“ใครได้-ใครเสีย!! บนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา”

         “คณะรัฐมนตรีรัฐบาลต่อๆมามีการศึกษาเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศถึงกับต้องจ้าง ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายทะเล มาเพื่อวิเคราะห์หาผลสรุป ซึ่งผลออกมาว่า MOU ฉบับนี้มีประโยชน์สำหรับไทยและกัมพูชามากกว่าโทษ”

             “สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตบรรณาธิการบริหาร The Nation” ฉายภาพ “MOU 44 ปมเกาะกูด ทำไทยเสียดินแดนจริงหรือไม่!!” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ว่า 

“ปมการเมือง ทำ MOU 44-เกาะกูด ผุดช่วงนี้” 

            สุภลักษณ์ บอกว่า การหยิบยกเรื่อง MOU 44 ปมเกาะกูด จังหวัดตราด อาจทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนให้กับกัมพูชา ที่มีการนำมาพูดกันในช่วงนี้ น่าจะมีแรงจูงใจมาจากการเมืองค่อนข้างมาก มากกว่าที่จะเป็นปัญหาตัว MOU เอง ผู้ที่หยิบเรื่องนี้ คือ ไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งพลังประชารัฐเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลประยุทธ์และรัฐบาลเศรษฐา มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคไทย-กัมพูชา เพื่อที่จะเจรจาเรื่องเกาะกูด

“ไม่รู้เหตุผลแท้จริง พปชร. เป็น รบ.มา 10 ปี แต่กลับมาเคลื่อนไหว MOU ช่วงนี้”

            สุภลักษณ์ บอกว่า พอถึงวันที่ความสัมพันธ์ระหว่าง พรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทยไม่ดีช่วงปลายรัฐบาลเศรษฐา นายไพบูลย์ก็หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาบอกว่า MOU ไม่สมบูรณ์บ้าง ไม่ผ่านสภาบ้าง ทั้งที่พรรคพลังประชารัฐอยู่ในรัฐบาลมาเป็น 10 ปี ถ้าจะทำให้ถูกอย่างที่นายไพบูลย์ว่า ก็ทำเสียตั้งแต่ตอนนั้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไรแต่ก็ไม่ทำ กลับหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งผมก็ไม่ทราบเจตนาที่แท้จริง ว่าอาจจะต้องการสร้างสถานการณ์ หรือปั่นสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล หรือต้องการอะไรมากไปกว่านั้น แต่ดูแล้วเป็นการผสมโรง ด้วยเรื่องแรงจูงใจทางการเมืองค่อนข้างมาก 

“คนไทยถูกสอนให้รักแผ่นดิน” 

            “เรื่องนี้อาจจะผสมกับอารมณ์ความรู้สึก หรือความคลุมเครือมาเป็นประเด็น เวลาพูดถึงเรื่องดินแดนมักจะจับใจคน เพราะคนไทยถูกสอนกันมานาน ตั้งแต่เป็นนักเรียนว่าประเทศไทยมีดินแดนแล้วก็เสียกันไปช่วงปีนั้นปีนี้ ทำแผนที่ออกมา ทั้งหมดเป็นจินตนาการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง”

“ข้อดี MOU ทำให้กรอบการเจรจาชัดเจน หากยกเลิก สถานการณ์ก็จะกลับไปเหมือนอดีต” 

            สุภลักษณ์ บอกว่า หากยกเลิก MOU 44 ตามที่หลายฝ่ายเรียกร้องสถานการณ์ ก็จะกลับไปเหมือนปี 2513 ซึ่งประเทศไทยเคยเจรจากับกัมพูชา ทั้งแบบที่มี MOU และแบบไม่มี MOU ซึ่ง MOU ปี 2513 -2543 เราเจรจากันตลอด โดยเจรจาบ้างหยุดบ้าง บางครั้งกัมพูชามีปัญหา บางครั้งเรามีปัญหาก็จะว่างเว้นเว้นไปนานบ้าง แต่ไม่เคยยุติเจรจาและพยามหาทางออกในเรื่องนี้ตลอดเวลา ซึ่ง MOU 2544 ให้กรอบในการเจรจาว่า พื้นที่ตรงไหนต้องมีการเจรจากันชัดเจน และยังให้กลไกระบุว่าให้คณะกรรมการประชุมกันโดยสม่ำเสมอ เพื่อหาทางออกเรื่องนี้โดยเร็ว ตรงนี้เขียนไว้ชัดเจน 

            สุภลักษณ์ มองว่า ความดีของ MOU คือ ต้องมีการประชุมสม่ำเสมอ ไทยสามารถบอกกัมพูชาได้ว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องประชุมกันคุยกันเรื่องนี้ ถ้าไม่มี MOU ถ้าไทยอยากพูดคุยกับกัมพูชา แต่กัมพูชาไม่อยากคุยก็อาจจะติดขัดอยู่แล้ว ถามว่าเรามานั่งคุยกันบนพื้นฐานอะไร ก็ต้องมานั่งว่ากันใหม่เส้นเขตแดนของเธอถูก เส้นเขตแดนฉันผิด มันก็ไม่ไปไหนสักที

“เกาะติดข่าวนี้มานาน เชื่อ MOU มีประโยชน์-หากจะยกเลิกต้องทำตามขั้นตอน กม.ไทย”

            “ในฐานะที่ผมทำข่าวเรื่องนี้มานาน คิดว่ามี MOU มีประโยชน์มากกว่า และ MOUนี้ถูกเคยถูกบอกเลิกมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ทำงานไม่จบ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี ( ครม.) สมัยนั้นบอกว่าให้ไปศึกษาดู ว่าถ้าบอกเลิก MOU แล้วจะเป็นอย่างไร จึงยังไม่ได้บอกยกเลิก”

            สุภลักษณ์ บอกว่า เนื่องจากว่า MOU นี้ไม่ได้มีข้อที่ว่าด้วยการบอกเลิก เพราะการบอกเลิกจะต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายของไทย โดยนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาแจ้งไปทางกัมพูชา แล้วให้เวลาเขาว่าจะคัดค้านการบอกเลิกหรือไม่ เช่น ถ้าไม่คัดค้านภายใน 30 วัน ให้ถือว่าให้ถือตามนั้น แต่ถ้าเขาคัดค้านๆด้วยเหตุผลอะไร ก็ต้องมาเจรจากันอีกภายใน 12 เดือน เพื่อให้หาข้อยุติให้ได้ ว่าจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิก ฉะนั้นมีขั้นตอนที่จะต้องทำอยู่เหมือนกัน แต่รัฐบาลที่ผ่านๆมาไม่ได้ทำ 

“งง เรียกร้องให้ยกเลิก MOU ทำไม เหตุ หลาย รบ.ศึกษาแล้ว ประโยชน์มากกว่าโทษ”

            “คณะรัฐมนตรีรัฐบาลต่อๆมามีการศึกษาเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศถึงกับต้องจ้าง ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายทะเล มาเพื่อวิเคราะห์หาผลสรุป ซึ่งผลออกมาว่า MOU ฉบับนี้มีประโยชน์สำหรับไทยและกัมพูชามากกว่าโทษ ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจากัน ซึ่งผมก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าจะมีการเรียกร้องให้ยกเลิกทำไม เพราะมีการศึกษาและมีการตรวจสอบ ซึ่งรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย มีการดูและอ่านมาตลอด พยายามหาทางที่จะทำให้เดินหน้า”

“พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน ไม่รุกล้ำเกาะกูดตั้งแต่แรก-มีแนวคิดพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน”

            สุภลักษณ์ บอกว่า พื้นที่บริเวณเกาะกูดมีประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่ เฉี่ยวๆมาแถวเกาะกูด จึงทำให้เกิดประเด็นว่า จะมารุกล้ำเกาะกูดหรือไม่ บอกเลยว่าไม่มีตั้งแต่ต้นแล้ว และส่วนที่สองอยู่ที่ ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา ตรงนั้นก็เป็นพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนในไหล่ทวีป เป็นพื้นที่ประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตร ตรงนั้นให้เจรจาเพื่อที่จะจัดทำระบบพัฒนาร่วมกัน ทั้งแก๊สและน้ำมันหรือทรัพยากรปิโตรเลียม ที่อยู่ใต้ทะเลให้ขุดขึ้นมาร่วมกัน แล้วทำอย่างไร ,พัฒนาแบบไหน , จะแบ่งปันกันเท่าไหร่ก็ยังเป็นเพียงไอเดียเท่านั้น ก็มีการเสนอว่า 50-50 หรือไม่ หรือถ้าอยู่ใกล้เขตแดนประเทศไหนก็ให้ 60 ส่วนอยู่ไกลให้ 40 ตรงนี้ก็ยังเป็นแค่ไอเดียอยู่อยังคุยกันไม่จบ ซึ่งทั้งหมดนี้ MOU 44 พูดกันเท่านี้

“ชี้ช่องประเด็นสำคัญ ข้อ 5 MOU” 

