“ถ้ามองในมุมการเมืองเป็นการงัดข้อกัน ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล ซึ่งพรรคประชาชนไม่ใช่มือใหม่ทางการเมืองแล้ว ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมา 4 ปีแล้ว ประสบการณ์และความเก๋าอาจจะมีเพิ่มขึ้น คงไม่ยอมอะไรง่ายๆ ขอประลองกำลังงัดข้อชิงไหวชิงพริบกันก่อน”
ญาณี ไหว้ครู ผู้สื่อข่าว (สายการเมือง) สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ประเมินท่าที “รัฐบาลเพื่อไทยก่อนฝ่ายค้านซักฟอก” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า
“ฝ่ายค้าน ไม่พลาดโอกาสซักฟอก”
ญาณี บอกว่า เชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะฝ่ายค้านคงไม่ยอมที่จะทำให้พลาดโอกาสนี้ไป หลายคนได้เตรียมข้อมูลที่จะอภิปรายไว้แล้ว แต่หากการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่เกิดขึ้น ก็เชื่อว่าทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลน่าจะโดนสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าเล่นเกมการเมืองกันมากเกินไป จนท้ายที่สุดแล้วประชาชนจะไม่ได้อะไรเลย
“วิป 2 ฝ่ายยังไม่ลงตัวกรอบเวลาอภิปรายฯ คาด 19 มี.ค. เห็นภาพชัด”
ญาณี บอกว่า คณะกรรมการประสานงาน ( วิป) พรรคร่วมรัฐบาล และคณะกรรมการประสานงาน ( วิป ) พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยืนยันว่าวันที่ 19 มีนาคมน่าจะได้ความชัดเจนเรื่องข้อสรุป แต่ยังยึกยักเรื่องกรอบเวลาว่าท้ายที่สุดแล้วจะได้เวลาเท่าไหร่ เท่าที่ได้คุยกับวิปรัฐบาลบอกว่าอาจจะให้กรอบเวลา 30 ชั่วโมง โดยรัฐบาลและฝ่ายค้านอภิปราย-ตอบคำถาม 2 วันๆละ 15 ชั่วโมง คือ วันจันทร์ที่ 24 และอังคาร 25 มีนาคม ให้อภิปรายและถามตอบได้เต็มที่ ส่วนวันที่ 26 มีนาคม จะให้เป็นวันลงมติแต่ฝ่ายค้านไม่ยอม อ้างว่ายังมีข้อมูลและประเด็นหลักฐานจำนวนมาก ที่ต้องนำมาอภิปรายในเวทีนี้ ซึ่ง 30 ชั่วโมง เป็นเวลาที่นำเสนอไป ดังนั้นในวันที่ 19 มีนาคมนี้ต้องดูว่าจะยอมถอยคนละก้าวหรือไม่ เพื่อให้การซักฟอกครั้งนี้เดินหน้าไปได้ตามกรอบ จะได้ข้อสรุปอย่างไรก็อยู่ที่ทั้งฝ่ายค้านรัฐบาลจะตกลงกัน
“เชื่อ ได้ข้อยุติ-พบกันครึ่งทาง”
ญาณี บอกว่า ท้ายที่สุดจะรู้ทั้งรู้ว่าจบอย่างไร แต่ขอให้ได้ทำทีละสเต็ปอย่างเต็มที่ก่อนในมุมของฝ่ายค้าน เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่าพยายามต่อรอง และเสนอในมุมของฝ่ายค้านอย่างเต็มที่แล้วแต่ยังไม่ได้ เพราะเสียงของฝ่ายค้านยังไม่หนักพอที่จะไปต่อรองได้ อาจเป็นเกมงัดข้อวัดพลังกัน เพื่อชิงไหวชิงพริบทางการเมือง แต่ท้ายที่สุดก็น่าจะได้ข้อยุติยอมคนละครึ่งทาง เชื่อว่าจะสามารถทำให้ศึกซักฟอกครั้งนี้เดินหน้าต่อไปได้
“ถ้ามองในมุมการเมืองเป็นการงัดข้อกัน ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล ซึ่งพรรคประชาชน ไม่ใช่มือใหม่ทางการเมืองแล้ว ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมา 4 ปีแล้ว ประสบการณ์และความเก๋าอาจจะมีเพิ่มขึ้น คงไม่ยอมอะไรง่ายๆขอประลองกำลังงัดข้อชิงไหวชิงพริบกันก่อน”
“ยังไม่ลงตัวคำเรียกแทนแม้ว-สภาป่วน แน่หากใช้ สทร.”
