“ทุกวันนี้หากเราพูดถึงแต่เรื่องการเตือนภัย เมื่อเกิดเหตุเรามักจะพุ่งไปที่การถอดบทเรียน แต่หลังถอดบทเรียนเสร็จทุกคนก็ลืม พอเกิดเหตุการณ์ใหม่หวกเราก็วนกลับมาที่การถอดบทเรียนอีก วนไปแบบนี้จนกลายเป็นว่าเราพูดกันถึงแต่เรื่องการเตือนภัย แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องแผนเผชิญเหตุว่าหากเกิดเหตุเช่นนี้ทุกคนควรจะรับมืออย่างไร”
.
ปรารถนา พรมพิทักษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ PPTV HD 36 วิเคราะห์ สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยกับระบบแจ้งเตือนภัย ในรายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว ว่าเรื่องการเตือนภัย หัวใจสำคัญ คือ การสื่อสารออกไปในระดับที่พอดีกับเหตุที่จะเกิดขึ้น
.
“3 ฝ่ายต้องทำงานประสานกัน”
ปรารถนา ยอมรับ ส่วนตัวมองว่ามี 3 ปัจจัย คือ หน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชนและชาวบ้านควรจะต้องทำงานประสานไปด้วยกัน เช่น พื้นที่มีความบางสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอุบัติภัย เช่น หน่วยงานภาครัฐต้องเฝ้าระวังในภาพใหญ่ ขณะที่ผู้นำชุมชนต้องรู้แล้วว่า หากฝนตกลงมาหนักๆ ต้องมีการกระตุ้นเตือนชาวบ้าน หรือชาวบ้านต้องมีองค์ความรู้ที่มากพอที่จะบอกว่าเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนยังทำงานได้อยู่หรือไม่ หากฝนตกต่อเนื่องทั้งคืนแบบนี้และหนักด้วย ควรต้องมีการตรวจสอบการทำงานไปพร้อมกัน
.
“ระบบเตือนภัยพร้อมหรือยัง-บางพื้นที่มีระบบเตือนภัย แต่ใช้งานไม่ได้”
ปรารถนา กล่าวว่า ระบบเตือนภัยของไทยพร้อมหรือยัง คงตอบได้ยาก ต้องถามว่าบางพื้นที่มีหรือไม่ ซึ่งระบบเตือนภัยต้องมองทั้งในมิติระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เช่นระดับประเทศเราจะนึกถึงกรมอุตุนิยมวิทยา , กรมชลประทาน , กรมทรัพยากรธรณีซึ่งมีระบบการแจ้งเตือน แต่คำถามคือ ข้อมูลการเตือนภัยเหล่านี้ ส่งถึงคนรับหรือชุมชนปลายทางรับในระดับหน่วยงาน หรือชาวบ้านในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน บางครั้งอาจไปไม่ถึงด้วยซ้ำ
หากมองลึกลงไปในระดับหน่วยงานระดับท้องถิ่น เช่น หน่วยงานต่างๆ ตามต่างจังหวัด หน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ก็พอมีแต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ยิ่งลงลึกไปในพื้นที่ของชาวบ้านซึ่งเป็นจุดที่มีความเปราะบาง เช่น อำเภอนี้เคยเกิดเหตุการณ์ดินสไลด์ , โคลนถล่ม แต่บางพื้นที่ไม่มี เขาให้เหตุผลว่าไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องเตือนภัยชาวบ้านหรือชุมชนพื้นที่เสี่ยงอย่างไร หรือกรณีจังหวัดภูเก็ตมีผู้เสียชีวิตมากถึง 13 ราย ระบบเตือนภัยมีแต่กลับใช้งานไม่ได้เพราะขาดการทะนุบำรุง พอเกิดเหตุการณ์วิกฤตจริง เครื่องเตือนภัยกลับใช้งานไม่ได้
.
“เกิดเหตุแล้วถึงล้อมคอก-หน่วยงานเตือนภัย หวั่น เตือนภัยเกรงประชาชนตื่นตูม”
ปรารถนา บอกว่า ประเทศไทยเวลาเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติขึ้นแต่ละครั้ง แต่ละหน่วยงานถึงจะมาล้อมวงจับเกข่าคุยกัน เช่น โศกนาฏกรรมสึนามิที่เคยเกิดเมื่อปี 2547 ความสูญเสียเกิดขึ้นแล้วเราจึงจะไปติดตั้งเครื่องเตือนภัย แต่น่าแปลกที่หน่วยงานรัฐมีงบประมาณสำหรับการติดตั้ง แต่ไม่ค่อยมีงบประมาณในการซ่อมบำรุงเพื่อแจ้งเตือนยามฉุกเฉินจริงๆ
“ปัญหาส่วนหนึ่งที่พบ สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานเขาจะมีเส้นๆ หนึ่ง ที่รู้สึกว่าหากเตือนภัยแล้วกรงว่าจะทำให้ประชาชนตื่นกลัว หรือตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ ในขณะที่คนรับสารต่างรู้สึกว่าบางครั้ง หากระดับการเตือนไม่แรงมากพอ คนที่รับสารอย่างชาวบ้านก็จะรู้สึกว่าเหตุการณ์แค่นี้เตือนทำไม ปัญหาคือเตือนแล้วแต่ไม่เกิดเหตุรุนแรงแบบที่คาดคิด ประชาชนก็จะไม่พอใจ เพราะการเตรียมยกของขึ้นบ้านหรือขึ้นที่สูงก็เหนื่อย ฉะนั้นสิ่งสำคัญของการสื่อสารเตือนภัย คือ ต้องทำให้คนตื่นตัว แต่บางทีถ้าไม่เหมาะสมจะทำให้กลายเป็นความตื่นตูม ร้ายกว่านั้นคือไม่ตื่นตูมและไม่ตื่นตัวเลย แต่ประชาชนไม่ผิด เพราะเขาคาดหวังที่จะได้รับการเตือนที่เหมาะสมว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร”
.
“ชาว อ.แม่สาย เปรียบอุทกภัย เป็นเสมือนสึนามิ”
เหตุการณ์ที่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ชาวบ้านเปรียบให้ฟังว่าเหมือน “สึนามิ” เพราะระดับน้ำสูงไปถึงที่พักอาศัยชั้น 2 คาดว่าน่าจะประมาณ 2-4 เมตร เป็นน้ำป่าหลากมาจากแม่น้ำสาย หลังเหตุการณ์มีโคลนท่วมสูงเกินกว่า 2 เมตร ชาวบ้านบอกว่าผู้นำชุมชนเริ่มออกมาประกาศเตือน ในพื้นที่มีเครื่องเตือนภัยแต่ระดับน้ำเริ่มที่จะถึงขั้นวิกฤต เป็นระดับสีเหลืองก่อนที่จะเป็นสีแดง ใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น
โดยปีนี้มวลน้ำมาเร็วและแรงมาก ช่วงที่ผู้นำชุมชนออกมาเตือนชาวบ้าน เป็นเสียงการเตือนภัยในลักษณะหมุนมือ ตอนนั้นดิฉันถามชาวบ้านว่าได้ยินเสียงเตือนหรือไม่ ชาวบ้านต่างบอกว่าได้ยิน แต่ไม่ได้ออกมาเพราะไม่คิดว่าสถานการณ์จะหนักขนาดนี้ กลายเป็นว่าวันที่มีการเตือนภัย เตรียมพร้อมและมีคนเตือนด้วย แต่ว่าไม่คิดว่าเหตุการณ์อุทกภัยจะหนักมากขนาดนี้ เพราะชาวบ้านไม่เห็นภาพว่ามวลน้ำจะมามากขนาดไหน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดการใช้องค์ความรู้ที่มีมาแต่เดิม
.
“หลายคนนำสถานการณ์น้ำท่วมปี 54 เปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน”
ปรารถนา บอกว่า หากนึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วม หลายคนมักจะนำไปเปรียบเทียบกับปี 2554 เช่น หากระดับน้ำท่วมสูง 1 เมตร ทุกคนจะรู้ว่าต้องเก็บของขึ้นที่สูงกว่าระดับ 1เมตรนิดหน่อย เพราะไม่คิดว่าน้ำจะขึ้นเยอะกว่านี้ แต่การคาดเดาครั้งนี้ผิดพลาดเพราะว่าสถานการณ์ภัยพิบัติปัจจุบันทวีความรุนแรงขึ้นกว่า ปี 2554 ฉะนั้นสิ่งที่ที่เราเคยทำไว้เมื่อปี2554 ไม่แน่ว่าในปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงระดับน้ำอาจจะสูงกว่าปี 2567 ก็ได้ แต่ชาวบ้านทุกคนยังใช้องค์ความรู้เดิมว่าระดับน้ำแต่ละปี เพื่อเปรียบเทียบความสูงและนำไปสู่การวางแผนเตรียมรับมือที่ผิดพลาดคาดไม่ถึง
.
“ศูนย์อพยพมักเกิดขึ้น หลังเกิดภัยพิบัติทุกครั้ง”
ประเด็นเรื่องศูนย์อพยพน่าสนใจมาก สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐอาจจะไม่ได้เตือนมากพอ หากภาครัฐเตือนถึงความรุนแรงของระดับน้ำ รวมถึงภัยความรุนแรงที่ประชาชนจะต้องเจอจะรุนแรงถึงขนาดอยู่ในบ้านไม่ได้ หากภาครัฐรู้ตั้งแต่แรกสิ่งที่ภาครัฐต้องทำ คือ ต้องมีศูนย์อพยพ แต่สิ่งที่เราเห็นคือศูนย์อพยพจะเกิดขึ้น หลังจากที่เกิดภัยพิบัติทุกครั้ง สะท้อนว่าภาครัฐไม่ได้เตือนประชาชนในระดับที่มากพอ หรือเหมาะสมกับเหตุที่จะเกิดขึ้นว่าจะเกิดภัยรุนแรงขนาดไหน ซึ่งอาจจะประเมินไม่ถูกต้อง เช่น พายุจะเข้ามีการประเมินกันว่าฝนจะหนักแต่อาจจะประเมินไปไม่ถึงว่าจะหนักถึงขนาดไหน
“ทุกวันนี้เราพูดกันถึงแต่เรื่องของการเตือนภัย เวลาเกิดเหตุมักจะมาถอดบทเรียน พอถอดบทเรียนเสร็จก็ลืม พอเกิดเหตุใหม่ก็วนกลับมาที่การถอดบทเรียน แล้วก็จบไปกลายเป็นว่าเราพูดกันถึงแต่เรื่องของการเตือนภัย แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องแผนเผชิญเหตุ ว่าหากเกิดเหตุเช่นนี้ทุกคนควรจะมีมาตรการรับมืออย่างไร”
.
“อุทกภัยแม่สาย ไร้แผนเผชิญเหตุ รับมือระดับประเทศ-จังหวัด-ชุมชน”
ปรารถนา มองว่า หลังจากนี้หากมีการเตือนแผนเผชิญเหตุในการรับมือ หน่วยงานไหนควรจะเป็นเจ้าภาพในการเข้าไปทำแผนดังกล่าวหรือช่วยเหลือชาวบ้าน เพราะภัยพิบัติหลายพื้นที่ไม่มีการซ้อมแผนเผชิญเหตุ หรือแม้แต่ในระดับจังหวัดและในระดับประเทศ กลับไม่มีการซ้อมแผนเผชิญเหตุ กรณีที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เห็นได้ชัดว่าช่วงที่กระแสน้ำมาแรง ประชาชนไม่เห็นหน่วยงานภาครัฐเข้าพื้นที่เลย มีแต่หน่วยงานภาคเอกชน เหล่าเจ้าหน้าที่กู้ภัยและอาสาสมัครเข้ามาช่วยเหลือ สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่ได้เตรียมแผนเผชิญเหตุหรือแผนรับมือได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น
.
ปรารถนา กล่าวปิดท้าย ฝากถึงหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากเรื่องความพร้อมการเตือนภัยและแผนเผชิญเหตุ ประเทศไทยควรต้องมีการซักซ้อมแผนไว้ด้วย เพราะภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคตคาดว่าจะหนักขึ้นกว่านี้ แต่แผนรับมือของบ้านเราพร้อมหรือยัง และที่สำคัญคือหลังจากเกิดเหตุแล้วหลายพื้นที่มีการติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณเตือนภัย เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน เครืองวัดระดับน้ำและอุปกรณ์หลายอย่างที่เกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ปรากฏว่าในหลายพื้นที่เวลาเข้าไปตรวจสอบ อุปกรณ์ดังกล่าวชำรุดเกือบทั้งหมด ไม่ได้รับการบำรุงซ่อมแซมและไม่ได้ใช้งานจริงๆ ดังนั้นจะต้องไปไล่รื้อดูระบบทั้งหมด ว่ามีอยู่เท่าไหร่ใช้งานได้จริงเท่าไหร่ ตรงไหนที่ใช้งานไม่ได้ ก็ต้องทำนุบำรุงให้พร้อมใช้งาน
.
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น.โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5