“สะท้อนมุมมองวิถีคนข่าว….ผ่านภาระงานที่ต้องแบกรับ”

  อาชีพผู้สื่อข่าวมีความแตกต่างจากอาชีพอื่นๆ  ตรงที่หากเกิดเหตุภัยพิบัติคนอื่นต้องวิ่งหนีเพื่อหลบภัยแต่ผู้สื่อข่าวกลับต้องรีบวิ่งเข้าหาเหตุการณ์เหล่านั้นเพื่อทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  “พรทิวา กันธิยาใจผู้สื่อข่าว NBT” สะท้อนมุมมอง “คุณภาพชีวิตสื่อมวลชน....สวนทางกับภาระงาน” เนื่องใน “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก(World Press Freedom)” ตรงกับ 3 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อ ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า 

ค่าตอบแทนทางใจสำคัญ

  พรทิวายอมรับว่า “ค่าตอบแทน” เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่นักข่าวภาคสนามส่วนใหญ่ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันมาอย่างต่อเนื่อง เรื่องปรับฐานเงินเดือน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของคนทำงานข่าว ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย เพราะปัจจุบันรายได้เฉลี่ยของผู้สื่อข่าวยังคงสวนทางกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น  รวมทั้งสวนทางกับความเสี่ยงในการทำงาน จะเห็นได้จากการลงพื้นที่ติดตามประเด็นในแต่ละวันของนักข่าวภาคสนามลง ที่มีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน  ตั้งแต่การเก็บข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนนำมาเรียบเรียงเพื่อนำเสนอ ถือว่าข่าวทุกชิ้นงานมีคุณค่า  รู้หรือไม่ว่าข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อเพียงไม่กี่วินาที  อาจใช้เวลาเป็นเดือนในการเก็บข้อมูล  การรับมือปัญหาหน้างานที่ต้องเผชิญด้วยความยากลำบาก แต่ปัจจุบันกลับมีคนบางกลุ่มคัดลอกผลงานเหล่านั้น เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อโดยไม่อ้างอิงแหล่งที่มา ถือเป็นการไม่ให้เกียรติคนทำงานภาคสนาม

ค่าตอบแทนคนสื่อสวนทางความเสี่ยงหน้างานความกดดันเวลา

  พรทิวาเล่าย้อนถึงเหตุกรณ์ อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน  หรือตึกสตง. ที่กำลังก่อสร้าง เป็นตึกเดียวในกรุงเทพมหานครที่พังถล่มจากแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2  ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา  แม้จะมีจุดศูนย์กลางที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา  แต่ความรุนแรงได้สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ของประเทศไทย  เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นช่วงคาบเกี่ยวเทศกาลสงกรานต์ ภาครัฐต้องเดินหน้าเรียกความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวจากต่างชาติ  เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทย สื่อมวลชนทุกสำนักต่างทำงานทุ่มเทเวลาและร่างกายอย่างหนัก เพื่อติดตามการช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในซากตึก และครอบครัวที่มาติดตามความช่วยเหลือญาติพี่น้อง จำได้ว่าวันนั้นดิฉันเกาะติดสถานการณ์อยู่หน้างานตั้งแต่เกิดเหตุตึกถล่มเพื่อรายงานข่าวในแต่ละช่วงของสถานีจนถึงเวลาประมาณตีจึงได้กลับไปพักผ่อนซึ่งนอนไม่ถึง 5 ชั่วโมง  ต้องรีบตื่นเพื่อมาเข้างานติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่บริเวณตึกถล่มตั้งแต่เช้าวนไปแบบนี้เกือบทั้งเดือนเช่นเดียวกับพี่น้องสื่อมวลชนทุกสำนักที่ต่างเหน็ดเหนื่อยอ่อนหล้าเพราะต้องทำงานท่ามกลางความเสี่ยงของปรากฏการณ์อาฟเตอร์ช็อกที่ยังเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมงแข่งกับเวลาที่ต้องเก็บข้อเท็จจริงจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง  เพื่อนำเสนอให้ทันช่วงเวลาข่าวออกอากาศ  พวกเราทำงานเต็มที่  แม้รู้ว่าความทุ่มเทของนักข่าวภาคสนามดูจะสวนทางกับค่าตอบแทนที่ได้รับก็ตาม

