“ชำแหละงบพันล้านปรับปรุงรัฐสภา คุ้มค่าหรือไม่” 

  “เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการเล่นเกมการเมืองกันด้วย ขณะที่ข้าราชการกลับตอบคำถามไม่ชัดเจน  จึงต้องค่อยๆ เจาะแต่ละส่วนว่ามีอะไรบ้าง สถานการณ์ตอนนี้เรียกว่าฝุ่นตลบ เพราะหากยังหาทางออกไม่ได้ว่าบทสรุปจะจบลงอย่างไรหรือใครต้องรับผิดชอบ”

 

“ธัญวัฒน์ พิวัฒน์เมธา ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ช่อง 3” ย้อนรอย “อาคารรัฐสภา งบฯพันล้านบานไม่หยุดหลังขอรีโนเวท” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า  

“อึ้งงบฯ ขอรีโนเวท -ผ่านมติครม.-บรรยากาศกมธ.กระอักกระอ่วน”

  ธัญวัฒน์ กล่าวถึง ประเด็นรัฐสภาแห่งใหม่ที่ใช้งานมา 5 ปี  แต่กลับมีการเสนอ 15 โครงการ เพื่อปรับปรุงอาคารเพิ่มเติมกว่า 2,700 ล้านบาท  สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่เพิ่งใช้งานได้ไม่นาน หากจะสรุปเบื้องต้น ในแต่ละส่วนตามที่มีการขอมางบประมาณได้ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว  หลังจากนี้เตรียมเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาว่าจะผ่านหรือไม่ ตอนแรกที่ได้ยินข่าวนี้รู้สึกอึ้ง เพราะงบประมาณแต่ละจุดแต่ละส่วนที่ขอไป มีการชี้แจงรายละเอียดมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคณะกรรมาธิการแต่ละคณะมีการตั้งข้อซักถาม ซึ่งบรรยากาศในการชี้แจงค่อนข้างกระอักกระอ่วนมาก เพราะข้าราชการขานรับนโยบายมาจากฝ่ายการเมืองอีกที ฉะนั้นเวลาที่ข้าราชการชี้แจงแต่ละครั้ง จึงค่อนข้างตอบยาก

.

“ดึงเกมการเมืองเอี่ยว-จุดจบตรงไหน ไร้ทางออก” 

  ธัญวัฒน์ กล่าวว่า “เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการเล่นเกมการเมืองกันด้วย ขณะที่ข้าราชการประจำตอบคำถามไม่ชัดเจน จึงต้องค่อยๆ จี้ว่าแต่ละส่วนมีอะไรบ้าง สถาณการณ์ตอนนี้เรียกว่าฝุ่นตลบ เพราะยังหาทางออกไม่ได้ว่าผลจะไปจบที่ตรงไหน  หรือใครจะต้องรับผิดชอบ เพราะมีการพูดในแต่ละมุมแต่ละฝั่งซึ่งคำถามที่สื่อสงสัย คือ งบประมาณที่ขอไปต้องไปรวมอยู่ในก้อนที่เซ็นต์รับมอบงานมาหรือไม่ จบที่งบตรงนั้นหรือไม่ หรือไม่สมบูรณ์ซึ่งฝั่งของข้าราชการประจำและฝั่งของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร กับประธานสภาผู้แทนราษฎร บอกว่ายังไม่สมบูรณ์เพราะในแบบจบเพียงโครงสร้างภาพใหญ่ แต่ตัวที่เป็นรายละเอียดแต่ละจุด ต้องไปของบประมาณเพื่อเติมให้สมบูรณ์” 

.

“ศิลปินแห่งชาติ ผู้ออกแบบอาคาร ยื่นเรื่องคัดค้านด้วยตัวเอง” 

  ที่ผ่านมานายชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าสถาปนิกโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภา อาคารรัฐสภาไทย (สัปปายะสภาสถาน)  เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนคัดค้านไม่ให้ต่อเติม โดยบอกว่า “ศาลาแก้ว” สร้างไว้เพื่อรองรับประชาชน คนที่ทำต่อทำไมถึงไม่ทำให้ตรงตามแบบ ซึ่งตรงนี้คือจุดแรกที่ยังเป็นปัญหาอยู่ 

.