            “อีกประเด็นหนึ่ง คือ ข้อ 5 ของ MOU 44 บอกว่า MOUหรือการดำเนินการภายใต้ MOU ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิ์ ในการอ้างของพื้นที่ในทะเลทั้งหมด ซึ่งความจริงก็คุยกันมานาน 23 ปีแล้ว สิทธิที่อ้างกันอยู่เท่าไหร่ก็ยังอยู่ที่เดิม เส้นที่เคยขีดไว้แบบไหนก็ยังอยู่ที่เดิมแบบเดิม ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร ที่เขียนไว้ชัดเจนเพราะวันข้างหน้าถ้าไปถึงศาลจะได้โต้แย้งกันได้ว่า ไม่มีใครยอมรับเส้นของใครเราเจรจากันไม่ได้ เพราะฉะนั้นข้อวิตกกังวลใดๆว่าเป็นการยอมรับเส้นที่เขาขีดไว้หรือไม่ เขียนไว้ชัดเจนกันเอาไว้ล็อคไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าไม่เป็นการกระทบกระเทือนสิทธิอ้าง และต้องทำความเข้าใจด้วยว่า กฎหมายระหว่างประเทศ การอ้างสิทธิ์และสิทธิที่มีอยู่จริง อาจจะไม่ใช่เรื่องเดียวกันก็ได้ อาจจะแตกต่างกันก็ได้ ฉะนั้นไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องทึกทักว่า เป็นการรับของเข้าแล้วหรือรับของเราแล้วยังไม่ใช่ทั้งคู่

MOU ระบุชัดทั้ง 2 ฝ่ายต้องตระหนักรู้” 

            สุภลักษณ์ บอกว่า ถือเป็นการรับทราบกันทั้ง 2 ฝ่าย คำใน MOU เขียนว่าตระหนักรู้ว่าฝ่ายกัมพูชาขีดเส้นออกมาประมาณนี้ ฝ่ายไทยก็ขีดออกไปประมาณนั้น เลยเกิดพื้นที่ทับซ้อน เป็นเหตุให้ต้องมาเจรจากัน ซึ่งถ้อยคำมีความหมายในทางกฎหมาย การยอมรับกับการรับรู้มันเป็นคนละอย่างกัน ซึ่งสิทธิ์และผลในทางกฎหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

“แจงให้เห็นภาพ การอ้างสิทธิ์ในทะเลยื่นออกมาจากไหล่ทวีป ในอดีตใช้เส้นมัธยฐาน”

            ส่วนการอ้างสิทธิ์ในทะเลยื่นออกมาจากไหล่ทวีป สุภลักษณ์ บอกว่า มีทั้งกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่ ซึ่ง Geneva Conventions ปี 1958 มีหลักบอกว่าให้เอาพื้นที่ซึ่งน้ำลึกไม่เกิน 200 เมตร คือ ไหล่ทวีป กรณีของอ่าวไทยลึกสุดแค่ 85 เมตรเท่านั้นจึงใช้หลักนี้ไม่ได้ เมื่อใช้หลักนี้ไม่ได้เดิมตอนที่ประกาศ ยังไม่มีเรื่องเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ตอนนั้นเลยใช้หลักการเรื่อง “เส้นมัธยฐาน” โดยวัดจากเส้นที่ทั้ง 2 ประเทศกำหนดมา ส่วนใหญ่กำหนดอยู่นอกเขตหรือนอกเกาะ ที่คิดว่าอยู่ใกล้ชายฝั่งกำหนดเป็นเส้นมัธยฐาน มี 2 ชนิด คือ เส้นทั่วไปเส้นธรรมดา คือ เส้นที่อาศัยระยะน้ำขึ้น-น้ำลงและเอาตรงกลางวัดออกมาเป็นเส้น แต่ไม่นิยมใช้วิธีนี้เพราะว่า ชายฝั่งเว้าๆแหว่งๆ ทำให้กำหนดยากและไม่นับว่ามีเกาะต่างๆด้วย

“เทคนิค กม. ต้องยึดแนวทางคณะกรรมการว่าด้วยไหล่ทวีป” 

