“ตอนนี้คำว่า “ระบอบทักษิณ” กำลังจะเปลี่ยนไปเป็น “ระบอบชินวัตร”การเมืองที่พูดเรื่อง ดึง-ดูด-ควบรวม ซึ่งเป็นทฤษฎีการทำงานของทักษิณ ชินวัตร ที่จะทำแบบนี้อยู่แล้ว ฉะนั้นการเมืองในอนาคตจึงเป็นเรื่องท้าทายมาก”
“การเมือง ถึงจุดเปลี่ยน หนีไม่พ้นชิงอำนาจ”
เสาวลักษณ์ บอกว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ หากมองผ่านโครงสร้างบุคคลและผ่านสายสัมพันธ์ทางการเมือง ซึ่งสถานการณ์การเมืองไม่น่าเกินความคาดหมาย แต่รู้สึกว่ามีบางอย่างที่ยังไม่ลงตัว คงหนีไม่พ้นเรื่องเหตุแย่งชิงอำนาจหรือไม่ กรณีกรณีคำร้องยื่นถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และวันนั้นมีจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่เราพูดมาตลอดเดือนสิงหาคมว่า เป็นเดือนการเมืองที่ร้อนในช่วงหน้าฝน มีเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่อง อะไรก็เดินเร็วไปหมดเหมือนฝ่ายหนึ่งพยายามเร่งปิดเกม เพราะถ้าปิดเกมช้าอีกฝ่ายหนึ่งจะเข้ามาแทรก ในจุดเปลี่ยนทางการเมือง
.
“เพื่อไทยชิงปิดเกมเร็ว-ดิวการเมือง ถูกวางแผนไว้หมดแล้ว”
เสาวลักษณ์ สะท้อนมุมมองว่า ระหว่างที่เร่งปิดเกมเร็ว คือ พรรคเพื่อไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ตรงนี้เป็นอีกมุมหนึ่ง เมื่อนายเศรษฐาหลุดจากตำแหน่ง ในวันที่ 14 สิงหาคม จากนั้นวันที่ 15 สิงหาคมมีมติเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และวันที่วันที่ 16 สิงหาคม เปิดสภาได้แล้ว ขณะที่วันที่ 18 สิงหาคม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งนายกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มองว่าเร็วอยู่เหมือนกัน
.
ที่เร็วมากกว่านั้น คือ จากคนที่เป็นผู้ต้องขังได้รับการอภัยลดโทษ และได้รับการพักโทษ และคิดว่าจะพ้นโทษวันที่ 31 สิงหาคม สุดท้ายพ้นโทษตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม แล้วได้ร่วมงานของสื่อโดยแสดงวิสัยทัศน์ สะท้อนให้เห็นว่าทุกอย่างเดินหน้าไปเร็ว ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้ามาแทรกได้ช้า ตรงนี้คือจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่เห็นได้ว่ามีอาการแปลกๆ
.
แปลกไปกว่านั้น คือ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี , การจับมือร่วมรัฐบาลและการผลักพรรคพลังประชารัฐไปเป็นฝ่ายค้าน โดยดึงประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ดูเหมือนไม่ใช่จังหวะที่จะปิดเกมเร็วโดยที่ไม่ได้คิดอะไรมาก่อน แต่ว่าน่าจะมีการคิดมาก่อนเมื่อเราคิดแบบนี้ ก็ไปตอบโจทย์ที่ก่อนหน้านี้มีการ “ดิวทางการเมือง” เกิดขึ้นก่อนหรือไม่
.
“ตอนนี้คำว่า ระบอบทักษิณ กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นระบอบชินวัตร การเมืองที่พูดเรื่อง ดึง-ดูด-ควบรวม ซึ่งเป็นทฤษฎีการทำงานของทักษิณ ชินวัตร ที่จะทำแบบนี้อยู่แล้ว ฉะนั้นการเมืองในอนาคตจึงเป็นเรื่องท้าทายมาก ไม่ใช่เฉพาะแค่รัฐบาลกับฝ่ายค้าน แต่เราในฐานะประชาชนและสื่อมวลชน คงต้องติดตามช่วยกันดูว่าจะทำอย่างไร ให้ขับเคลื่อนเดินหน้าและพรรคการเมือง หันกลับมามองประชาชนมากขึ้น แทนการเมืองที่เดินหน้าอยู่ตลอดเวลา และลงตัวอยู่ที่คำว่าสมประโยชน์”
.
