สะเทือนตรา “Made in Thailand” ทุนเทาเช่าโกดังไทยส่งออกสินค้าคุณภาพต่ำ

  “ถ้าการส่งของไปอเมริกาจริงแล้วเกิดมีปัญหาขึ้นมา เขาจะตั้งคำถามกลับมาถึงมาตรฐานการผลิตสินค้าของไทย ทั้งชื่อบริษัท, ชื่อกรรมการบริษัท, ผู้จัดการโรงงาน, หัวหน้าคนคุมงานไม่ใช่คนไทยสักคน แต่ตั้งว่า สินค้าเป็น Made in Thailand”

“มนตรี อุดมพงษ์ ผู้สื่อข่าวข่าว 3 มิติ” ฉายภาพ “ทุนเทาแฝงไทยผลิต-ส่งออกสินค้าไม่ได้มาตรฐาน” ผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า มีวิวัฒนาการมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะในยุคที่การค้าออนไลน์เติบโต มีการสร้างโกดังเป็นคลังสินค้าให้เช่า ซึ่งไม่มีความผิด เปรียบเหมือนคนที่มีคอนโด หรือบ้านและปล่อยให้เช่า เป็น “Passive Income” เพื่อเป็นรายได้เลี้ยงตัวเอง ฉะนั้น นักธุรกิจที่มีที่ดินจำนวนมาก จึงเปลี่ยนที่ดินรกร้างว่างเปล่าโกดังให้เช่าเก็บสินค้าเมื่อยุคออนไลน์เฟื่องฟู แทนการเสียภาษีเปล่า ซึ่งทำให้สินค้าที่ส่งเข้ามาจากจีนหรือประเทศต่างๆ ต่อจากนี้ เมื่อก่อนสั่งอาทิตย์หนึ่งถึงได้รับของ แต่เดี๋ยวนี้วันเดียวก็ได้ เพราะมีสินค้าอยู่ในคลังโกดัง 

“ฉายภาพทุนเทาเช่าโกดังไทยลักลอบผลิตสินค้าส่งออก”

            มนตรี ยังเห็นว่า มีคนจำนวนมากที่สร้างโกดังให้คนเช่าสินค้าล็อตใหญ่ เวลาใครสั่งของก็ให้ Messenger ไปรับจึงได้รับของถึงเร็ว ขณะที่ คนอีกกลุ่มหนึ่งไปสร้างโกดัง แต่ไม่ได้เก็บสินค้าอย่างเดียว แต่ไปทำระบบการผลิต โดยสร้างรายการผลิตในโกดังนั้น แต่ตอนสร้างโกดังขอระเบียบสร้าง เป็นใบอนุญาต อ.1 จากท้องที่ ที่ระบุใช้ประโยชน์เพื่อเก็บคลังสินค้า เมื่อสร้างเสร็จแล้วให้คนเช่า ซึ่งไม่ได้เก็บคลังสินค้าอย่างเดียว แต่ผลิตอย่างอื่น มีคนงานมากขึ้นด้วย และเมื่อใดก็ตามที่มีคนงานเกินจำนวน และเครื่องจักรเกิน 50 แรงม้าขึ้นไป ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรงงานแล้ว ทั้งที่ตอนจดทะเบียนขอเป็นคลังสินค้า เมื่อทำโรงงานก็ต้องมีวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิต เช่น ถ้าทำพลาสติก ของที่เหลือจะไปอยู่ไหนเอาไปทิ้งที่ไหน หากไม่ถูกต้องก็เกิดปัญหาหมด

            “การใช้โกดังผิดประเภทเป็นปัญหาช่องโหว่หลายจังหวัด โดยเฉพาะอุตสาหกรรม, Logistics และรอบ ๆ กรุงเทพฯ คือ นำของเสียมาไว้ในโกดัง ถ้าเจ้าหน้าที่ไปเจอของผิดกฎหมายในโกดัง เราจะเอาผิดดำเนินคดีใคร ก็ต้องเป็นเจ้าของโกดังก่อน เสมือนคนเอาของโจรมาไว้บ้านเรา ตรงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาก” มนตรี กล่าว

“หลายโรงงานทุนเทาผิดมาตรฐาน - อึ้ง! ลักลอบผลิตสินค้าส่งออกไร้ มอก.”

            มนตรี บอกว่า ที่ผ่านมาเราได้ยินข่าวเรื่องการจับสินค้า ที่มีการผลิตในประเทศไทยแล้วพบว่า ไม่ได้สัญลักษณ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) บ่อยครั้งเจอตามการแจ้งเบาะแสบ้าง ตามโรงงานต่าง ๆ บ้าง ล่าสุดเจ้าหน้าที่ไปตรวจ เพราะมีการร้องเรียนว่า มีโรงงานแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นดงโรงงานอุตสาหกรรม หลอมโลหะในช่วงกลางคืน ชาวบ้านได้กลิ่นเหม็นสารเคมี แต่เจ้าหน้าที่ไปตรวจในช่วงกลางวัน ก็ไปเจอกลุ่มโรงงานที่เกิดใหม่ สร้างบนที่ดินซึ่งเป็นแปลงใหม่ โครงสร้างของโรงงานใหม่เอี่ยม แต่ไม่มีตัวกรองบนหลังคาเพื่อไม่ให้ควันลอยคลุ้งไปในอากาศ เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงานเข้าไปตรวจ พบคนงาน 40-50 คน และอุปกรณ์เป็นปลั๊กพ่วงสายไฟที่ใช้ตามบ้าน ซึ่งทำอยู่ประมาณ 20,000 ชิ้น แต่หน้าตาของปลั๊กดังกล่าวผิดปกติอยู่อย่างหนึ่ง ทั้งดีไซน์ความถี่ของปลั๊กพ่วง ตามปกติปลั๊ก 3 ตา 1 ปลั๊กมาตรฐานที่เราเห็น อาจจะเสียบได้ 3 ช่องเสียบ มีสวิตช์ หรือเบรกเกอร์ไฟ ที่จะคอยปิดสวิตช์ On-Off  แต่ปลั๊กที่ไปเจอเป็นปลั๊กที่ต่อตรงได้เลย รูปแบบหน้าตาก็ไม่คล้ายกับของไทย แต่ก็สามารถชาร์จไฟได้ นอกจากนี้ ไม่มีสัญลักษณ์ มอก.ด้วย ซึ่งวันที่ไปตรวจมีเจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้ดูแลมาตรฐาน มอก.ไปพบกับเจ้าของโรงงาน หรือผู้ประกอบการซึ่งเป็นคนจีน และเจอคนงานที่เป็นล่าม พร้อมด้วยอุปกรณ์อื่นที่นำเข้าเพื่อติดตั้ง เช่น สายไฟตัวเมนที่เป็นตัวพ่วงกับสายไฟ และมีการสั่งซื้อเข้ามาม้วนใหญ่ พวกนี้ตั้งอยู่ใกล้กับเครื่องตัดสายไฟ ตามขนาดความยาวของปลั๊กไฟที่เราซื้อกันที่เหลือเป็นแผงวงจร พอเรียกมาตรวจสอบและชี้แจง พร้อมทั้งสอบถามการผลิต และเหตุใดถึงไม่มี มอก.และลักลอบผลิต ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับคำตอบว่า ผลิตเพื่อจะนำส่งประเทศสหรัฐอเมริกา

มนตรี เล่าว่า ตนเองได้สอบถามเจ้าหน้าที่ขณะลงพื้นที่ว่า การนำของไปส่งต่างประเทศโดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตขนาดในประเทศไทย ยังต้องมีมาตรฐาน ต้องมี มอก. แล้วถ้าเราส่งไปต่างประเทศ เขายอมรับ สินค้าหรือมาตรฐานของเราหรือ? และอะไรเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นมาตรฐาน ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็บอกว่า ตอนนี้มีประเด็น ว่าการส่งออกไปต่างประเทศไม่มี มอก.ได้ ซึ่งความจริงเป็นช่องโหว่ แม้ไม่ต้องขอ มอก.ก็จริง แต่ต้องแจ้งขออนุญาตให้ทราบว่า จะมีการผลิตก่อน คือไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาต แต่ต้องแจ้งให้ทราบก่อน ถ้าจะผลิตในประเทศไทย และใช้ในประเทศไทยต้องได้ มอก.ก่อน

“เป็นงงอีก! Made in Thailand แต่เจ้าของโรงงานไม่ใช่คนไทย แถมไร้ มอก.”

