เจาะที่มาปัญหา “นอมินี” ทุนต่างชาติ ผ่านข่าวรางวัลอิศราฯ เกียรติยศแห่งความภูมิใจ

         “กระบวนการการทำธุรกิจของชาวต่างชาติ บนแหล่งท่องเที่ยวสำคัญส่วนใหญ่ทำครบวงจรทุกอย่างอยู่ในกระบวนการของเขา ขณะที่ขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ไม่สามารถแข่งขันกับเขาได้ จึงแพ้ชาวต่างชาติ”

            “อรุณี วิทิพย์รอด หัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคใต้ตอนบน” เปิดเผยใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงเบื้องหลังและที่มาของข่าว กระชากหน้ากาก ‘นอมินี’ ทุนต่างชาติ ฮุบยอดเขาบนเกาะสมุย ผุดวิลล่าหรูสุดอันตราย ซึ่งคว้ารางวัลดีเด่น ประเภทข่าวหนังสือพิมพ์จากเวทีการประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล  

“ภูมิใจได้รับรางวัลอิศราฯ ”

            อรุณี บอกว่า รางวัลอิศรา ถือเป็นความภูมิใจและเกียรติยศของคนข่าว เพราะตัวเธอเองเป็นผู้สื่อข่าวต่างจังหวัดมาตลอดระยะเวลาการทำงานเกือบ 30 ปี รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ตอนบน มีความใกล้ชิดกับแหล่งข่าวและใกล้ชิดกับสถานการณ์ ต้องอยู่ท่ามกลางอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่คนต่างจังหวัดจะรู้กันอยู่ว่า ผู้สื่อข่าวคนนี้บ้านอยู่ที่ไหน บางคนเกิดความหวาดกลัวและไม่กล้าที่จะคิดนอกรอบ แต่สำหรับตัวเธอไม่ได้มีความรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะไม่ปลอดภัย เพราะการเสนอข่าวแบบให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ฝั่งไหนได้รับผลกระทบหรือถูกพาดพิง ก็จะให้เขาพูด โดยที่เรามีข้อมูลตรงกลาง หมายความว่าการนำเสนอข่าวออกไปเราทำความเข้าใจพร้อมๆกัน

“เริ่มต้นสืบจากข่าวนักธุรกิจหญิงชาวฝรั่งเศสจบชีวิตตัวเอง”

         อรุณี เล่าว่า จุดเริ่มต้นของข่าวรางวัลอิศราชิ้นนี้ มาการทำข่าวของนักธุรกิจหญิงชาวฝรั่งเศส อายุ 59 ปี เจ้าของวิลล่าให้เช่าบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ลั่นไกจบชีวิตตนเองริมสระน้ำในวิลล่าหรู โดยก่อนตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมด 100 ล้าน ให้ "ป้าติ๋ม" แม่บ้านคนสนิท มีทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ทางกองบรรณาธิการบอกว่าให้ช่วยดู ว่าผู้เสียชีวิตทำอาชีพอะไร ทำไมถึงมีทรัพย์สินในประเทศไทยจำนวนมากที่มอบให้แม่บ้าน ซึ่งตรงนี้เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  

“สืบหาข้อมูลเชิงลึกค้นที่มา” 

            อรุณี บอกว่า เมื่อหาข้อมูลลึกลงไปก็พบว่าเขาถือครองในนามของนิติบุคคล เธอจึงเริ่มสืบค้นข้อมูลด้วยการไปดูนิติบุคคล ใช้หลักของการตรวจสอบบริษัทนิติบุคคล ดูผู้ถือหุ้นประเภทธุรกิจและงบดุล ก่อนที่จะพบว่ามี 2 บริษัทอยู่นามนิติบุคลลนี้  เป็นบริษัทที่วางระบบโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ส่วนอีกบริษัทหนึ่งเป็นธุรกิจก่อสร้างที่พัก วิลล่าให้เช่า เมื่อกลับไปดูอีกบริษัทหนึ่ง มีวิลล่าอยู่ในของนิติบุคคล สร้างวิลล่า 5 หลัง แต่หลังจากที่ดำเนินการมาไม่มีผลประกอบการเลย คือ ขาดทุนไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐเลย

“ขอข้อมูลชุดสืบสวน สอบประวัติ 1 ใน 2 ผู้ถือหุ้น อายุเพียง 18 ปี”        

            อรุณี บอกว่า หากเป็นบริษัทต่างชาติเข้าถือหุ้นก็ต้อง 49% กับ 51% เพื่อให้เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ทั้งนี้ดิฉันได้ไปดูผู้ถือหุ้นบริษัทนิติบุคคลของแหม่มฝรั่งเศส ที่เป็น 1 ใน 2 ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งอายุ 18 ปี  เธอจึงใช้สายสัมพันธ์ที่ดีกับชุดสืบสวนในพื้นที่ ขอให้ช่วยตรวจสอบประวัติคนที่อายุ 18 ปี ประกอบอาชีพอะไร มีรายได้จากไหน ถึงได้มีเงินมาร่วมลงทุนร่วมบริษัทกับต่างชาติ มีหุ้นส่วนในบริษัท คิดเป็นเงินจำนวน 620,000 บาท ภายหลังทราบว่าเขาไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรเลย และไม่เคยมีประวัติเรื่องการเสียภาษีเลย ทั้งหมดนี้ ไม่เกี่ยวกับแม่บ้าน 

            “ตอนที่กองบรรณาธิการข่าว คิดว่าจะทำข่าวนี้ก็มีเสียงสะท้อนกลับมาตามเพจต่างๆ ว่าเราไปริษยาแม่บ้านที่เขาได้ทรัพย์สินจำนวนมากขนาดนี้หรือไม่ ทั้งที่เป็นของต่างชาติ ความจริงแล้วมันไม่ใช่ สิ่งที่เราคิดตอนนั้น หากเคสนี้เป็นบริษัทนอมินี  ประเทศไทยจะขาดรายได้จากตรงส่วนนี้ ยิ่งเอาไปสร้างเป็นโรงแรมที่พักหรือนอมินีอื่นที่เกี่ยวข้อง ”

“ตำรวจภูธร จ.สุราษฎร์ธานี รับไม้ต่อ-รอศาลพิจารณา”

         อรุณี บอกว่า หลังจากที่เสนอข่าวไปทางตำรวจภูธร จ.สุราษฎร์ธานี ได้เข้าไปทำเรื่องนอมินีโดย สอบสวนในกรณีของบริษัทแหม่มฝรั่งเศส พบว่าการจดทะเบียนนิติบุคคล น่าจะเข้าข่ายเป็นนอมินี เพราะมีการรวบรวมพยานหลักฐาน และเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหา ตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของชาวต่างด้าว แต่ตอนนี้เขายังไม่เข้ามาพบพนักงานสอบสวน ในคดีนี้หากพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนและส่งศาล หากศาลมีคำพิพากษาว่าบริษัทนิติบุคคลของแหม่มฝรั่งเศส ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยใช้ตัวแทนคนไทยไปอำพรางในการถือหุ้น  ศาลก็จะมีคำสั่งให้เพิกถอนนิติบุคคล ก็จะทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ คือ บ้านและที่ดินที่มอบให้ป้าติ๋ม ทรัพย์สินเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่แหม่มฝรั่งเศส ก่อตั้งบริษัทนิติบุคคลมาเพื่อซื้อทรัพย์ เมื่อศาลมีคำสั่งพิพากษา ให้บริษัทนิติบุคคลดังกล่าวถูกเพิกถอน อสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดจะต้องแปลงกลับมาเป็นทุน เช่น อาจจะต้องขายออกไปเพื่อกลับมาเป็นทุน เพื่อที่จะเอาเงินลงทุนตรงนี้กลับไปสู่เจ้าของเดิม 

หากชาวไทย 2 คนที่ถูกตำรวจแจ้งข้อหาในครั้งนี้ สามารถพิสูจน์ได้ว่านำทรัพย์สินมาลงทุนเอง ไม่ได้เป็นนอมินี ผลจากการขายวิลล่าและที่ดินตรงนี้ ก็จะต้องจ่ายอัตราส่วนตามหุ้นส่วน ฉะนั้นป้าติ๋มก็จะได้ในส่วนที่เป็นของแหม่มฝรั่งเศส เช่น สมมุติว่าหากวิลล่านี้ขายทรัพย์สินได้ 1 ล้านบาท ของแหม่มฝรั่งเศสดังกล่าว มี 49 % ก็จะมี 490,000 บาท ตรงนี้เป็นส่วนที่ป้าติ๋มจะได้

            แต่ถ้าศาลตัดสินว่าทั้ง 2 คนเป็นตัวแทนอำพรางให้กับบริษัทของแหม่มฝรั่งเศส ชาวไทย 2 คนนี้ก็จะไม่มีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งหุ้น  ทรัพย์สินทั้งหมดจากการขายวิลล่าและที่ดิน 1 ล้านบาท ก็จะต้องกลับไปเป็นของแหม่มฝรั่งเศสที่เสียชีวิต   

            “ หากศาลตัดสินว่าบริษัทนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถูกเพิกถอน ทรัพย์ที่ได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ก็จะกลับไปเป็นของแหม่มฝรั่งเศสที่เสียชีวิต หมายถึงว่าทรัพย์สินจากการขายวิลล่าและที่ดิน จะต้องเป็นของป้าติ๋มตามพินัยกรรม ก็อาจเป็นไปได้ว่าป้าติ๋มจะได้เยอะกว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่อาจจะไม่ได้เป็นตัวบ้านหรือที่ดิน แต่ป้าติ๋มก็ยังได้มรดกเหมือนเดิม ตามความประสงค์ของเจ้าของทรัพย์ในพินัยกรรมไปไหนไม่ได้ ทั้งนี้มีหลายกฎหมายมาเกี่ยวข้องกัน...ซึ่งคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด”  

“เกาะสมุย มีบริษัทต่างชาติที่ใช้คนไทยเป็นนอมินี เกินกว่า 90%-ประสานข้อมูล กอ.รมน.ภาค 4” 

            อรุณี บอกว่า จากการสืบค้นข้อมูลทำให้แน่ใจแล้วว่าบริษัทนี้สร้างขึ้นมา เพื่อให้มีคนถือครองทรัพย์สินโดยใช้นอมินีซึ่งเป็นคนไทย ทำให้เป็นบริษัทนิติบุคคลไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย พอเรานำข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วก็เริ่มเสนอข้อมูล ว่าเราไปตรวจสอบบริษัทนี้ของแหม่ม มีกี่บริษัทอยู่ที่เกาะสมุย จัดตั้งเมื่อไหร่ จึงนำไปสู่การตรวจสอบของ กอ.รมน.ภาค 4ตั้งแต่ปี 2562 กอ.รมน.ภาค 4 เคยเข้าไปดำเนินการในเรื่องของการประกอบธุรกิจ ของชาวต่างชาติบนเกาะสมุยจึงได้มีการประสานข้อมูลกัน จนในที่สุดจึงได้รู้ว่าบนเกาะสมุยมีบริษัทต่างชาติในลักษณะที่เป็นนอมินี เกินกว่า 90% ส่วนใหญ่ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นวิลล่า บนพื้นที่สูงโดยเฉพาะตามพื้นที่ลาดชันเกิน 50% โดยนำวิลล่าที่ถือครองไปปล่อยเช่าในลักษณะประกอบการใช้เป็นโรงแรม

“เกาะสมุย ยังขอจัดตั้งนิติบุคคลอย่างต่อเนื่องแต่จำนวนลดลง”

 อรุณี บอกว่า พื้นที่อำเภอเกาะสมุย ยังมีการขอจัดตั้งนิติบุคคลอย่างต่อเนื่องแต่ลดลงมา ในส่วนของการก่อสร้างเพิ่มเติมหลังจากตำรวจภูธรภาค 8  เข้มข้นมากขึ้นในการตรวจสอบ และกอ.รมน.ภาค 4 ในชุดของการป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้และธรรมชาติ ดูแลตรงนี้โดยใช้ พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมในการเข้าไปควบคุม เรื่องการก่อก่อสร้างจึงทำให้การก่อสร้างในช่วงนี้ดรอปลงมานิดนึง

“หาข้อมูลยากจากราชการ-ตรวจสอบข้อมูลหลายขั้นตอนเพื่อความชัวร์”

            อรุณี ยอมรับว่า สิ่งที่ยากในการทำงานข่าวเรื่องนี้ คือการเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะหากเป็นข้อมูลที่เป็นของหน่วยงานราชการ เธอแทบไม่สามารถเข้าถึงได้เลย โดยหลังจากที่เสนอข่าวไปส่วนหนึ่ง ข้อมูลก็ต้องไหลไปตามเหตุการณ์แต่ละวัน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียนโรงแรม ต้องขอความร่วมมือไปทางอำเภอ ซึ่งอาจจะได้มากบ้างน้อยบ้าง แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ได้มาและเป็นหลักฐานจริงๆ ต้องยอมรับว่าได้มาจากหน่วยข่าวในพื้นที่ ซึ่งบางอย่างเปิดเผยไม่ได้  แต่ทั้งนี้การทำงานไม่สามารถทำงานคนเดียวได้  ต้องมีผู้ช่วยอยู่ในพื้นที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ และอีกส่วนคือการประสานข้อมูลจากแหล่งข่าว หากยังไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงของข้อมูลนั้นได้ หรือยังไม่มั่นใจว่าเป็นการให้ข้อมูลมาเพื่อใส่ร้ายบุคคลอื่น เธอก็จะนำไปเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้เกิดความถูกต้องและชัดเจน

“ต่างชาติทำธุรกิจแบบครบวงจร-ใช้ช่องโหว่กฎหมาย-ผู้ประกอบการคนไทยไร้ทางสู้”

            “กระบวนการการทำธุรกิจของชาวต่างชาติ บนแหล่งท่องเที่ยวสำคัญส่วนใหญ่ ทำครบวงจรทุกอย่างอยู่ในกระบวนการของเขา ขณะที่ขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ไม่สามารถแข่งขันกับเขาได้จึงแพ้ชาวต่างชาติ สมมุติว่าดิฉันเป็นชาวต่างชาติอยู่ที่เกาะสมุย มีวิลล่ามีห้องพัก 8 ห้อง ซึ่งไม่เข้าพ.ร.บ.โรงแรม คือ หากไม่เกิน 8 ห้องก็ไม่ต้องขออนุญาต เขาก็จะเอาเครือข่ายที่เป็นชาวต่างชาติ เข้ามาพัก มีการจ่ายเงินผ่านระบบเจ้าของวิลล่า และยังมีทั้งธุรกิจร้านอาหาร บริการรถเช่า เขาเพียงแต่มาใช้ทรัพยากรที่เป็นธรรมชาติท่องเที่ยวของไทยเท่านั้น ไทยอาจจะได้เล็กๆน้อยๆเบี้ยบ้ายรายทาง แต่ตัวหลักๆเขาเอากลับไปหมด โดยที่เจ้าของวิลล่าเอง ก็ไม่ได้เสียภาษี” 

“เปรียบเหมือนทัวร์ศูนย์เหรียญ ทำแบบครบวงจร” 

