“ปี 2568 ทั้งประชาชนประชาชนและภาคธุรกิจต้องระวัง ซึ่งมีคนพูดบอกว่า อย่ามองโอกาสทุกอย่างจนไม่เห็นความเสี่ยง และอย่ามองความเสี่ยงทุกอย่างจนไม่เห็นโอกาส เพราะความเสี่ยงปีหน้ายังมีอยู่”
“นครินทร์ ศรีเลิศ หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ-นโยบาย กรุงเทพธุรกิจ” ให้มุมมอง “2568 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญอะไรบ้าง?” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ว่า
“รบ.มองมุมบวก แม้การเปลี่ยนแปลงของโลกปี 68 ยังไม่ชัด”
นครินทร์ บอกว่า รัฐบาลพยายามทำนโยบายใหม่ๆขึ้นมาบ้าง รวมทั้งการลงทุนด้วยแต่ว่าถ้ามองไปข้างหน้า แผนงานของนโยบายที่จะรับความเสี่ยง กับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 ยังเห็นไม่ชัดเจน แต่รัฐบาลค่อนข้างที่จะมองในแง่บวกอยู่มาก แต่สถานการณ์การเมืองในประเทศก็ต้องจับตา , อุทกภัยภาคใต้ตรงนี้เป็นความเสี่ยงของรัฐและเอกชน เพราะมีความเสี่ยงพวกนี้มากขึ้น รัฐจะหาทรัพยากรและงบประมาณตรงไหนไปใช้ และหนี้ครัวเรือนก็สูง หนี้สาธารณะก็สูงจะชนเพดาน จึงค่อนข้างมีข้อจำกัดมากในปี 2568
“ปี 2568 ทั้งประชาชนประชาชนและภาคธุรกิจต้องระวัง ซึ่งมีคนพูดบอกว่า อย่ามองโอกาสทุกอย่างจนไม่เห็นความเสี่ยง และอย่ามองความเสี่ยงทุกอย่างจนไม่เห็นโอกาส เพราะความเสี่ยงปีหน้ายังมีอยู่ นอกจากเรื่องของประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังมีเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองโลก , ตะวันออกกลางก็ยังมีการยิงกันอยู่ เพราะกระทบราคาน้ำมันและราคาพลังงานที่แพงขึ้น , อัตราเงินเฟ้อสูง ขณะที่ดอกเบี้ยลงไม่ได้ ก็จะกระทบมายังประเทศไทยด้วย”
“หน่วยงาน ศก.คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีไทยอยู่ที่ 2-3 % มีสหรัฐเป็นปัจจัยความเสี่ยง”
นครินทร์ บอกว่า ตัวเลขจริงๆในมุมรัฐบาล อาจจะเห็นว่าเศรษฐกิจขยับขึ้นเรื่อยๆ จากไตรมาส 2 ขยับตัวอยู่ที่ 2.2% พอไตรมาส 3 ได้ 3% และปีหน้าในมุมมองของรัฐบาลคิดว่าเศรษฐกิจโตเกิน 3% แน่นอน ซึ่งรัฐบาลก็รู้สึกว่าตัวเลข GDP ขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าดูตัวเลขของหน่วยงานเศรษฐกิจ ที่คาดการณ์ไว้ เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือธนาคารพัฒนาการแห่งเอเชีย ( เอดีบี ) ไม่ได้บอกว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 3% เขามองว่าอาจจะอยู่ที่ประมาณ 2 ปลายๆ โดยประมาณการไว้ที่ 2.8% ในปีหน้า ขณะที่เอดีบีมองว่าไทยอยู่ที่ 2.7% ทั้งนี้ระหว่าง 2.8% กับ 2.7% อาจจะมองว่ายังดีอยู่เพราะใกล้กับ 3% แต่ถ้าเราไปมองความเสี่ยงข้างหน้าที่อาจจะมีขึ้น ซึ่งใครใครก็มองไปที่ ดอนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง ซึ่งประเทศไทยอยู่ใน “วอตช์ลิสต์” ที่ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังมองว่า เป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐจำนวนมาก อยู่ที่ประมาณ 11 ถึง 12 ในตารางประเทศที่ได้ดุลการค้า เพราะประเทศไทยส่งสินค้าไปขายที่สหรัฐอเมริกาจำนวนมากเป็นประเทศอันดับ 1 หรืออันดับ 2 มาตลอด
