“นิติบุคลคอนโดย่านมักกะสันแห่งนี้ อยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาสแกนแก้ไขปัญหาเข้มงวดมากขึ้น เพราะมีช่องโหว่เยอะมาก”
“พลอยพรรณ คล่องแคล่ว ผู้สื่อข่าวอาชญากรรมไทยพีบีเอส” ซึ่งลงพื้นที่เกาะติด “คอนโดศูนย์เหรียญ ทุนจีนปล่อยเช่าแทนโรงแรม” สะท้อนถึงช่องโหว่ของปัญหาให้ฟัง ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”
“ปัญหาสะสมมานาน - เหตุ ผิด พ.ร.บ.โรงแรม”
พลอยพรรณ บอกว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาสะสมมานานแล้ว แต่ลูกบ้านไม่รู้จะทำอย่างไร การไปพูดหรือแจ้งความทำได้ค่อนข้างยาก เพราะรูปแบบเขามีการหลบเลี่ยงจับกุม คนที่เข้าพักมีการหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ ไม่มีการคัดกรองหรือควบคุมอุปนิสัยคนที่จะเข้าพัก บางคนอาจจะส่งเสียงดังไปกระทบลูกบ้าน ที่อาศัยอยู่ในคอนโดแห่งนั้น ซึ่งนิติบุคคลคอนโดไม่มีอำนาจที่จะไปบอกให้หรือห้ามเข้าพัก เนื่องจากเป็นสัญญาดีลกันระหว่างผู้ปล่อยเช่ากับคนที่มาเช่า เป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547เขาจึงไม่ได้ฝากกุญแจไว้ที่นิติบุคคล เราจึงเห็นภาพข่าวที่ออกมา ว่ามีการไปฝากกุญแจไว้ที่ร้านซ่อมจักรยานยนต์บ้างหรือตู้เก็บรองเท้าบ้าง ดูผิวเผินไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้างในมีกุญแจหรือมีกล่องซ่อนกุญแจไว้
“ลงสำรวจพื้นที่จริง ย่านซอยสุดใจสุขุมวิท 42”
พลอยพรรณ บอกว่า ได้ลงพื้นที่บริเวณสุขุมวิท 42 หรือซอยสุดใจ เพราะมีการโพสต์เป็นข้อมูลในโซเชียลว่า ผู้ให้เช่ากับผู้เช่ารายวันคุยกันผ่านแอพพลิเคชั่นอย่างโจ่งแจ้ง ว่ามีการนำตู้เก็บกุญแจที่มีรหัสไว้บริเวณต้นไม้ข้างทาง ใกล้กับคอนโดที่ปล่อยเช่ารายวันซึ่งคนต่างชาติรู้กันว่าให้ไปหยิบ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ไม่มีคนเฝ้า แต่พอมีกระแสอีกวัน ได้ไปดูพบว่าถูกถอดออกไปแล้ว และบางกรณีมีการฝากคนเอาไว้แล้วให้ค่าจ้างเป็นรายเดือน เช่น 10,000บาท หรือ 9,000 บาท แล้วแต่พื้นที่ เพราะเขาคิดว่าคุ้มกว่าการปล่อยเช่ารายเดือน ที่อาจจะได้แค่เดือนละ 20,000 กว่าบาท แต่ปล่อยรายวันมีคนมาเช่าทุกวัน รายได้สูงกว่าปล่อยรายเดือนมากกว่าครึ่งต่อครึ่ง แถมยังได้เรทผู้เช่าที่เป็นนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งดีกว่า
“คอนโดเช่ารายวันตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยว มากกว่าโรงแรม”
พลอยพรรณ เล่าว่า สอบถามข้อมูลจากคนที่ดูแลหรือเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว ใช้วิธีการเช่าแบบห้องพักแบบนี้แทนที่จะไปโรงแรม เพราะการเข้าพักโรงแรม แม้จะมีระบบรักษาความปลอดภัยมากกว่า แต่ไม่สะดวกสบายเท่านี้ เพราะคอนโดที่ปล่อยเช่าส่วนใหญ่จะมีทั้งสระว่ายน้ำ , ห้องฟิตเนส และอยู่ตามแนวรถไฟฟ้า MRT และ BTS จึงตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวและต่างชาติ ที่หันมานิยมใช้การเข้าพักแบบนี้มากกว่า
“ทุนจีนหัวใส สวมเป็นนิติบุคลคอนโด หวัง เปลี่ยนกฎเข้า-ออกง่าย”
พลอยพรรณ บอกว่า ร้ายกว่าการปล่อยเช่า คือ มีคอนโดย่านมักกะสันแห่งหนึ่ง เมื่อก่อนมีกฎระเบียบการให้สแกนหน้า แต่พอมีกลุ่มคนจีนที่ไปซื้อคอนโดแห่งนั้น และเข้าแทรกซึมจนได้เป็นนิติบุคคลของคอนโด ก็มีการเข้าไปเปลี่ยนกฎของคอนโด จากเดิมจะต้องมีสแกนใบหน้าหรือต้องสแกนตัวตนเพื่อเข้า-ออก เปลี่ยนเป็นการใช้แค่คีย์การ์ดแทน ทำให้การเข้าพักค่อนข้างง่าย เพราะแปะตรงประตูเวลาเข้า-ออกเท่านั้น
“สัดส่วนนิติบุคคลไทยน้อยกว่าทุนจีน ทำโหวตเสียงสู้ไม่ได้”
