“ต้องมีวินัยในการทำงานค้นหาข้อมูล เพราะเป็นช่องทางออนไลน์ของเราเอง แม้จะเป็นงานอิสระแต่งานอิสระที่เราเลือก อาจจะมีผลกระทบต่อประชาชน ถ้าเราพูดหรือสื่อสารออกไปในทางที่ผิด หรือเรียกเพียงกระแสหรือยอดไลค์ตนไม่ทำแบบนั้น”
“คณากร คงประทีป” สื่อมวลชน ผู้ได้รับรางวัล Best News Creator จากการประกวดThailand Influencer Awards” บอกเล่าเบื้องหลัง “กว่าจะมาเป็น News Creator อินฟลูสายข่าว” ผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า ตนเองทำข่าวสายเศรษฐกิจประมาณ 10กว่าปี และเป็นผู้ประกาศข่าวทีวีด้วย แต่ตอนนี้ผมลาออกมาแล้ว ส่วนจุดพลิกผันที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านข่าว คือ ตอนที่ตนทำข่าวทีวี ในสมัยนั้นตนเป็นหัวหน้าข่าวดูแลเกี่ยวกับคอนเทนท์ลงแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้กับช่อง และทำข่าวลงออนไลน์
“จุดประกายจากเล่น TikTok ปี 2016 ปรับเป็นแนวที่ถนัด”
คณากร เล่าว่า ระหว่างที่ทำข่าวลงของช่องที่ทำงานนั้น ตนได้นำมาลงช่องทางของตนด้วย ซึ่งแอคเคานท์ของผมทุกแพลตฟอร์ม ชื่อ “โย-คณากร คงประทีป” ช่วงนั้น TikTok กำลังมา ตนเล่น TikTok มาตั้งแต่ปี 2016 และมาจริงจังช่วงโควิด-19 ที่คนไทยอยู่บ้าน ก็เลยยัดเยียดข่าวเข้าไป เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไร เพราะไม่ถนัดเต้น, ไม่ถนัดบันเทิง, ไม่ถนัดตลก ซึ่งเคยทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ และคนไม่ดู ก็เลยลองนำข่าวลงเข้าไป ในช่วง 5-6 ปีที่แล้ว ยังไม่ค่อยมีคนข่าวในนั้น ตนก็เลยลองยัดเยียดเข้าไป เพราะไม่รู้จะทำอะไร ทำตลก ก็ตลกไม่สุด เล่นมา 2 ปี มีผู้ติดตาม 62 คน ก็เลยเอาข่าวเรื่องสินเชื่อเข้าไปคลิปแรก ซึ่งเป็นข่าวเศรษฐกิจ และพยายามยัดเยียดเข้าไปเรื่อย ๆ จนคนเชื่อว่า ข่าวที่ลงเป็นข่าวจริง
“อึ้ง! คลิปแรกเรื่องสินเชื่อ คนดูเกือบ 100,000 วิว”
คณากร บอกว่า ตอนแรกไม่คิดว่า คนจะฟังข่าวจาก TikTok เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นสนุกสนาน แต่เราลงเรื่องสินเชื่อไปก่อน ปรากฏว่า คนดูเยอะมาก เกือบ 100,000 วิวก็ตกใจ แต่คำถามที่ถามกลับมาในคอมเม้นต์ คือ “ข่าวจริงหรือเปล่าคะ” ขณะเดียวกัน ตนก็นำข่าวดังกล่าวลงแพลตฟอร์ม YouTube ด้วย แต่บางครั้งแพลตฟอร์มนี้ คนเข้าถึงยากกว่า จึงมองว่า TikTok ยอดวิวไปเร็วกว่า และคนนิยมเล่น TikTok มากกว่าด้วย
“ต้องมีวินัย-รอบคอบหลายขั้นตอนก่อนจะคลอด 1 คลิป”
คณากร เล่าขั้นตอนการทำคลิปกว่าจะออกมา 1 ชิ้นว่า ตนอยู่ในกลุ่มของผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงต่าง ๆ อยู่แล้ว ข่าวส่วนใหญ่ เป็นเรื่องนโยบายภาครัฐ และข่าวสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ประชาชนควรรู้เกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงสินเชื่อ ตนอยู่กับข่าวเศรษฐกิจมาเยอะ และรู้สึกว่า ชอบให้คนได้รับประโยชน์
คณากร บอกว่า เมื่อได้รับข่าวมาจากรัฐบาล หรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ตนก็จะมานั่งอ่าน ถ้ายังสงสัย ตนจะยังไม่ทำคลิปข่าวลงไป แต่จะโทรกลับไปถามหน่วยงานนั้น ๆ ก่อน ถ้ามีคนรู้จัก หรือไม่ว่าจะเป็นพีอาร์ หรือคอลเซ็นเตอร์ หรือถามคนในสายธุรกิจที่ทำเรื่องนี้อยู่ เพื่อให้ใน 1 คลิปได้ครบหมด ไม่ลงเป็น EP1 EP2 แต่จะให้จบในคลิปเดียว ฉะนั้น กว่าจะได้ 1 คลิป ต้องโทรศัพท์ถามเยอะ ถ้าข่าวไหนที่ยังสงสัยอยู่ ก็จะยังไม่ลง เพราะต้องตรวจเช็คก่อน กลายเป็นว่า ปัจจุบันตนพูดอะไรไป คนจะค่อนข้างเชื่อเยอะ ฉะนั้น จึงต้องระมัดระวังคำพูด และเนื้อหาด้วย
