1.เว็ปไซต์ "มติชน" รายงานเฟซบุ๊ก เตรียมหยุดบริการข่าวในออสเตรเลีย หากกฎหมายใหม่บังคับให้จ่ายเงินค่าข่าว โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน เฟซบุ๊ก ประกาศจะหยุดการให้บริการแบ่งปันเนื้อหาข่าวในออสเตรเลียบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก หากข้อเสนอที่ให้เฟซบุ๊กต้องจ่ายเงินให้กับสื่อในออสเตรเลีย เป็นค่าตอบแทนที่ใช้เนื้อหาข่าวของสื่อเหล่านั้น ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายขึ้นมา และจะทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศแรกที่ให้ยักษ์ใหญ่ด้านสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก และกูเกิล ต้องจ่ายเงินค่าข่าวให้แก่สื่อท้องถิ่นที่ถูกนำข่าวไปเสนอบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กและกูเกิล
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กมีแผนที่จะปิดกั้นการแบ่งปันข่าวสำหรับผู้ใช้บัญชีชาวออสเตรเลีย มากกว่าที่จะจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ของข่าว
โดยวิล อีสตัน ผู้อำนวยการบริหารของเฟซบุ๊ก ออสเตรเลีย เขียนบนบล็อกว่า หากข้อเสนอดังกล่าวกลายเป็นกฎหมาย เฟซบุ๊กก็ต้องหยุดการให้สื่อและผู้คนในออสเตรเลีย แบ่งปันข่าวทั้งข่าวท้องถิ่นและข่าวระหว่างประเทศบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม พร้อมระบุว่า นี่ไม่ใช่ตัวเลือกแรกของเฟซบุ๊ก แต่เป็นตัวเลือกสุดท้าย ที่จะเป็นหนทางเดียวในการปกป้องผลลัพธืที่จะตามมาหากไม่ทำตามระบบ และจะต้องเจ็บปวด
2.เว็ปไซต์ "คมชัดลึก" รายงาน "เนชั่นทีวี ส่งมอบ ธารน้ำใจ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย 10 ตำบล ใน อำเภอสวรรคโลก จ.สุโขทัย โดยนายสุทธิรักษ์ อุฒมนตรี ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร เป็นผู้แทนผู้บริหารเนชั่นทีวี ได้ส่งมอบสิ่งของบริจาคในโครงการ เนชั่นทีวี รวมน้ำใจ สู้ภัยน้ำท่วม จากเหล่าพันธมิตร กลุ่มผู้สนับสนุน คุณผู้ชม ที่ได้ร่วมกันบริจาคสิ่งของมา 102 รายการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก จ.สุโขทัย ทั้ง10ตำบล เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ฃโดยมีนายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เป็นตัวแทนมารับมอบของบริจาค ถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค บริโภค ในธารน้ำใจนี้ให้กับชาวสรรคโลก จากนั้นได้ปล่อยขบวนนำสิ่งของเข้าพื้นที่ทั้ง 10 ตำบล
3.เว็ปไซต์ "thumbsup" รายงานสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ร่วมกับคันทาร์ (ประเทศไทย) สำรวจเม็ดเงินลงทุนผ่านสื่อดิจิทัลครั้งที่ 2 โดยเป็นการเก็บข้อมูลเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของครึ่งปีแรกของปี 2563 พบว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อเม็ดเงินการลงทุนในสื่อดิจิทัล จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตเป็นเลขสองหลักกลับเหลือเพียง 0.3% โดยนายศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งในแง่บวกและแง่ลบต่อการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาในปีนี้ เมื่อดูจากภาพรวมอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์ มีมูลค่าเงินสะพัด2,577 ล้านบาท กลุ่มเครื่องประทินผิว มีมูลค่าเงินสะพัด 1,880 ล้านบาท กลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ มีมูลค่าเงินสะพัด 1,643 ล้านบาท และกลุ่มการสื่อสาร มีมูลค่าเงินสะพัด 1,642 ล้านบาท เป็นธุรกิจที่มีการใช้จ่ายในช่องทางดิจิทัลมากที่สุดในปี 2563
ด้านของแพลตฟอร์มอย่าง Facebook และ Youtube ยังคงเป็นแพลตฟอร์มหลักที่แบรนด์ให้ความสนใจเช่นเดิม เพราะแบรนด์เชื่อว่ายังคงเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคนิยมใช้งาน ซึ่งทางสมาคมฯ เองก็คาดการณ์ว่า โซเชียลมีเดียจะเติบโต +32% ส่วนช่องทางเสิร์ช(Search) จะเติบโต +26% ส่วนการลงทุนใน Facebook Youtube และ Creative จะมีอัตราการเติบโตร่วมกันถึง 60% ของอัตรกาส่วนการลงทุนของทั้ง 14 ประเภทสื่อดิจิทัล