“จุดเปลี่ยนธรรมนัสเชื่อมโยงเศรษฐา หันหลังลุงป้อม ปม พัชรวาท”
กรณีพรรคพลังประชารัฐ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า อาจมีจุดเปลี่ยนทางการเมืองเกิดขึ้นในใจหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีอะไรก็เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ทำเนียบรัฐบาลตลอด ไม่เหมือนกับเข้าบ้านป่ารอยต่อ ตรงนี้เป็นสัญญาณหนึ่ง และอีกสัญญาณหนึ่ง คือ เรื่องที่ดินทับซ้อนที่ทับลานหลายคนมองว่า อาจจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ ร้อยเอกธรรมนัสกับพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องที่ดินที่ทับลาน กรณีพิพาท จุดหมุดนิรนาม ส.ป.ก. 4-01 ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีความระหองระแหงกันอยู่ ก็ไม่รู้ว่าจะเคลียร์แบบไหน ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งระหว่างตัวบุคคลกับงานในกระทรวง
.
“ผู้บริหารปชป.ชุดปัจจุบัน มีสายสัมพันธุ์เพื่อไทย-ภูมิใจไทย”
เสาวลักษณ์ ระบุว่า กรณีพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไปร่วมกับรัฐบาลเพื่อไทย พอมองเข้าไปในพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากโครงสร้างเรื่องคน ยังมีโครงสร้างเรื่องทุนที่เชื่อมต่อกันอยู่ เพราะหากเรื่องของความสัมพันธ์ในเรื่องเชิงตัวบุคคล คนน่าจะง่ายกว่า เพราะสัญญาณทางการเมืองที่ว่าประชาธิปัตย์ร่วมกับเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์ร่วมกับภูมิใจไทย และต่อสายถึงเพื่อไทยได้ เพราะคนอย่างนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเพื่อนกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเ มีภาพร่วมโต๊ะอาหารกันอยู่บ่อยๆ ตรงนี้เป็นเส้นทางทางการเมืองที่พอจะพูดคุยตกลงกันได้
.
ขณะที่นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นอดีตผู้สมัครสส. จังหวัดสงขลา พรรคไทยรักไทยในปี 2548 มาก่อน จึงมีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว และนายเดชอิศม์กับร้อยเอกธรรมนัสเป็นเพื่อนกัน ดังนั้นการพูดคุยเข้าหากัน และร่วมงานทางการเมืองย่อมมีคอนเน็คชันที่ต่อกันได้ ยิ่งถ้าคุยกันแล้วลงตัวที่คำว่า “สมประโยชน์” ก็เกิดขึ้นได้ ตรงนี้เราเห็นแค่แดงบวกฟ้า
.
“ปชป.หมดหนทาง ต้องเข้าร่วมเพื่อไทย เชื่อได้ 2 เก้าอี้ ทำงานเพื่อประโยชน์ชาวบ้านมากกว่าเป็นฝ่ายค้าน”
มีคนถามดิฉันว่าต่อจากนี้ คนใต้จะเลือกพรรคอะไรเมื่อสถานการณ์การเมืองเป็นแบบนี้ ต้องบอกว่าประชาธิปัตย์หมดหนทางแล้ว ไม่มีทางเลือกจริงๆ จึงเลือกร่วมรัฐบาลถือว่าเป็นจุดที่ตัดสินใจบนเส้นยาแดง น่าจะดีกว่าเป็นพรรคฝ่ายค้าน อย่างน้อยก็ได้ สองรัฐมนตรี โดยเชื่อว่ามีโอกาสที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ให้กับประชาชน ได้มากกว่าทำงานเป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องรอดูว่าทั้งงสองรัฐมนตรีจะขับเคลื่อนและเป็นผลงานให้กับประชาธิปัตย์ หรือสุดท้ายแล้วเลือกผิดแล้วปิดจ๊อบประชาธิปัตย์ไปเลย ก็เป็นไปได้เหมือนกันคงต้องให้เวลา เพราะประชาธิปัตย์ตัดสินใจครั้งนี้ แบบไม่มีอะไรจะเสียแล้ว คงต้องพิสูจน์ว่า 21 ส.ส. “กลุ่มเพื่อนต่อ” ของนายเฉลิมชัยจะเลือกถูกหรือเลือกผิด ขณะที่อีก 4 คนเป็นผู้อาวุโสทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์เลือกไม่เข้าร่วมรัฐบาล
.