            สุภลักษณ์ บอกว่า ฉะนั้นจึงกำหนดว่าเป็นเส้นทางตรง นิยมใช้ไม่ว่าประเทศจะเป็นอะไรก็ตาม บังเอิญว่าเศรษฐกิจจำเพาะล้อกับพื้นที่ข้างล่างไหล่ทวีป หมายถึงที่ดินซึ่งอยู่ใต้น้ำออกไป ปัจจุบันมีแนวคิดหลายอย่างเถียงกันไปเถียงกันมา ว่าของใครถูกต้องตามหลักการแบบไหนหรือไม่อย่างไร แต่คงต้องไปนั่งเจรจากันว่าของใครถูกหรือใครผิด และยังมีกลไกของสหประชาชาติที่เรียกว่า “คณะกรรมการว่าด้วยไหล่ทวีป” ขององค์การสหประชาชาติ มีข้อแนะนำตามเทคนิคกฎหมาย จะไปคุยกันที่นั่นก็ได้หรือจะไปคุยกันทวิภาคีก็ได้ แล้วตกลงกันเหมือนกับที่ไทยกับกัมพูชากำลังทำอยู่

“ผู้นำกัมพูชาส่งสัญญาณพร้อมคุยกับไทย บนผลประโยชน์ร่วม โดยเฉพาะพลังงาน”

         สำหรับท่าทีของกัมพูชาเกี่ยวกับ MOU 43 สุภลักษณ์ บอกว่า กัมพูชายืนยันว่าพร้อมที่จะเจรจา ซึ่งฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาเจอนายกรัฐมนตรีของไทยเมื่อไหร่ ก็บอกว่าพร้อมให้นัดมาเลย ว่าจะเริ่มคุยกันเมื่อไหร่เพราะมีเครื่องมือนี้อยู่แล้ว

            “ความจำเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทางกัมพูชาคิดว่า จะต้องมาพูดคุยกัน คือ เรื่องพลังงาน เพราะผันผวนมาก สถานการณ์โลกไม่ค่อยดี ในส่วนของประเทศไทยก็เช่นกันแหล่งพลังงานเดิมที่เรามีอยู่เริ่มร่อยหรอ จำเป็นต้องหาแหล่งอื่นที่ใกล้และปลอดภัยมากกว่า ซึ่งกัมพูชาก็เหมือนกัน กัมพูชานำเข้าปิโตรเลียม 100% ฉะนั้นถ้าเขามีพื้นที่ ที่อยู่ใกล้และสามารถเอามาจากพื้นที่ได้ ก็อาจมีนักลงทุนต่อท่อเข้าไปสร้างโรงแยกก๊าซภาคใต้ของกัมพูชา เขามีความหวังกับสิ่งนี้ว่าจะมีแหล่งพลังงานที่ใกล้”

“กัมพูชา หวัง ประโยชน์ร่วมไทย เหตุ มีประสบการณ์-ผลประโยชน์ร่วมมาเลเซียหลาย 10 ปี”

             สุภลักษณ์ บอกว่า ที่ผ่านมากัมพูชาให้สัมปทานสำรวจพื้นที่ของเขา ทั้งบนบกและในทะเลแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะเชื่อกันว่าพื้นที่ที่อยู่ใกล้กัมพูชาอาจจะมีไม่มากเท่าไหร่หรืออาจจะต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่านี้ ที่ผ่านมาเขารอว่าถ้ามีโอกาสได้ร่วมมือกับไทย เนื่องจากไทยมีประสบการณ์เรื่องนี้มานานมาก และไทยเคยดำเนินการเรื่องนี้กับมาเลเซียหลาย 10 ปีมาแล้ว กัมพูชาจึงมีความหวังมากว่า ถ้าไทยเอื้ออาทรต่อเขาการพัฒนาร่วมกันก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

            สุภลักษณ์ บอกว่า กัมพูชาซื้อพลังงานไฟฟ้าจากไทย ส่วนที่เข้าทางเกาะกงทางตะวันออกซื้อจากไทย ฉะนั้นถ้าเราสามารถเอาก๊าซขึ้นมาผลิตไฟฟ้าได้ ก็ขายกัมพูชาอยู่ดีถ้าเขานำส่วนนี้มาแชร์ ก็จะทำให้เขามีโอกาสที่จะลดค่าไฟ ค่าพลังงานของเขาลง ก็เป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย กัมพูชาจึงมีท่าทีเป็นบวกเรื่องการพัฒนาพลังงานร่วมกัน และมีจุดยืนเรื่องนี้มาตลอด รวมทั้งเรื่องเส้นเขตแดน 

“ปมเกาะกูดต่างจากเขาพระวิหาร” 

