“ขีดเส้นตาย! โครงการก่อสร้างถนนพระราม 2 : 5 ทศวรรษ-ทางออกที่ปลายอุโมงค์!!” 

            “11 เดือนผมคิดว่าทำได้ แต่ต้องทำค่าเฉลี่ยในการทำงาน ว่าแต่ละเดือนคืบหน้าอย่างไร ผู้รับเหมาต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเรื่องใด สุดท้ายเส้นตาย 11 เดือน อยู่ที่ภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ให้แต่ละโครงการ เดินหน้าได้ทันตามเส้นตายได้หรือไม่”

 “กฤษณพงศ์ พงศ์แสนยากร ผู้สื่อข่าวสายคมนาคม สำนักข่าวไทย”  กล่าวถึงมุมมองเรื่อง “เส้นตาย? 11 เดือน ก่อสร้างถนนพระราม 2” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”  กรณีเส้นตายสุริยะ เชื่อม 3 โครงการว่า  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขีดเส้นตายเร่งรัดโครงการก่อสร้างบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน11 เดือนหรือในเดือนมิถุนายน 2568 ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งปัจจุบันถนนพระราม 2 มีโครงการก่อสร้าง อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 โครงการ   

.

ได้แก่ 1.โครงการทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก รับผิดชอบโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)  2.โครงการก่อสร้างทางยกระดับ ทล. 35 ช่วงบางขุนเทียน–เอกชัย ระยะทาง 8.3 กิโลเมตร รับผิดชอบโดยกรมทางหลวง (ทล.) คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 และ 3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 (M82) สายบางขุนเทียน–บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย–บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.3 กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด ในเดือนมิถุนายน 2568

.

โดยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายดาวคะนอง-วังมะนาวตัดผ่านกรุงเทพฯ-สมุทรสาคร-ราชราชบุรี เป็นเส้นทางหลักที่มุ่งสู่ภาคใต้ของประเทศไทยและเป็นเส้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2513 หรือเมื่อ 54 ปีที่แล้ว  ซึ่งเส้นทางถนนพระราม 2 ดังกล่าวเปิดใช้งาน ในวันที่ 1 เมษายน ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ประชาชนใช้เส้นทางเส้นนี้แทนถนนเพชรเกษม

.           

“ส่วนประเด็นจะเสร็จทัน 11 เดือนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการทะลายอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน เช่น 1.เรื่องการขาดแคลนแรงงาน เป็นปัญหาที่ภาคเอกชน ต้องประสานกับกรมแรงงาน กระทรวงแรงงาน ต้องมีแรงงานเพียงพอ 2.เรื่องการจัดการระหว่างงานก่อสร้าง ซึ่งจำเป็นต้องปิดผิวการจราจรบางส่วน เพราะรถติดมาก แน่นอนว่ากระทบต่อการจราจรเส้นพระราม 2 ซึ่งผู้ใช้ถนนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าเมื่อไหร่จะสร้างเสร็จ เพราะปรับการก่อสร้างจากกลางวันไปเร่งงานช่วงกลางคืนแทน ก็จะเข้าสู่ปัญหาว่าถ้าทำงานกลางคืน ผู้ประกอบการต้องเติมคนทำงานให้เพียงพอ และต้องมี OT เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่ม”  

.

ทั้งนี้ การจะเร่งให้ทุกโครงการแล้วเสร็จ  ภาครัฐต้องให้สนับสนุนผู้ประกอบการ  ทั้งเรื่องแรงงาน งบประมาณ  ขณะเดียวกันงานก่อสร้างต้องบรรลุตามเป้าหมาย สมมุติว่าเอาตัวเลขความคืบหน้า ของแต่ละโครงการมาวาง บนแผนปฏิบัติการของนายสุริยะ เช่น โครงการทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ที่บรรจบกันตรงถนนพระราม 2 คืบหน้าแล้วประมาณ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งระบุว่าจะเปิดให้บริการเดือนมิถุนายน 2568 ในระหว่างนี้อีก 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่เหลือ จะเฉลี่ยให้มีความก้าวหน้าแต่ละเดือน ภายใน 11 เดือนอย่างไร เดือนละกี่% ก็ต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย 

.