“ก.พาณิชย์ เตรียมจัดทีมเจรจา สหรัฐต้นปี 68”
นครินทร์ บอกว่า ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศ ไทยต้องมีมาตรการและกลยุทธ์ว่าจะไปพูดคุยกับสหรัฐอเมริกาอย่างไร ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะจัดทีมไปคุยกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งในส่วนของไทยจะมีอะไรไปต่อรองกับสหรัฐอเมริกาบ้าง เพราะลักษณะการทำงานของนายดอนัลด์ ทรัมป์และพรรคริพับลิกัน อยู่ที่การเจรจาเพราะวิธีการทำงานเขาเป็นแบบนักธุรกิจ ฉะนั้นไทยต้องเตรียมทีมให้ดี ในสิ่งที่เราจะไปเจรจา
“แนะ รบ.ทำการบ้านมากขึ้น หาตลาดส่งออกใหม่ๆ”
นครินทร์ บอกว่า เรื่องกำแพงภาษีที่จะเข้ามา ต้องมาดูว่าโอกาสของไทยอยู่ตรงไหน จะมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ หรือถ้าย้ายเข้ามาแล้วเราจะถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐอเมริกามากขึ้นหรือไม่ เราต้องหาตลาดส่งออกสินค้าใหม่ๆหรือไม่ ตรงนี้เป็นการบ้านของรัฐบาลเยอะเลย
“แนะไทยเร่งรับมือ คาดจีนหาตลาดเพิ่ม หากสหรัฐขึ้นกำแพงภาษี”
หากอเมริกาขึ้นกำแพงภาษี จะทำให้สินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทย จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยหรือไม่ นครินทร์ บอกว่า จีนต้องหาตลาดส่งออกอย่างแน่นอน และจะมาทางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยเต็มที่ ซึ่งรัฐก็กำลังทำอยู่โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งทีมงานขึ้นมา ดูในเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้ามากขึ้น อะไรที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะเข้ามาจดทะเบียน เราให้ทำได้แต่ถ้าเข้ามาโดยไม่จดทะเบียนเราต้องเข้มงวด สมมุตว่าเข้ามาขาย โดยเป็นช่องทางให้สินค้าจีนเข้ามาดัมพ์ราคาไทยเยอะ ดังนั้นอยากเห็นรัฐบาลไทยออกแอคชั่น ให้เหมือนรัฐบาลอินโดนีเซีย เช่น ถ้าแพลตฟอร์มไหนเข้ามาโดยที่ไม่จดทะเบียน ก็ให้ออกไปเลยโดยไม่อนุญาตให้ขาย เพราะต้องโพรเทคส์ผู้ประกอบการในประเทศด้วย
“รัฐต้องมีมาตรการช่วยแก้หนี้ครัวเรือน ให้ ปชช.-เอสเอ็มอี”
ส่วนเรื่องหนี้ครัวเรือน นครินทร์ บอกว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ต้องมีคนเข้ามาแก้อยู่แล้ว เพราะสูงมากเกือบ 90% ของจีดีพี แต่ช่วงหลังล่าสุดต่ำลงมากกว่า 90% ของจีดีพีแล้ว เพราะธนาคารพาณิชย์ชะลอปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากไม่อยากจะปล่อยสินเชื่อให้คนที่เห็นว่ามีความเสี่ยงสูง ดังนั้นรัฐบาลต้องเข้ามาแก้ตรงนี้ โดยเฉพาะการแก้หนี้ต้องมุ่งไปที่กลุ่มเอ็นพีแอลไม่เกิน 1 ปี หากเกิน 1 ปีไปแล้วก็หมายความว่าไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ แต่ถ้าเอ็นพีแอลเกิน 1 ปี รัฐบาลลองดูว่าให้มาลงทะเบียน โดยให้การจ่ายหนี้ด้วยการตัดเฉพาะเงินต้น คือ กลุ่มที่บ้านไม่เกิน 5 ล้านบาท , รถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาทและเป็นเอสเอ็มอีก็ไม่เกิน 5 ล้านบาท