“ต้องมีวินัยในการทำงานค้นหาข้อมูล เพราะเป็นช่องทางออนไลน์ของเราเอง แม้จะเป็นงานอิสระแต่งานอิสระที่เราเลือกอาจจะมีผลกระทบต่อประชาชน ถ้าเราพูดหรือสื่อสารออกไปในทางที่ผิด หรือเรียกเพียงกระแสหรือยอดไลค์ผมไม่ทำแบบนั้น” คณากร ระบุ
“มีวินัยในการทำงาน-ไม่เรียกยอดไลค์-เตรียมข้อความสั้นเฉพาะใจความสำคัญแปะไว้หน้าคลิปทุกครั้ง”
คณากร เล่าว่า ทุกครั้งจะต้องเขียนสคริปต์ก่อน และการจะนำข้อความไปแปะในคลิปวิดีโอ ก็ต้องเขียนเตรียมไว้หมด คล้ายกับการทำข่าวทีวี แต่คำที่นำมาใช้ จะไม่ได้นำมาทั้งหมดเหมือนข่าวโทรทัศน์ แต่จะเน้นคำให้เหมาะสมกับออนไลน์ หรือชื่อบางคนที่ปกติ เวลาอ่านในทีวี จะต้องอ่านชื่อตำแหน่งทั้งหมดทุกคนเต็มไปหมด แต่เราก็ตัดทิ้งเอาเฉพาะเนื้อหาสำคัญ
ส่วนอุปสรรคในการทำงาน คณากร บอกว่า ช่วงทำคลิปแรกๆ ตนจะเน้นพูดชื่อตนเองด้วย คือ “โย-คณากร คงประทีป – ข่าวจริงต้องที่นี่” โดยจะย้ำไปเรื่อย ๆ เพื่อให้คนจำชื่อให้ได้ ให้รู้ว่าข่าวนี้เป็นข่าวจริง พอมาช่วงหลัง ๆ ตนตัดคำนี้ออก เพราะประชาชน จะเชื่อเรา ก็ต่อเมื่อได้ยินเราพูด แล้วเขาไปเจอของจริงว่า เป็นความจริงจริง ๆ ตรงกับที่ตนพูด พอย้ำไปเรื่อย ๆ ผ่านไป 6 เดือนถึง 1 ปี คนก็เชื่อหมดแล้ว
“ภาพลักษณ์ต้องดูน่าเชื่อถือ-แฟนเพจออนไลน์คนละกลุ่มกับทีวี”
คณากร บอกว่า คนที่ดูตนใน TikTok และออนไลน์ทั้งหมด เป็นคนละกลุ่มเป้าหมาย ที่แทบจะไม่เคยดูตนในทีวีเลย เหมือนมาสร้างความน่าเชื่อถือใหม่หมด ช่วงหลังตนจะเน้นสร้างความน่าเชื่อถือ ดูเป็นบิสสิเนสลุค และทุกคลิปที่ลง ก็ต้องใส่วันที่ บางครั้งใส่เวลาด้วย เพราะบางเนื้อหาข่าวของรัฐเปลี่ยนตลอด ตนก็พยายามสร้างให้ประชาชนเชื่อถือที่สุด
“เลือกประเด็นสำคัญทั้งในปท.-ต่างปท.ที่คนได้ประโยชน์”
คณากร บอกว่า การลงคลิปขึ้นอยู่กับเนื้อเรื่อง เช่น ถ้านโยบายรัฐออกมาบ่อย ๆ คลิปที่ลงก็จะถี่หน่อย แต่ถ้าไม่ค่อยมี อาจจะ 2 วัน/ครั้ง หรือ 7 วัน/ครั้ง ขึ้นอยู่กับว่า ช่วงนั้นมีเรื่องอะไรที่น่าสนใจ แต่ตนจะไม่ได้ลงทุกวัน โดยเลือกเรื่องที่ทำประจำก่อน และนำมาประชาสัมพันธ์ให้ คือ นโยบายภาครัฐ เช่น เงินดิจิทัล หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือดูตามหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สิทธิประกันสังคม, 30 บาทรักษาทุกโรค หรือบางเรื่องที่ประชาชนต้องรู้ แต่เข้าไม่ถึง เช่น เรื่องสินเชื่อ เพราะเรื่องนี้มิจฉาชีพเยอะ ก็จะไปดูสินเชื่อเกษตรกร สินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สินเชื่อธนาคารออมสิน
คณากร บอกว่า ส่วนเรื่องของต่างประเทศ จะดูนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศ ซึ่งตนอาจจะพูดตอนไลฟ์แต่ไม่ได้ทำเป็นคลิป เพราะถ้าเป็นคลิป ตนจะเน้นไปที่นโยบายปากท้องของประชาชน เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจและเรื่องเศรษฐกิจ การลงทุน การออม เป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง และเป็นประโยชน์ก็จะนำมาพูด เพราะบางคนถึงแม้ว่า จะมีประกันสังคมมานาน แต่ไม่รู้ว่า เอ๊ะ!? เราส่งกี่งวดถึงจะได้บำเหน็จ, บำนาญแล้วส่งมาตราอะไรอยู่
“แนะเทคนิคสร้างคลิปข่าว คนดูหลักสิบล้าน!”