4.เว็ปไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" รายงาน "เติมศักดิ์ จารุปราณ" ผู้ประกาศข่าวช่อง NEWS1 ผู้ดำเนินรายการ NEWS HOUR ทางช่องNEWS1 ในเครือ ผู้จัดการ เสียชีวิตแล้ว หลังเข้ารับรักษาอาการที่โรงพยาบาลศิริราช โดยเฟซบุค Termsak Jarupran เผยว่า เติมศักดิ์จารุปราณ เข้ารับรักษาอาการ เส้นเลือดสมองแตก 2 จุด มีน้ำในสมอง ที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 และเสียชีวิตในวันที่ 5 กันยายน 2563
5. เว็ปไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" รายงานศาลฎีกาพิพากษา ลงโทษจำคุก "หมอเปรม" 2 เดือน ใส่กำไลอีเอ็ม คดีแก้ผ้านักข่าว กรณีน.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พร้อมพวก ตกเป็นจำเลยในข้อหาข่มขืนใจ บังคับขู่เข็ญทำให้ตกใจกลัว และกระทำการอนาจารต่อหน้าธารกำนัล โดยมีผู้สื่อข่าวภูมิภาคในจังหวัดขอนแก่น เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง เหตุเกิดตั้งแต่วันที่27 กรกฎาคม 2559 และศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาจำคุก 2 เดือนโดยไม่รอลงอาญาแต่ นพ.เปรมศักดิ์ได้ยื่นต่อสู้ในชั้นศาลฎีกานั้น เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2563 ศาลฎีกาได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีดังกล่าว โดยตัดสินกักขังหมอเปรม 2 เดือน ใส่กำไลอีเอ็ม
6.เว็ปไซต์ "เนชั่นสุดสัปดาห์" รายงานแถลงการณ์ร่วม 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ต่อสถานการณ์ชุมนุม โดยมีเนื้อหาระบุว่าตามที่มีสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มประชาชน นิสิต นักศึกษา และนักเรียน ในช่วงที่ผ่านมาและกำลังจะมีการชุมนุมใหญ่วันที่ 19 กันยายน 2563 นั้น 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ โดยได้รับการสะท้อนปัญหาจากสื่อมวลชนผู้ปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามในการเข้าพื้นที่การชุมนุมเพื่อรายงานข่าว จึงมีข้อเรียกร้องต่อทุกฝ่ายดังนี้
1.องค์กรวิชาชีพ ขอยืนยันหลักการเสรีภาพของสื่อมวลชนตามหลักสากล ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงไม่ควรตกเป็นเป้าและเงื่อนไข ต้องได้รับอิสระในการรายงานข่าวเพื่อความครบถ้วนรอบด้านตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ ปราศจากการกดดัน คุกคาม ในทุกรูปแบบ จึงเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชนที่จะเข้าไปรายงานข่าวในพื้นที่
2.ขอให้กำลังใจกับสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง และขอให้ยึดมั่นในหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพในการรายงานข่าว ที่ครบถ้วน รอบด้าน พร้อมกับเปิดพื้นที่ให้การรายงานข่าวทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม เพื่อหาร่วมกันทางออกให้กับสังคมอย่างสันติ ปราศจากความรุนแรง
3.ขอให้กองบรรณาธิการของสำนักข่าวทุกแขนง ดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการที่เหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชนที่ปฏิบัติในพื้นที่เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ เพื่อให้การประสานงานระหว่างสื่อมวลชนกับฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจึงได้จัดตั้ง "ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.)" ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน ด้านการรักษาความปลอดภัยและด้านอื่นๆที่จำเป็น โดยมีทั้งอยู่ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ถนนสามเสน ตรงข้าม ร.พ.วชิระ) พร้อมกับจัดทำ"ปลอกแขนสัญลักษณ์" ในการปฏิบัติหน้าที่ในการรายงานข่าวการชุมนุม
7.เว็ปไซต์ "มติชนออนไลน์" รายงานมะเร็งคร่า ‘โอเปิ้ล ประภาพร’ ผู้ประกาศข่าวกีฬาช่องดัง ด้วยวัย 41 ปี โดย“โอเปิ้ล” ประภาพรเชาวนาศิริ ผู้ประกาศข่าวกีฬาช่อง PPTV HD 36 ด้วยวัยเพียง 41 ปี เสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อค่ำวันที่ 20 กันยายน ภายหลังมีรายงานว่าประภาพรต่อสู้กับโรคมะเร็งมาอย่างยาวนาน สำหรับประภาพร เชาวนาศิริ เป็นนักข่าวที่มีความรู้เกี่ยวกับฟุตบอลไทยหลากหลายแง่มุม เคยสังกัดช่องไทยพีบีเอส ก่อนจะย้ายมาสู่ช่อง PPTV HD 36 และยังคงทำข่าว จัดรายการวิเคราะห์เจาะลึก
หลังการจากไปของประภาพรได้มีเพื่อนร่วมวงการร่วมแสดงความเสียใจมากมาย อาทิ “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตนักเตะและกุนซือทีมชาติไทย, “มาดามแป้ง” นางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี, “บับเบิ้ล” ยิ่งรัก รักษ์สุวรรณ นักข่าวสายฟุตบอลไทยชื่อดัง