                        มนตรี ยังเล่าว่า ตนได้ขอดูใบออเดอร์สินค้าว่า สินค้า 20,000 ชิ้น คู่ค้าของที่อเมริกามีการสั่งออเดอร์ มาหรือยัง? ซึ่งผู้ประกอบการบอกว่า ไม่มีใบออเดอร์ จึงได้สอบถามต่อว่า ถ้าไม่มีใบออเดอร์แล้วจะส่งของไปอย่างไร เพราะแม้ว่าส่งได้ แต่โดยหลักแล้ว ผิดวิสัยของคนที่ผลิตสินค้า จึงได้ขอดูใบสั่งสินค้า หรือใบกำกับการส่งสินค้าเก่า ๆ หรือ Invoice เก่าที่เคยส่งไป ซึ่งผู้ประกอบการก็บอกว่า ไม่มี และสินค้านี้เป็นล็อตแรกที่เตรียมส่งไป ซึ่งเต็มไปด้วยข้อสงสัย 

            “ถ้าการส่งของไปอเมริกาจริงแล้วเกิดมีปัญหาขึ้นมา เขาจะตั้งคำถามกลับมาถึงมาตรฐานการผลิตสินค้าของไทย ทั้งชื่อบริษัท, ชื่อกรรมการบริษัท, ผู้จัดการโรงงาน, หัวหน้าคนคุมงานไม่ใช่คนไทยสักคน แต่ตั้งว่า สินค้าเป็น Made in Thailand ก็จะมีคำถามตามมา แต่การอ้างว่า ส่งไปอเมริกาก็แสดงว่า ประเทศไทยหละหลวมการควบคุมหรือไม่ หากสินค้าไม่ได้ส่งไปที่อเมริกาจริง แล้วนำมาขายตามตลาดนัดทั่วไปในชนบท ก็จะเป็นสาเหตุของไฟฟ้าลัดวงจรและไฟไหม้ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจะเสียหาย ตรงนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญที่เราเจอในขณะนี้” 

“อุตฯ เตรียมยกเครื่องมาตรฐานสินค้าไทยส่งออกก็ต้องมี มอก.”

            มนตรี บอกว่า ได้สอบถามไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยหัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมบอกว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เรียกประชุมด่วน สมอ.ทั้งหมด เพื่อกำหนดการตรวจสอบสินค้าเหล่านี้ โดยสรุปล่าสุดก็คงออกระเบียบใหม่ แม้ว่า จะส่งออกของไปอเมริกา แต่การแจ้งเพื่อทราบอย่างเดียวไม่น่าจะได้แล้ว ต้องมีมาตรการรัดกุมให้ตรวจสอบมากกว่านี้ ต่อไปนี้ไม่ว่าจะส่งออกไปประเทศไหนก็ตามต้องมี มอก. และต้องจริงจังมากขึ้น 

            มนตรี บอกว่า ของที่ผลิตจากต่างประเทศและส่งเข้ามาไทย ผ่านมาทางท่าเรือมีเยอะมากที่ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีการตรวจจับ เพราะมีสินค้าลักษณะประเภทนี้ซุกซ่อนอยู่ตามโกดังเยอะมาก ซึ่งเราไม่รู้ว่าเขาจะจดแจ้งเป็นอะไร แต่เชื่อว่า ใช้ไทยเป็นฐาน ถ้าสินค้าเหล่านี้มาจากประเทศใหญ่ ที่กำลังเผชิญสงครามทางการค้ากันอยู่ เราไม่มีปัญหา แต่หลายครั้งที่เราเจอ เป็นสินค้าที่ผลิตจากจีน ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) อาศัยช่องโหว่ว่า เขาผลิตที่ประเทศเขา และส่งไปประเทศอื่น ไม่ได้ด้วยสงครามทางการค้า จึงใช้ไทยเป็นฐานการบริโภค ขณะเดียวกัน ก็อาจจะส่งผ่านประเทศอื่นด้วย และส่งขายที่ไทยด้วย