ส่วนโครงการก่อสร้างทางยกระดับ ทล. 35 ช่วงบางขุนเทียน–เอกชัย ระยะทาง 8.3 กิโลเมตร มีผู้รับเหมา 2-3 รายต้องไปดูว่าของแต่ละราย ทำค่าเฉลี่ยแต่ละเดือน มีความคืบหน้าแค่ไหน เพราะ 2 เส้นทางนี้ล่าช้ากว่าแผนพอสมควร ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมเข้าไปกำหนดแผน ว่าต้องมีความสมดุลกัน การก่อสร้างต้องไม่กระทบผู้ใช้ทาง หากยังไม่มีการเจาะและขุดพื้นที่ใด ต้องไม่นำเครื่องมือไปไว้ในพื้นผิวจราจรล่วงหน้าเพื่อรองาน และต้องเปิดเส้นทางจราจรก่อน ตรงนี้ผู้รับเหมาต้องใช้ความระมัดระวังในการทำงานมากขึ้น หากนำเครื่องจักรเข้าไปใช้งานล่วงหน้า

.

            11 เดือนผมคิดว่าทำได้ แต่ต้องทำค่าเฉลี่ยในการทำงาน ว่าแต่ละเดือนคืบหน้าอย่างไร ผู้รับเหมาต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเรื่องใด สุดท้ายเส้นตาย 11 เดือน อยู่ที่ภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ให้แต่ละโครงการ เดินหน้าได้ทันตามเส้นตายได้หรือไม่ และที่ผ่านมาหลายองค์กรเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งความจริงแล้วโครงการนี้ องค์กรเอกชนเข้าไปตรวจสอบแต่ก็ต้องบาลานซ์ ระหว่างความต้องการของผู้ใช้ทางและการจราจร หรือแม้แต่พื้นที่ก่อสร้างซึ่งผมมาดูไทม์ไลน์ที่ทำงานโครงการ พระราม 2 ตั้งแต่ปี 2513 ก่อนที่ผมจะเกิดก็ยาวนานมากจนถึงปัจจุบัน” 

.

สภาพดินอ่อนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า เพราะดินทรุดหรือไม่ กฤษณพงศ์ กล่าว่า  ปัญหาสภาพดินอ่อน ส่วนตัวคาดว่าผู้ดำเนินการก่อสร้างทราบข้อมูลตรงนี้ซึ่งเป็นข้อมูลทางวิศวกรรม  หากรู้ปัญหาตั้งแต่ต้นมีการวางโครงสร้างต่างๆ คงไม่เกินความสามารถทางวิศวกรรมที่จะทำได้ ความจริงแล้วการก่อสร้างทุกพื้นที่ วิธีการก่อสร้างแตกต่างกันไปแล้วแต่สภาพดิน ซึ่งผมเชื่อว่าผู้รับเหมาคนไทย มีทั้งความเข้าใจและมีฝีมือการทำงานไม่น้อย  บางบริษัทไปรับงานโครงการข้ามชาติด้วย

.

“ขอเอาใจช่วยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะเป็นเส้นทางหลักในการท่องเที่ยวลงใต้ ของทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ฉะนั้นการตั้งเป้าหมายเร่งแผน 11 เดือนเป็นเรื่องดี และคิดว่าน่าจะไปได้ คงต้องรอดูกันว่า 11 เดือนนี้รถจะติดมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมทางหลวง ต้องเข้าไปดูเรื่องการจราจร และเรื่องช่วงเวลากับความเหมาะสมในการทำงาน อย่างเข้าใจสถานการณ์ด้วย ขอให้รออีกอึดใจหนึ่ง ซึ่งการมีเดทไลน์เร่งรัดและช่วยเหลือกัน เชื่อว่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเพราะมีธงเป้าหมายไว้แล้ว”  กฤษณพงศ์ กล่าวปิดท้าย

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5