สื่อมวลชนกลไกหลักการรายงานข่าวแผ่นดินไหว

  พรทิวากล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา  ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากเพราะเป็นกลไกหลักของการเก็บข้อเท็จจริงในพื้นที่เกิดเหตุจากหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มารวบรวมประมวล เพื่อรายงานสถานการณ์ให้ประชาชนและสังคมรับทราบความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง นักข่าวภาคสนามส่วนใหญ่ต่างหมมุนเวียนผลัดเปลี่ยนเวรยามเกาะติดในเหตุการณ์ไม่ให้คลาดสายตาตลอด 24 ชั่วโมง กว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เพื่อส่งข้อมูลช่วยกันเตือนภัยและให้ความช่วยเหลือ พี่น้องประชาชน  ซึ่งวันที่เกิดเหตุการณ์พวกเรานักข่าวภาคสนาม  ต่างร่วมกันสะท้อนความเห็นถึงระบบการเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว  ภาครัฐควรมีการทำงานความร่วมกับทุกเครือข่ายโทรศัพท์  เนื่องจากวันเกิดเหตุสัญญาณทุกเครือข่ายมีปัญหา  มีเพียงสถานีโทรทัศน์ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่รายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง 

 “คนข่าวภาคสนามเสี่ยงปัญหาสุขภาพสะสม

  พรทิวาบอกว่า  ก่อนหน้านี้เคยมีนักข่าวรุ่นพี่ เตือนสติเรื่องการดูแลสุขภาพ “อย่าประมาทกับความเหนื่อยล้า เพียงเห็นว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย  เพราะความเหนื่อยล้าฆ่าชีวิตเราได้”  รู้หรือไม่ว่าหากเราไม่รู้จักแบ่งเวลาที่ชัดเจนของการทำหน้าที่นักข่าวภาคสนามจะยิ่งลดทอนเวลาและสุขภาพของเราสะสมไปเรื่อยๆ  ส่วนตัวเคยเจอเหตุการณ์ขณะทำงานมีพี่นักข่าวภาคสนามที่กำลังปฏิบัติหน้าที่เกิดเป็นลมล้มพับไปต่อหน้าต่อตา  ซึ่งอาจเกิดจากการพักผ่อนน้อยสะสมหรือสภาพอากาศที่ร้อนจัดในวันนั้น  ซึ่งนักข่าวภาคสนามทุกคนต้องประเมินสภาพร่างกายของตัวเองรู้ให้เท่าทันและดูแลรักษาสุขภาพอยู่เสมอ  เพราะอาชีพผู้สื่อข่าวต้องใช้ทั้งร่างกายหนักมาก  ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวแต่ละคนก็จะมีกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเหนื่อยล้าของตัวเองแตกต่างกันไม่ว่าจะออกกำลังกายหรืองานอดิเรกต่างๆเพื่อคลายความเครียด

นักข่าววิ่งเข้าหาเหตุ  ต่างจากอาชีพอื่นวิ่งหนีภัย

  อาชีพผู้สื่อข่าวมีข้อแตกต่างจากอาชีพอื่นที่ไหนมีภัยคนอื่นจะหนีแต่ผู้สื่อข่าวต้องวิ่งเข้าหาทุกเหตุการณ์  อย่างกรณีเหตุอาคารสตง. ถล่มนักข่าวภาคสนามต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ท่ามกลางความหวาดกลัวและความเสี่ยงไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ  โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวออนไลน์ที่มีการรายงานข่าวนำเสนอข้อมูลและรายละเอียดต่างๆแบบเรียลไทม์   เพราะวันที่เกิดเหตุเราเชื่อว่าประชาชนทุกคนเกิดความกังวลเรื่องปรากฏการณ์อาฟเตอร์ช็อกที่จะตามมาช่วง 24 ชั่วโมงท่ามกลางความวุ่นวายในพื้นที่  ทั้งนี้นักข่าวภาคสนามทุกสำนักต้องมีสติเพื่อรวบรวมข้อมูลรอบด้านมานำเสนอความคืบหน้าเรื่องภัยพิบัติและอาฟเตอร์ช็อกซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเพื่อคลายความตื่นตระหนกของประชาชน” 

ย้ำ! ตรวจสอบข่าวก่อนเผยแพร่อย่าตกเป็นเครื่องมือผู้ไม่หวังดี

  กรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริง  ท่ามกลางความสับสนตื่นกลัวของประชาชนจากเหตุแผ่นดินไหวสื่อยังคงทำหน้าที่เกาะติดสถานการณ์เพื่อรายงานข่าวได้เป็นอย่างดี  พร้อมช่วยกันย้ำเตือนประชาชนผู้รับสารจากโซเชียลไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของการเผยแพร่ข่าวที่ไม่ได้รับการตรวจสอบออกไป  เพราะการกลั่นกรองข้อมูลต่างๆถือว่ามีความสำคัญมากเพื่อไม่ให้เกิดการเผยแพร่ซ้ำหรือส่งต่อสถานการณ์ที่บิดเบือนความจริงสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน  เพราะอาจจะเป็นช่องทางฉวยโอกาสสร้างความเกลียดชังหรือส่งต่อความเกลียดชังตามมาได้

สมาคมฯสื่อการันตีไม่ใช่คำถามนักข่าว” 

  พรทิวาเล่าถึงกรณี  ระหว่างสื่อมวลชนกำลังรุมสัมภาษณ์นักการเมืองคนหนึ่งที่ลงพื้นที่  อยู่ๆ มีเสียงของผู้หญิงตะโกนถามว่า  สาเหตุแผ่นดินไหวมาจากความเห็นชอบออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ผ่าน จึงทำให้พระเจ้าพิโรธ   เมื่อคลิปเสียงนั้นถูกเผยแพร่ออกไปในโลกโซเชียล ทำให้ประชาชนที่ติดตามข่าวสาร ต่างเข้าใจว่าเป็นคำถามจากสื่อมวลชน   ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ รวมทั้งผู้สื่อข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์  ต่างร่วมกันออกมายืนยัน ว่าไม่ใช่เสียงคำถามของผู้สื่อข่าว แต่เป็นคำถามของประชาชนที่เข้ามาสังเกตการณ์ และถามแทรกระหว่างสัมภาษณ์จนสร้างความเข้าใจผิด  กรณีนี้ยิ่งทำให้สื่อมวลชนต้องทำงานกันอย่างระมัดระวังในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้มากยิ่งขึ้น  เพื่อไม่ซ้ำเติมสถานการณ์และไม่สร้างความเกลียดชังในสังคม

บทเรียนหน้าที่สื่ออย่าส่งต่อวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง

  พรทิวา  สะท้อนประสบการณ์ทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวภาคสนาม  กรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ  มีการสอดแทรกเนื้อหาแนวคิดที่สร้างความเกลียดชังของคนในสังคมที่มีความเห็นต่าง  ในฐานะสื่อมวลชนเราต้องระมัดระวังทุกการสื่อสาร เพื่อไม่ให้เกิดการส่งต่อวาทะกรรมที่สร้างความขัดแย้งภายในสังคมขยายออกไปเป็นวงกว้าง  ทั้งนี้ย้ำว่า “สื่อภาคประชาชนมีส่วนช่วยให้ข่าวออกมาครบถ้วนสมบูรณ์”  กรณีเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือตึกสตง.ถล่มที่ผ่านมา ในฐานะคนข่าวภาคสนามต้องขอบคุณสื่อพลเมืองที่อยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว เพราะสื่อหลักทุกสำนักต่างได้รับข้อมูลและคลิปภาพทั้งหมดจากประชาชนที่เห็นเหตุการณ์  เพื่อนำมาประกอบการรายงาน ให้ข่าวชิ้นนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ติดตามรายการช่วยกันคิดทิศทางข่าวทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 .

โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5​