พลอยพรรณ บอกว่า นิติบุคคลของคอนโดดังกล่าวให้ข้อมูลว่า หากจะเข้าไปเป็นคณะกรรมการของนิติบุคคลคอนโดนี้ ไม่มีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจน แต่มีการกำหนดสัดส่วนการซื้อ-ขายห้องพัก หากเป็นชาวต่างชาติจะอยู่ที่ร้อยละ 49 และการที่จะเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการก็ไม่ได้มีอะไรห้าม จึงมีจำนวนคนจีนเข้าไปเป็นคณะกรรมการ 6 ต่อ 3 คน ฉะนั้นหากจะมีการโหวตอะไร เสียงคนไทยจึงสู้ไม่ได้ ทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามใจของกลุ่มคนจีน และทำให้นิติบุคคลคอนโดไม่สามารถที่จะดูแลหรือทำอะไรได้ แม้ว่าจะมีกลุ่มคนจีนเข้ามาพัก เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของเขา เนื่องจากจำนวนเสียงน้อยกว่า
“วอน หน่วยงานรัฐ เข้ม ใช้ยาแรงจัดการ เหตุ ช่องโหว่อื้อ”
พลอยพรรณ บอกว่า นิติบุคคลคอนโดที่กล่าวมานี้เคยไปแจ้งความ แต่ตำรวจร้องขอเอกสารหลักฐาน เช่น บุ๊คกิ้ง , สลิปโอนเงิน ,รายละเอียดการเปลี่ยนผู้เข้าพักที่ชัดเจนหรือไม่ ซึ่งการจะมีหลักฐานตรงนี้เป็นไปไม่ได้เลย เขาจึงอาศัยช่องโหว่ตรงนี้และนิติบุคคลเองก็ลำบากใจ ที่ไม่สามารถหาหลักฐานชัดเจนได้
“นิติบุคลคอนโดย่านมักกะสันแห่งนี้ อยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาสแกนแก้ไขปัญหาเข้มงวดมากขึ้น เพราะมีช่องโหว่เยอะมาก เจ้าของห้องหลายรายที่อาศัยอยู่เป็นประจำในคอนโดจะไปตักเตือนก็ลำบากใจ หรือเคยเตือนแต่นักท่องเที่ยวก็ไม่ใช่ว่าจะฟังทุกคน และไปแจ้งนิติบุคคล นิติบุคคลได้เตือนนักท่องเที่ยวรายวันที่เข้าพักแล้ว แต่นักท่องเที่ยวที่เข้าพักไม่ได้น่ารักทุกคนที่จะทำตาม จึงอยู่นอกเหนือที่จะทำได้ ต้องอาศัยกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปสอดส่องดูแล”
“ปม คนไทยเจ้าของห้องปล่อยเช่าให้คนจีนเป็นรายเดือน คาด เช่าเกินร้อยละ 49 แน่”
พลอยพรรณ บอกว่า คอนโดดังกล่าวมีชาวจีนและชาวต่างชาติอื่นๆ ประมาณร้อยละ 20 ถือว่าไม่เยอะ แต่บางส่วนที่คนไทยเป็นเจ้าของ แต่ก็ปล่อยให้คนจีนเช่าต่อเป็นรายเดือน ซึ่งคนจีนก็นำไปปล่อยเช่าต่ออีกรอบหนึ่ง ทำให้นิติบุคคลคอนโดนี้ไม่สามารถระบุได้ว่า ฐานข้อมูลว่านอกเหนือจากร้อยละ 20 นี้อีกกี่% แต่เท่าที่ประเมินคอนโดแห่งนี้น่าจะเกินกว่าร้อยละ 49 แน่นอน โดยเช่าต่อเป็นรายเดือนซึ่งสามารถทำได้ ขณะที่นิติบุคคลคอนโดฯทำได้แค่ถ่ายรูป เพราะไม่สามารถไปเอาหลักฐานอื่นได้ แม้จะเป็นเคสบายเคสแต่เมื่อแจ้งตำรวจเรื่องก็เงียบ เป็นอย่างนี้มาหลายครั้งแล้ว
“เก็บภาษีไม่ได้-ก่ออาชญากรรม-อินบล็อกปล่อยสัญญาณคอลเซ็นเตอร์”
พลอยพรรณ บอกว่า กรณีเจ้าของคนไทยให้ทุนจีนเช่าต่อคอนโด แบบรายเดือนมีการทำสัญญาที่ชัดเจน ไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่การปล่อยเช่ารายวันไม่มีสัญญาอะไรที่ชัดเจน เป็นช่องว่างให้กลุ่มคนเข้ามากระทำความผิดอื่นๆตามมาด้วย เพราะการเช่ารายวันไม่สามารถเก็บภาษีได้ เป็นช่องว่างที่ต่างชาติก่ออาชญากรรม หรือปัญหาคอลเซ็นเตอร์ ที่มีข่าวการสร้างกล่อง SIM BOX ใช้ปล่อยสัญญาณคอลเซ็นเตอร์ หลอกคนในละแวกนั้น ที่ผ่านมามีการจับกุมลักษณะนี้มาแล้ว
“หวั่น ระยะยาวธุรกิจโรงแรมเดือดร้อน ชี้ช่อง ทำให้ถูกกฎหมาย”
พลอยพรรณ ยอมรับว่า ในระยะยาวธุรกิจโรงแรมเดือดร้อนแน่นอน เพราะได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวใช้วิธีเช่ารายวันแทน ซึ่งมุมมองของนิติบุคคลนั้นหลายภาคส่วนต้องช่วยแก้ไขปัญหาหรือทำให้ถูกกฎหมาย เช่น อาจจะมีกฎหมายที่ระบุให้อำนาจนิติบุคคลหรือเจ้าของพื้นที่ จะได้มีขอบเขตหรืออำนาจควบคุมว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อมีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง การจะเข้าไปตักเตือนไม่สามารถทำได้เลย

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5