“ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่กำหนดไว้ว่า แพทย์จบใหม่ต้องใช้ทุนซึ่งแตกต่างจากวิชาชีพอื่น เพื่อจะได้กระจายไปจังหวัดต่างๆ ที่เป็นชนบทเพื่อให้มีแพทย์เพียงพอต่อต่อความต้องการ แต่ที่น่าสนใจ คือ ผลิตแพทย์เท่าไหร่ก็ขอลาออกหมด อาจเป็นเพราะภาระหน้าที่งานและค่าตอบแทนที่สวนทางกัน”
“วชิรวิทย์ เลิศบำรุงชัย ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS” ให้มุมมอง “วิกฤตขาดแคลนแพทย์” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า
“ปม ขาดแคลนหมอ ผลิตเท่าไหร่ก็ไหลออกนอกระบบ”
วชิรวิทย์ บอกว่า วิชาชีพแพทย์เป็นวิชาชีพที่ผลิตยากต้องใช้คุณภาพมาก มีข้อสังเกตจากอาจารย์แพทย์บางท่านว่า ถ้าเราเร่งผลิตจำนวนบุคลากรเยอะๆ จะได้แพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานหรือไม่ เพราะมีกระบวนการในการเรียนซับซ้อนมาก จึงอยากจะให้เห็นใจและเห็นความท้าทายในการผลิตแพทย์ ขณะที่เรามีอาจารย์แพทย์น้อย ก็จะผลิตแพทย์ได้น้อยด้วยเช่นกัน ฉะนั้นกรณีแพทย์ขาดแคลนเป็นปมปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนาน ไม่ว่าจะผลิตเพิ่มไปเท่าไหร่ ก็จะไหลออกจากระบบไปหมด จึงทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน
.
“ไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่หมออินเทิรน์ต้องใช้ทุน”
“ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่เขียนกำหนดไว้ ว่าแพทย์จบใหม่ต้องใช้ทุนซึ่งแตกต่างจากวิชาชีพอื่น เพื่อจะได้กระจายไปจังหวัดต่างๆที่เป็นชนบทจะได้มีแพทย์เพียงพอ ที่น่าสนใจ คือ ผลิตแพทย์เท่าไหร่ก็ขอลาออกหมดอาจเป็นเพราะภาระหน้าที่งานและค่าตอบแทนที่สวนทางกัน”
.
“ครม.เคาะปี 68 ต้องผลิตหมอจบใหม่ให้ได้ 3,000 คน/ปี - มุมมองหมอ นโยบาย.สธ.เกาไม่ถูกที่”
วชิรวิทย์ เผยล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขยื่นเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติผลิตแพทย์เพิ่มปีละประมาณ 3,000 คน โดยเริ่มต้นในปี 2568 มีเป้าหมายต้องผลิตแพทย์จบใหม่ให้ได้ 3,000 คน และแพทย์จบใหม่นี้ คือ “หมออินเทิร์น” ที่กระจายตัวไปอยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ หลังจากกรณีแพทย์ไม่เพียงพอ และขอลาออกจากระบบ ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยขยับเพดาน ผลิตแพทย์มาที่ 3,000 คนต่อปี แต่ 3,000 คนตรงนี้ ลาออกไปปีละประมาณ 1,000 คนทุกปี ถือว่าเกือบครึ่งซึ่งเป็นปัญหาของประเทศ ที่ทุกคนก็พยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น เพิ่มค่าตอบแทนให้ในพื้นที่พิเศษและพื้นที่ขาดแคลนแพทย์ อาทิ จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดแม่ฮ่องสอนและบริเวณชายแดนต่างๆ โดยเพิ่งจะมีประกาศออกมาเพิ่มให้ ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข บอกว่าถ้าพื้นที่ไหนขาดแคลนอีก ก็จะประกาศแบบนี้ให้แพทย์หลายคนรู้สึกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจริงๆ
.