“ถ้าลูกหนี้กลับมาจ่ายหนี้ได้ แบงค์อาจพิจารณาปล่อยเงินกู้ก่อนใหม่-เกิดศก.หมุนเวียน”
นครินทร์ บอกว่า ถ้ากลุ่มนี้สามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ ต่อไปถ้าจ่ายหนี้ส่วนเดิมหมดมีเครดิตเพิ่มขึ้น ธนาคารก็อาจจะพิจารณาที่จะปล่อยหนี้ก้อนใหม่ ก็จะทำให้สภาพคล่องมาอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ และดีในแง่ของประชาชนเองด้วย ถ้าหากเคลียร์หนี้ออกไปได้ตรงนี้ ภาระที่จะต้องไปจ่ายหนี้ต่อเดือน สำหรับคนกลุ่มนี้จะตัดไปเฉพาะดอกเบี้ยหรือตัดเงินต้นน้อยมาก แต่สิ่งที่จะตามมาถ้าถามว่าตรงนั้นจะรับมือ กับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระดับโลกได้หรือไม่ ผมคิดว่าถ้าเราทำเศรษฐกิจในประเทศให้ดี ก็จะมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นตามมาเช่นกัน
ส่วนเอ็นพีแอลของหนี้ครัวเรือนของไทยมีจำนวนมากหรือไม่ เพราะรัฐบาลออกมาตรการ “คุณสู้-เราช่วย” นครินทร์ ยอมรับว่า มีอยู่จำนวนมากประมาณ 1.9 ล้านรายมีมูลหนี้จำนวนมากคิดเป็น 1 ล้านล้าน ตรงนี้เป็นปัญหาที่ค้างอยู่นานแล้ว ขณะที่รัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะไปช่วย และการไปช่วยคนกลุ่มที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ อาจเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจ เช่น อาจจะเกิดปัญหาตามมาหากช่วยคนกลุ่มที่เบี้ยวหนี้ กลุ่มคนที่จ่ายหนี้ก็จะเริ่มมีคำถามเข้ามาซึ่งเคยมีข่าวมาแล้ว
“ตั้งเป้าปี 68 จำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน-พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยน-จีนปรับตัวเป็นจีนเที่ยวจีนในปท. เหตุศก.จีนมีปัญหา”
ส่วนสถานการณ์การท่องเที่ยว นครินทร์ บอกว่า การท่องเที่ยวถือว่าสำคัญ เพราะจะทำให้เม็ดเงินเข้ามาในประเทศ และเกิดดุลการค้าพอๆกับการส่งออก ทั้งนี้หลังจากสถานการณ์โควิด จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจริง ก่อนหน้านี้มีจำนวน 28 ล้านคนแต่ปี 2567นักท่องเที่ยวมีจำนวน 35 ล้านคน ซึ่งปีหน้ารัฐบาลคาดการณ์ว่าจะมีประมาณ 40 ล้านคน ถ้าได้ตามที่คาดการณ์ไว้ เราจะเป็นปีที่มีนักท่องเที่ยวเยอะที่สุด 40 ล้านคน แต่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ในการจับจ่ายใช้สอยไม่เหมือนในอดีต ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศจีนตอนนี้ก็มีปัญหาและมีข้อจำกัด ทำให้เที่ยวไทยน้อยลง และเราจะหวังให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเยอะก็คงจะไม่ใช่ เพราะจีนก็ทำ “โครงการจีนเที่ยวจีน” เหมือนกัน ขณะที่ประเทศแถบตะวันออกกลาง , อินเดีย ,รัสเซียจะเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น แต่การใช้จ่ายต่อหัวยังไม่ได้ตามเป้า
