“เมืองชเวก๊กโกช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นเมืองสแกรมเมอร์ใหญ่ที่สุด การใช้ไฟลดลง 60% จากที่เคยเห็นเปิดไฟทั้งตึกไฟดับเกือบหมด เพื่อที่จะเซฟน้ำมันสำรอง อาจจะใช้ได้ประมาณ 3เดือน เชื่อว่ามาตรการตัดไฟ, ตัดอินเตอร์เน็ต ,ตัดน้ำมันใช้ได้ได้ผลกับสแกรมเมอร์แน่นอน”
“ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ ลงพื้นที่เกาะติดข่าว “หลังรัฐบาลไทยมีมาตรการเข้มปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์” พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์ผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า สถานการณ์ภาพรวม ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับฝั่งเมียวดี ทั้งโรงพยาบาล, ร้านค้า ที่ต้องการน้ำมัน แต่กลับขาดแคลน คิดว่า ช่วงสัปดาห์ 10 – 14 กุมภาพันธ์นี้ จะเห็นผลกระทบที่รุนแรงขึ้น แต่สถานการณ์ไม่ตึงเครียดมากนัก เพราะคนมาชุมนุมประท้วงราวประมาณ 30 คน ทำให้ไม่บานปลาย และฝ่ายความมั่นคงของไทยประเมินว่า ไม่ส่งผลกระทบอะไรมาก ซึ่งตอนแรกมีข่าวว่า ชาวเมียนมาจะมารวมตัวกันประท้วงหลายพันคน มีการขู่ปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 จะไม่นำเข้าสินค้าจากไทย เพื่อเรียกร้องให้ไทยยกเลิกมาตรการตัดไฟฟ้า, ตัดน้ำมัน และตัดอินเตอร์เน็ตเพื่อกดดันแก๊งคอลเซ็นเตอร์
“มาตรการตัดน้ำมัน” ทำเมืองสแกมเมอร์ได้รับผลกระทบมากกว่าตัดไฟ
ฐปณีย์ บอกว่า ประชาชนของเมียวดีทั่วไปเดือดร้อนจากมาตรการส่งน้ำมัน จึงทำให้น้ำมันในเมียวดีขาดแคลนมาก ปั๊มน้ำมันปิดเกือบทุกแห่งตั้งแต่เที่ยง นอกจากนี้โรงพยาบาลซึ่งมีผู้ป่วย บางรายกำลังจะขาดออกซิเจน จึงเป็นเหตุผลให้กลุ่มสมัชชาประชาชนเมียวดี ออกมาประกาศรวมตัว คัดค้านประเทศไทย แต่คนเมียวดีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะเป็นปัญหาบานปลายไปใหญ่ เช่นเดียวกับ ประธานหอการค้าเมียวดี ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเมียนมา และรัฐบาลไทย ขอให้ทบทวนมาตรการดังกล่าว เพราะกระทบประชาชน, โรงพยาบาล, สถานที่ราชการ และระหว่างประเทศ แต่คนในเมียวดีไม่กระทบมาก เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา เขาไม่มีระบบกระแสไฟฟ้าใช้ เพราะเสาส่งไฟฟ้าถูกระเบิดจากการสู้รบ ดังนั้น ทั้งเมืองเมียวดี มีทั้งเครื่องปั่นไฟ และโซล่าเซลล์ใช้ เขาไม่ได้ใช้ไฟจากไทย ผู้ประกอบการและประชาชน จึงไม่เดือดร้อน หรือเดือดร้อนน้อย
ฐปณีย์ บอกว่า เมืองชเวโก๊กโกและสแกมเมอร์รวมทั้งเมืองอื่น เช่น KK Park ที่ไกลออกไป หรือว่าหรือช่องแคบที่ตรงบริเวณ อ.พบพระ จ.ตาก แทบจะไม่ได้ใช้กระแสไฟที่ซื้อจากไทยเลย เพราะอยู่ห่างไกลจากเสาส่งหรือถ้าใช้ก็น้อย และพวกเขาเป็นเมืองเกิดใหม่ จึงใช้เครื่องปั่นไฟ และโซล่าเซลล์เป็นหลัก ดังนั้นเมืองสแกมเมอร์ จะกระทบจากการงดส่งน้ำมันมากกว่า รวมถึงชาวบ้านทั่วไปของเมียด้วย
“ลงพื้นที่สังเกตการณ์เมืองชเวก๊กโกช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นเมืองสแกรมเมอร์ใหญ่ที่สุด การใช้ไฟเขาลดลง 60% น่าจะเหลือเพียง 40% จากที่เคยเห็นเปิดไฟทั้งตึกไฟดับเกือบหมด เพื่อที่จะเซฟน้ำมันสำรอง อาจจะใช้ได้ประมาณ 3 เดือน ตรงนี้ต้องดูว่าถ้าเขาไม่มีน้ำมันที่เราส่งไปให้แล้ว สำรองไว้ 3 เดือนจะจัดการอย่างไรต่อไป เชื่อว่ามาตรการตัดไฟ , ตัดอินเตอร์เน็ต , ตัดน้ำมันใช้ได้ได้ผลกับสแกรมเมอร์แน่นอน แต่ระหว่างนี้เขาอาจจะหาช่องทางนำเข้าน้ำมัน จากแหล่งอื่นเพราะมีรายงานข่าวว่า พยายามหาน้ำมันเข้ามาทางท่าเรือมะละแหม่ง ก็ต้องรอดูภายใน 1-2 อาทิตย์นี้ว่า เมื่อไม่มีน้ำมันส่งไป เขาจะใช้น้ำมันที่เหลือเหลืออยู่อย่างไร” ฐปณีย์ ระบุ
“ชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบ ต้องช่วยส่งเสียงสะท้อนถึง รบ.ทหารด้วย”
ฐปณีย์ บอกว่า ช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาหลังมาตรการตัดไฟ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยังใช้ไฟอยู่ ไม่สะทกสะท้าน และไม่แคร์ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็ต้องใช้เวลาในการกดดัน และถ้าประชาชนเมียนมาทนไม่ได้ ก็ต้องเรียกร้องรัฐบาลทหารเมียนมา ไปจัดการกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย เพราะประชาชนคุณเดือดร้อน ฉะนั้นมาตรการที่ไทยกดดันเรื่องกระแสไฟฟ้า ก็เป็นการกดดันรัฐบาลเมียนมาด้วย ที่จะไปจัดการกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หากมาตรการนี้ทำให้ประชาชนเมียนมาเดือดร้อนเราก็เห็นใจ แต่ถ้าไม่ใช้มาตรการนี้ ก็จะเกิดปัญหาเรื่อย ๆ
“ไทยสกัดเข้ม! ห้ามคนเมียนมาเติมน้ำมันใส่แกนลอนข้ามแดน-กสทช.เร่งหาวิธีตัดเน็ต”
ฐปณีย์ บอกว่า ขณะนี้ไทยวางมาตรการป้องกันตรวจเข้ม การลักลอบส่งน้ำมันไปเมียนมา โดยจับได้ทุกคืน เช่น ที่ อ.พบพระ จ.ตาก ประมาณ 600 ลิตร ส่วนที่ อ.แม่ระมาด มีแต่ไม่มาก ซึ่งไทยห้ามคนเมียนมานำแกลลอนมาใส่น้ำมัน เพราะถือเรื่องลิมิต แต่ขับรถข้ามมาเติมฝั่งไทยได้
ส่วนการตัดอินเทอร์เน็ตป้องกันปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น ฐปณีย์ บอกว่า สตาลิงค์สามารถที่จะนำเข้ามาได้ ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)กำลังหาวิธีการในการสกัดเรื่องของสตาร์ลิงค์ ที่มีการลักลอบนำเข้า ส่วนเรื่องของอินเทอร์เน็ต ก็พยายามถอนเสา และปิดเสา เพื่อตัดสัญญาณ ทั้งนี้อินเทอร์เน็ตของไทยบริเวณฝั่งเมียวดีใช้ไม่ได้เลย แต่อินเทอร์เน็ตของสตาร์ลิ้งค์อื่น ๆ ตรงบริเวณนั้นมีการใช้กันอยู่แล้ว
“ยาก! แก๊งคอลเซ็นเตอร์ย้ายฝั่งไปชายแดนเขมร”
ส่วนที่มีข่าวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จะย้ายไปฝั่งกัมพูชาแทนนั้น ฐปณีย์ บอกว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะย้ายจากฝั่งตะวันตก ไปตะวันออกของเมียนมา แค่จะขออุปกรณ์ผ่านด่านก็เป็นเรื่องยากแล้ว แต่ถ้าจะย้ายก็คงไปอยู่ในฐานชั้นในพื้นที่ของเมียนมา แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะเลือกเป้าหมายรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์กองกำลังชนกลุ่มน้อย จะใช้พื้นที่อิทธิพลของชนกลุ่มน้อยที่มีการสู้รบกันอยู่ ป้องกันไม่ให้ถูกปราบปราม ซึ่งฐปณีย์ บอกว่า เจ้าหน้าที่ไทยกำลังประเมินสถานการณ์อยู่ หากเขาย้ายเข้าไปในพื้นที่ชั้นในมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องมีการยกระดับปราบปราม โดยไทยร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมา และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด เพราะอยู่ในพื้นที่ของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) และ DKBA แต่ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นพื้นที่ถูกนำมาทำเป็นเมืองสแกมเมอร์ ยังมีกองกำลังสหภาพกะเหรี่ยงแห่งชาติ KNU ซึ่งเป็นกองกำลังใหญ่สุดในรัฐกะเหรี่ยง และยังมี BGF ซึ่งเป็นกลุ่มของคนพม่า ที่ก่อตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร กำลังสู้รบกับรัฐบาลเมียนมาอยู่ ในการจะยึดคืนพื้นที่เมืองเมียวดี ซึ่งมีการสู้รบกันเมื่อปีที่แล้ว ตรงนี้ก็น่าสนใจว่า สุดท้ายแล้ว ถ้าวิธีการเหล่านี้ใช้ไม่ได้ จะถูกยกระดับไปสู่เรื่องของการปราบปรามหรือไม่
“จีน” อยากใช้ “เล้าก์ก่ายโมเดล” ปรามคอลเซ็นเตอร์ – รัฐบาลเตรียมยกระดับจนกว่าจะเห็นผล