คณากร เล่าว่า ตนก็แปลกใจเหมือนกับคลิปที่ได้ยอดวิวสูงสุด ประมาณ 15ล้านวิว และความยาวประมาณ 7 นาทีครึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของสิทธิประโยชน์ของประชาชน เช่น เรื่องประกันอุบัติเหตุ เชื่อมโยงกับธนาคารที่เป็นบัตรเดบิต ตนคิดว่า คนไทยสนใจประกันเยอะ และเวลาตนไลฟ์ คนถามเรื่องนี้เยอะมาก แต่ความจริงแล้ว ก่อนหน้านี้ก็มี 10 ล้านวิวขึ้นไปเยอะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักล้านหรือหลัก 10 ล้าน ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ทั้งนั้น
“คนชอบเพราะสื่อเนื้อหาตรงประเด็น-เข้าใจง่าย”
คณากร บอกถึงสิ่งประสบความสำเร็จยอดวิวสูงในหลายคลิปว่า มีคนที่ดูแล้วบอกว่า ผมใช้คำพูดเข้าใจง่าย จากเรื่องยาก ๆ พอฟังแล้วเข้าใจเลย เช่น ถ้าเป็นข่าวจากรัฐบาล จะมีภาษาราชการ หรือถ้ามีข่าวจากธนาคาร ก็จะเป็นภาษาธนาคาร ซึ่งฟังแล้วประชาชนไม่ค่อยเข้าใจ ตนก็นำมาพูดเป็นภาษาชาวบ้าน โดยเปลี่ยนคำใหม่ ทำให้เข้าใจง่าย ประกอบกับพิมพ์ตัวหนังสือลงไปในคลิปด้วย ทำให้ข่าวของตนคนชอบแคปไป แม้ว่าไม่ค่อยฟัง ก็จะแคปข่าวไปก่อน หรือเขียนแปะไว้ที่หน้าคลิป เพื่อทำให้ดึงดูดคน สนใจเข้ามาดูคลิปนั้น โดยส่วนหนึ่งก็จะเป็นประเด็นสรุปย่อย ๆ ว่า เนื้อหาในคลิปทั้งหมดมีอะไร ก็จะไปอยู่ที่ตัวข้อความ หรือบางคนยังไม่มีเวลาฟังคลิปจบ เขาก็อาจจะเซฟเก็บไว้ก่อน
“แนะคนที่สนใจทำคลิปลงโซเชียล ต้องมีจรรยาบรรณด้วย-ไม่เน้นยอดวิว”
คณากร แนะนำคนที่อยากเป็น News Creator ว่า อยากให้มีจรรยาบรรณ ถึงแม้ว่า บางคนอาจจะไม่ได้อยู่ในสายวิชาชีพสื่อ แต่ต้องนึกถึงคนฟังด้วยว่า ฟังไปแล้วเขาได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ หรือเราได้เอง ไม่ต้องทำคอนเทนท์ที่เรียกยอดวิวหรือเรียกยอดไลค์ เพราะจะทำให้ประชาชนสับสน และบางครั้งเนื้อหาข่าว พอฟังแล้วอาจจะไม่มีอะไรเลย ประชาชนก็รู้สึกว่า ไม่ได้อะไรจากข่าวนั้น เป็นแค่การพาดหัว หรือใช้คำพูดเปิดหัว เพื่อหลอกให้เข้าไปดู
คณากร บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคนที่เป็นครีเอเตอร์สายข่าว ควรระมัดระวังในการทำคอนเทนท์ ต้องมีวินัย จดจ่ออยู่กับข่าวตลอด เพราะส่วนใหญ่เอาข่าวมาจากออนไลน์ ดังนั้น ต้องเช็กดูก่อนว่า เป็นข่าวจริงและถูกต้องหรือไม่ ต้องโทรศัพท์ไปตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข่าว ไม่ใช่พอเห็นปุ๊บแล้วทำคลิปลงเลย
