“สื่อภูมิภาคบางคนอาจจะมีความใกล้ชิดหรือสนิท กับนักการเมืองท้องถิ่นทุกระดับ แต่สิ่งที่เราจะทำงานให้เป็นมืออาชีพ คือ บอกเขาไปตรงๆว่าสิ่งไหนรายงานไม่ได้ ซึ่งแรงกดดันมีอยู่แล้ว เราต้องบริหารจัดการงาน ภายใต้ภาวะความกดดันได้มากน้อยแค่ไหน ในส่วนของจังหวัดตราดผมโชคดี ไม่มีอิทธิพลจนถึงขนาดข่มขู่นักข่าว”
กฤษฎาพงษ์ แววคล้ายหงษ์ บรรณาธิการ ตราดทีวี ออนไลน์ ให้มุมมองภาพรวม “วิถีสื่อภูมิภาคกับการทำงานและการเลือกตั้งท้องถิ่น” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ว่า
“สื่อท้องถิ่นมีอิทธิพลมากในพื้นที่ ฐานคนดูทั้งจังหวัด”
กฤษฎาพงษ์ เล่าว่า ตนเองทำข่าวมาเกือบ 20 ปี สื่อภูมิภาคมีอิทธิพลสูงมากต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชน สื่อภูมิภาคมีหลายสังกัดและมีฐานคนดูทั้งจังหวัด หากระดมนำเสนอข่าวให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งมากๆจนมองออก เช่น เรื่องนโยบาย การลงพื้นที่ให้เห็นภาพว่าทำงานเพื่อสังคม ถ้าสื่อทำข่าวเกินขอบเขตประชาชนก็จะมองว่าเชียร์คนนั้นคนนี้หรือไม่
“สื่อภูมิภาคบางคนมีความใกล้ชิด หรือสนิทกับนักการเมืองท้องถิ่นทุกระดับ เพราะต้องทำงานร่วมกันตลอด ไม่ว่าจะเป็นการรับตำแหน่ง หาเสียง หรือทำงานหลังจากการเลือกตั้งแล้ว เวลาลงพื้นที่ก็ต้องเจอกันพูดคุยยกมือไหว้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะทำงานให้เป็นมืออาชีพ คือ ต้องบอกเขาไปตรงๆว่าสิ่งไหนรายงานไม่ได้ ต้องยอมรับว่าแรงกดดันมีอยู่แล้ว แต่เราต้องบริหารจัดการงานภายใต้ภาวะความกดดันนั้น ในส่วนของจังหวัดตราดผมโชคดี ไม่มีอิทธิพลจนถึงขนาดข่มขู่นักข่าวในพื้นที่”
“การเมืองระดับชาติ-การเมืองท้องถิ่น บริบทต่างกัน”
กฤษฎาพงษ์ บอกว่า บางคนบางพรรคการเมือง มองว่าพรรคการเมืองหนึ่งได้คะแนนเสียง ในการเลือกตั้งระดับประเทศ เมื่อมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ส่งผู้สมัครลง แล้วคิดว่าจะได้รับการเลือก บริบทนี้ใช้ด้วยกันไม่ได้ เพราะมีความแตกต่างกันชัดเจน การเมืองระดับชาติกับการเมืองท้องถิ่น มีฐานคะแนนคนละส่วนกัน ประชาชนในพื้นที่จะรู้ว่าผู้สมัครคนไหนทำงาน คนไหนไม่ทำงาน
“การเมืองท้องถิ่นระบบเครือญาติ-เครือข่าย สำคัญกว่านโยบาย”