ฐปณีย์ บอกว่า หลิว จงอี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะ สาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางมาประเทศไทย อยากใช้ “เล้าก์ก่ายโมเดล” ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน ให้มีการปราบปรามที่เมียวดี ดังนั้นถ้าจีนร่วมมือกับกองทัพพม่า หรือกองทัพเคเอ็นยู เข้าไปปราบปรามแก๊งมาเฟีย ก็อาจจะเกิดการสู้รบภายในรัฐกะเหรี่ยง หากจีนอยากให้มีการปราบปรามที่เมียวดีเหมือนกับเล้าก์ก่าย โดยร่วมมือกับกองทัพพม่า หรือกองทัพเคเอ็นยู เข้าไปปราบปรามแก๊งมาเฟีย ก็อาจจะเกิดการสู้รบภายในรัฐกะเหรี่ยง เพื่อที่จะปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่เท่าที่คุยกับรัฐบาลบอกว่า จะใช้มาตรการกดดันก่อนแล้วดูผลว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกว่า ไม่ยอมอ่อนข้อให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์แน่นอน ไม่ใช่ว่าทำ 3-4 วันแล้วจะเลิก แต่ต้องทำแบบยกระดับไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเห็นผล
“รบ.ทหารพม่า-BGF-DKBA” ปัจจัยความสำเร็จปราบแก๊งคอลฯ
ฐปณีย์ บอกว่า ปลายปี 2566 มีคนไทยประมาณ 400-500 คน ที่ถูกพาไปทำงานที่เมืองเล้าก์ก่ายรัฐฉาน ซึ่งอยู่ติดกับจีน ดิฉันได้ไปทำข่าวและติดตาม กว่าจะช่วยคนไทยออกมา มีการเปิดฉากสู้รบของกองกำลังชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่เมืองเล้าก์ก่าย ซึ่งคนไทยต้องหนีทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และหนีสงคราม ที่รัฐบาลจีนเข้าไปปราบปราม และกองกำลังชาติพันธุ์ ก็ได้เข้าไปปราบปรามด้วย มีการจับกุมตัวมาเฟียจีนที่เป็นหัวหน้ากระบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้เป็น 1,000 คน ส่วนเหยื่อคนไทยก็พาออกมาจากเมืองเล้าก์ก่าย ข้ามมายังชายแดนประเทศจีน ที่เมืองคุนหมิง และพาขึ้นเครื่องกลับมาไทย
ฐปณีย์ บอกว่า ที่เมืองเล้าก์ก่าย กองกำลังชาติพันธุ์เมียนมา ร่วมมือกับรัฐบาลจีนปราบปรามมาเฟียจีน หรือกลุ่มจีนเทา โดยให้จีนเป็นเจ้าภาพและช่วยเหลือเหยื่อออกมา แต่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงรวมได้ยาก เพราะมีกลุ่ม BGF และ DKBA ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ของเมืองสแกมเมอร์ แม้ว่าในการสู้รบที่ต่อต้านรัฐบาลพม่า เขาเคยร่วมมือกันเมื่อปีที่แล้วกับกะเหรี่ยง KNU และ BGF รบกับรัฐบาลทหารพม่า แต่ BGF และ DKBA เปิดเมืองสแกมเมอร์ได้ เพราะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนเดิม และรัฐบาลเมียนมาสนับสนุน ตรงนี้เป็นเงื่อนไขว่า ถ้ารัฐบาลทหารพม่าหรือไทย เข้าไปมีบทบาทในการทำให้กองกำลังชาติพันธุ์ในรัฐกะเหรี่ยงจับมือกัน เพื่อปราบปรามแก๊งจีนเทา หรือแก๊งมาเฟียจีน ที่ไปใช้พื้นที่รัฐกะเหรี่ยงทำเมืองสแกมเมอร์ หากกองกำลังชาติพันธุ์ไม่ร่วมมือ ผ่านการเห็นด้วยของรัฐบาลทหารพม่า, BGF และ DKBA ก็ไม่มีทางที่จะปราบปรามได้สำเร็จอย่างแน่นอน
“หวังเห็นไทม์ไลน์-เห็นตัวชี้วัด” ปราบแก๊งคอลฯ หวั่นสุจริตชนเดือดร้อน
ส่วนที่มีการมองสื่อใจร้อนเกินไปในการประเมินผลปราบปรามนั้น ฐปณีย์ ชี้แจงว่า คนที่ใจร้อน คือ ประชาชน เช่น กรณีคนป่วยที่โรงพยาบาลจะทนได้นานแค่ไหน ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ก็ต้องรู้ว่า มีอะไรเป็นตัวชี้วัด ซึ่งรัฐบาลจะยังบอกชัดไม่ได้ สื่อจำเป็นต้องถาม และรู้ไทม์ไลน์ทิศทาง เพราะกระทบกับประชาชนผู้บริสุทธิ์

ติดตามรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ 11.00 – 12.00 น. โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5