“เตือนคนสื่อระวังตกเป็นเครื่องมือฟอกขาว”

         “ที่บอกว่าสื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยที่ไม่รู้ตัว โดยกระบวนการทำงานของเรา ไม่รอบคอบและไม่คมชัดพอ เวลาเกิดปัญหาอะไรในแวดวงสื่อ จะถูกอ้างว่าตอนนี้ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปและบุคลากรสื่อน้อยลง ฉะนั้นทำให้ได้แบบที่สังคมคาดหวังเราทำไม่ได้ ตรงนี้ผมขอแย้งว่าไม่ใช่ แต่อยู่ที่นโยบายขององค์กรและการปรับรูปแบบการนำเสนอ” 

            

“สุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย” ให้มุมองเรื่อง “มิจฉาชีพฟอกตัวผ่านสื่อ คนเสพข่าวต้องรู้เท่าทัน” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า 

“กอง บก.ข่าวทุกโต๊ะ-รายการต้องคัดกรอง-วิเคราะห์! ให้ขาด ก่อนนำเสนอข่าว”

            สุปัน บอกว่า โดยหลักการของกระบวนการผลิตแต่ละรายการหรือแต่ละข่าว จะมีกองบรรณาธิการ ( บก.) ข่าวของทั้งฝ่ายข่าวและฝ่ายรายการ การคัดกรองเบื้องต้นว่าจะนำเสนออะไรให้กับคนรับสื่อ ในการจะเชิญหรือวางประเด็นอะไร คนในกอง บก.ต้องสื่อสารกันทุกมุมว่าประเด็นนั้นๆจะหยิบขึ้นมานำเสนอ  เพราะเป็นความรับผิดชอบโดยตรง จึงต้องวิเคราะห์ให้ขาดก่อน เรื่องที่จะนำเสนอเกี่ยวพันกับใคร , ใครเป็นแขกที่ควรจะเชิญมาออกรายการ ต้องศึกษาพฤติกรรมของแขกว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งวาระงานที่ต้องมอบหมายให้ผู้สื่อข่าวด้วย กอง บก.ก็ต้องคิดเช่นกัน 

            สุปัน บอกว่า รวมทั้งต้องการสื่ออะไรและต้องการข้อเท็จจริง จากประเด็นไหน ใครอยู่ในเหตุการณ์ข่าวเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องจริงๆ และสัมพันธ์โดยตรงกับเหตุการณ์ หรือเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร ประเด็นทางสังคม , ประเด็นทางการเมืองหรือเป็นส่วนของนักวิชาการที่ให้องค์ความรู้เรื่องนั้นๆ ตรงนี้เราต้องคิดให้ชัดเจนก่อน เพราะเป็นความรับผิดชอบเบื้องต้นโดยตรงของวิชาชีพสื่อ ที่ต้องทำก่อนจะทำข่าวและทำรายการเพื่อสื่อสื่อสารออกไป

            เรื่องการฟอกตัวผ่านสื่อ ผมคิดว่าต้องตั้งหลักก่อนว่าเราผลิตสื่ออะไรออกไป และต้องปฏิบัติอย่างไร เพื่อไม่ให้ใครอาศัยรายการฟอกตัวหรือครอบงำได้ ที่ผ่านมาคนในแวดวงสื่อก็อิหลักอิเหลื่อ และการตั้งคำถามคนในวิชาชีพสื่อจะต้องตระหนักด้วย เพราะเรื่องนี้จะพุ่งตรงไปที่ผู้เสพข่าวหรือติดตามข่าว ในมุมกลับกันถ้าข้อสันนิษฐานหรือสิ่งที่สื่อนำเสนอออกไปไม่ใช่ข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ ทำไมคนที่อยู่ในเหตุการณ์ถึงไม่สามารถที่จะชี้แจงโต้ตอบได้ กลับกลายเป็นว่าเขามาฟอกขาวตัวเองทั้งหมดเลยหรือไม่ ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่”

“แขก ประเมินแล้วว่าถ้าออกรายการต้องเป็นต่อ” 

            สุปัน มองว่า คนที่มาออกรายการก็เลือกและประเมิน ว่าถ้าเขาจะออกรายการไหนเขาต้องชี้นำและช่วงชิง การนำเสนอข้อมูลของเขาได้ดีกว่าผู้ดำเนินรายการเขาถึงจะมาออก ซึ่งผู้ดำเนินรายการแต่ละคนมีลีลาและทักษะหน้าจอแตกต่างกัน สังเกตได้ว่าบางคนไม่สนใจคำถามผู้ดำเนินรายการ ถามมาอย่างนี้แต่ฉันเลือกจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่สังคมตั้งคำถาม หรือสังคมจะกล่าวหา คือ การใช้สื่อฟอกขาวตัวเองโดยที่คนทำสื่อจะรู้หรือไม่ แต่เขาสามารถที่จะสัมฤทธิ์ผล ฉะนั้นการที่จะบอกว่าไม่ควรไปออกสื่อ ผมคิดว่าจะมีอีกมุมหนึ่งของคนที่ถูกกล่าวหา หรือสังคมมองว่าเขามีความผิด แต่เขาไม่กลัว บุคคลประเภทนี้จะอยู่กับนักการเมือง 

“ถ้าทีมงานไม่แม่นเนื้อหา เอาไม่อยู่ เหตุ มีจิตวิทยาสื่อสารคนดู”

            สุปัน บอกว่า ส่วนพวก 18 มงกุฎหรือต้มตุ๋น ถ้าเป็นคนมีทักษะหรือมีจิตวิทยาในการสื่อสารเขาจะครอบรายการได้เลย แม้แต่โปรดิวเซอร์ของสื่อ ถ้าเป็นรายการวิทยุจะคีย์คำถามเข้าไปอย่างไร จะช่วยสนับสนุนข้อมูลให้กับผู้จัดอย่างไรก็เอาเขาไม่อยู่ หรือเวลาออกรายการทีวีจะพูดใส่ไมโครโฟน เข้าไปในหูฟังให้กับผู้ดำเนินรายการอย่างไรก็เอาไม่อยู่

“ถ้าผู้ดำเนินการ “ไม่ทำข้อมูลพื้นฐาน” และทีมงานไม่ได้ “วิเคราะห์ประเด็น” ที่จะนำเสนออย่างเพียงพอ ทำให้เขามีความกล้า หรือบางคนมองว่าการฟังวิทยุอันตราย เพราะคนที่รับสารจะไม่เห็นสีหน้าท่าทาง ในการนำเสนอของเขาแต่ฟังจากเสียง เขาก็ไม่สนใจลอยหน้าลอยตา ป้อนข้อมูลของเขาไป ตรงนี้คือจิตวิทยาในการพลิกกลับสถานการณ์ จากผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดหรือสังคมตั้งคำถามกับเขา”

“มีกระบวนการแอบอ้างรับใต้โต๊ะ ชี้นำรูปแบบ-คนออกรายการ”

            ส่วนเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ต้องหา ยอมจ่ายเพื่อออกรายการและได้พื้นที่ในการชี้แจงประเด็นของตัวเอง สุปัน บอกว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อน ผมก็คิดว่าสื่อควรตระหนัก เพราะมีโต๊ะข่าวและโต๊ะรายการพิจารณาเลือกประเด็นและแขกที่จะมาออก แต่พักหลังเราได้ยินบ่อยๆ ซึ่งผมเองก็เคยโดนผู้ใหญ่บางคน ที่เราเชิญมาออกอากาศตั้งคำถามว่าได้รับของหรือไม่ ผมก็ย้อนถามว่าของอะไร เราก็รู้แล้วว่ามีกระบวนการแอบอ้าง 

            สุปัน บอกว่า ตรงนี้ต้องมองลึกว่ากระบวนการจ่ายๆให้ใคร และจ่ายแบบไหนจ่ายให้โปรดิวเซอร์หรือไม่ จ่ายให้ผู้ประสานงานรายการหรือไม่ จ่ายให้ผู้ดำเนินรายการหรือไม่  ตรงนี้อาจจะเป็นการจ่ายกันโดยส่วนตัว เช่น บางคนเป็นโปรดิวเซอร์รายการ คิดรูปแบบรายการอาจจะบอกว่าวันนี้มีแขกมา เพื่อเสนอเรื่องนี้เอาหรือไม่ ผู้ประสานงานก็ถามว่ามีประเด็นเสนอมาหรือไม่

“จ่ายส่วนตัว หรือจ่ายผ่านองค์กร” 

            สุปัน บอกว่า ตรงนี้เรียกว่า 1.กระบวนการจ่ายแบบตัวบุคคล ซึ่งกอง บก.ต้องตรวจสอบ และวางระบบการทำงานให้ดี  2. จ่ายผ่านสถานีเลย คืออินโปรแกรมโดยเฉพาะเรื่องนี้ ฝ่ายขายและฝ่ายการตลาดเป็นผู้คุมกลไกทั้งหมด ประเภทนี้จะมาจากหน่วยงานของรัฐ หรือในส่วนของนักธุรกิจ อาจจะเป็นการซื้อสปอร์ตโฆษณาวิทยุหรือทีวี โดยพ่วงแขกมาออกรายการทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 ครั้งๆละ 10 นาที ในส่วนของคำถามเขาจะวางมาเลย 