“ทุกฝ่ายต้องร่วมมือเป็นหูเป็นตา หากพบสินค้าที่คาดว่าไม่ได้มาตรฐาน แจ้งเบาะแสรัฐทันที”นครินทร์ บอกว่า ทางรอดของเอสเอ็มอีไทย หากสู้จีนด้วยวอลุ่มไม่ได้ก็ต้องสู้ด้วยคุณภาพ สู้ด้วยสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น เช่น สินค้าเป็นแฮนด์เมดมากขึ้น หากพุ่งผลิตสินค้าที่เหมือนกับจีน ที่มีความสามารถในการผลิตมากๆ ประเทศไทยก็ขายสินค้าได้ลำบากเพราะไม่มีความแตกต่าง และสู้เรื่องของราคาลำบาก ขณะที่กระทรวงพาณิชย์พยายามทำเรื่องมาตรการภาษีอยู่ และตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าว่าได้มาตรฐานมอก.หรือไม่ แต่กำลังภาครัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอ ซึ่งกำลังคนของหน่วยงานดังกล่าวน้อยมากจริงๆ
นครินทร์ บอกว่า ต้องช่วยกันหลายภาคส่วน ใครเจออะไรก็ช่วยกันชี้เบาะแสช่วยภาครัฐ ซึ่งคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจโดยพรรคประชาชนกำลังทำเรื่องนี้อยู่ แต่ผมคิดว่าอย่าเป็นเรื่องของฝ่ายค้านกับรัฐบาล เพราะถ้ามีช่องทางก็ควรที่จะมาทำร่วมกัน เราคนไทยเห็นว่าสินค้านั้นๆไม่ได้มาตรฐานแน่ๆ และเป็นตราสัญลักษณ์แบบนี้ เป็นของจริงหรือของปลอมกันแน่ ถ้าเราแจ้งเบาะแสไปก็ให้หน่วยงานรัฐลงมาดูก็จะช่วยกันได้ หากซื้อสินค้าคุณภาพดีได้มาตรฐาน ก็เป็นการช่วยผู้ประกอบการ ให้มีกำลังใจผลิตสินค้าที่มีมาตรฐาน แข่งกับสินค้าด้อยคุณภาพที่ดัมพ์ตลาดเข้ามาประเทศไทย ก็จะเป็นการช่วยกันหลายทาง
“ปี 68 ค่าแรงทั่วประเทศ 400บ.ยาก เหตุ ไตรภาคีฝ่ายนายจ้างขอผลสำรวจรายจังหวัดก่อน”
ส่วนโอกาสขึ้นค่าแรงในปี 68 นั้น นครินทร์ ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ซึ่งกรรมการไตรภาคีในส่วนของภาคเอกชนทำผลสำรวจรายจังหวัด ในมุมของภาคเอกชนไม่อยากให้ขึ้นเรทเดียวกันทั่วประเทศคือ 400 บาท เนื่องจากไตรภาคีมีทั้งตัวแทนภาครัฐ , ตัวแทนนายจ้าง , ตัวแทนลูกจ้าง ถ้าฝั่งใดฝั่งหนึ่งยังไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งตอนนี้ฝั่งนายจ้างให้กลับไปทำเรื่องการสำรวจ ค่าของชีพพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ แล้วนำข้อมูลกลับเข้ามาในที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคีอีกครั้ง โดยบอร์ดไตรได้นัดกันในวันที่ 23ธันวาคมนี้ ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ทางการเมืองเหมือนกัน ที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้แต่ปัจจุบันการหาเสียง กับการปฏิบัติแต่ละเรื่องไม่ง่าย
“แนะ ประชาชนกำเงินสำรองใช้จ่ายไว้ 6-12 ด.- สถานการณ์โลกไม่แน่นอน
นครินทร์ ฝากทิ้งท้ายว่า ปี 68 ไม่อยากให้ประชาชนไปสร้างหนี้ใหม่กันเยอะ โดยเฉพาะหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยสูง เพราะปีหน้ายังมีความเสี่ยงเยอะ และควรมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ใช้จ่าย 6-12 เดือนเพราะภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน อะไรจะเกิดขึ้นได้ในโลกนี้หรือในประเทศนี้ ถ้าเรามีเงินสำรองไว้เพื่อจะได้อุ่นใจ ฉะนั้นขอให้มีภูมิคุ้มกันในตัวเองอย่าไปมองโลกในแง่ลบเกินแล้วอย่าไปมองโลกในแง่บวกเกิน
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ทุกวันอาทิตย์11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5