“การทำงานของผมไม่เน้นเร็วแต่จะเน้นถูกต้องครบถ้วน เพราะบางคนถ้าเน้นเร็วเกินไป บางครั้งปล่อยออกไปแล้วคนเชื่อแล้วแชร์ไปเยอะแล้ว พอมาแก้ภายหลังคนก็ไม่ค่อยดู เพราะคนจะไปเสพครั้งแรกมากกว่า ตรงนี้อยากให้ระมัดระวัง เห็นเยอะเหมือนกันที่ทำให้คนเข้าใจผิดไปแล้ว พอมาแก้อีกครั้งคนก็ไม่เห็นคอนเทนท์นั้นแล้ว” คณากร ระบุ
“งานทุกชิ้นไม่เคยมีทัวร์ลงเพราะไม่มีความเห็น-พร้อมยกหูหาคำตอบให้คนดูทันที”
คณากร บอกว่า การทำคลิปต่าง ๆ ของตน ไม่เคยมีทัวร์ลง เพราะไม่ได้ใส่ความคิดเห็น หรือเน้นกระแสดรามา แต่จะเน้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำถามที่ทำให้ได้มาต่อยอดคอนเทนท์ได้มากกว่า ส่วนในไลฟ์ของตนมีคนส่งข้อความมาสอบถามค่อนข้างเยอะ ถ้าเรื่องไหนตนไม่รู้ ก็จะต่อสายไปที่คอลเซ็นเตอร์ หรือคนที่รู้จัก และพูดคุยกันในไลฟ์ เพื่อให้จบประเด็น ๆ ไป และเวลาตนไลฟ์ผม ก็จะลิงก์ทุกแพลตฟอร์มที่ตนมีอยู่ ซึ่งตนโชคดี คือ มีคนมาช่วย แชร์ช่วยตอบ แต่ทุกวันนี้ ต้องระมัดระวัง เพราะคนที่มาคอมเม้นท์เป็นวิชาชีพแฝงตัวเข้ามา เช่น สมมติทำข่าวเตือนเรื่องมิจฉาชีพ ก็จะมีคนเข้ามาคอมเม้นท์ว่า เคยเจอกรณีแบบนี้แล้ว ถ้าอยากได้เงินคืนให้ทักไปหาเขาได้เลย เหมือนจะเป็นมิตรภาพ แต่เป็นมิจฉาชีพ ต้องระวังเพราะคนไทยชอบอ่านคอมเม้นท์ด้วย
“AI ไม่เหมาะนำมาใช้กับงานข่าว เพราะต้องระวังเรื่องความถูกต้อง”
คณากร ให้มุมมองถึงแนวคิดนำ AI มาใช้ในงานข่าวว่า อีกบทบาทหนึ่งตนเป็นวิทยากร สอนการสร้างคอนเทนท์การการใช้ AI ในการเขียนสคริปต์ หรือทำคลิปวิดีโอ ตนมองว่า ทำเองเร็วกว่า แต่หากเป็นเรื่องอื่นใช้ AI ทำได้ เช่น ทำธุรกิจช่วยคิดคอนเทนท์ หรือมีผลิตภัณฑ์ให้ช่วยคิด แต่งานข่าวต้องระมัดระวัง เพราะเน้นเนื้อหาที่ถูกต้อง บางครั้งถ้าไม่รู้ และไปใช้ AI ช่วย การพูดออกไปก็อาจจะผิดสูง แต่ถ้าเรารู้เราใช้ AI ตรงนี้จะดีกว่า เพราะเราสามารถควบคุมเนื้อหาเพิ่มเติมได้หลังจากที่ AI ทำให้เราแล้ว
“มิจฉาชีพเยอะ เสพสื่อต้องระวัง”
คณากร ทิ้งท้ายว่า ให้คนที่เสพออนไลน์สังเกตข่าวจริงหรือข่าวปลอม เพราะปัจจุบัน คนไม่ค่อยไว้วางใจในการลิงก์ข่าว กลัวจะเจอข่าวปลอม เพราะมิจฉาชีพเยอะ ประชาชนก็จะไม่ค่อยไว้ใจ บางครั้งเขาไปดูจากทีวี หรือดูเพจจากสำนักข่าวจริง ๆ แต่แคปข่าวนั้นมาถามตนว่า ข่าวนั้นจริงหรือไม่ ซึ่งข่าวปลอมทำให้ทุกคนมีกำลังใจ และมีความหวัง เพราะจะพูดอะไรที่เป็นไปได้หมด
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น. โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5