“คุ้มหรือไม่ ติดแอร์ศาลาแก้ว 117 ล้านบาท”

  หลายคนตั้งคำถามว่างบประมาณจำนวนกว่า 117 ล้านบาท ที่จะทำการติดเครื่องปรับอากาศในส่วนของ“ศาลาแก้ว”คุ้มค่าหรือไม่ เพราะศาลาแก้วยังไม่เคยเปิดใช้งาน ซึ่งส่วนตัวรู้สึกแปลกใจไม่ต่างกัน เนื่องจากตั้งแต่ทำข่าวที่รัฐสภาเพิ่งจะเคย“ศาลาแก้ว” เพื่อนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ ช่วงทำบุญตักบาตรปีใหม่ สมัยนายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นไม่ได้ใช้งานอีกเลย เพราะเวลาที่รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชน  ส่วนใหญ่จะเข้ามายื่นเรื่องข้างในตึกอาคารรัฐสภา จึงเป็นคำถามกลับไปยังฝ่ายข้าราชการของรัฐสภาว่างบประมาณดังกล่าวคุ้มค่าหรือไม่ 

.

“ของบฯ ปรับปรุงครัวกว่า 100 ล้านบาท ”

  อีกหนึ่งจุดที่มีการของบประมาณปรับปรุง คือบริเวณครัว มีการของบประมาณจำนวนกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงตามแปลนเดิมโรงอาหารที่รัฐสภาไม่ได้อยู่ที่ชั้น 1 และโรงอาหารและรัฐสภาปัจจุบันไม่มีร้านใดที่ใช้เตาแก๊ส เพราะถูกควบคุมว่าเป็นโรงอาหารตั้งแต่แรก จึงเป็นการนำมาใช้ผิดประเภท ทั้งนี้เวลาเปิดรัฐสภาเต็มรูปแบบ ทำให้ประชาชนมาสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 7 บริเวณโถงด้านหน้า และลงมาที่พิพิธภัณฑ์อยู่ชั้นใต้ดินซึ่งเป็นชั้น B และโซนศูนย์อาหารทั้งหมดจะอยู่ชั้นใต้ดิน เมื่อถูกออกแบบให้เป็นเช่นนี้  จึงมีคนสงสัยว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องของบประมาณถึงขนาด 100 ล้านบาทเพราะปัจจุบันมีระบบอยู่แล้ว

.

“ของบฯ 118 ล้านบาท ปรับปรุงห้องสัมมนา-ประชุมสหภาพสภาโลก” 

  สำหรับห้องสัมมนาที่เป็นห้องจัดเลี้ยง นายภราดร ปริศนานันท์กุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 บอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างพาเดินไปดูห้องว่า ตัวห้องไม่มีระบบแสง-เสียงรองรับ เวลาที่ประชุมสภาแต่ละครั้ง เช่น การประชุมสหภาพสภาโลกจะต้องมีการเช่าระบบแสง-เสียง  ต้องใช้จ่ายงบประมาณหลักล้านบาท ซึ่งเมื่อทีมผู้สื่อข่าวเข้าไปดูแล้วพบว่าไม่มีระบบตรงนี้จริงๆ แต่จำนวนเงินที่ขอสูงถึง 118 ล้านบาท จึงมีการตั้งคำถามถึงการตั้งงบปรับปรุง ทั้งที่ไม่รู้ตัวเลขราคากลางเป็นอย่างไร

.

“ห้องประชุมงบประมาณ งบปรับปรุงสูงสวนทางสภาพห้อง” 

  ส่วนกรณีห้องประชุมงบประมาณบริเวณชั้น 4 ซึ่งมีขนาดใหญ่รองจากห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร คือ ห้องสุริยันที่ใหญ่ที่สุด  โดยห้องประชุมงบประมาณชั้น 4 เป็นห้องที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสส.แต่ละพรรคการเมืองส่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมาธิการ  เพื่อตัดลดงบประมาณของหน่วยงานกระทรวงต่างๆ ที่ขอมา จึงใช้บุคลากรจำนวนมาก แต่วันที่ทีมผูฝ้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจ  ห้องนี้มีการของบประมาณในการปรับปรุงเยอะเช่นกัน ทั้งที่ดูแล้วพบว่าฟังก์ชันอุปกรณ์และห้องโดยรวม ถือว่ายังอยู่ในสภาพใช้งานได้ดีทุกอย่าง 

.

