“ภาพผู้นำจีนพบผู้นำภาคเอกชน เป็นการส่งสัญญาณว่า จีนเคลื่อน AI และ Semiconductors แน่นอน”
“เมื่อจีนมีปัญหากับอเมริกา จึงไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังอเมริกาได้โดยตรง เนื่องจากเจอกำแพงภาษีนำเข้าสูงมาก ทางออกของจีน คือ ต้องขยาย Supply Chain ขยายตลาดในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนด้วย”
“ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สำนักข่าวเดอะสแตนดาร์ด” ถอดรหัส “สี จิ้นผิง ถกยักษ์ใหญ่ธุรกิจ-เทคโนโลยีจีน” ผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า น่าสนใจ เพราะการเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และรัฐบาลจีน เรียกเสียงฮือฮาได้มาก กลายเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตามองกันมาก เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า ภาคเศรษฐกิจ จะกลับมามีบทบาทเป็นพันธมิตรที่สำคัญอีกครั้งกับรัฐบาลจีน เป็นการส่งสัญญาณในระดับโลก ไม่ว่าจีนจะขยับหรือทำอะไร ได้จัดวางไว้แล้วว่า จะสื่อสารกับเวทีโลกอย่างไรครั้งนี้ถือว่าเป็นการ Comeback ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้นำเทคโนโลยีของจีน ว่ากลับมาครั้งนี้ จะได้เร่งเครื่องขับเคลื่อนธุรกิจของจีน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เหมือนเอกชนจะโดนปราม ในการทำมาตรการ คือ การกระจายความมั่งคั่ง ความเท่าเทียม
“สัญญาณจีน! เดินหน้าขับเคลื่อน AI-เทคโนโลยี”
ณัฏฐา ยังได้ย้ำว่า การปรากฏตัวของแจ็คหม่า เป็นที่น่าสนใจของสื่ออย่างมาก เพราะก่อนหน้าที่แจ็คหม่าหายไปในปี 2020 และถูกปราม เนื่องจากกำลังจะเข้า IPO ของ N Group แต่อยู่ ๆ ก็ถูกสั่งห้ามชะงักในคืนก่อนที่จะได้เริ่มไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการสะดุดของแจ๊คหม่าอย่างจัง แต่รอบนี้กลับมาแล้วและได้มานั่งแถวหน้า แม้ไม่ได้นั่งตรงกันข้ามกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยตรงก็ตาม
“ภาพผู้นำจีนพบผู้นำภาคเอกชนเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนเคลื่อน AI และ Semiconductors แน่นอน ทั้งนี้จีนมีแผนที่จะตั้งกองทุน IC Fund โดยทุ่มเงินเกือบ200,000 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐเพื่อที่จะยกระดับการพัฒนา AI และ Semiconductors” ณัฏฐา ระบุ
“จีนต้องปรับทัพหลังเจอศึกหนักจากอเมริกา”
ณัฏฐา บอกว่า ขณะคนที่นั่งตรงข้ามกับสี จิ้นผิง โดยตรง คือ ผู้บริหาร Huawei กับ BYD เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนจะเร่งเครื่อง และสนับสนุน Huawei กับ BYD ให้มากขึ้น แต่แจ็คหม่าก็ยังมีบทบาทสำคัญของอาลีบาบา และการพัฒนาที่อาจจะมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องของ Semiconductors เพราะฉะนั้นโดยรวม คือ จีนจะเร่งเครื่องการพัฒนา Technology, AI, Semiconductors พลังงานสะอาด และ EV และจะเข้มข้นต่อไปหลังจากนี้ว่า จีนจะขยับต่อไปอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ มีการใช้มาตรการปราบปราม ภาคเศรษฐกิจของจีน ที่อาจจะดูแล้วมีบทบาทมากเกินไป แต่ในยุคนี้จีนกำลังเจอศึกหนักจากสหรัฐอเมริกา ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์และการแข่งขันการตอบโต้ทั้งเรื่องสงครามการค้า และสงคราม Technology
