“อเมริกา-จีน โก่งกำแพงภาษี : เปิดฉากสงครามเศรษฐกิจโลก !!”

“ปีนี้เศรษฐกิจอ่อนแรงและน่ากลัวที่สุด ในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง แต่รุนแรงมากกว่าต้มยำกุ้ง จากการที่ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี และอเมริกาประกาศขึ้นภาษีประเทศต่างๆทั่วโลก”

  “ระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์” วิเคราะห์ “ภาษีทรัมป์-ตัดงบฯสื่อ-เอฟเฟกต์ต่อวงการสื่อ-คนทำสื่ออย่างไร” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ว่า 

“ยุคนี้ไม่จำเป็นต้องมีสื่อหลัก” 

  ระวี กล่าวว่า  ในมุมการได้รับเงินทุนจากอเมริกากับสื่อทั่วโลก ยุคนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่และไม่มีความสำคัญ เพราะทุกคนสามารถทำสื่อได้หมดและแทรกแซงสื่อได้ด้วยวิธีอื่น ที่ไม่จำเป็นต้องใช้งบตั้งองค์กรแล้ว ปัจจุบันมีวิธีแทรกแซงสื่อบนยุคดิจิทัลหลายรูปแบบ เราคงเคยได้ยินคำว่า IO วันนี้พูดเสียงดังกว่าสื่อแล้ว ทั้งยูทูบเบอร์ , คอนเทนท์ครีเอตอร์ , TikToker  ดังนั้นคนที่จะสนับสนุนตัวเลขงบประมาณเหล่านี้ ทำไมต้องสนับสนุนแค่องค์กรเดียว เขาสนับสนุนอีก 100,000 คนดีกว่า ใช้เงินน้อยกว่าองค์กรเดียวด้วย ตัวอย่าง เช่น ผมจ้างพิธีกร 2 คน คนละ 500 บาท ช่วยอวยผม ดีกว่าผมซื้อสถานีวิทยุคลื่นหนึ่งในราคาหลายหมื่นบาท นี่คือ หลักคิดของนักธุรกิจที่พูดถึงภูมิทัศน์สื่อในยุคนี้ 

“จ่ายแพงกว่าทำไม” 

  มุมมองของทรัมป์ คือ ปัจจุบัน “สื่อ” ไม่ได้มีแค่ที่เป็น “องค์กร” แต่สื่อจริงๆของโลกใบนี้ชื่อว่า Facebook และ YouTube ที่สามารถผลิตสื่อที่ไม่ใช่สื่อกระแสหลักเต็มโลกใบนี้ไปหมด แล้วทำไมต้องจ่ายค่าสนับสนุนสื่อกระแสหลัก ดังนั้นภูมิทัศน์สื่อไม่ได้อยู่ที่องค์กรสื่อแล้ว เรื่องนี้เป็นมานาน 5 ปีแล้ว ขณะที่ TikTok เป็นเครื่องมือในการทำ Propaganda ของจีน จึงได้มีการพยายามเจรจาหลายรอบ ทรัมป์ หรือ อีลอน มัสก์ต้องการซื้อ TikTok เพราะชาวอเมริกันเล่น TikTok แซงหน้า Facebook แล้ว นี่คือการซื้อองค์กรสื่อจริงๆและเขามองว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศเขาด้วย

 “ตัดงบฯมีทั้งบวกและลบ” 

ผมมองว่าการตัดงบประมาณสนับสนุนสื่อในรัฐบาลทรัมป์มีทั้งแง่บวกและลบ ขออนุญาตเอ่ยชื่อ Voice of America ( VOA ) เป็นเครือข่ายสื่อกระจายเสียงระดับนานาชาติ ที่ได้รับทุนจากรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่เป็นเสียงของคนอเมริกัน และเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลอเมริกาเต็มๆ มีข้อดีในการขยายข่าวไปทั่วโลก ส่วนข้อเสีย คือ คนทั่วโลกมองว่าข้อมูลจาก VOA จริงหรือปลอม แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้มองอะไรเลยที่ตัดงบประมาณ 

 “สื่อกระทบอันดับต้นๆ เหตุ ลดงบฯโฆษณาประชาสัมพันธ์”

ข้อมูลจากสมาคมเอเจนซี่โฆษณาของประเทศไทย ระบุว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา 5 ใน 10 อันดับของบริษัทที่มีการจ่ายเงินในการทำค่าโฆษณา ให้กับ โทรทัศน์ ,วิทยุ , หนังสือพิมพ์ , ออนไลน์ , นิตยสารหรืออื่นๆ คือ บริษัทในอเมริกา แต่งบประมาณตรงนี้ถูกลดมาตั้งแต่ช่วงโควิด เนื่องจากช่วงนั้นสินค้าและบริการขายไม่ได้ บริษัทต่างๆจึงไม่มีเงินซื้อโฆษณาในสื่อ  ส่งผลให้ตั้งแต่ช่วงโควิดเป็นต้นมา องค์กรสื่อมีการ Lay Off คนทุกปีหรือทุกไตรมาส เนื่องจากไม่สามารถขายโฆษณาได้ 

องค์กรสื่อได้รับผลกระทบก่อน เพราะเป็นช่องทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์ สมมุติมีสินค้า 1 ชิ้นโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ คนโฆษณาหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์บอกว่า อยากให้คนเห็นเยอะๆเขาเห็นแล้วจะไปซื้อเอง แต่ปัจจุบันวิธีคิดเปลี่ยนใหม่ เจ้าของสินค้าไม่ได้อยากให้คนเห็นเยอะแล้ว แต่ต้องการให้คนซื้อเยอะมากกว่า เพราะเห็นเยอะไม่ได้แปลว่าซื้อ เห็นเยอะต้องไปจ่ายค่าโฆษณาเป็น 10 - 20 ล้านบาท แต่คนซื้อ 100 คน                   สู้ทำให้คนเห็นแค่ 1,000 คนแล้วซื้อ 100 คนเท่าเดิมดีกว่า 

“ศก.น่ากลัว แรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง   อเมริกาพบไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าจีนส่งออกไปอเมริกา”

  “ปีนี้เศรษฐกิจอ่อนแรงและน่ากลัวที่สุด ในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง แต่รุนแรงมากกว่าต้มยำกุ้ง จากการที่ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี และอเมริกาประกาศขึ้นภาษีประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยโดนบังคับภาษีนำเข้าสูงกว่าประเทศจีน ทั้งที่จีนเป็นประเทศที่ส่งออกและเป็นคู่แข่งโดยตรงกับอเมริกา  เพราะอเมริกาพบว่าบริษัทจีนมาตั้งฐานการผลิตในไทย แล้วส่งไปอเมริกาโดยใช้นอมินีไทย” ซึ่งประเทศไทยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม กัมพูชา ก็โดนภาษีเยอะพอๆกับไทย                        จากเหตุผลเดียวกัน  

ล่าสุดสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME ) ออกมาประเมินแล้วว่า SME จะขาดดุลและขาดรายได้ถึงขั้นล่มถึง 3,000 กว่าล้านบาท จากการขึ้นภาษีของทรัมป์ เป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก                  ใน SME ทั้งหมด เชื่อว่าอย่างน้อย 20-30% อยู่ในอุตสาหกรรมเรื่องสื่อสาร ตั้งแต่การผลิตอุปกรณ์ และซอฟต์แวร์รวมทั้งไลน์ต่างๆ

“ยัน สื่อกระแสหลักสำคัญและจำเป็น-เคสแผ่นดินไหวเป็นกรณีตัวอย่าง”

  ระวี กล่าวว่า ย้อนกลับไปที่การเกิดเหตุแผ่นดินไหว 28 มีนาคมที่ผ่านมา เรารับสารจากประชาชนที่โพสต์ Facebook ว่าแผ่นดินไหวช้ากว่าสื่อ ทุกคนพูดว่าวิทยุหายหมดเลย เพราะทุกคลื่นเปิดเพลงคลอไปหมด ขณะเดียวกันวันนั้นเข้าใจว่า เป็นเรื่องความตื่นตระหนกจากเหตุการณ์จริง แต่สิ่งสำคัญ คือ วันจันทร์ต่อมาทุกคนเข้าทำงานแล้วเกิดเหตุการณ์แพนิค ทุกคนตื่นตระหนกแล้ววิ่งออกจากตึก กว่า 10 ตึก ในกรุงเทพมหานคร และมีการอพยพโดยที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง เพราะอาจจะมีใครสักคนโพสต์ Facebook หรือตะโกนขึ้นมาว่าเห็นรอยร้าวหรือมึนหัว ทุกคนวิ่งออกจากตึกมายืนข้างนอกหมด 