8.เว็ปไซต์ "สำนักข่าวอิศรา" รายงาน บอร์ด อสมท มีมติเปิดโครงการ ‘เต็มใจจาก’ ตั้งเป้าลดพนักงาน 700 คน จากพนักงานที่มีทั้งหมด 1,600 คน โดยพล.ต.อ.ทวิชชาติ พละศักดิ์ ประธานกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) อสมท. เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้เปิดโครงการ ‘เต็มใจจาก’ และโครงการสมัครเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์รี่รีไทร์) โดยตั้งเป้าจะลดจำนวนพนักงานลง 700 คน จากพนักงานทั้งหมดที่มี 1,600 คน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงการคลัง
“การลดพนักงานดังกล่าวเป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ อสมท เพราะหากไม่ลดพนักงาน จะทำให้บริษัทฯไปไม่ไหว และหากพนักงานสมัครเข้าร่วมโครงการ ‘เต็มใจจาก’ ครบตามเป้าหมาย 700 คน ก็ไม่จำเป็นต้องมีโครงการเออร์รี่รีไทร์แล้ว อสมท จำเป็นต้องทำตามคำแนะนำของกระทรวงการคลัง เพราะไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาได้ ในขณะที่ อสมท เองมีความจำเป็นต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการฯ” พล.ต.อ.ทวิชชาติ ระบุ
สำหรับโครงการ ‘เต็มใจจาก’ นั้น เบื้องต้นที่ประชุมบอร์ด อสมท ให้นโยบายว่า พนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องได้รับเงินชดเชยตามระยะเวลาที่ทำงาน ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด และยังจะได้รับเงินพิเศษเพิ่มอีก โดยขณะนี้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลอยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และการชดเชยของโครงการฯ ทั้งนี้ บอร์ด อสมท ได้อนุมัติวงเงินค่าใช้จ่ายสำหรับใช้ดำเนินโครงการฯดังกล่าวเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท
9.เว็ปไซต์ "สำนักข่าวอิศรา" รายงาน ภาคปชช.ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯสตง.ตรวจสอบกองทุนพัฒนาสื่อฯ เบรกอนุมัติงบ 300 ล.เอื้อทุนใหญ่ โดยเมื่อวันที่ 23 กันยายน 256 นายณัฐพงศ์ เปาเล้ง ผู้แทนกลุ่มประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบและยับยั้งการอนุมัติการให้ทุนสนับสนุน ของผู้ขอรับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 300 ล้านบาท ที่อาจผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ในการก่อตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
นายณัฐพงศ์ ระบุว่า พันธกิจและเจตนารมณ์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์สาธารณะและเป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการผลิตสื่อให้แก่ภาคประชาชน ชุมชน และองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก แต่ผลการอนุมัติทุนของคณะกรรมการตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กลับมุ่งเน้นที่เอกชนรายใหญ่ และหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่มีงบประมาณในการดำเนินการเป็นของตนเองอยู่แล้ว ขัดแย้งกับพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 หมวด 1 มาตรา 5 (4) ที่กำหนดว่า ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และ (6) ส่งเสริมบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ดําเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสื่อให้มีการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ เนื่องจาก“องค์กรเอกชน” ตามนิยามในประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เรื่อง การเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประจำปี 2563 ข้อ 3.1.4 หมายความถึง สมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่จดทะเบียน เป็นนิติบุคคล หรือเป็นส่วนงานหรือโครงการในองค์กรนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อดําเนินกิจกรรม ที่เป็นสาธารณประโยชน์และไม่แสวงหากําไร
"เพราะฉะนั้น แม้ว่าทางกองทุนจะกล่าวอ้างว่าคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับการสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นบริษัทเอกชนจะเข้าองค์ประกอบตามประกาศ ข้อ 3.1.2(1) มูลนิธิ สมาคม หรือนิติบุคคลอื่น ๆ ที่จดทะเบียนในประเทศไทยแต่ในขณะที่ประกาศตาม ข้อ 3.1.4 ระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จึงจะมีสิทธิยื่นขอรับทุนได้ และที่สำคัญหากกองทุนตีความ ในข้อ 3.1.2(1)มูลนิธิ สมาคม หรือนิติบุคคลอื่น ๆ ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ให้หมายความถึงบริษัทเอกชนที่แสวงกำไรด้วยนั้น นิยามในประกาศข้อนี้จึงขัดแย้งกับเจตนารมณ์ตาม พรบ. หลักของกองทุน"