            อรุณี บอกว่า รูปแบบและพฤติกรรมเช่นนี้ หากเปรียบแล้วก็ไม่แตกต่างจากทุนจีนทัวร์ศูนย์เหรียญ หากมองว่ามาลงทุนในไทย แต่หากพิจารณาให้ดีคนที่ได้ประโยชน์ก็จะเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น สมมุติว่ามีการก่อสร้างวิลล่า 5 ล้านบาท เขาเข้ามาจัดตั้งเป็นบริษัทนิติบุคคล เข้ามาถือของที่ดินและมีการก่อสร้าง ตอนนี้ดิฉันยังไม่มีข้อมูลของชาวต่างชาติสัญชาติอื่น แต่ถ้าเป็นคนจีนอุปกรณ์ตกแต่ง วัสดุที่ใช้เขานำเข้าจากจีนทั้งหมด และส่งเจ้าหน้าที่มาติดตั้งด้วย ล่าสุดที่จังหวัดภูเก็ตมีการจับกุมไซด์งานก่อสร้างวิลล่าของชาวจีน คนงานมาจากประเทศจีนมาติดตั้ง และนำเข้าสินค้ามาจากจีน ผ่านทางศุลกากร

“หัวใส แจ้งจดทะเบียนเป็นที่พักอาศัย ไม่ได้แจ้งเพื่อประกอบธุรกิจ-ผลประกอบการไม่ก่อรายได้กับไทย”

            อรุณี บอกว่า เขานำเงินมาลงทุนแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา นักท่องเที่ยวเหล่านั้นผ่านการจองที่พัก ระบบอินเตอร์เน็ตคืนละ 50,000 - 60,000 บาทรวม 3คืน 150,000 บาท เวลาจ่ายเงินก็จ่ายกลับไปสู่เจ้าของวิลล่า  ผลของการประกอบการนิติบุคคลที่เขาถือวิลล่าอยู่ จะไม่ก่อให้เกิดรายได้ เขาไม่มีรายได้ที่จะเสียภาษีนิติบุคคลให้เรา เพราะแจ้งจดทะเบียนเป็นที่พักอาศัย ไม่ได้แจ้งเพื่อประกอบธุรกิจ

            อรุณี ยังยกตัวอย่างถึงพฤติกรรมของชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจแบบผิดกฎหมาย เช่น กรณีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของชาวเยอรมันคนหนึ่ง บนเกาะสมุย ซึ่งตอนนี้ตำรวจกำลังดำเนินการเอาผิดในเรื่องของนอมินี เพราะมีมูลค่าการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จำนวน 1,000 ล้านบาท และวิธีการซื้อขายที่คนไทยคิดว่าจะได้เงินจากการซื้อขายตัววิลล่า แต่ความจริงแล้วเราไม่ได้ เพราะชาวต่างชาติที่มาถือครอง ก็ต้องถือในนามของนิติบุคคล โดยจะใช้วิธีเปลี่ยนผู้ถือหุ้น เช่น ถ้ามีการซื้อขายโดยผ่านการโอนของสำนักงานที่ดิน เราได้น้อยมาก เขาอาจจะเสียแค่ค่าเอกสารสำหรับการเปลี่ยนรายชื่อนิติบุคคลเท่านั้น

“ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่-ทำหลายหน่วยงานตื่นตัว หลังข่าวออกไป”     

         อรุณี บอกว่าหลังจากที่นำเสนอข่าวชิ้นนี้ออกไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในพื้นที่ เจ้าหน้าที่มีการเข้ามาตรวจสอบเข้มข้นขึ้นในการจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคล  แม้ว่ายังไม่สามารถไปถึงขั้นตอนของการแก้ไขกฎหมายในเรื่องของการประกอบธุรกิจของชาวต่างด้าว แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะคณะผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่ช่วงกลางปี 2567 เพื่อรับฟังความคิดเห็นและมีการประชุมร่วม 

โดยในเรื่องของบริษัทนอมินีของต่างชาติ ก็มีการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ต่างๆที่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ , ประจวบคีรีขันธ์ , ภูเก็ต , สุราษฎร์ธานี โดยจะนำมาดูว่าจะต้องมีกฎหมายตัวไหนที่จะแก้ไข ให้ชาวต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้องเป็นธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต แต่ให้ประเทศไทยมีรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการประกอบธุรกิจของชาวต่างด้าวด้วย

            “จากการทำข่าวครั้งนี้มีการขยายผล เข้าไปในพื้นที่อื่นและมีการตรวจสอบเช็คบิลย้อนหลังด้วย โดยมีการออกคำสั่งให้รื้อถอนเกี่ยวกับการก่อสร้าง ซึ่งเทศบาลเป็นหน่วยงานสำคัญที่ต้องดูแล คือ จะมีคำสั่งเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ หรือพื้นที่ห้ามก่อสร้างก็จะมีคำสั่ง ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินยืนยันว่า พื้นที่ที่มีการก่อสร้างไปแล้ว แต่สร้างผิดแบบ หรือสร้างในที่ห้ามสร้าง หรือสร้างโดยไม่มีใบอนุญาตก่อสร้าง จะต้องรื้อถอนและเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ซึ่งเทศบาลนครเกาะสมุย ได้มีการดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเข้ารื้อถอนในส่วนที่กระทำผิดกฎหมายด้วย”

“ให้กำลังใจการทำงานนักข่าวภูมิภาคทุกคน-กองบก.มีส่วนซัพพอร์ตสำคัญ”

            อรุณี บอกว่า อยากฝากถึงเพื่อนๆ ผู้สื่อข่าวภูมิภาคทุกคนทั่วประเทศ อยากให้ทุกคนมีความกล้าที่จะคิดประเด็น กล้าที่จะมองถึงผลประโยชน์ของบ้านเมือง กล้าที่จะมองว่าสิ่งที่เราเห็นเขาทำนั้นไม่ถูกต้อง แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะสามารถเข้าไปทำตรงนี้ได้ เราจะต้องประสานกับกองบรรณาธิการ บางครั้งเราอาจจะต้องมีข้อมูลซัพพอร์ตมาจากส่วนกลาง สำหรับเดลินิวส์มีส่วนดีมาก สำหรับการทำงานตลอดที่ผ่านมา หากมีปัญหาในท้องถิ่นก็ประสานไปยังกองบรรณาธิการส่วนกลางได้ ไม่ว่าแผนกข่าวไหนเราก็ช่วยกัน หาแหล่งข่าวจากที่อื่นมาซัพพอร์ตในพื้นที่  เพราะเดลินิวส์ทำงานเป็นทีม ซึ่งกองบรรณาธิการพยายามที่จะเซฟตัวนักข่าว จึงอยากให้กำลังใจเพื่อนผู้สื่อข่าวต่างจังหวัดทุกคน

“แนะ เสพข่าวรอบด้าน-สื่อหลักยังพึ่งพิงได้”

            อรุณี บอกว่า สำหรับประชาชนที่ติดตาม การเสนอข่าวของสื่อมวลชนได้อย่างถูกต้อง 100% ต้องเสพข่าวหลากหลายสื่อและดูข้อมูลอื่นๆเข้าประกอบกันเพื่อนำมาตัดสิน แต่เห็นว่าสื่อหลักยังเป็นสถาบันข่าวที่สามารถใช้อ้างอิงได้ ฉะนั้นหากประชาชนจะตรวจสอบความถูกต้องของข่าว ก็ยังยืนยันในฐานะคนทำสื่อว่าสื่อหลักยังสามารถเป็นที่พึ่งให้กับผู้เสพข่าวและประชาชนได้ เพราะปัจจุบันมีสื่อโซเชียล และสื่อต่างๆขึ้นมาจำนวนมาก

ติดตามรายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5