ญาณี บอกว่า ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรยอมรับว่า เรื่องชื่อที่จะกำหนดญัตติเป็นสิ่งที่เขานำไปต่อรอง กับกรอบเวลาการอภิปราย ว่าจะได้ 30 ชั่วโมงอย่างฝ่ายค้านต้องการหรือไม่ ส่วนคำที่จะใช้เรียกแทนชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”จะเป็นคำไหน ,ชื่ออะไร เช่น บิดา , บุพการี หรือ สทร. ไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้ววันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเปิดทางว่าให้ใช้ชื่อ “สทร.” ได้หรือไม่ และพรรคการเมืองฝ่ายค้านจะเปลี่ยนใจไปใช้คำนี้หรือไม่ หากนำไปใช้ได้ เวลาไปอภิปรายก็หนีไม่พ้นความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น เพราะห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรอาจจะกลายเป็นการแซะ หรือเหน็บแนมทางการเมืองหรือเสียดสี เกิดความวุ่นวายทำให้การอภิปรายไม่ราบรื่น
“ข้อมูลรั่ว ทำฝ่ายค้านพลิกเกม ยื่นซักฟอกอุ๊งอิ๊งคนดียว-นักวิชาการ ประเมิน ฝ่ายค้านอาจเดินเกมพลาด”
ญาณี บอกว่า เดิมทีฝ่ายค้านพูดมาตลอด ว่าจะมีรัฐมนตรีหลายคนที่อาจถูกอภิปรายฯในครั้งนี้ แต่เกมพลิกมายื่นญัตติอภิปรายฯนายกรัฐมนตรีคนเดียว เพราะมีข้อมูลรั่วออกมาทำให้ฝ่ายค้านเปลี่ยนเกมใหม่ ยื่นอภิปรายฯนายกรัฐมนตรีคนเดียว พุ่งเป้าไปที่กล่องดวงใจของทักษิณ ชินวัตร , กล่องดวงใจของแกนนำรัฐบาลและกล่องดวงใจของพรรคเพื่อไทย จึงต้องดูภาวะความเป็นผู้นำในการตอบคำถามของนายกรัฐมนตรี ว่าจะทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน ตามที่หลายฝ่ายคาดหวังหรือไม่ แต่นักวิชาการหลายคนวิเคราะห์ว่า ฝ่ายค้านอาจจะเดินเกมพลาด หากยื่นญัตติพุ่งเป้าอภิปรายฯนายกรัฐมนตรีคนเดียวซึ่งเป็นแก้วตาดวงใจของทักษิณ ชินวัตร โดยพยายามทำให้นายกรัฐมนตรีโชว์ภาวะความเป็นผู้นำ ในการบริหารประเทศว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน สมกับที่นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่
“ตัวเลขคะแนนโหวต มีผลเขย่าพรรคร่วมรัฐบาล”
“หากมองในมุมการเมือง สมมุติฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายรัฐมนตรีคนอื่นด้วย ก็จะเกิดภาพเปรียบเทียบตัวเลขการโหวตไว้วางใจ เรื่องนี้ก็อาจเป็นประเด็นเล็กๆที่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการปั่นหรือไม่ และอีกมุมหนึ่งอาจจะเป็นการเสี้ยมให้ทะเลาะกันสร้างรอยร้าวจากคะแนนได้ แม้ว่าอาจต่างกันเพียง 1 คะแนน ก็อาจทำให้เกิดการตั้งคำถาม เหมือนอดีตที่ผ่านมาทำให้คนที่ถูกอภิปราย ซึ่งมีคะแนนลดหลั่นกันอาจจะรู้สึกไม่ดีก็ได้ เป็นต้น นักวิชาการจึงมองว่าฝ่ายค้านเดินเกมพลาด สมมุติว่าอย่างน้อยยื่น 2 คนสร้างรอยร้าวให้กับพรรคร่วมรัฐบาลได้ อาจจะอยู่ไม่ครบเทอม 4 ปี อย่างที่มีการคาดการณ์กันก็เป็นได้”
“คาดฝ่ายค้าน ยกปม ผลักอุยกูร์กลับจีน มาซักฟอก”
ญาณี บอกว่า ผลงานของรัฐบาลที่เด่นเด่น คือ การแจกเงิน 10,000 บาท แม้หลายฝ่ายจะมองว่าไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นพายุหมุนอย่างที่รัฐบาลโวเอาไว้ แต่อาจจะเป็นผลงานเล็กๆที่ทยอยมาเป็นละลอก นอกจากนี้รัฐบาลมีปัญหาเข้ามาทีละเรื่อง เช่น ล่าสุดการผลักดันชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน เกิด effect ในเวทีระหว่างประเทศและเวทีโลกอย่างมากตามมา ซึ่งฝ่ายค้านอาจจะหยิบยกประเด็นนี้ไปอภิปรายฯโจมตี ในมุมที่ว่าทำให้ประเทศไทยถูกเวทีโลกมองในเชิงลบ และหลังจากนี้ก็จะเกิดผลกระทบต่างๆต่อการบริหารประเทศตามมาด้วย
“คาด ปมแก้ รธน.เป็นอีกเรื่องที่ฝ่ายค้าน เล็งซักฟอก”