“ภาคประชาชน ต้องตามติดการเมือง”
หลังจากนี้การทำงานระหว่างแดงกับฟ้า หรือระหว่างฟ้าที่เหลืออยู่แล้วทำงานกับส้มจะเป็นอย่างไร ในฐานะฝ่ายค้านที่มีเสียงไม่ถึง 200 เสียง ซึ่งพรรคประชาชนพูดมาตลอดว่า ไม่ร่วมทำงานกับพรรคลุง แต่วันนี้ทั้งลุงป้อมและลุงชวนกำลังจะไปทำงานกับพรรคประชาชน จะเกิดเอกภาพหรือไม่ ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเสถียรภาพมากถึง 325 เสียง หรือการเมืองในสภาไม่พอ ต้องมีการเมืองนอกสภา มาตอบโจทย์ตรงนี้ด้วยหรือไม่ ก็เป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยกับการเมืองไทยที่จะเกิดขึ้น
.
“ประธาน นปช.บอก มุมมองแดงนปช.เห็นเป็น 2 ฝ่าย”
ทีมข่าวโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้สัมภาษณ์ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) เรื่องแดงบวกกับฟ้า แล้วแดงรู้สึกอย่างไร ยังคงเป็นมวลชนที่เชียร์พรรคเพื่อไทยไปตลอดหรือไม่ นางธิดาบอกว่ามีแดงที่เป็นแฟนคลับชื่นชมพรรคเพื่อไทย และชื่นชมนายทักษิณ แต่มีอีกแดงหนึ่งที่เป็นแดงอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งนางธิดาเรียกตัวเองว่าเป็นแดงอุดมการณ์ พร้อมที่จะตรวจสอบรัฐบาล และพร้อมที่จะย้ายฐานความคิดไปหากลุ่ม มวลชน หรือพรรคการเมืองอื่นที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทำให้นึกภาพตามไปด้วยว่าแดงที่เป็นอุดมการณ์ จะกลายเป็นส้มด้วยหรือไม่ และจะลุกขึ้นมาติดตามตรวจสอบรัฐบาล หรืออาจจะลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้านด้วยหรือไม่
.
“ธิดา สะท้อนมุมมอง คนผ่านร้อน-หนาวในชีวิต”
นางธิดาบอกว่า “คนในวัยชราที่เจ็บแค้น เวลาแค้นมันน่ากลัว” แต่ไม่ได้หมายถึงตัวเอง ทำให้เรานึกภาพการเมืองว่าคนที่เป็นวัยชราไม่มีอะไรที่จะเสียมากกว่านี้แล้ว ก็จะรู้สึกว่าถ้าต้องลุกขึ้นต่อต้านคัดค้านก็น่าจะทำอย่างสุดตัว ตรงนี้เป็นสัญญาณทางการเมืองที่เป็นอีกชนวนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ทั้งหมดก็ต้องรอดูว่า “คณะรัฐมนตรีแพทองธาร 1” จะมีโฉมหน้าแบบไหน นโยบายเป็นอย่างไรและจะใช้เวลาแค่ไหนในการพิสูจน์การทำงาน
.
“พรรคประชาชน พิสูจน์ศักยภาพการเป็นฝ่ายค้านมาแล้ว”
ส่วนการทำงานในฐานะฝ่ายค้าน ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคประชาชน และพรรคพลังประชารัฐนั้น เสาวลักษณ์ บอกว่า เชื่อในศักยภาพของพรรคประชาชน หากมองตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ มาสู่พรรคก้าวไกลและมาถึงพรรคประชาชน ที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างมีระบบกลไก มีการทำบ้านอย่างดีในสภาผู้แทนราษฎร เช่น อภิปรายทั่วไปหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ คนกลุ่มนี้ทำงานมีประสิทธิภาพมาตลอด
.
“ก้าวไกล-อนาคตใหม่ เคยถูกยุบพรรค น่าจะฉุกคิดวางอุดมการณ์เดิมๆ แล้วมองไปข้างหน้า”
พรรคประชาชนเผชิญกับการยุบพรรคก้าวไกล และอนาคตใหม่มาแล้ว อาจจะทำให้ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า การปฏิรูปสถาบันหรือการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 อาจจะต้องชะลอเอาไว้ แล้วทำงานข้างหน้าก่อนหรือไม่ โดยจะต้องทำงานร่วมกับประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐรัฐ ซึ่งคิดว่าพรรคประชาชนจะสามารถนำพาการเป็นฝ่ายค้าน เดินหน้าไปได้ ขณะเดียวกันมีคำร้องที่บุคคลนิรนาม ยื่นถอดถอนยุบพรรคพรรคเพื่อไทย มีนัยยะทางการเมืองที่บางคนในขั้วอนุรักษ์นิยม พร้อมที่จะสนับสนุนและลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้านด้วยหรือไม่ หากรัฐบาลทำงานไม่ตอบโจทย์สังคม ไม่ตอบโจทย์ความเป็นประชาธิปไตย
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5