“ของบฯ 4,600 ล้าน สร้างที่จอดรถเพิ่ม เหตุไม่พอจอด”

  ธัญวัฒน์ บอกว่า กรณีลานจอดรถที่จะมีการสร้างขยายพื้นที่เพิ่ม โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร  ระบุ อยากได้ที่จอดรถอีกหนึ่งชั้นคือชั้น B3 โดยของบประมาณไป 4,600 ล้านบาทซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณที่สูงมาก ทั้งนี้ลานจอดรถของรัฐสภาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีจำนวน 2 ชั้น คือ ชั้น B1และชั้น B2 ซึ่งไม่เพียงพอกับจำนวนรถ เพราะสส.มีผู้ช่วยประมาณ 8 คน จากคำบอกเล่าของตำรวจรัฐสภาบอกว่า สภาสมัยที่ผ่านมายังมีการแบ่งกันมาทำงาน แต่สมัยนี้ 1 คนใช้รถ 1 คันถือว่าเยอะมากและยังมีฝั่งของสมาชิกวุฒิสภาอีก 

.

“ชี้แผนสำรอง เช่าพื้นที่ทหารจอดรถดีหรือไม่”

  หลังจากที่มีการล็อคที่จอดรถตามตำแหน่ง ไม่ใช่ใครมาก่อนได้จอด แต่เป็นตามหมายเลขทะเบียนรถของสส.  ซึ่งมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายคนบ่นว่าการระบุเลขทะเบียนที่จอดรถให้สส. ซึ่งไม่สามารถรู้ได้ว่าวันนั้นจะมาจอดหรือไม่  ทำให้ผู้อื่นไม่สามารถจอดไม่ได้  เป็นสาเหตุให้ที่จอดรถไม่เพียงพอ ตรงนี้ยังเป็นประเด็นที่เถียงกันไม่จบ ทั้งนี้บริเวณรอบอาคารรัฐสภาเป็นพื้นที่ของทหาร จึงเสนอให้มีการเขียนแผนสำรองไว้กรณีไปเช่าพื้นที่ของทหารหรือไม่ และมีรถเวียนไปรับส่งที่สภา แต่บริเวณอาคารรัฐสภามีระบบสาธารณูปโภคครบทั้งรถและเรือ  รวมทั้งในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าผ่านด้วย

.

“ปิ๊งไอเดียกฟผ. เพิ่มจอ 4D ชี้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเป็นสส.”

อีกประเด็นที่ถูกพูดถึง กรณีนายประเสริฐ บุญเรือง สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการกิจการสภา สภาผู้แทนราษฎร เสนอให้มีการสร้างโรงภาพยนตร์ 4D และตัวมาสคอตในอาคารรัฐสภา หลังจากนำคณะไปศึกษาดูงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) ซึ่งมีลักษณะคล้ายศูนย์เรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนไปศึกษา  จึงอยากนำโมเดลนี้มาปรับใช้  โดยชี้แจงคณะกรรมาธิการฯ ว่า “อยากจะให้เด็กๆมากรี๊ด” บ้าง เพราะสภาผู้แทนราษฎรแต่ละสัปดาห์ มีเด็กทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดมาศึกษาดูงาน ดูสถานที่และห้องทำงานต่างๆ  นายประเสริฐย้ำว่า เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน อยากจะเข้ามาเป็นสส. เพื่อพัฒนาประเทศ

.

“ชี้! เงินสำรองของประเทศ จำเป็นต้องเก็บไว้ แนะชาวบ้านเกาะติดสื่อข่าวนำเสนอ”

  ธัญวัฒน์ กล่าวปิดท้าย “ในฐานะสื่อมวลชนยังคงต้องติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง  เพราะสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญขณะนี้ คือ ช่วงภาวะเงินสำรองของประเทศจำเป็นต้องเก็บเอาไว้ อยากให้ประชาชนเห็นความสำคัญเช่นกัน ขณะที่ทุกหัวข้อที่สื่อมวลชนเสนอข่าวก็นำเสนอตามความสนใจของประชาชนด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ทำได้ คือ รอช่วงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ที่จะเข้าสู่ที่ประชุมสภา ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ยังต้องรอดูท่าทีของสส.แต่ละพรรคการเมืองว่าจะอภิปรายอย่างไร มีการตัดลดงบประมาณได้หรือไม่  เพราะที่นำมาพูดวันนี้ทั้งหมด 80% อยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่เสนอมาแล้ว หลังจากนี้คงต้องดูว่าจะตัดลดงบประมาณได้เท่าไหร่ หรือที่ประชุมสภาจะอนุมัติเท่าไหร่จึงจะคุ้มค่า”

ติดตาม“รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น. โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5