นายณัฐพงศ์ ระบุว่ามีความประสงค์ขอยื่นข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการพิจารณาอนุมัติทุนของคณะกรรมการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 300 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 และขอให้ระงับการเซ็นสัญญาอนุมัติทุน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 24 กันยายน 2563 จนกว่าจะมีการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาอนุมัติทุนของคณะกรรมการ จากหน่วยงานที่มีอำนาจ
ทั้งนี้ เพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 300 ล้านบาท และขอให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ทบทวนการพิจารณาอนุมัติทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ใหม่โดยละเอียด รอบคอบ เป็นธรรม โปร่งใส และทั่วถึงทุกภาคส่วนตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งกองทุน และตาม พรบ. กองทุนฯ และหากมีการตรวจสอบจากหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่ามีการทุจริตในการดำเนินการใด ๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาทุน ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายโดยถึงที่สุด
10.เว็ปไซค์ "The Standard" รายงาน พุทธิพงษ์เอาจริง เดินหน้าฟ้องแพลตฟอร์ม Facebook YouTube Twitter โดยนายพุทธิพงษ์ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้มอบหมายให้ ภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเจ้าหน้าที่ทนาย ไปแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. เพื่อดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่ดำเนินการปิดภายใน 15 วัน
สำหรับดำเนินการ มีหนังสือแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้นตามคำสั่งศาลจำนวน 1,024 รายการ (ชุดที่ 2 วันที่ 27 สิงหาคม 2563) ดังรายการต่อไปนี้
- Facebook จำนวน 661 รายการ ปิดแล้ว 215 รายการ คงเหลือ 446 รายการ
- YouTube จำนวน 289 รายการ ปิดแล้ว 285 รายการ คงเหลือ 4 รายการ
- Twitter จำนวน 69 รายการ ปิดแล้ว 4 รายการ คงเหลือ 65 รายการ
- เว็บไซต์อื่นๆ จำนวน 5 รายการ ปิดแล้ว 4 รายการ คงเหลือ 1 รายการ (ครบ 15 วันในวันที่ 12 กันยายน 2563)
ส่วนชุดที่ 3 กำลังเตรียมดำเนินการ โดยมีหนังสือแจ้งเตือนรวม 3,097 รายการ แยกเป็น Facebook จำนวน 1,748 รายการ YouTube จำนวน 607 รายการ Twitter จำนวน 261 รายการ และเว็บไซต์อื่นๆ จำนวน 481 รายการ ประกอบด้วยกรณีหมิ่นสถาบันฯ, ลามก, การพนัน, ยาเสพติด และลิขสิทธิ์
11.เว็ปไซต์ "ไทยโพสต์" รายงานภาคประชาชนยื่น'จิรายุ'ยับยั้งกองทุนสื่อฯอนุมัติงบให้เอกชนรายใหญ่ผิดวัตถุประสงค์ โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2563 ที่รัฐสภา นายจารุวงศ์ ณ ระนอง ผู้แทนกลุ่มประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยื่นหนังสือต่อนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการรัฐวิสาหกิจองค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบและยับยั้งการอนุมัติการให้ทุนสนับสนุนของกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 300 ล้านบาท ที่อาจผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ในการก่อตั้งกองทุนพัฒนาสื่อฯ
นายจารุวงศ์ ระบุว่า พันธกิจและเจตนารมณ์ของกองทุนนี้ พัฒนาสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะและเป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการผลิตสื่อให้แก่ภาคประชาชน ชุมชน และองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก แต่ผลการอนุมัติทุนของคณะกรรมการตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กลับมุ่งเน้นที่เอกชนรายใหญ่ และหน่วยงานรัฐต่างๆที่มีงบประมาณในการดำเนินการเป็นของตนเองอยู่แล้ว จึงขอให้ตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการพิจารณาอนุมัติทุนของคณะกรรมการ จำนวน 300 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 