“CPIRD โครงการทางเลือกให้คนพื้นที่ทำงานใกล้บ้าน-ภาคใต้ทำสำเร็จตามเป้า-สวนทางภาคอีสาน”
วชิรวิทย์ กล่าวว่า ตอนนี้มีประเด็นร้อนเรื่องการจัดสรรโควต้า เพราะการกระจายแพทย์ทั่วประเทศไม่ได้มีเฉพาะแพทย์ที่ต้องใช้ทุน ในส่วนของโครงการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ( กสพท.) อย่างเดียว แต่มีโครงการเพิ่มการผลิตแพทย์และกระจายแพทย์ไปสู่ชนบท ( CPIRD ) ให้คนในพื้นที่ไปเป็นแพทย์จะได้ทำงานใกล้บ้านโดยไม่ต้องลาออก เช่น หาเยาวชนที่เรียนเก่งในจังหวัด ส่งไปเรียนแพทย์ในโครงการ CPIRD แล้วกลับมาเป็นแพทย์ในโครงการชนบท ทำให้ลดอัตราการลาออกน้อยลง ซึ่งตัวเลขเยาวชนที่เข้าโครงการนี้ แล้วประสบความสำเร็จส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ ปีนี้ทำให้การกระจายแพทย์จบใหม่ไปที่ภาคใต้ ในโครงการของกสพท.หรือที่จบจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่มีโควตาต้องไปภาคใต้แล้ว เพราะว่าเต็มด้วยโครงการ CPIRD ขณะที่ภาคอีสานกลายเป็นปัญหา เด็กที่เข้าไปเรียนในโครงการ CPIRD มีไม่มาก จึงต้องกระจายเด็กภูมิภาคอื่นๆ เข้าไปใช้ทุนในภาคอีสาน เป็นประเด็นว่าอยู่ไกลบ้านทำงาน 1 ปี แล้วจะขอลาออก
.
“หมอเหมือนคนปกติทั่วไป เมื่อถึงวัยอยากสร้างครอบครัว”
เรื่องการกระจายแพทย์และการกระจุกตัว เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งแพทย์ไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป พอถึงช่วงวัยหนึ่งก็อยากจะสร้างครอบครัว การที่แพทย์อยู่พื้นที่ไกลอาจจะทำให้ห่างครอบครัว และห่างความเจริญต่างๆ จึงอยากจะอยู่ในเมืองที่สะดวกสบาย เช่น บางจังหวัดเงียบสงบมาก เวลาไปเที่ยวนั้นไปได้ แต่หากจะให้ไปทำงานตลอดชีวิตก็อาจต้องคิดเหมือนกัน ทำให้การใช้ชีวิตไม่บาลานซ์กัน ตรงนี้อาจต้องมีสวัสดิการเพิ่มเติมจูงใจให้แพทย์ไปอยู่ในพื้นที่ชนบท เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนได้หรือไม่
.
“ค่าตอบแทน เป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก-รพ.เอกชนได้มากกว่ารพ.รัฐ 3 เท่า”
แนวทางของภาครัฐที่วางไว้ เพื่อลดภาระปัญหาและการกระจาย ให้แพทย์เพียงพอกับพื้นที่ต่างๆ มีหลายแนวทางมาก ผมเคยเข้าไปนั่งฟังคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีตัวแทนจากสหภาพเพศผู้ปฏิบัติงาน , ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปเคลียร์ใจ ว่าสามารถแก้ไขปัญหาหรือแพทย์อยากได้อะไรเพิ่มเติม เพื่อที่จะไม่ออกออกจากระบบราชการ ปรากฏว่าเรื่องแรก คือ ค่าตอบแทน แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ มีค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าแพทย์โรงพยาบาลเอกชนถึง 3 เท่า เช่น แพทย์โรงพยาบาลรัฐได้ค่าตอบแทน 300,000 บาท แต่แพทย์โรงพยาบาลเอกชนได้ถึง 1 ล้านบาท โดยคูณ 3 เข้าไป ถือเป็นช่องว่างของค่าตอบแทนที่ห่างเยอะมาก และเป็นข้อเรียกร้องว่าอาจจะไม่ต้องเท่ากับเอกชนก็ได้ แต่ให้มีความใกล้เคียงกัน เพราะหากไม่เพิ่มค่าตอบแทน แพทย์ก็จะลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติหากเราทำงาน ก็ต้องดูว่าที่ไหนให้เงินเดือนมากกว่า แม้เรื่องความสบายใจในการทำงานเป็นส่วนหนึ่ง แต่เรื่องค่าตอบแทนก็ปฏิเสธไปไม่ได้
.
“10 ปีค่าหัตถการคนไข้ไม่ปรับเพิ่ม”
วชิรวิทย์ บอกว่า หากย้อนไปดูข้อมูลในเอกสารเกี่ยวกับทำหัตถการต่างๆ จะพบว่าไม่มีการปรับค่าแรงแพทย์ที่ทำหัตถการคนไข้มาเกือบ 10 ปีแล้ว เช่น ค่ากรีดหนองที่ก้นคนไข้ยังอยู่ที่ 200 บาท ผ่านมาเกือบ 10 ปีก็ยังอยู่ที่ 200 บาท ไม่มีการเพิ่มค่าตอบแทนตามอัตราเงินเฟ้อเลย แพทย์บอกว่าหากค่าตอบแทนของโรงพยาบาลรัฐ สมเหตุสมผลก็อาจจะจูงใจให้ยังอยู่ในระบบ และทำงานในพื้นที่ที่ขาดแคลนแพทย์ต่อไปได้
.
“เสนอปรับบทบาท สธ.เป็นเพียงผู้ควบคุม-แยกรพ.เป็นอิสระทั่วปท.-ควบคุมชั่วโมงทำงาน”
อีกเรื่องที่มีการเสนอ คือ แยกโรงพยาบาลชุมชนออกจากสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้หรือไม่ และปรับบทบาทของสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข จากที่เคยเป็นลักษณะเจ้าของโรงพยาบาล มาเป็นแค่หน่วยงานกำกับดูแลคือ เป็นแค่ผู้ที่ให้นโยบาย แล้วเอาโรงพยาบาลเหล่านี้ออกนอกระบบ ให้ไปบริหารจัดการเองเขาอาจจะมีวิธีบริหาร ที่จูงใจแพทย์ให้ทำงานหรือมีความยืดหยุ่นในเรื่องของค่าตอบแทนได้มากกว่า รวมทั้งการณีควบคุมชั่วโมงการทำงาน เพราะแพทย์ทำงานเกิน 24 ชั่วโมงต้องอยู่เวรควงกะ เวลาทำงานติดกันเป็น 48 ชั่วโมง ตรงนี้อาจจะแก้ได้ถ้าจำนวนแพทย์มีมากพอ จะมีการแบ่งเวรกันได้อย่างลงตัวมากขึ้น ทำให้การอยู่เวรเบาลง หลายเรื่องพูดง่ายแต่ในทางปฏิบัติอาจติดกฎระเบียบของทางราชการมาก
.
“ค่าตอบแทนผูกกับก.พ.ทำล่าช้า เป็นเหตุให้ลาออก”
แพทย์อยู่ในระเบียบก.พ. การขึ้นเงินเดือนต้องเป็นไปตามระบบราชการ แต่หากเรานำแพทย์ออกจากระบบก.พ. มาเป็นพ.ร.บ.ของกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะ กระทรวงสาธารณสุขมาทำงานบุคคลหรือทำงาน HR เอง ก็จะคุยกันรู้เรื่องมากกว่าหรือไม่ ที่จะปรับค่าตอบแทนให้สอดคล้องและบริหารทรัพยากรอื่นๆด้วย เพราะนอกจากแพทย์แล้วยังมีพยาบาล , เภสัชกรและมีหมอสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในองคาพยพเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เมื่อค่าตอบแทนอยู่กับก.พ. จะบริหารบุคคลไม่ทันจึงทำให้คนลาออก
.
“ชี้ไม่มีหมอ ยอมไปพื้นที่ชนบท หากปลดล็อคโดยไม่ต้องใช้ทุน”
“ถ้าปลดล็อคโดยแพทย์ไม่ต้องใช้ทุน อาจไม่มีแพทย์คนไหนเลยที่อยากจะไปทำงานชนบท แต่การใช้ทุน คือ การบังคับให้ต้องไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล โดยจับฉลากเป็นการวัดดวง ฉะนั้นไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ต้องไปอยู่ดี แต่ถ้าไปแบบไม่เต็มใจทำงานไม่มีความสุข 1 ปีผ่านไปก็ลาออกแล้วมาเสียค่าปรับ ก็จะเห็นว่าหลายคนที่บ้านมีเงินและครอบครัวมีความพร้อมก็ยอมลาออก จึงเป็นเรื่องที่หนักใจว่าหากจะปลดล็อคระเบียบนี้ ต้องคิดต่อว่าจะบังคับให้แพทย์จบใหม่คนไหนไปทำงานต่างจังหวัดได้หรือไม่ก็อาจจะไม่มีคนไป ฉะนั้นจะต้องหาจุดสมดุล สิ่งที่จุดสมดุล คือ สวัสดิการดูแลแพทย์ดีขึ้นได้หรือไม่ มีสวัสดิการให้แพทย์ที่ไปอยู่ต่างจังหวัด อาทิ บ้านพักและสภาพแวดล้อมในที่ทำงานก็สำคัญ ซึ่งตัวผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่มีบทบาทสำคัญ ที่จะเยียวยาคุณหมอเหล่านี้ ให้คุณหมอใช้ทุนจนครบหมดแล้ว ก็ไปเรียนต่อเฉพาะทางตามสายอาชีพ”
.