  “สื่อยังคงความสำคัญในการรายงานข่าวเร่งด่วน ว่าเป็นเหตุการณ์จริงหรือไม่ สิ่งที่น่าเชื่อถือไม่ได้เกิดจากสื่อบุคคล แต่เกิดจากสื่อมวลชน ประชาชนจะได้ไม่ต้องยืนตากแดด 3 ชั่วโมงริมถนน รอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาแถลงตอนเที่ยง”  

“เหตุที่ออกจากวงการสื่อเพราะประเมิน อนาคตสื่ออยู่ยาก – วงการสื่อเป็นตะวันลับฟ้าไปแล้ว”

  การที่สื่อต้องดิ้นรนมากกว่าเดิม เพราะงบโฆษณาไปอยู่กับ Influencer จำนวนมาก จะมีทางปรับตัวให้อยู่รอดได้หรือไม่นั้น ระวี หัวเราะพร้อมพูดว่า ผมออกจากวงการมา 2 ปีแล้วด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่รู้จะปรับอย่างไรเพราะปรับกันมามากแล้ว ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นข่าว มีการลดจำนวนพนักงานเยอะมากในอุตสาหกรรมสื่อ และกำลังจะลดอีกเยอะมากๆ ส่วนหนึ่งเพราะ กสทช.ยังไม่ชี้ชัดถึงอนาคตทีวีดิจิตอล  ยังไม่นับรวมถึงโซเชียลหรือดิจิตอลที่มาทำลายล้างสื่อ

ผมมีโอกาสได้คุยกับเจ้าของสื่อจำนวนมาก ทุกคนบอกว่าต้องการให้ทีมงานหรือพนักงานสื่ออยู่รอด แต่ลองไปดูในตลาดหุ้น สื่อในตลาดหุ้นไม่มีใครเหลือกำไรแล้ว แม้แต่กระทั่งช่องที่เคยบอกว่ามีกำไร 1,000 ล้านบาท ตอนนี้แทบไม่เหลือแล้ว แต่เขาพยายามเลี้ยงคน  และองค์กรสื่อยังต้องเป็นองค์กรต่อไป แม้ธุรกิจเดินลำบากเพราะเศรษฐกิจปีนี้หนักเกินไปจริงๆ

 “เรื่องนี้มันเป็นความจริงที่เจ็บปวด ไม่ใช่เปรียบวงการสื่อเป็นตะวันจะลับฟ้า แต่ลับไปแล้ว ผมเคยพูดเรื่องนี้มา 3 ปีแล้ว แต่ข้อเท็จจริงโลกใบนี้หรือประชาชน ยังต้องการสื่อที่น่าเชื่อถือในนาทีสุดท้ายอยู่” 

“ชี้ช่องสื่อทำตัวให้น่าเชื่อถือ-ถูกกลุ่มเป้าหมาย”

  ระวี แนะว่า สื่อต้องทำตัวให้แข็งแรงและน่าเชื่อถือ ทำสื่อให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย เพราะความอยู่รอดของสื่อปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นการทำสื่อเพื่อประชาชนทั่วไป แต่เป็นการทำสื่อเพื่อคนที่ดูเรา ผมพูดเรื่องนี้เสมอเพราะประชาชนรับสารแตกต่างกันมาก เช่น คนชอบสื่อนี้-ไม่ชอบสื่อนี้ คนชอบการเล่าเรื่องแบบนี้-ไม่ชอบการเล่าเรื่องแบบนี้ และ Generation Gap ที่เกิดขึ้นสื่อมีความ Globalization คุณไม่ต้องหาสื่อไทยแล้ว แต่ให้ไปอ่านแปลข่าวจากต่างประเทศ  เอา AI มาแปลก็จบ เพราะ AI มีความหลากหลายมาก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สื่อต้องทำให้ชัดเจน ถ้ารู้ว่าใครดูเราอยู่

ติดตามรายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น. โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5