“คนรับสื่อไม่รู้เป็นโฆษณา เชื่อใจสื่อพิจารณาแล้วจบ”

         สุปัน บอกว่า ตรงนี้เป็นคำถามว่าโดยหลักการถูกต้องหรือไม่ เพราะบริษัทเป็นคนรับ ตราบใดที่เราไม่ขึ้นว่า “รายการโฆษณา” คนฟังหรือคนดูก็จะคิดว่าสิ่งนี้ถูกต้อง เพราะกอง บก.หรือทางสถานีคัดกรองมาแล้ว การระวังในการที่จะรับสารของประชาชน หรือตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่สื่อออกไปก็จะน้อยลง เพราะเขาเชื่อใจในวิชาชีพความเป็นสื่อของพวกเรา แต่ถ้าเรามองสื่อสิ่งพิมพ์ก็จะเห็นความต่าง เพราะสื่อสิ่งพิมพ์จะเขียนเลยว่าพื้นที่โฆษณา 

“คนต้องคดี-ถูกกล่าวหาขอพื้นที่แจงสังคมผ่านสื่อ-ไม่มั่นใจกระบวนการยุติธรรม”

            ส่วนผู้ถูกกล่าวหาหรือต้องสงสัยในคดีต่างๆ ไปออกรายการทีวีเพื่อเคลียร์ประเด็นให้ตัวเอง สุดท้ายต้องลงเอยด้วยศาลตัดสินนั้น สุปัน บอกว่า อยู่ที่ข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่สามารถเชื่อได้ว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยจะเอาผิดเขาได้หรือไม่ จะมีการเบี่ยงเบนหรือไม่ ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าอย่างน้อยก่อนที่จะถูกเอาผิด โดยกระบวนการยุติธรรม ขอมีพื้นที่ในการสื่อสารกับสังคมก่อน บางทีอาจจะเป็นการชี้นำกับสังคมผ่านสื่อ แล้วโน้มน้าวไปสู่เรื่องของกระบวนการยุติธรรมก็ได้ อาจเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมบ้านเรา มีอะไรแปลกๆแปร่งๆตลอด 

“องค์กรวิชาชีพสื่อเคยคุยสภาทนายความ เข้ม ทนายอาสา” 

            สุปัน บอกว่า จากปรากฏการณ์ที่เห็นอยู่ปัจจุบัน แขกส่วนใหญ่ที่เราตั้งข้อสังเกตช่วงหลังๆ จะมาจากทนายอาสาหรือสำนักงานทนายความ ประเด็นนี้น่าสนใจ ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อเคยพูดกับสภาทนายความ ว่าต้องตรวจสอบทางจริยธรรมเพราะมีกฎระเบียบของเขาอยู่ ในส่วนของสื่อเราก็ดูอยู่ ซึ่งเขาก็หนักใจแต่ไม่สามารถที่จะดำเนินการอะไรได้ กลับขอร้องสื่อไม่ให้ทนายพวกนี้ออกอากาศ แต่ทนายพวกนี้ผมไม่ได้หมายถึงทุกคน จะมีกระบวนการที่มากับเคสของคนร้องเรียน ให้เขาช่วยเหลือทางกฎหมาย เขาก็จะมาเสนอกับทางสถานี ว่ามีเคสนี้เอาหรือไม่ มีแขกด้วย เอาหรือไม่ 

“บางสื่อคิดมักง่าย ไม่ต้องวิ่งหาแขกเอง เปิดช่องให้ฟอกขาว”

            สุปัน บอกว่า คนทำสื่อก็คิดว่าดีไม่ต้องไปหาแขกเข้ารายการ ประเด็นก็น่าสนใจให้มาออกอากาศเลย กลายเป็นสื่อไปพึ่งพาทนายต่างๆที่มาพร้อมกับแขก บางสคริปต์ในรายการก็มาจากสำนวนของทนาย เป็นเรื่องง่ายสำหรับสื่อ แต่ก็เป็นช่องทางที่ควรตั้งคำถามเช่นกันว่า คือ 1. เราเปิดพื้นที่ให้เขาฟอกขาวตัวเองหรือไม่ 2. ก่อนที่เราจะผลิตเนื้อหาสาระรายการออกไป ได้ตรวจสอบอย่างดีหรือไม่ ว่าเราไม่ได้เป็นเครื่องมือให้เขามาฟอกขาว แต่ส่วนใหญ่จะมากับทนายซึ่งเป็นข่าวที่เขาดำเนินการอยู่ การเรียกรับในส่วนที่ออกรายการ ผมเชื่อว่าทนายไม่พูดตรงๆ ว่ามาออกรายการไหมมีค่าใช้จ่ายนะ แต่จะบวกไว้ในเรื่องของการดำเนินการว่าความคดีต่างๆ เขาก็จะคิดว่าตรงนี้เป็นค่าบริหารจัดการ ปัจจุบันจะเป็นลักษณะนี้

            “ที่บอกว่าสื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยที่ไม่รู้ตัว โดยกระบวนการทำงานของเรา ไม่รอบคอบและไม่คมชัดพอ เวลาเกิดปัญหาอะไรในแวดวงสื่อ จะถูกอ้างว่าตอนนี้ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปและบุคลากรสื่อน้อยลง ฉะนั้นทำให้ได้แบบที่สังคมคาดหวังเราทำไม่ได้ ตรงนี้ผมขอแย้งว่าไม่ใช่ แต่อยู่ที่นโยบายขององค์กรและการปรับรูปแบบการนำเสนอ”

“แนะเน้นข่าวเจาะ”      

            สุปัน บอกว่า ที่บอกว่าสื่อไม่มีบุคลากรพอ แล้วทำไมไม่ปรับนโยบาย แทนที่จะเสนอข่าวท่วมทุ่งก็เน้นไปที่เรื่องข่าวเจาะ ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับสื่อ เป็นประเด็นโต้แย้งกัน แต่สื่อเองเป็นประเด็นพื้นฐานเบื้องต้น ในการที่จะเป็นพื้นที่ฟอกขาวให้กับผู้ที่ถูกสังคมกล่าวหา หรือผู้ที่กระทำความผิดมาหรือไม่ อยู่ที่กระบวนการในการทำข่าวและทำรายการ

 “แนะ สื่อมองประเด็นให้ขาด-แขกออกรายการต้องรู้จริง” 

            สุปัน บอกว่า การนำเสนอประเด็นมาขยายต่อหรือทำรายการ ต้องคิดพื้นฐานว่าแขกที่จะมาออกรายการ มีส่วนเกี่ยวข้องกับข่าวประเด็นนั้นๆอย่างไร เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ถูกกระทำ หรือเกี่ยวข้องแค่ไหน ขณะที่นักวิชาการถูกเชิญมาออกรายการมีความรู้ด้านนี้จริงหรือไม่ หรือเป็นนักวิเคราะห์สถานการณ์ ซึ่งตรงนี้ความน่าเชื่อถือก็จะลดน้อยลง เพราะวิเคราะห์ตามมุมมองของคุณ ตามองค์ความรู้พื้นฐานของคุณ แต่ถ้าเป็นนักวิชาการเชี่ยวชาญด้านนั้นจริง ก็น่าสนใจที่จะนำวิชาการไปจับในประเด็นนั้นๆ

“ดูง่ายจากทีท่าผู้ดำเนินรายการ-คนรับสื่อต้องรู้เท่าทัน”

            สุปัน บอกว่า ผู้ดำเนินรายการถามนำหรือไม่ ปฏิเสธคำตอบของแขกที่เชิญมาหรือไม่ ถามแทรกหรือถามชี้นำหรือไม่ ตรงนี้คนในแวดวงสื่อเวลาทำรายการก็จะรู้ว่าน่าจะมีปัญหาในเชิงข้อมูล ถ้าผมเป็นคนฟังผมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้หรือไม่ ตรวจสอบได้ง่ายว่าแขกที่มาเกี่ยวข้องกับประเด็นที่นำเสนอหรือไม่ เช่น ทำไมเวลาแขกคนนี้ตอบ แล้วผู้ดำเนินรายการต้องถามแทรกหรือถามตัด หรือบางคนอาจจะถามชี้นำ ว่าใช่หรือไม่ เพื่อให้แขกตอบรับหรือพยักหน้าว่าใช่ และอธิบายเพิ่มเติม ถ้าเป็นแขกที่รู้ทันก็จะบอกว่าไม่ใช่ และมีสิทธิ์ที่จะโต้แย้ง ซึ่งคนดูหรือคนฟังที่รับสาร ต้องพิจารณาด้วยว่าข้อมูลที่สื่อนำเสนอเชื่อถือได้หรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน

            ติดตามรายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว ทุกวันอาทิตย์11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5