            สุภลักษณ์ บอกว่า กรณีเกาะกูดในทางเทคนิคไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท คล้ายกับกรณีเขาพระวิหาร เพราะเป็นเส้นที่อ้างไหล่ทวีป คำว่าสิทธิในไหล่ทวีปต่างจากการอ้างอำนาจอธิปไตยๆหมายความว่า คุณสามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้เหนือพื้นที่นั้นเต็มที่ แต่สิทธิไหล่ทวีปแค่เข้าไปใช้ประโยชน์ ฉะนั้นเรื่องของเทคนิคทางกฎหมายต่างกันมาก

“เจรจาเปลี่ยนแปลงแนวเส้น พ้นจากเกาะกูดให้เบ็ดเสร็จ ยัน ถ้านำขึ้นศาล ไทยชนะ” 

            สุภลักษณ์ บอกว่า ใน MOU บอกว่าให้ไปเจรจาเพื่อเปลี่ยนแปลงแนวเส้น ให้พ้นจากเกาะกูด ก็มีแนวคิดหลายอย่าง ซึ่งไทยก็เสนอว่าดันเส้นออกมาให้พ้นจากเกาะกูดไปเลย ซึ่งตอนนี้เกิดความหมิ่นเหม่ แต่ MOU บอกว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นคนไทยไม่สบายใจเรื่องเสียดินแดนแน่นอน จึงบอกให้ไปเจรจาแบ่งพื้นที่ตรงนั้นให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะได้ไม่เป็นปัญหาในอนาคต 

            “ณ ตอนนี้ถ้ามีคนบอกว่ากัมพูชานำ MOU ไปขึ้นศาลแล้วกัมพูชามีโอกาสชนะหรือไม่ บอกได้เลยว่ากัมพูชาไม่มีโอกาสชนะ เพราะ MOU โดยตัวของมันเองก็เขียนไว้ชัดเจนในข้อ 5 และการดำเนินการ MOUซึ่งก็หมายถึงแผนผังที่เขียนด้วย ไม่ก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนสิทธิใดๆ จนกว่าจะตกลงกันได้  ฉะนั้นศาลก็คงต้องตีความตามตัวอักษร เนื่องจากคนที่เซ็นเอ็มโอยูคนนี้ฝั่งกัมพูชา คือ นายซก อาน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาขณะนั้น ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว” 

“ยืนยัน ไม่ต้องกังวลว่าไทยจะเสียดินแดน”

            สุภลักษณ์ บอกว่า ไม่มีเหตุอะไรที่ไทยจะต้องกังวลว่าเราจะเสียดินแดน เพราะ MOU เป็นตัวบอกให้ไทยไปเจรจา อะไรที่เราคิดว่าเขาทำไม่ถูกไม่สอดคล้องกฎหมายระหว่างประเทศก็ไปเจรจากัน และผมติดตามข่าวก็ทราบว่า กัมพูชายอมในหลักการแล้วที่จะขยับเส้นนั้น พ้นไปจากเกาะกูดไกลเลยพ้นจนไทยสบายใจ เพียงแต่ว่ายังไม่จบเนื่องจากว่า MOU เขียนว่าให้ทำ 2 ส่วนไปพร้อมกันและเป็น package เดียวกันตกลงกันในหลักการว่า ถ้าไทยดันเส้นนั้นออกมาจนพ้นเกาะกูดให้สิ้นข้อสงสัย กัมพูชาก็คงจะเสียสิทธิ์ที่เขาอ้างพอประมาณ

             สุภลักษณ์ บอกว่า คำถาม คือ เราจะแลกเปลี่ยนด้วยอะไร ตรงนี้ยังไม่มีการเสนอเข้ามาในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯ เพราะนานๆมีการประชุมกันทียังไม่คืบหน้า และต่อไปถ้ารัฐบาลตั้งคณะกรรมการฯแล้วก็คุยกันบนพื้นฐานเดิม ข้อเสนอที่เราเสนอ คุณจะยังคงรับฟังอยู่หรือไม่ และถ้าทางกัมพูชนเสนอว่าแล้วทางไทยมีอะไรแลกเปลี่ยน เพราะเขาเสียพื้นที่เยอะ ดูแล้วเค้าเสียพื้นที่ถึง 60% จากที่เขาเคลม ถ้าให้พ้นเกาะกูดเพราะฉะนั้นเราก็ต้องหาอะไรซักอย่าง เป็นการแลกเปลี่ยน เช่น ให้กัมพูชาซื้อพลังงานในราคาที่ถูกลงหรือไม่ หรือให้ใช้ไปก่อนไหม แล้วก็สามารถที่จะนำเสนอได้ ซึ่ง MOU เอื้ออำนวยให้เกิดการเจรจาแบบนี้ได้อยู่แล้ว

            ติดตามรายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว ทุกวันอาทิตย์11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5