"สาเหตุหลัก ๆ มาจากเหมืองแร่บริเวณต้นแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย ในฝั่งพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มกองกำลังว้า หรือพื้นที่รัฐฉานตอนใต้ ชาวบ้านบอกว่า เป็นเมืองแร่ที่เป็นของกลุ่มทุนจากจีนมาเช่าพื้นที่ และขยายพื้นที่ทำเหมืองแร่ เป็นเมืองทองโดยวิธีการสกัดทองออกมา โดยใช้สารไซยาไนด์"
“โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวสังคม ศูนย์ข่าวภาคเหนือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” กล่าวถึง "สถานการณ์วิกฤตแม่น้ำกก-สาย-โขง สารพิษข้ามพรมแดน” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ว่า ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน เป็นเวลา 1-2 เดือนแล้ว ที่ตรวจเจอสารพิษในแม่น้ำกก ตอนนี้คนเชียงรายหลายพื้นที่ที่แม่น้ำกก และแม่น้ำสายไหลผ่าน ใช้น้ำไม่ได้เลย ซึ่งทางจังหวัดย้ำไม่ให้ใช้น้ำจากแม่น้ำกก โดยเฉพาะลงไปสัมผัสโดยตรง เพราะเสี่ยงมาก ก่อนหน้านี้เจอสารหนูค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ ตั้งแต่ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และ 6-7 อำเภอของจังหวัดเชียงราย ก็ตรวจพบสารหนูเยอะ แต่พื้นที่ด้านล่างอาจจะไม่มากเหมือนต้นน้ำ แต่ก็ถือว่า เยอะที่เจอสารหนู ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน
“ชาวบ้านไม่มั่นใจ ยอมซื้อน้ำดื่มเพื่อแปรงฟัน”
ส่วนการใช้ชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่นั้น โกวิท เล่าว่า บางคนต้องซื้อน้ำดื่มขวดเพื่อมาแปรงฟัน เพราะไม่มั่นใจ ซึ่งตนได้ไปดูการทำงานของการประปาส่วนภูมิภาค จังหวัดเชียงราย ทั้งกระบวนการผลิตประปาแม่สาย และประปาเชียงราย ซึ่งประปาเชียงรายมีอยู่ 42,000 ครอบครัว ต้องใช้น้ำปริมาณมาก เพราะเทศบาลเชียงรายคนมีอยู่นับหมื่นที่ไม่มีความมั่นใจ แม้จะบอกว่า สามารถใช้น้ำอุปโภคบริโภคได้ แต่หลายคนที่ตนคุยมา เหมือนกับเราเอาสารหนูแล้วนำไปกรอง ซึ่งไม่มีใครกล้าดื่ม เพราะมันเสียความรู้สึกไปแล้ว และสิ่งที่สำคัญ คือ จะต้องตรวจว่า ไม่เจอสารหนูแล้ว หรือเจอน้อยมาก ๆ เพราะความรู้สึกของคน สามารถจินตนาการ และรู้สึกได้ว่าไม่ปลอดภัย เหมือนต้องกินยาพิษแล้วกรองอย่างดีแล้ว และบอกว่าสะอาด
“กระทบความเชื่อมั่น เศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวเชียงราย”
ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในเชียงรายนั้น โกวิท บอกว่า เชียงรายเป็นเมืองท่องเที่ยวมีโรงแรมระดับ 4 ดาวหรือ 5 ดาวใหญ่ ๆ มีผลตรวจน้ำของโรงแรมออกมาตามสื่อออนไลน์ของโรงแรมดัง ