รู้ทัน! ไลฟ์ขายทองแม่ตั๊กอุทาหรณ์ “ผู้บริโภคต้องรู้”

“ถ้าอยากจะซื้อทองให้ไปซื้อหน้าร้านดีกว่า จะได้จับเนื้อดูลาย และสัญลักษณ์ จะได้เห็นการชั่งน้ำหนัก เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เพราะว่า เดี๋ยวนี้มีการออมทองเยอะ เคยมีร้านจริงๆ ที่ขายทองโดนมิจฉาชีพหลอกแอบอ้างเหมือนกัน”

“รัตติยา เรืองขจร” ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD ให้มุมมอง และอุทาหรณ์ “คดีทองจากกรณี “ตั๊ก กรกนก สุวรรณบุตร” หรือ “แม่ตั๊ก” แม่ค้าออนไลน์ กับสามี “กานต์พล เรืองอร่าม” ที่ผู้บริโภคซื้อ-ขายทองต้องรู้” ผ่าน “รายการช่วยคิดกันทิศทางข่าว”

“แนะซื้อทองหน้าร้าน รายละเอียดต้องชัดเจน-ป้องกันเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ”

 รัตติยา แนะนำว่า หากผู้บริโภคจะซื้อทอง ควรที่จะไปซื้อหน้าร้านดีกว่า แต่ปัจจุบันร้านทองที่มีหน้าร้านดัง ๆ ก็หันมาขายออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่ง สคบ.ก็บอกว่า ขายได้ แต่ต้องขอขึ้นทะเบียนกับนายทะเบียน ประเภทการขายธุรกิจแบบตรงก่อน เป็นการรวมขายออนไลน์ทั้งหมด เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่า มีข้อกำหนดใดบ้าง เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้ทราบผลชัดเจน เพราะตามหลักแล้ว สคบ.แนะนำว่า หากจะซื้อทอง ก็ควรซื้อจากร้านที่ขึ้นทะเบียนกับ สคบ.เพราะตามหลักจริง ๆ หากเป็นทองแท้ ที่เราซื้อ จะมีตราเปอร์เซ็นต์ และมีสัญลักษณ์ของร้านค้า ส่วนใหญ่ถ้าเราจะซื้อที่ไหน ก็จะกลับไปขายที่ร้านเดิม แต่ถ้าจะไปขายร้านอื่นหากอยู่ในลิสต์ที่ สคบ.รับรอง ก็สามารถขายได้ตามราคาที่กำหนด และต้องดูเปอร์เซ็นต์ทองที่ชั่งต่อหน้าว่า หนักเท่าใด ต้องมีใบรับรองเปอร์เซ็นต์ เพื่อความแน่นอนว่าอยู่ที่ 96.5% หรือไม่ ซึ่งทอง 18K ก็ต้องมีการเซ็นใบรับรอง จากร้านทองที่เราซื้อด้วย ขณะที่ ร้านค้า ต้องแสดงราคาขาย และราคารับซื้อคืน ทั้งทองแท่ง และทองรูปพรรณแต่ละวันให้ชัดเจนด้วย โดยต้องแจ้งค่ากำเหน็จเช่นกัน หากเวลาผู้บริโภคขายคืน ค่ากำเหน็จจะเป็นเท่าไร และต้องระบุชัดเจนว่า เปอร์เซ็นต์ทองเท่าไร

            “ถ้าอยากจะซื้อทอง ให้ไปซื้อหน้าร้านดีกว่า จะได้จับเนื้อดูลาย และสัญลักษณ์ จะได้เห็นการชั่งน้ำหนัก เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ มีการออมทองเยอะ เคยมีร้านจริง ๆ ที่ขายทองโดนมิจฉาชีพหลอกแอบอ้างเหมือนกัน เพราะฉะนั้น สคบ. ให้ย้ำว่า เรื่องของการซื้อทองมีความผิดว่าด้วยเรื่องของฉลากควบคุมอยู่ จึงต้องระมัดระวัง ดังนั้น ต้องซื้อจากร้านที่เชื่อถือได้ และมีหน้าร้านชัดเจนและเรามั่นใจ แต่ยืนยันว่า ไม่ควรซื้อออนไลน์ แม้ว่าบางครั้งการซื้อผ่านแอพพลิเคชั่นผ่อนชำระได้” รัตติยา กล่าวย้ำ

“ตรวจสอบทอง-อัญมณีที่ ‘สถาบันอัญมณี’ เพื่อความชัวร์” 

            รัตติยา บอกว่า การตรวจเช็กทองว่า แท้หรือไม่ มีทั้งแบบเอกซเรย์ และแบบเผาหลอม เช่น ร้านที่นำทองไปขาย หากมีเครื่องเอ็กซ์เรย์ตรวจสอบ ก็อาจจะรีเช็คโดยการนำไปเผา หรือหลอมอีกครั้ง เพราะวิธีนี้ น่าจะได้ผลแน่นอน หากผู้บริโภคคนไหนสงสัยว่า ทองที่ซื้อมาเป็นทองปลอมหรือไม่  สามารถไปตรวจสอบได้ที่ “สถาบันอัญมณี”เพราะรับตรวจสอบเพชร พลอย ทอง แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของอัญมณีดังกล่าวด้วย เช่น การเผา อาจจะต้องเฉือนเนื้อทองส่วนหนึ่งออกไปเผา เพราะถ้าเป็นทองแท้ รูปลักษณ์ของทอง ก็ยังอยู่ในสภาพเดิม แต่สภาพอาจจะแปรเปลี่ยนไปเป็นก้อนกลม ๆ แทน แต่ถ้าเป็นทองปลอมจะกลายเป็นสีดำ

         “แนะ สคบ.ควรสังคายนาไลฟ์ขายออนไลน์ทั้งระบบ”

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น “รัตติยา” มองว่า เป็นบทเรียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องทำให้ถูกกฎหมาย และดูว่า การไลฟ์ขายทองแบบนี้ มีรายละเอียดอีกมาก เพราะเป็นธุรกิจการตลาดแบบประเภทขายตรง ต้องไปขออนุญาตกับนายทะเบียน ฉะนั้น หลังจากนี้ สคบ.ก็จะตรวจสอบผู้ที่ไลฟ์ขายของทั้งหมด โดยมีการตั้งทีมขึ้นมาเพื่อที่จะดูว่า การใช้ถ้อยคำต่าง ๆ ที่จูงใจนั้นผิดหรือไม่

ระวัง! สร้างความน่าเชื่อถือผ่านงานบุญ” 

            รัตติยา บอกว่า ในกรณีของ “แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์” นั้น เปิดขายทองมาหลายปีแล้ว และสร้างความน่าเชื่อถือโดยการมีแฟนคลับ มีกิจกรรมทำบุญต่าง ๆ นอกจากไลฟ์ขายสินค้าต่าง ๆ ดูเหมือนใจบุญแล้ว เท่าที่ได้สอบถามผู้เสียหายหลายคน บอกตรงกันว่า เห็นแม่ตั๊กเป็นคนใจบุญ จึงอยากช่วยอุดหนุน ช่วงหลัง ๆ ที่มีผู้เสียหายเยอะ เชื่อว่า มาจากความน่าเชื่อถือ และทำมานาน ซึ่งที่แน่ ๆ ที่หลายคนซื้อทองก็ต้องหวังเก็งกำไร เพราะคาดหวังว่า เป็นทองจริง แต่ว่า เปอร์เซ็นต์ของทอง คนทั่วไปอาจจะไม่รู้ว่า ทองมีรายละเอียดมากกว่านั้น เช่น มี 96.5% และ 95.5% เป็นต้น 

“ผลสอบทอง ‘แม่ตั๊ก’ ของจริง แต่เปอร์เซ็นต์ตกมาตรฐาน” 

            รัตติยา บอกว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายหน่วยงาน ร่วมกับ สคบ.เก็บตัวอย่างทองแม่ตั๊ก จำนวน 6 ตัวอย่าง และได้ผลตรวจล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลที่ออกมาพบว่า เป็นทองจริง แต่เปอร์เซ็นต์ทองแม่ตั๊กหลายชิ้นไม่ถึง 96.5 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ถ้าจะเข้าข่ายผิด ก็น่าจะผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของฉลาก ซึ่งคำว่า “ฉลาก” คือ ไม่มีการแจ้งกับผู้บริโภคให้ครบถ้วนว่า ความจริงแล้ว เปอร์เซ็นต์ทองของแม่ตั๊กเท่าใด เพราะการซื้อทองที่ถูกต้อง ร้านค้าจะต้องแจ้งน้ำหนัก และชั่งให้ผู้ซื้อดูว่า มีน้ำหนักกี่กรัม กี่บาท และเปอร์เซ็นต์เท่าใด ซึ่งจะต้องชี้ให้เห็น และมีการออกใบรับรอง