และตรวจสอบการอนุมัติงบย้อนหลังไปอีกอย่างน้อย 2 ปี และขอให้ระงับการเซ็นสัญญาอนุมัติทุน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตลอดจนขอให้กองทุนทบทวนการพิจารณาอนุมัติทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ใหม่โดยละเอียด รอบคอบ เป็นธรรม โปร่งใสและทั่วถึงทุกภาคส่วน ทั้งนี้ หากมีการตรวจสอบจากหน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่ามีการทุจริตในการดำเนินการใด ๆของผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาทุน ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายโดยถึงที่สุด
12.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ออกคำสั่งคำสั่งสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ 173/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง
กรณีเกิดความผิดพลาดของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
ที่เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการโครงการผู้ขอรับทุน โดยนายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ลงนามในคำสั่งสํานักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ ๑๗๓/๒๕๖๓ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ออกประกาศ เรื่อง การเปิดรับ ข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจําปี 2563 โดยเปิดให้ผู้ขอรับการสนับสนุนยื่นคําขอรับการสนับสนุนพร้อมทั้งรายละเอียดโครงการหรือกิจกรรมและ งบประมาณที่ขอรับการสนับสนุนในระบบ Online โดยบันทึกข้อมูลผ่านทาง www.thaimediafund.or.th ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 3 กันยายน 2563 ภายในเวลา 16.30 น.
แต่ด้วยกรณีเกิดความผิดพลาดของระบบ เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการโครงการผู้ขอรับทุน ทั้งจากกรณีระบบติดขัดในคืนวันที่ 2 กันยายน 2563 และระบบการแจ้งเตือนอัตโนมัติเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณา ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่กระบวนการ พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว
ทั้งสองกรณีสะท้อนถึงมาตรฐานระบบงานของกองทุนและกระทบต่อความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่นของ กองทุนฯ ในการนี้เพื่อให้ได้ทราบปัญหาที่แท้จริง และเพื่อเป็นการวางระบบป้องกันปัญหาในระยะยาวจึงให้แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในข้อ 29 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงในเรื่อง ดังกล่าว ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้
ที่ปรึกษา
- นายอํานวย โชติสกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการ องค์ประกอบ
- นางสาวมนทิรา จูฑะพุทธิ ประธานกรรมการ
- นางสาวสุธิตา หมายเจริญ กรรมการ
- นายนรชัย ด่านไทยวัฒนา เลขานุการและกรรมการ
- นายฤทธิเลิศ เวศย์วรุตย์ ผู้ช่วยเลขานุการ
อํานาจหน้าที่
1. ดําเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงในเบื้องต้น พร้อมทั้งศึกษาผลดี และผลกระทบจากปัญหา การลงทะเบียน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการโครงการผู้ขอรับทุน แล้วสรุปผลการ สอบสวนหาข้อเท็จจริงพร้อมรายงานต่อผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น
2. นําข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนพัฒนาการลงทะเบียน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการโครงการผู้ขอรับทุน ในรอบถัดไป
3. เชิญเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง หรือบุคลากรภายในสํานักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและ สร้างสรรค์ มาให้ถ้อยคํา รวมตลอดถึงเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไอที่ภายนอกมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อเป็นแนว ทางแก้ไขและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการโครงการผู้ขอรับทุน ให้ดียิ่งขึ้น
4.เรียกเอกสาร หลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากฝ่ายงานภายในสํานักงาน บุคคล อื่นที่เกี่ยวข้อง
5.ดําเนินการอื่นใดตามที่ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มอบหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป