วิกฤตพะยูนไทยมีมาตั้งแต่ปี 2566 ถ้านับรวมตั้งแต่ ปี 2566-2567 พะยูนตายรวมแล้ว 81 ตัว ปัจจัยหลักมาจากการขาดแคลนอาหาร
“ภควัต โฉมศรี ผู้สื่อไทยพีบีเอส” เกาะติด “วิกฤตพะยูนไทย สู่ตลาดมืดซากพะยูน” ให้มุมมองใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ว่า
ผมเพิ่งจะศึกษาเรื่องพะยูนจริงจัง เมื่อปี 2562 ช่วงที่มีกระแส “น้องมาเรียม” ลูกพะยูนเพศเมีย อายุยังไม่ถึง 1 ปี ที่พลัดหลงกับแม่และมาเกยตื้นที่ จ.กระบี่ จากกระแส “มาเรียมบูม” ดังกล่าว ทำให้ทั่วโลกรู้จักเกาะลิบง ส่งผลให้เศรษฐกิจของเกาะลิบงคึกคักขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ทั้งโฮมสเตย์ที่เต็มตลอด และการจำหน่ายอาหารทะเลที่คึกคัก ชาวบ้านมีกินมีใช้ แต่เพียง 3 ปีเท่านั้นที่มีรายได้ เพราะตั้งแต่ปี 2565 หญ้าทะเลเสื่อมโทรม ทำให้ทุกอย่างจบ
ผมลงพื้นที่เกาะลิบง เพื่อหาต้นตอสาเหตุที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งชาวบ้านเข้าใจว่ามาจากเต่า ที่มีจำนวนมากเกินไป แต่เมื่อได้ลงไปสัมผัสจริงๆและได้พูดคุยกับชาวบ้าน พบว่าเต่าเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ทำให้หญ้าทะเลลดลง แต่ไม่ได้ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรม จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นสัตว์ชนิดอื่นมาแย่งอาหาร
“วิกฤตพะยูนปี 66 อาหารเป็นปัจจัยหลักทำพะยูนตายเป็นใบไม้ร่วง 2 ปี81ตัว ไม่สูญพันธุ์แต่หาพบยาก”
“วิกฤตพะยูนไทยมีมาตั้งแต่ปี 2566 ถ้านับรวมตั้งแต่ ปี 2566-2567 พะยูนตายรวมแล้ว 81 ตัว ปีที่แล้ว 40 ตัว ปีนี้ 41 ตัว ล่าสุดเมื่อ 4 วันก่อน พบที่ จ.ตรัง เป็นตัวที่ 11 ถือเป็นสถิติสูงสุดที่ได้บันทึกไว้ การที่พะยูนตายเป็นใบไม้ร่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยหลักมาจากการขาดแคลนอาหาร พออาหารไม่พอก็ต้องแยกย้ายกันไปหากิน จึงเกิดภาวะการแย่งชิงอาหาร การต่อสู้ และหากออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ก็อาจติดเครื่องมือประมงบ้าง ถูกเรือชนบ้าง จึงทยอยตาย จึงมีคนเป็นห่วงว่าพะยูนจะ สูญพันธุ์หรือไม่ ผมตอบในมุมที่ได้คลุกคลีกับนักวิจัยว่า สัตว์ก็ต้องมีการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด ยังไม่ถึงกับสูญพันธุ์ขนาดนั้น แต่อาจจะเหลือในภาวะที่แทบจะหาไม่พบ”
“เกาะลิบง-เกาะมุก บ้านหลังใหญ่พะยูน มีแหล่งหญ้าทะเลสมบูรณ์มาก/ ดีมาก”
ภควัต ให้ข้อมูลว่า พะยูนเป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ เพราะหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารของพะยูนเป็นระบบนิเวศอย่างหนึ่ง ที่เกื้อหนุนความสมบูรณ์ของทะเลชายฝั่งนอกจากป่าชายเลน ในพื้นที่อ่าวไทยและอันดามัน มีพะยูนที่นับได้ประมาณ 285-290 ตัว กว่า 50% หรือประมาณ 185-190 ตัว อาศัยอยู่ในทะเลตรัง ถือเป็นบ้านหลังใหญ่ของพะยูน ทั้งเกาะลิบงและเกาะมุก จุดดังกล่าวเป็นรอยเชื่อมระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม เป็นแหล่งที่มีหญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์ แต่การขุดลอกร่องแม่น้ำกันตัง ทำให้ตะกอนเปลี่ยนแปลง หญ้าทะเลจึงเสื่อมโทรม ประกอบกับปี 2565 เริ่มมีวิกฤต Climate Change น้ำทะเลเริ่มมีอุณหภูมิสูงเกิน 30-32 องศาเซลเซียส และเกิดสภาวะน้ำขึ้น-น้ำลงเป็นเวลานาน จนปีนี้เราเห็นได้ชัดเจนว่าหญ้าทะเลหายไป เหลือไม่ถึง 10% ของพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ของชายทะเลตรัง เพียงพอที่จะเลี้ยงพะยูนได้เพียง 100 ตัว ทั้งที่บริเวณดังกล่าวมีพะยูนเกือบ 190 ตัว จึงเกิดการอพยพย้ายถิ่นหาที่อยู่ใหม่
“อพยพขึ้นเหนือไปจ.กระบี่ ผ่านเส้นทางท่องเที่ยว เรืออาจชน หรือติดอวนประมง นักวิจัยหวัง รอดไปถึงมาเลเซียมีแหล่งอาหาร”
มีข่าวว่าพะยูน 30 ตัว อพยพขึ้นเหนือไปทางจังหวัดกระบี่ มีเกาะยุงและเกาะศรีบอยา แล้วอพยพไปที่ป่าคลอก จ.ภูเก็ต แต่ระหว่างทางพะยูนต้องผ่านเส้นทางที่เป็นเส้นทางท่องเที่ยว คือ อ่าวนาง หาดนพรัตน์ธารา จ.กระบี่ แน่นอนว่ามีโอกาสที่จะติดเรือ ถูกเรือชน ขณะที่ทางใต้เลยจากจ.ตรังไปก็จะเป็นจ.สตูล แต่นักวิจัยคาดหวังว่าพะยูนจะรอดพ้น ไปจนถึงเขตประเทศมาเลเซีย เพราะยังมีแหล่งหญ้าทะเล และวันหนึ่งหากระบบนิเวศของเราดีขึ้น หญ้าทะเลและสภาพดินดีขึ้น พะยูนก็อาจจะกลับมา แต่ความสมบุรณ์ดังกล่าวไม่สามารถทำได้ด้วยน้ำมือมนุษย์ ต้องให้ธรรมชาติบำบัดตัวเอง ซึ่งอาจเรียกว่าได้ว่าเป็นความฝัน
ทั้งนี้ เนื่องจากหญ้าทะเลต่างจากหญ้าบกมาก เพราะหญ้าบก หากถูกตัดเพียง1-2 วันก็ขึ้น แต่หญ้าทะเล เมื่อออกจากเมล็ดได้ พอโตมาเป็นดอกเป็นเมล็ดตามธรรมชาติ ต้องใช้เวลาถึง 24 เดือนหรือ 2 ปีกว่าจะแข็งแรงเติบโตขึ้นได้ เมื่อหญ้าทะเลโตช้าทำให้หญ้าน้อย พะยูนต้องแย่งกันกิน จึงเป็นปัญหาอยู่ในทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม มีการค้นพบว่าหญ้าอีกชนิดหนึ่งที่พะยูนกินได้ เรียกว่า หญ้าช้อง เป็นหญ้าน้ำจืด ที่ปลาไม่กินแต่พะยูนกิน ซึ่งนักวิจัยพยายามที่จะนำมาทดแทนหญ้าทะเล แต่ขึ้นชื่อว่าสัตว์ป่า จึงไม่เชื่อง ไม่ใช่ว่าเมื่อให้แล้วมันจะเข้ามาหาเราเหมือนกับที่เราโยนขนมปังให้ปลาสวาย แต่ล่าสุดที่เป็นข่าวมาประมาณ 2 อาทิตย์ คือ ให้ผักกวางตุ้งผักบุ้ง หญ้าช้อง ที่เห็นชัดๆคือเอาไปผูกกับท่อพีวีซีไว้ใต้ทะเล ปัจจุบันมีการทดลองที่ราไวย์ซึ่งสำเร็จแล้ว ส่วนที่ลิบงยังไม่สำเร็จ เพราะน้ำทะเลมีความใสและความอุ่นต่างกัน และมีเต่ากับปลาสลิดทะเล เข้าไปแย่งกิน
“รัฐเพิ่งตื่นตัว ทำโซนล้อมคอกปลูกหญ้าทะเล”
ภาครัฐหาวิธีการฟื้นฟูหญ้าทะเลมาหลายปี แต่เพิ่งมาตื่นตัวได้ไม่นาน คือ ทำตาข่ายล้อมคอกเป็นสี่เหลี่ยมตีตารางไว้ขนาด 1 ไร่ แล้วปลูกหญ้าทะเลไว้ในนั้น ป้องกันไม่ให้เต่าและสัตว์ชนิดอื่นเข้าไปกิน โดยคาดหวังว่า หากหญ้าทะเลบริเวณนั้นเติบโตงดงามเก็บดอกเก็บผลได้เมื่อไหร่ ก็จะนำเมล็ดพันธุ์จากจุดดังกล่าวไปปลูกตามพื้นที่ต่างๆ แต่ประเด็นปัญหา คือ สภาพดินและสภาวะน้ำทะเลไม่เหมาะสม ฉะนั้นถ้าปลูกเมื่อไหร่หญ้าทะเลก็ตาย ล่าสุด นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่เกาะลิบง เตรียมจะเสนอของบฯกลาง 615 ล้านบาทเพื่อฟื้นฟู แต่ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้เร็วเพียงใด
ขณะที่ ดร.ปิ่นศักดิ์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กำลังทำวิจัยกับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สร้างกระชังหรือคอกเลี้ยงพะยูน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาพื้นที่ที่จะวางคอกไว้ประมาณ 3 จุด คือ ราไวย์, ป่าคลอก จ.ภูเก็ต และที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรอันดามันตอนล่าง จ.ตรัง โดยคอกนี้จะทำไว้เฉพาะเวลาพบเหตุการณ์พะยูนเกยตื้น หรือมีร่างกายซูบผอมระดับ 1 หรือระดับ 2 จากทั้งหมด 5 ระดับ หากพะยูนผอมเต็มที่ ก็จะจับมาอยู่ในกระชังหรือบ่ออนุบาลเพื่อดูแลเร่งด่วน แต่หากเป็นตัวแข็งแรงสามารถอยู่ได้ ก็จะให้อยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามหาวิธีช่วยอนุรักษ์พะยูนกันอย่างเต็มที่ อย่างน้อยก็ลดการตายให้ได้มากที่สุด
“ไม่พบข่าวพะยูนถูกล่า-ตายก่อนชักลาก-พบซากชิ้นส่วนหาย”
ยังไม่มีข้อมูลว่าพะยูนถูกล่า แต่ส่วนใหญ่มักเจอซากพะยูน ที่เขี้ยวหายหรือหัวขาด จากการที่พะยูนตายก่อน แล้วเกิดการชักลาก หรือลักลอบนำไป ทั้งนี้ ตลาดค้าประเภทของขลังของศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อหรือศาสตร์ต่างๆ ยังมีอยู่ ซึ่งชิ้นส่วนของพะยูนที่เป็นที่ต้องการ คือ กะโหลกและเขี้ยวของพะยูนที่ติดกะโหลก ซึ่งเรียกว่า “ประตูสวรรค์” ส่วนใหญ่จะเป็นทิ่นิยมในโซนเอเชียใต้ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่า จะเป็นอย่างไรหากความเชื่อเหล่านี้ยังไม่หายไป ในขณะที่สัตว์ป่าชนิดนี้ก็ลดจำนวนลงเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อเท็จจริง ที่พิสูจน์ว่ามีการล่าพะยูนในปัจจุบัน ส่วนตัวมั่นใจว่า ชาวบ้านหรือชาวเลไม่ล่าพะยูน เพราะหลายจังหวัดมีการตั้งเครือข่ายอนุรักษ์พะยูน คอยสอดส่องดูแล เพราะพะยูนเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ หญ้าทะเลทำให้กลุ่มชาวบ้านหรือชาวเลพื้นบ้านมีรายได้ เขาสามารถจับปลิงทะเล ปูม้า ปลาเก๋า ไปจำหน่ายได้ราคา เศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ หากไม่มีหญ้าทะเล ไม่มีพะยูน ชาวบ้านก็ไม่มีอาชีพเหมือนกัน
“หวั่นพะยูนไม่จบที่ 41 ซาก รอลุ้นปี 68 ไทยจะเจอลานีญา”
ปี 2568 ประเทศไทยจะเผชิญปรากฎการณ์ลานีญา ที่น้ำทะเลจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นอีก จึงมีความเสี่ยงต่อการเติบโตของหญ้าทะเล แต่หากพ้นวิกฤตินี้ไปได้ หญ้าทะเลก็มีโอกาสฟื้นตัว และหากสภาพแวดล้อมดี ระบบนิเวศเริ่มฟื้น คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็จะนำกล้าของหญ้าทะเลที่เพาะไว้ตามบ่อกุ้งร้าง หรือตามศูนย์วิจัยต่างๆ มาระดมปลูก เพื่อช่วยเร่งการฟื้นฟู แต่ทั้งนี้ต้องลุ้นว่าเมื่อถึงเวลานั้นจะเหลือจำนวนพะยูนอีกกี่ตัว ซึ่งผมค่อนข้างมั่นใจว่า ซากพะยูนตัวที่ 41 จะไม่ใช่ซากพะยูนตัวสุดท้ายที่เราพบอย่างแน่นอน
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา11.00 -12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5