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ญาณี บอกว่า ฝ่ายค้านพยายามเดินหน้าให้ได้ โดยบอกว่าเป็นนโยบายที่รัฐบาลประกาศต่อรัฐสภาเอง ทำไมต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เรื่องนี้น่าอาจจะถูกหยิบยกไปอภิปรายด้วย เพราะมีการหยิบยกมาหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่รัฐบาลพยายามทำให้เห็นว่า กำลังทำไปตามสเต็ปซึ่งหลายฝ่ายฟันธงแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่น่าจะทันในรัฐบาลชุดนี้ หรือก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะดูเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญน่าจะดำเนินการได้ยาก หากประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะมองเรื่องการทำประชามติแตกต่างกัน ที่สำคัญกฎหมายประชามติก็รออีก 3 สามเดือน คือ เดือนกรกฎาคม ถึงจะหยิบยกขึ้นมาหารือใหม่ได้
“ภท. เป็นตัวแปรสำคัญเรื่อง รธน.”
ญาณี บอกว่า ปัจจัยหลักเรื่องรัฐธรรมนูญ คือ พรรคภูมิใจไทยหากส่งสัญญาณเอาด้วยเมื่อไหร่ ก็เท่ากับว่าน่าจะผ่านไปได้ แต่ถ้าสมมุติว่าภูมิใจไทยยังคงยึกยักรักษาท่าที ก็น่าจะลุ้นยากอยู่ เพราะในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญต้องมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 3 ซึ่งเงื่อนไขนี้ สว.บางคนบอกว่า ทิศทางทางการเมืองหรืออุดมการณ์ทางการเมือง คล้ายและตรงกันกับพรรคภูมิใจไทย ดังนั้นพรรคภูมิใจไทยจึงเป็นปัจจัยสำคัญ
“ซักฟอกไม่มีผลต่อการปรับ ครม.-ถึงวงรอบ อิ๊งค์ ลั่น ตัดสินใจเองไม่มีใครจูง”
ญาณี บอกว่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี แต่ไม่ได้สืบเนื่องมาจากผลพวงการอภิปรายฯ แต่เป็นสไตล์การทำงานของพรรคเพื่อไทย ที่มาถึงวงรอบจะต้องมีการปรับเปลี่ยน คณะรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่เพราะทำงานครบ 6 เดือนหรือ 1 ปีก็จะมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารแต่ละกระทรวง ซึ่งมีข้อมูลว่าคนของนายทักษิณจ่อคิวหลายคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง แต่ทุกอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งดิฉันได้ข้อมูลมาว่า นายกรัฐมนตรีจะยังไม่ปรับคณะรัฐมนตรีในเร็วๆนี้ ส่วนจะปรับหรือไม่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะตัดสินใจเอง โดยพยายามที่จะทำให้เห็นว่าเป็นคนบริหารและตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเองจริงๆ เพียงแต่มีคุณพ่อเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ ในฐานะที่ทำงานการเมืองและเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน
“เชื่อ ชาวบ้านได้ประโยชน์ จากเวทีซักฟอก”
ส่วนการอภิปรายไว้วางใจในครั้งนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร ญาณี บอกว่า ฝ่ายค้านหยิบยกประเด็นการบริหารของรัฐบาล เรื่องการบริหารจัดการแผ่นดิน ในฐานะผู้ตรวจสอบก็คอยเฝ้าระวัง และจับตาว่ารัฐบาลทำอะไรที่ผิดพลาด อาจก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารประเทศในอนาคต โดยตั้งคำถามให้ชี้แจง ทำให้สังคมได้รับรู้ว่าข้อเท็จจริงของปัญหาต่างๆคืออะไร เพราะประชาชนไม่ได้เข้าถึงข้อมูล การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เมื่อหยิบยกขึ้นมาถามในการอภิปรายฯก็จะทำให้ประชาชนมีโอกาส ทราบข้อมูลข้อเท็จจริง และถ้าไม่เล่นการเมืองมากเกินไป หรือโต้เถียงประท้วงกันวุ่นวาย ดิฉันก็เชื่อว่าข้อมูลตรงนี้ประชาชนก็จะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน

ติดตามรายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว ทุกวันอาทิตย์ 11.00 – 12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5