            ส่วนทอง 6 ชนิด ที่ถูกนำไปตรวจหลัก ๆ นั้น “รัตติยา” เล่าว่า หลัก ๆ จะเป็นสร้อยคอ, กำไลข้อมือ, ปี่เซียะ 8 ตัว ซึ่งน้ำหนักที่ชั่งได้ คือ 4.96 กรัม และจากการตรวจที่สถาบันอัญมณี มีการตรวจ 2 แบบ เพื่อเป็นการรีเช็ก ทั้งแบบเผา และแบบเอ็กซเรย์ พบว่า เซียะกำไลข้อมือ ตามข่าวมีผลจากการเอ็กซ์เรย์ค่าของทองอยู่ที่ 99.99% ซึ่งเป็นทองที่ตรงปก แต่ว่า น้ำหนักอาจจะบอกลูกค้าไม่ตรง และผลจากการเผาหลอม ก็พบว่า มี 99.97% เป็นทองจริง ส่วนมีทองรูปพรรณ ที่เป็นกำไลข้อมือ ประเภทลูกปัดนั้น ในลูกปัด พบว่า น้ำหนัก 1.19กรัม จากการตรวจสอบ 1 ตัวอย่าง เอ็กซ์เรย์ผลทองอยู่ที่ 71.15% ผลจากการหลอมอยู่ที่ 61.45% ส่วนจี้ปี่เซียะ ผลเอ็กซ์เรย์อยู่ที่ 99.99% เป็นหลัก

เตรียมสาวต่อ! ต้นตอแหล่งที่มา “ทองแม่ตั๊ก” 

            รัตติยา บอกว่า สคบ.ระบุกรณีทองแม่ตั๊ก ซึ่งมีของแถมก็จะนำของแถมดังกล่าวส่งตรวจสอบที่สถาบันอัญมณีเพิ่มเติมด้วย วิธีการที่น่าจะเข้าข่ายผิด คือ ทำเป็นรวมของหลายชิ้น พอรวมราคาแล้ว ก็ถือว่าแพง ซึ่งแม่ตั๊กพูดโน้มน้าวแรงจูงใจผู้ซื้อว่า มูลค่าของทองถ้าไปซื้อที่อื่น ราคานี้รวมกับของแถมไม่ได้ แต่ความจริงแล้ว ถือว่าแพงเกินจริงที่ควรจะเป็น และยังต้องรอดูผลการตรวจสอบแหล่งที่มาว่า ทองร้านแม่ตั๊กไปเอาทองมาจากที่ใด

อ่วม! บทเรียน “ขายของไม่ตรงปก: โทษหนัก”

             รัตติยา อธิบายอีกว่า ผลการตรวจสอบดังกล่าว ก็จะใช้ประกอบข้อมูล เพื่อประกอบความผิดในส่วนอื่น ๆ ด้วย นอกเหนือจากดูจากพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็น การใช้คำพูดโน้มน้าว และพูดไม่ตรงทั้งหมด หรืออาจจะบอกไม่ครบ ไม่บอกน้ำหนักทอง อาจจะผิดในเรื่องของการระบุฉลากสินค้า ซึ่งโทษตรงนี้นับเป็นกรรม สำหรับโทษของการไม่ระบุฉลากสินค้า ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ก็จะต้องดูว่า มีผู้เสียหายเท่าใด กี่กรรม ซึ่งแค่เรื่องฉลากนั้น ก็ถือว่า โทษหนักหนาอยู่

รัตติยา บอกด้วยว่า สคบ.ได้ระบุว่า ขณะนี้ มีผู้ที่มาร้องเรียนอย่างเป็นทางการกับ สคบ.แล้ว มี 40 คน แต่เชื่อว่าน่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก และยืนยันว่า ถึงแม้จะมีผู้ไปต่อคิวเข้าแถวหน้าร้านที่ได้คืนเงินไปแล้ว หากใครประสงค์ที่อยากจะเอาผิดทางอาญา ก็มาแจ้งที่ สคบ.ได้ เพราะโทษอาญา และโทษทางแพ่งนั้น แยกจากกัน ซึ่งก็น่าจะมีเพิ่มเติม และ สคบ.จะเป็นจุดรวบรวม

ในกรณีของแม่ตั๊กนี้นั้น รัตติยา ระบุอีกว่า การไลฟ์สดเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ได้แจ้งลูกค้าให้ครบถ้วนก่อนซื้อ ดังนั้น ในการใช้คำพูดเวลาไลฟ์ขายของ จะมีกรรมการเรื่องการโฆษณาเกินจริงเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติมด้วย เพราะอาจจะเข้าข่ายความผิดที่ สคบ. และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) อีกหน่วยงานหนึ่ง ที่จะเข้ามาดูในเรื่องความผิดแน่ ๆ คือ เรื่องฉลากที่ขายไม่ตรงปก และหลังจากนี้ สคบ.จะตรวจสอบว่า การไลฟ์ขายของ มีประเด็นเรื่อง มีการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการประกอบความผิด เพราะว่า มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สคบ.,  ปคบ. และสำนักงานป้องกันละปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ยึดทรัพย์ด้วย เพราะว่า เกี่ยวข้องกับการยึดเงินเพื่อไปคืนให้กับผู้เสียหาย

            ติดตาม “รายการช่วยคิดกันทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น. โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5​