กฤษฎาพงษ์ บอกว่า สำหรับการเมืองท้องถิ่นระบบเครือญาติ ระบบเครือข่ายมีความสำคัญมากกว่านโยบายแน่นอน ซึ่งนโยบายทุกพรรคการเมืองมีอยู่แล้ว การเมืองท้องถิ่นทุกคนรู้จักกันหมด เวลาจะทำงาน รู้จักกันง่ายเห็นหน้าตากันหมด เช่น อยากจะให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทำอะไรก็ไปขอโดยทำโครงการเสนอ และในแต่ละเขตมีสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) อยู่ในทีมของนายก อบจ.อยู่แล้ว เวลาทำงานให้กับประชาชนก็จะให้ สจ.แต่ละเขต ไปรับฟังปัญหาประชาชนแล้วมานำเสนอ ว่าชุมชนแต่ละเขตต้องการอะไรจะได้ดำเนินการ ตรงนี้เป็นจุดแข็งที่จะทำให้ระบบเครือข่ายชนะเลือกตั้ง ฉะนั้นนโยบายทุกคนสามารถคิดได้ แต่ทำได้หรือไม่...เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“สื่อต้องเลือกเสนอข่าวมีประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่เสนอข่าวความขัดแย้ง”
“การรายงานข่าวท้องถิ่น ผมขอยกตัวอย่างที่ “จังหวัดตราด” ที่ผมทำงานอยู่ ในช่วงเลือกตั้งมีข้อมูลเยอะมาก แต่ละพรรคการเมืองแต่ละกลุ่มลงพื้นที่หาเสียง คนเป็นสื่อต้องเลือกสิ่งที่จะนำเสนอให้ประชาชนรับรู้ เรื่องนโยบายเป็นหลัก เพราะทุกพรรคการเมืองทุกกลุ่มมีนโยบายอยู่แล้ว ตรงนี้ไม่ส่งผลกระทบอะไรกับชุมชนและไม่มีความขัดแย้งมากนัก แต่สิ่งที่อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้ คือ การที่สื่อนำคำพูดบางคำพูดของผู้สมัครมาขยายความ ทำให้คนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเกิดความเสียหาย เป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้ ฉะนั้นสื่อควรนำเสนอในเรื่องของนโยบายและการลงพื้นที่มากกว่า”
“สื่อภูมิภาคปรับตัวไม่ต่างจากสื่อส่วนกลาง-มีคู่แข่งการทำงานเพิ่ม-รายได้เป็นปัจจัยหลัก”
กฤษฎาพงษ์ ยอมรับว่า ปัจจุบันสื่อต้องปรับตัวเยอะมาก สื่อส่วนกลางต้องปรับตัวอย่างไร สื่อท้องถิ่นก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เพราะการทำงานเราไม่ได้แข่งแค่กับสื่อมวลชนอย่างเดียว แต่แข่งกับ Influencer และ Content Creator ด้วย ซึ่งใครก็เป็นสื่อได้ แต่สิ่งที่สื่อท้องถิ่นจะอยู่รอดได้ คือ ความถูกต้องและรายงานข่าวที่ลึกกว่าที่ประชาชนรับรู้ ตรงนี้จะเป็นจุดเด่นหนึ่งที่สื่อภูมิภาคมี แต่สื่อภูมิภาคทุกคนต้องปรับตัวเหมือนกันหมด บางคนถึงขั้นไปเป็น Influencer เพราะโดนกดดันหลายอย่าง ไม่ใช่เรื่องของการทำงานอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของรายได้ด้วย
“สื่อส่วนกลางยึด Rating เป็นหลัก เน้นเล่าข่าว-จว.ใหญ่เหตุการณ์เยอะ สื่อภูมิภาคได้เปรียบ”
กฤษฎาพงษ์ บอกว่า สื่อส่วนกลางมีการแข่งขันแรงเรื่อง Rating ถ้าจังหวัดไหนที่สื่อภูมิภาคทำงานไม่เข้าเป้า ไม่เข้าตามนโยบายของแต่ละสถานีสำนักข่าว สื่อภูมิภาคก็ได้รับผลกระทบเหมือนกับสื่อส่วนกลาง ดังนั้นการทำข่าวภูมิภาคต้องฉีกแนวออกไป ถ้าเราไม่ปรับตัวก็จะแย่ในยุคนี้ ในอดีตมีการรายงานข่าวว่ามีเหตุการณ์ตรงนั้นตรงนี้เกิดขึ้น เมื่อข่าวได้ออกอากาศเราก็ได้เงิน แต่ปัจจุบันสำนักข่าวแต่ละที่เน้นข่าวใหญ่ๆ แล้วนำมาเล่าข่าวเป็นชั่วโมง จังหวัดใหญ่มีเหตุการณ์เยอะก็ได้เปรียบ แต่จังหวัดตราดไม่มีเหตุการณ์เยอะขนาดนั้น จึงเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ช่วงนี้จังหวัดตราดมีข่าวเรื่องเกาะกูด ตอนนี้ก็ยังอยู่ในกระแส
“นักข่าวบางคนทำข่าวควบคู่ Influencer มีทักษะนำเสนอต่างกันไป”
กฤษฎาพงษ์ บอกว่า ปัจจุบันนักข่าวบางคนเป็น Influencer ควบคู่กับทำข่าว โดยย่อยข่าวที่ตัวเองนำเสนอเข้าใจง่ายสื่อออกมาซึ่งเป็นเรื่องดี แต่นักข่าวบางคนไม่มีทักษะในการย่อยข่าวหรือพูด แต่บางคนอาจจะเก่งในเรื่องของการย่อยข่าวเป็นข้อความสั้นๆ หรือย่อยข่าวเป็นคลิปวิดีโอผ่านการพูดออกมา เพราะทุกคนมี Facebook หรือ TikTok ก็อาจจะทำในช่องทางของตัวเองส่วนตัว ส่วนตัวผมเลือกทำสื่อที่เราสังกัดอยู่ดีกว่าเป็น Influencer ควบคู่กันไป
“คนข่าวต้องรู้เท่าทันข่าวลือข่าวปลอม ผ่านโลก Social”
กฤษฎาพงษ์ บอกว่า ปัจจุบันข่าว online ต้องตรวจสอบเยอะ โลก Social ปล่อยข่าวลือข่าวปลอมออกมา เพราะฉะนั้นคนเป็นสื่อต้องตรวจสอบอีกทีว่าเหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก่อนที่เราจะนำเสนอออกไป ต้องตรวจสอบความแน่นอนก่อนบางครั้งตรวจสอบกันเป็นวัน เพราะบางเรื่องต้องใช้เวลา อาจจะไม่เจอข่าวปลอมแต่ข่าวบิดเบือนที่ไม่จริง 100%ยังมีอยู่ หรืออาจนำเสนอแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ต้องมองว่าไม่ใช่เป็นแค่สื่อท้องถิ่นอย่างเดียว โดยผมจะตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานเป็นหลัก เพราะมีความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบกับผู้สื่อข่าวด้วยกันเองด้วย
“แนะ รายงานข่าวตามจริง-ถูกต้อง-หมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่”
กฤษฎาพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ฝากสื่อทุกคนไม่ว่าจะเป็นสื่อภูมิภาคหรือส่วนกลาง ซึ่งทุกคนมีความเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว เพราะผ่านงานมาเยอะมาก สื่อส่วนกลางรายงานการเลือกตั้งระดับชาติ สื่อท้องถิ่นก็รายงานข่าวการเลือกตั้งในพื้นที่เยอะมากเช่นกัน อยากให้รายงานข่าวบนพื้นฐานของความถูกต้อง ไม่ต้องกลัวว่ารายงานเร็วแล้วจะไม่ถูกต้อง เพราะผมเชื่อว่านักข่าวเก่ง ในเรื่องของการคัดกรองข่าวอยู่แล้ว และควรปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา ทำให้เราอยู่รอดบนเส้นทางสื่อมวลชนได้”
ติดตามรายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว ทุกวันอาทิตย์11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5