“หวั่น! อุตสาหกรรมรีไซเคิลเถื่อน เชื่อมโยงการผลิตไร้มาตรฐาน”

            มนตรี บอกว่า ที่เป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ซึ่งกังวลมาก คือ อุตสาหกรรมรีไซเคิล กรณีโรงงานรีไซเคิลพลาสติก กับโรงงานที่เอาทองแดงจากสายไฟ เจอข่าวบ่อยมากว่า มีโจรลักขโมยสายไฟ สายโทรศัพท์ สายสื่อสาร นำไปขายตามโรงงานเถื่อนที่รับรีไซเคิล ไปแยกระหว่างพลาสติกกับทองแดง และนำทองแดงมาเป็นตัวนำไฟฟ้า ปลั๊กไฟเหล่านี้ ส่วนตัวพลาสติกนำไปเป็นเม็ดพลาสติก หลอมใหม่ขึ้นรูปนำมาสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอะไรก็ได้ เช่น เคสโทรศัพท์ พอผ่านการนำไปรีไซเคิลก็จะราคาถูก เช่น จาน ชามพลาสติก ซึ่งอุตสาหกรรมรีไซเคิลเถื่อน จะพัวพันกับการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะใช้วัตถุดิบจำพวกที่กล่าวมาข้างต้นเข้าสู่การผลิต

            มนตรี บอกว่า ตอนนี้ขึ้นกับยุคสมัยว่า อะไรที่ทำกำไรได้ตอบรับผู้บริโภค นายทุนจะหารายได้ไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานให้ต่างชาติเช่า เพราะคนไทยไม่มีองค์ความรู้ทาง Recycle แต่สิ่งที่คนไทยมีมากส่วนใหญ่ คือ รับซื้อของเก่า กฎหมายของไทยสนับสนุนด้วย เพราะมีสมาคมผู้ค้าของเก่า นำของที่มีประโยชน์อยู่แต่เป็นขยะกลับมา Recycle ใหม่ แต่ของ Recycle เถื่อนขณะนี้มาจากต่างประเทศ เครื่องจักรก็นำเข้า คนก็นำเข้า แรงงานที่เป็นหัวหน้างานส่วนใหญ่เป็นคนจีน แต่ใช้แรงงานข้ามชาติ

            “ที่ฮอตฮิตในช่วงนี้ คือ การทำโรงงานรีไซเคิล และมีโกดังใส่ของจะเรียงล้อกันไป คือ 1.โกดังเอาไว้เก็บวัตถุดิบที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ยังไม่เข้าไลน์การผลิต 2.โกดังที่ 2 ที่เป็นกระบวนการผลิต 3. โกดังที่ 3 ที่เก็บวัตถุหรือผลิตภัณฑ์ที่เตรียมส่งขาย เป็นการครบกระบวนการ คือ ของก่อนผลิตของระหว่างผลิตและของที่ผลิตแล้ว” มนตรี อธิบาย

“แนะเจ้าของ-ประชาชน หมั่นสอดส่องโรงงานปล่อยเช่า

         มนตรี ทิ้งท้ายว่า  ถ้าใครมาตั้งโกดังใกล้บ้านเราต้องสอดส่องดูแลว่า เป็นโกดังเก็บของจริงหรือไม่ หรือทำอย่างอื่น หรือถ้าเราเป็นคนสร้างโกดังให้เช่า ก็อย่ามัวรอแต่เก็บค่าเช่ารายเดือนหรือรายปี ขอให้หมั่นไปดูขออนุญาตผู้เช่าว่า คุณช่างโกดังผม คุณทำธุรกิจอะไร ประกอบกิจการอะไร จอดรถเฉย ๆ จริง หรือมีรถเข้าออกผิดปกติหรือไม่ เป็นที่เปิดเผยหรือไม่ ไม่ใช่ว่า ใครจะมาแล้วต้องส่องมองผ่านประตูแมวอย่างเดียว ห้ามใครเปิดต้องเป็นคนใกล้ชิดเท่านั้นถึงจะกล้าเข้า ตรงนี้ถือว่ามีพิรุธ

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ทุกวันอาทิตย์ 11.00 – 12.00 น. โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5