“ทุกรพ.มี HA ตรวจสอบประเมินการทำงาน-หมอ โอด งานเอกสารทำภาระงานเพิ่ม”
ส่วนการประกันคุณภาพสถานพยาบาล หรือ HA เป็นสิ่งที่แพทย์ทุกคนพูดว่าเป็นงานที่นอกเหนือจากงานรักษาคน ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลต้องได้รับการประเมินเช่นกัน โดยมีสรพ.หรือ HA เข้าไปประเมินดูกระบวนการคุณภาพเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งเป็นกระบวนการที่จำเป็น แต่อาจจะต้องลดความเสี่ยงต่อในเรื่องของการทำงานด้านเอกสาร เพื่อที่โรงพยาบาลจะผิดพลาดไม่ได้เลย เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตคน เช่น การให้เลือดผิดกรุ๊ปถือว่าเป็นการสอบตกเรื่องการทำงานคุณภาพ ฉะนั้นทุกโรงพยาบาลจะถูกประเมินเรื่องนี้เพื่อทบทวนอยู่สม่ำเสมอ แต่การทบทวนลักษณะแบบนี้อาจจะต้องลดขั้นตอน เรื่องเอกสารลง เพราะที่ผ่านมาแพทย์หลายคนสะท้อนว่าเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นมา
.
“ต้องกรอกเอกสารให้ครบ เหตุ เอี่ยวงบประมาณเบิกเงิน”
นอกจากเรื่องงานประกันคุณภาพแล้วยังมีงานเสมียน ที่สำคัญจะต้องมีการกรอกว่า “คนไข้คนนี้รักษาอะไรไปแล้วบ้าง ตรวจอะไรไปบ้าง ทำหัตถการอะไรป่วยอะไร” หากคุณหมอกรอกไม่ครบก็จะเบิกเงินจากสปสช. ได้ไม่ครบ ตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่ ที่จะเกี่ยวพันไปถึงเรื่องงบประมาณบัตรทอง เพราะคนไข้ส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลใช้สิทธิ์บัตรทอง หากจะเบิกจากบัตรทองได้แพทย์ต้องกรอกให้ครบ ถ้ากรอกไม่ครบเขาก็จ่ายเงินมาไม่ครบ โรงพยาบาลก็ขาดทุนทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายค่าล่วงเวลาหรือ OT แพทย์ ตรงนี้ไม่ใช่เงินมาจากกรมบัญชีกลาง เพราะการจ่าย OT โรงพยาบาลต้องควักจ่าย แม้ว่าเงินเดือนของแพทย์มาจากกรมบัญชีกลาง แต่ถ้าอยู่เวรทำงานล่วงเวลา เงินบำรุงโรงพยาบาลก็มาจากการเก็บคนไข้ที่มีหลักประกันต่างๆ ซึ่งบัตรทองเบิกยากที่สุดและเป็นปัญหาตอนนี้ที่เกี่ยวพันกับปัญหาของสาธารณสุข
.
“แนะแก้ปัญหาที่ต้นตอ ต้องรักษาสุขภาพ”
วชิรวิทย์ กล่าวปิดท้ายว่า “ต่างประเทศมีการบริหารจัดการคนไข้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว มีแพทย์ตามมาตรฐาน เช่น ญี่ปุ่นมีแพทย์หนึ่งคนต่อประชากร 600 คน ที่น่าสนใจ คือ คนป่วยประเทศญี่ปุ่นพบหมอได้ยากมาก ขณะที่ประเทศไทยพบหมอได้ง่ายมาก ตรงนี้เป็นลักษณะพิเศษ เช่น ห้องฉุกเฉินเปิดตลอด 24 ชั่วโมง คนที่จะเข้าไปในห้องฉุกเฉินแค่อาเจียนหรือเป็นไข้ตอนกลางคืน ก็เดินเข้าห้องฉุกเฉินแล้ว ซึ่งอาการอาจจะไม่ใช่สีแดงหรือวิกฤต แต่แพทย์ไทยใจดีรักษาให้เพราะมาตอนดึก ซึ่งรู้สึกสงสารแพทย์ไทยเพราะทำงานหนัก เพราะฉะนั้นจุดที่เราทำได้ คือ ต้องกลับมาดูแลสุขภาพตัวเอง ไม่เจ็บป่วยดีกว่าเป็นการแก้ที่ต้นทางด้วย”

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5