“โอกาสทองอาเซียน! จีนขยายตลาดอาเซียนทดแทนอเมริกา”
ณัฏฐา บอกว่า การที่จีนมุ่งพัฒนาเรื่องต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น เวลานี้จะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับอาเซียน ที่ต้องเร่งเครื่องปรับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ปรับทักษะ และสภาพแวดล้อมในแง่ของ Technology
“เมื่อจีนมีปัญหากับอเมริกา จึงไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังอเมริกาได้โดยตรง เนื่องจากเจอกำแพงภาษีนำเข้าสูงมาก ทางออกของจีน คือ ต้องขยาย Supply Chain ขยายตลาดในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนด้วย” ณัฏฐา กล่าว
“อาเซียนต้องเร่งปรับยุทธศาสตร์รองรับ ‘จีน’ ลงทุนระยะยาว”
ส่วนการปรับตัวของเซียนนั้น ณัฏฐา มองว่า อาเซียนก็พยายามรองรับและดึงดูดกัน เช่น เวียดนามกำลังเร่งพัฒนาทั้ง Semiconductors และ AI ของตัวเอง, มาเลเซียพยายามดึงดูดการลงทุนจากจีน และพยายามสร้าง Semiconductors, Silicon Valley of Asiaซึ่งมาเลเซียพยายามปักธงแล้ว โดยเฉพาะที่เมืองปีนัง
ขณะที่ ประเทศไทย จะต้องมุ่งเน้นไปที่รถ EV และ AI ,Cloud computing Data center ซึ่งจะเป็นโอกาสของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะมาเลเซีย, ไทย, เวียดนาม, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งแน่นอนว่า การแข่งขันก็ต้องเข้มข้น เพราะแต่ละประเทศ มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป
ณัฏฐา บอกว่า หากจีนไปได้ไกลมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถรองรับ Supply chain จากจีนได้ จีนซึ่งมีฐานอยู่ในประเทศตัวเอง และพัฒนาหลายเมือง เพื่อรองรับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมขั้นสูงต่าง ๆ อยู่แล้ว Supply chain ต่าง ๆ ก็อาจจะไหลกลับไปที่จีน ซึ่งอาจจะไม่มีการแบ่งเค้กมาให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตรงนี้น่าจะเป็นโจทย์สำคัญว่า ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องเร่งวางยุทธศาสตร์ให้ดี เพื่อที่จะให้จีนอยู่ได้ยาว ขณะที่ อาเซียน ก็เป็นมิตรกับตะวันตก และอเมริกา เพื่อคานอำนาจสร้างสมดุล สร้างโอกาสด้วยการเปิดรับการลงทุนด้วย
“แร่เอิร์ธ” อาวุธสำคัญจีนสู้สงครามชิปสหรัฐฯ”
ณัฏฐา ยังบอกว่า นอกจากนี้ จีนได้ประกาศยุทธศาสตร์วางหมุดหมายหลักไว้ 3Area ทั้ง AI, Semiconductors และพลังงานสะอาด ต้องการที่จะพัฒนา Semiconductorsไปถึงขั้นสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่ผ่านมา จีนโดนปิดกั้นเทคโนโลยีนี้จากอเมริกาพอสมควร ยิ่งในยุคของประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ จีนจึงรู้ตัวว่าต้องเร่งเครื่องตรงนี้
“จีนกำลังซุ่มพัฒนา Semiconductors และ AI, Generative AI การที่สี จิ้นผิง พบกับแจ็คหม่าและผู้นำทุกภาคธุรกิจ เป็นการส่งสัญญาณแล้วว่า ให้เร่ง Generative AI เชิงพาณิชย์ หมายความว่าเตรียมสู้กับ Open AI ของสหรัฐฯ โดยตรง ที่สำคัญจีนมีแร่ธาตุที่หายาก คือ “แร่เอิร์ธ” กว่า 70% ของโลก เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิป ทั้งแบตเตอรี่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด ตรงนี้เป็นอีก 1 ต้นทุนสำคัญของจีน หมายความว่า โดยรวมแล้วจีนไม่หยุดแน่นอน เป้าหมายคือ จีนจะต้องเป็นผู้เล่นในเกมสงครามชิปนี้ให้ได้ และต้องพัฒนา AI, Semiconductors และพลังงานสะอาด ซึ่งจีนบอกว่า ถึงยุคที่ต้องเติบโตอย่างมีคุณภาพ”
