ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 18.20-18.50 น. เริ่มวันศุกร์ที่ 20 ก.ย. นี้ ทาง ช่อง 5 HD1 กดหมายเลข 1 และ TGN ใน 177 ประเทศทั่วโลก
4.เฟซบุ๊คยักษ์โซเชียลเบอร์ 1 ของโลกวางไทยเป็นประเทศยุทธศาสตร์หลัก จากยอดผู้ใช้งานเฟซบุ๊คต่อเดือนมากถึง 55 ล้านบัญชี โดยเฉพาะแต่ละวันมีคนไทยใช้งานบนเฟซ บุ๊คมากถึง 39 ล้านคน จึงปรับแผนคอนเทนท์วีดีโอผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีมากขึ้น จากคนไทยนิยมดูวีดีโอบนเฟซบุ๊คเพิ่มสูงขึ้นจนติดระดับท็อปของภูมิภาค เฟซบุ๊คจึงโปรโมทบริการเฟซบุ๊ค วอทช์ จากสถิติมีผู้คนจำนวนมากกว่า 720 ล้านคนทั่วโลกใช้เวลาในการรับชมวิดีโอผ่านเฟซบุ๊ค วอทช์ อย่างน้อย 1 นาทีในแต่ละเดือน ขณะที่ ผู้คนมากกว่า 140 ล้านคนทั่วโลก ใช้เวลารับชมวิดีโอผ่านเฟซบุ๊ควอทช์ อย่างน้อย 1 นาทีในแต่ละวัน โดยเฉลี่ยแล้วกว่า 140 ล้านคนเหล่านี้ ใช้เวลารับชมวิดีโอผ่าน เฟซบุ๊ค วอทช์ มากกว่า 26 นาทีในแต่ละวัน เฟซบุ๊คจึงขยับไปเน้นบริการ วิดีโอ วอทช์ในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นสร้างประสบการณ์รับชมวิดีโอให้มีความหมาย สร้างช่องทางสร้างรายได้ ซึ่งจะส่งให้ผู้สร้างต้องการสร้างวิดีโอเนื้อหาที่ได้คุณภาพ
5.เพจ MarketThing ได้รายงานสถานการณ์รายได้หนังสือพิมพ์ กำลังหดตัวลง อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อาทิ บริษัท วัชรพล จำกัด (ไทยรัฐ) ปี 2557 มีรายได้รวม 4,453 ล้านบาท (ลดลง 14%) กำไร 1,648 ล้านบาทปี 2558 มีรายได้รวม 3,905 ล้านบาท (ลดลง 12%) กำไร 1,456 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้รวม 3,071 ล้านบาท (ลดลง 21%) กำไร 928 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้รวม 2,597 ล้านบาท (ลดลง 15%) กำไร 604 ล้านบาทปี 2561 มีรายได้รวม 2,135 ล้านบาท (ลดลง 18%) กำไร 313 ล้านบาท
รายได้ บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด (เดลินิวส์)ปี 2557 มีรายได้รวม 1,643 ล้านบาท (ลดลง 14%) กำไร 64 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้รวม 1,348 ล้านบาท (ลดลง 18%) กำไร 32 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้รวม 1,182 ล้านบาท (ลดลง 12%) กำไร 110 ล้านบาทปี 2560 มีรายได้รวม 909 ล้านบาท (ลดลง 23%) กำไร 20 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้รวม 743 ล้านบาท (ลดลง 18%) ขาดทุน 22 ล้านบาท
เมื่อคนเลือกที่ซื้อหนังสือพิมพ์น้อยลง จะมีผลกระทบเรื่องเม็ดเงินโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์ก็หดหายไปอย่างมหาศาล โดยเฉพาะข้อมูลจาก นีลเส็น ประเทศไทยระบุว่า เม็ดเงินโฆษณาหนังสือพิมพ์ปี 2559 มีมูลค่า 14,077 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 เหลือมูลค่าอยู่ที่ 8,502 ล้านบาท ผ่าน 2 ปีเม็ดเงินลดลงไป 39.6% หรือคิดเป็นมูลค่าที่หายไปถึง 5,575 ล้านบาท เพจ MarketThing จึงวิเคราะห์ว่า หนังสือพิมพ์เหล่านี้ มาโลดแล่นบนโลก Social Media อาทิ เพจ Khaosod - ข่าวสด มีคนติดตาม 12.9 ล้านคน เพจ ไทยรัฐออนไลน์ มีคนติดตาม 11.4 ล้านคน เพจ PostToday มีคนติดตาม 3.3 ล้านคน ทำให้ Facebook ยังเป็นสนามรบหลักในการหารายได้ของบรรดาสื่อออนไลน์ ได้เกิดเพจต่างๆ มากมายจนนับไม่ถ้วนที่แย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ที่มีมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท
6. "เนชั่น"ประกาศดัน 3 ธุรกิจ "ออฟไลน์-ออนไลน์-อีเวนท์" โดยนายสมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าเป็นผู้ให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร (Content Provider) และการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยจะเน้น 3 ธุรกิจหลัก 1.ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อโทรทัศน์ (Offline) 2.ธุรกิจออนไลน์ (On Line) และ 3.ธุรกิจจัดกิจกรรม (Onground) เช่น จัดกิจกรรมเกี่ยวกับกีฬา จัดสัมมนาต่างๆ และจัดหลักสูตรอบรม โดยตั้งเป้ารายได้จัดกิจกรรมต่างๆ ในปี 2562 ที่ 150 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปี 2561 ที่มีรายได้ 93.28 ล้านบาท โดยบริษัทจะประสานความร่วมมือทั้ง 3 ธุรกิจหลักเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้บริษัทมีรายได้และกำไรสุทธิเติบโต
ส่วนผลการดำเนินงานปีนี้ มั่นใจจะมีกำไรสุทธิต่อเนื่องจากปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 290 ล้านบาท เพราะบริษัทรุกธุรกิจด้านออนไลน์มากขึ้น โดยในวันที่ 10 ต.ค.นี้ บริษัทจะประกาศยุทธ์ศาสตร์ ภายใต้ชื่อ ‘Nation Transforms’ โดยจะนำธุรกิจสื่อออนไลน์ทุกแบรนด์ภายใต้เครือเนชั่น มารวมอยู่ในบริษัท เนชั่น ดิจิทัล คอนเทนท์ จำกัด ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท สปริง 26 จำกัด และตั้งเป้าที่จะมีผู้ติดตามเพิ่มเป็น 10 ล้านเพจวิว ภายในปี 2563 จากปัจจุบันอยู่ที่ 8 ล้านเพจวิว
7.เว็ปไซด์ TV Digital Watch ได้รายงานมูลค่าตลาดโฆษณาทีวีดิจิตอลในรอบ 5 ปี (2557-2562) ข้อมูลจากไลน์ทางการของ กสทช.ได้รายงานตลาดโฆษณาทีวีดิจิตอล 5 ปีย้อนหลัง โดยมูลค่าตลาดโฆษณาทีวีดิจิตอลในรอบ 5 ปี แสดงให้เห็นทิศทางของรายได้จากค่าโฆษณาของธุรกิจ โทรทัศน์ที่มีการกระจายตัวไปหลากหลายช่องมากขึ้น ช่องทีวีดิจิตอลที่เกิดขึ้นใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งมูลค่า ตลาดโฆษณาวงการโทรทัศน์จากผู้ประกอบการโทรทัศน์รายเดิมได้ในสัดส่วนที่มากขึ้น จากส่วนแบ่งเพียง 12.69% ของมูลค่าโฆษณารวมในตลาด 7.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 42.29% ของมูลค่ารวม 6.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ
8.THE MATTER ได้รายงานความคืบหน้าศูนย์ต้านข่าวปลอม หรือ fake news center ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันอยู่ที่ราว 60% แล้ว โดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เผยว่า นอกจากทาบทามผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ ยังอยู่ระหว่างติดตั้งระบบ social listening ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบข่าวปลอม พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องมือต่างๆ ภายในศูนย์และทดลองให้เกิดความแม่นยำ เพื่อติดตามการแชร์ข่าวปลอมที่เกิดผลกระทบต่อประชาชน สร้างความเสียหายต่อประเทศในวงกว้าง รวมถึงข่าวที่มีลักษณะโฆษณาเกินจริง ศูนย์ต้านข่าวปลอมจะไม่มีเรื่องการเมืองมาแทรกแซง จะไม่เกี่ยวข้องกับข่าวที่เป็นข้อพิพาทระหว่างนักการเมืองด้วยกัน
สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบข่าวปลอม จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 1 ชั่วโมง และนำเสนอขั้นตอนการตรวจสอบเป็น infographic เพื่อนำเสนอต่อไปยังประชาชน จากนั้นจะให้ ปอท.ดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข่าวปลอม โดยจะมีการเปิดตัวศูนย์ต้านข่าวปลอมอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้