“แพทยสภา เผยข้อมูลล่าสุดปี 2567 ประเทศไทยมีแพทย์ทั้งหมด 78,000 คน ซึ่งถือว่าจำนวนแพทย์น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนคนไทยที่ต้องดูแลกว่า 66 ล้านคน ทั้งนี้ยังไม่รวมประชากรแฝง เช่น บัตรสุขภาพของแรงงานข้ามประเทศ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นภาระแฝงของแพทย์ทุกคน”
“จิราพร จันทร์เรือง ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข มติชน” แบ่งปันมุมมอง“ระบบประกันสุขภาพไทย จำกัดสิทธิ์คนไข้จริงหรือ?” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”
.
“แพทยสภา เผยตัวเลขแพทย์ล่าสุด 78,000 คน แต่ต้องรองรับคนไทยกว่า 66 ล้านคนรวมทั้งต่างด้าว”
“ข้อมูลของแพทยสภาล่าสุดปี 2567 ระบุ ประเทศไทยมีแพทย์จำนวนทั้งสิ้น 78,000คน แต่ต้องดูแลคนไทยจำกว่า 66 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนแพทย์ที่น้อยมาก ยังไม่รวมกับประชากรแฝงต่างๆ เช่น ผู้ป่วยบัตรสุขภาพของแรงงานข้ามประเทศ ซึ่งประชากรแฝงกลุ่มนี้ จัดเป็นภาระอันหนักอึ้งของบุคลากรทางการแพทย์ต้องดูแลผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งถือเป็นข่าวดีที่ปัจจุบันโรงพยาบาลของรัฐมีการยกระดับระบบบริการดีขึ้น ทั้งการจัดระบบคิว โรงพยาบาลใดมีปัญหาเรื่องพื้นที่จอดรถได้มีการสร้างอาคารจอดรถเพิ่มเติม ทั้งนี้ ต้องชื่นชมระบบสาธารณสุขที่ค่อยๆ พัฒนาแก้ไขปรับปรุง แม้ว่าอาจจะเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากมีข้อจำกัดหลายด้าน”
.
“เปิด 3 กองทุนสวัสดิการแบ่งแต่ละสิทธิ์รักษาชัดเจน”
จิราพร กล่าวถึง สิทธิ์ประกันสุขภาพของประเทศไทยปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการหลักๆ 3 กองทุน ซึ่งที่มาของการเกิดสิทธิ์แต่ละกองทุนมีความแตกต่างที่ชัดเจน คือ 1.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง มีผลตั้งแต่เราเกิดและมีชีวิตรอดเป็นทารก ส่วนใหญ่ผู้ได้ใช้บัตรทองเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ทำงานแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการทำงาน ไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ออกจากระบบการทำงานไปแล้ว โดยผู้ที่มีสิทธิ์บัตรทองไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ เพราะรัฐดูแลการเจ็บป่วยครอบคลุมการรักษาทั้งหมด ซึ่งแต่ละปีมีการตั้งงบประมาณสำหรับกองทุนบัตรทอง ครอบคลุมดูแลประชาชนคนไทย 66 ล้านคน ถือว่ามีสัดส่วนมากที่สุดใน 3 กองทุน
ขณะที่ 2. กองทุนประกันสังคม สิทธิ์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 , 39 และ 40 ผู้ประกันตนและนายจ้างจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนร่วมกับภาครัฐ โดยลูกจ้างจะถูกหัก 5% นายจ้างสมทบ 5% รัฐบาลสมทบ 2.75% ตรงนี้นำมาสู่ความแตกต่างเรื่องสิทธิประโยชน์ด้วย คือ เมื่อจ่ายสมทบในกองทุนฯแล้ว จะมีสิทธิประโยชน์ที่ดูแลหลักๆอีก 7 กรณี คือ คลอดบุตร,สงเคราะห์บุตร, เจ็บป่วย,พิการ,ว่างงาน,เกษียณและตาย และกองทุนสุดท้ายคือ 3.กองทุนสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ เกิดขึ้นเมื่อเราเป็นข้าราชการ สามารถเบิกจ่ายตรงได้ทุกโรงพยาบาล
.
“ผู้ประกันสังคม ควรรักษาในโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนเลือกไว้เท่านั้น เว้น กรณีเหตุฉุกเฉิน”
จิราพร ขยายความกรณีสถานการณ์ระบบกองทุนสวัสดิการประกันสังคมขณะนี้ว่า เมื่อลูกจ้างเข้าไปรักษาโรงพยาบาลจะไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย แต่ต้องรักษาในโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนเลือกไว้เท่านั้น ไม่แนะนำให้ออกไปอยู่โรงพยาบาลอื่น แล้วนำไปเบิกเพราะการทำคู่สัญญากับประกันสังคม ต้องมีการจ่ายอยู่แล้วว่ามีใครอยู่โรงพยาบาลไหน ต้องจ่ายให้กับโรงพยาบาลนั้น ซึ่งจะเห็นว่ามีให้เลือกเยอะมาก ยกเว้นกรณี “ฉุกเฉิน” จึงจะสามารถใช้สิทธิ์เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาทุกที่ได้ ตรงนี้ครอบคลุมเกี่ยวกับความฉุกเฉิน โดยต้องวงเล็บไว้ว่า“เป็นการฉุกเฉินจริงๆ” จึงจะเข้าโรงพยาบาลไหนก็ได้ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์การรักษาอะไรก็ตาม
.
“ปี 68 ประกันสังคมเพิ่ม คู่สัญญาใหม่ 7 รพ.-รัฐ 4 แห่ง เอกชน 3 แห่ง”
สำหรับปี 2568 ประกันสังคมเพิ่มโรงพยาบาลคู่สัญญาเข้าไปใหม่ 7 โรงพยาบาล เป็นโรงพยาบาลของรัฐ 4 แห่ง คือ เป็นโรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง คือ รพ.จุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร / รพ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี / รพ.ราชวิถี 2(รังสิต) จ.ปทุมธานี / รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร / รพ.วัฒนแพทย์สมุย จ.สุราษฎร์ธานี / รพ.พญาไทศรีราชา 2 จ.ชลบุรี / และรพ.ราชธานี หนองแค จ.สระบุรี ซึ่งทั่วประเทศมีโรงพยาบาลให้ประกันสังคมทั้งหมด 271 แห่ง
.
“สนง.ประกันสังคมประกาศชัด ไม่ตัดงบฯ รพ.เอกชนที่เข้าโครงการ หวั่น รพ.เอกชนถอนตัวจากประกันสังคม”
จิราพร กล่าวว่า ปี 2567 ที่ผ่าน มีโรงพยาบาลเอกชนถอนตัวจากประกันสังคมหลายแห่ง แม้ว่าโรงพยาบาลอยากจะเข้ามาซับพอร์ต เพื่อแบ่งเบาภาระงานของโรงพยาบาลรัฐ โดยเข้ามาร่วมเป็นคู่สัญญาแต่ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาจะมีมูลค่าสูง โรงพยาบาลเอกชนจึงเกิดความกังวลเกรงจะถูกตัดงบประมาณ จากผู้ป่วยรายหัวเฉลี่ย 12,000 บาท เหลือ 7,000-8,000 บาทหรือไม่ แต่ล่าสุดสำนักงานประกันสังคมออกมายืนยันและประกาศล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2567ที่ผ่านมาว่า จะจ่าย 12,000 บาทต่อหัว ในการเข้าไปใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชน และรัฐจะจ่ายเงินจำนวนนี้ต่อเนื่องอีก 6 เดือน ทำให้โรงพยาบาลเอกชนเริ่มผ่อนคลายความกังวล แต่ทั้งนี้ยังต้องจับตาสถานการณ์ต่อว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงหรือมีการกำหนดอะไรเพิ่มเติมเข้ามาหรือไม่
.
“เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม แจงชัด ไม่จำกัดเพดานรักษา หาก ผู้ประกันคน ไปรพ.ตามสิทธิ์ที่ลงทะเบียน”
จิราพร บอกว่า จากการพูดคุยกับมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า หากผู้ประกันตนไปใช้สิทธ์ในโรงพยาบาลตามสิทธิ์คู่สัญญาที่ลงทะเบียนไว้ การรักษาพยาบาลจะไม่มีวงเงินและไม่มีการจำกัดเพดาน สามารถใช้สิทธิ์ได้ไม่ว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคเล็กน้อยหรือโรคร้ายแรง แต่บางโรงพยาบาลเปิดรับผู้ประกันตนในแต่ละวันค่อนข้างมาก เปรียบเหมือนกับคลื่นลูกหนึ่งที่ซัดเข้าไปในแต่ละวัน
.
“แพทย์ ซักรายละเอียด คนไข้เพื่อวินิจฉัยโรคให้ตรงจุด”
จิราพร ยอมรับว่า ส่วนตัวมองว่าบางครั้งจำนวนคนไข้เยอะ โรงพยาบาลจะรีบตัดยอดของแต่ละวัน ให้คนที่เข้ามาลงรักษาได้รับการดูแลทั่งถึงทุกคน จึงต้องจำกัดเวลาให้เข้าพบแพทย์ไม่ยาวไปถึงช่วงเย็น เพราะแพทย์แต่ละคนไม่มีการจำกัดเวลาว่าผู้ป่วย 1 คนจะต้องวินิจฉัยกี่นาที เนื่องจากแต่ละคนมีอาการที่ต้องถูกซักถามมากน้อยแตกต่างกัน เพื่อให้ทราบว่าป่วยเป็นโรคอะไร อาการแบบนี้แฝงไปด้วยโรคอะไร ยิ่งหากเป็นหมอที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแล้ว ยิ่งต้องซักรายประวัติและสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วยอย่างละเอียด
.
“รพ.คู่สัญญาประกันสังคมต้องเข้าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด”
จิราพร บอกว่า ประกันสังคมครอบคลุมผู้ประกันตนส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มคนวัยแรงงาน ซึ่งมีปัญหาสุขภาพค่อนข้างเยอะ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจทำให้เขามีการใช้บริการในโรงพยาบาลคู่สัญญาเยอะ ตรงนี้มีการประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่องของการกำหนดมาตรฐานสถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์ แก่ผู้ประกันตนเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดมาตรฐานค่อนข้างเยอะ และละเอียดโดยดูมาตรฐานของสถานพยาบาล คือ แต่ละโรงพยาบาลที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคมได้ต้องมีแผนกรักษา12 สาขาขึ้นไปเป็นอย่างน้อย ฉะนั้นโรงพยาบาลเล็กๆ จึงไม่สามารถเข้าเป็นคู่สัญญาได้ ตรงนี้เป็นการคัดกรองในระดับหนึ่งว่า ส่วนใหญ่คู่สัญญากับประกันสังคมจะเป็นโรงพยาบาลใหญ่ๆเท่านั้น
.
“แพทย์เป็นหนึ่งในแรงงานที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง”
จิราพร ปิดท้ายว่า “นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานทั่วไป รายละเอียดค่อนข้างเยอะพอสมควร เช่น อาคารจะต้องมีความเหมาะสมในการให้บริการทางการแพทย์ , มีการสำรองไฟฉุกเฉิน , ต้องมีห้องฉุกเฉินที่ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้มาตรฐาน มีห้องตรวจและเครื่องมือมาตรฐาน , กำหนดเวลาการทำงานของแพทย์ด้วย เพราะปัจจุบันประกันสังคมขึ้นตรงกับกระทรวงแรงงาน และแพทย์เป็นหนึ่งในแรงงานที่จะต้องได้รับการคุ้มครองด้วย จึงมีการระบุไว้ว่า แพทย์ต้องทำงานกี่ชั่วโมง รวมทั้งระยะเวลาการรอตรวจโรคไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงอีกด้วย แต่หากกรณีมีปัญหาในการใช้บริการและสอบถามสิทธิ์โรงพยาบาลประกันสังคม โทรศัพท์สายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506”
ติดตาม รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น.โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5