ณัฏฐา ยังเห็นว่า สำหรับภาคเอกชนของอาเซียน สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ จากจีนในทุกด้านได้ และต้องรู้ว่า จีนไปเร็ว และมีศักยภาพมาก ทั้งในแง่ของ Resort ทรัพยากรมันสมองภายในประเทศ แม้ในช่วงเวลา ยังไม่อยู่ในระดับเดียวกับอเมริกา แต่ในแง่ของ Tech War จีนเดินหน้าแน่นอน ดังนั้น อาเซียนจะเติบโตอย่างไร จะเก่งอย่างไรให้ทันจีน เพราะเขายังต้องพึ่งพา Supply chain เพื่อที่จะแข่งกับอเมริกา ก็ต้องย้ายฐานการผลิตส่วนหนึ่งมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อที่จะระบายสินค้า และอาจจะยังส่งออกของส่วนหนึ่งไปยังอเมริกาได้ด้วย เพราะเกมยาวและปัจจัยสำคัญการแข่งกันระหว่างจีนกับสหรัฐ คือ ประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ อยู่ 4 ปี ขณะที่สีจินผิง ไม่มีกำหนดวาระในการลงจากตำแหน่ง
“ไทยต้องเร่งปรับตัวรองรับโอกาสทองจากจีน”
ส่วนผลกระทบ หรือประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากอานิสสงฆ์นี้นั้น ณัฏฐา บอกว่า ช่วงระยะใกล้ ๆ นี้ไทยเอง พยายามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีนเข้ามา เช่น EV เข้ามาตั้งฐานในประเทศไทยระดับหนึ่ง แต่เข้ามาแล้ว สามารถที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ปรับทักษะต่าง ๆ ให้คนไทยเก่งขึ้นหรือไม่ ก็เป็นคำถามว่า ถ้าไทยเปิดโอกาสให้จีนเข้ามาลงทุนแล้วได้อะไร ก็เป็นเรื่องที่ไทยต้องพยามต่อรอง และสร้างจุดแข็ง ในเรื่องของระบบ Eco System ระบบต่าง ๆ เพื่อดึงดูด ทั้งเรื่องเทคโนโลยี, ทักษะของคนที่จะตอบรับกับการแข่งขัน และการลงทุนของจีนที่จะเข้ามา
ณัฏฐา บอกว่า ในช่วง 1-2 ที่จีนกำลังแข่งกับอเมริกาอย่างเข้มข้น จีนเข้าไปอเมริกาโดยตรงไม่ได้ จึงต้องย้ายฐานการผลิต มาเอเชียตะวันออกเชียงใต้ รวมถึงไทยด้วย และถ้าจีนเข้ามา ก็หมายความว่า จะต้องลงทุนและอยู่ยาว แต่ถ้าจีนไม่เห็นโอกาสที่จะเข้ามา หากไทยบรรยากาศไม่พร้อม, คนไม่พร้อม เขาก็ไปที่อื่นหมายความว่า ไทยก็จะสูญเสียโอกาสยาว ตรงนี้เราก็ต้องเร่งสร้างขีดความสามารถเทคโนโลยีของเราด้วย ช่วงนี้ จึงเป็นโอกาสทองของไทย เพราะถือว่า น่าลงทุน แต่นักลงทุนก็ต้องการหาประเทศที่ตอบโจทย์ เรื่องทักษะแรงงานที่จะทำงานให้เขาได้
ย้ำ! “ไทยต้องเร่งพัฒนาตัวเองดึงดูดการลงทุน”
ณัฏฐา บอกว่า สำหรับไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกอย่างญี่ปุ่น แต่ตอนนี้จีนพัฒนา EV และ Battery ดังนั้น ไทยต้องปรับตัวให้ทัน และเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เพราะตอนนี้ไปทางไหนก็เห็นแต่รถ EV ของจีนเข้ามาตีตลาดรถยนต์ในไทย เพราะราคาถูกกว่ารถญี่ปุ่น ฉะนั้นโดยรวมแล้ว ไทยต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม EV และพยายามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้ได้จากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น, ยุโรป และจีน เพื่อให้คานอำนาจกัน นอกจากต้องพัฒนา AI แล้วระบบ Automation ที่ไทยมีจุดแข็งอยู่ก็ต้องพยายามเพิ่มความดึงดูด การลงทุนเข้ามาให้ได้ด้วย
แนะ “ไทย-อาเซียน” ใช้การทูตคุยจีนรักษาผลประโยชน์ภูมิภาค
ณัฏฐา บอกว่า นอกจาก Supply chain ที่จีนต้องพึ่งพาทั้งวัตถุดิบและ โครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่าง ๆ แล้ว ตอนนี้จีนก็ต้องระบายสินค้าของตัวเองด้วย คือ Overcapacityของจีน ที่ไม่สามารถระบายไปอเมริกาได้ จีนจึงต้องมาระบายสินค้าในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งสายพานการผลิตเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะล้ำหน้ามากขึ้น และสินค้าจีน ที่จะทะลักในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น ฉะนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาทางการทูตว่า เราจะยกระดับหรือจะสร้างเงื่อนไขกับจีนอย่างไร เพื่อให้เขามาลงทุนอย่างเป็นธรรม และมีคุณภาพมากขึ้น กับกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่ใช่เข้ามาแล้วมาใช้ทรัพยากร และใช้โครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียว โดยไม่เพิ่มทักษะการผลิต หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เรา ตรงนี้ไทยจะต้องหาวิธีพูดคุยกับจีน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของไทย ซึ่งเชื่อว่า ประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียนก็ต้องตั้งเงื่อนไขกับจีนในการยกระดับความสามารถของประเทศเหล่านั้นด้วย
“เวียดนาม เนื้อหอมสุด หลังอเมริกาคว่ำบาตรจีน”
ณัฏฐา บอกว่า ตอนนี้เวียดนามเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์สูงสุด หลังจากที่จีนถูกคว่ำบาตรจากอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น Apple, Samsung ก็ขยายฐานการผลิตที่เวียดนาม และบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ก็ไปตั้งโรงงานประกอบ EV เพื่อลดต้นทุนส่งออกไปยังยุโรป
นอกจากนี้ Falcon และ Intel เพิ่มการลงทุนในเวียดนาม ฉะนั้น ตอนนี้เวียดนามกำลังได้รับผลประโยชน์ ในแง่ของการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม Electronics แต่ความเสี่ยงของเวียดนาม คือ จีนกำลังเร่งพัฒนา Semiconductors และ AI ซึ่งในอนาคต จีนอาจไม่ต้องพึ่งการนำเข้าชิ้นส่วนจากเวียดนาม
“หนุน BOI ดึงดูดการลงทุน-อย่าถอดใจแข่งเวียดนาม”
ณัฏฐา บอกว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พยายามดึงเม็ดเงินการลงทุน และสร้างความน่าดึงดูดให้กับหลายบริษัท ที่กำลังเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเราต้องไม่ถอดใจ แต่เราจะเร่งพัฒนาคน, เร่งพัฒนาระบบต่าง ๆ ให้ดึงดูดได้อย่างไร ขณะเดียวกัน เวียดนามมีระบบและคนพร้อมกว่าไทย ทั้งความสามารถ และทักษะรองรับ ฉะนั้น เม็ดเงินก็จะไปทางเวียดนาม และเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับเวียดนามในอนาคต ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาและยกระดับ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อน่าดึงดูดต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ติดตามรายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว ทุกวันอาทิตย์ 11.00 - 12.00 น. โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5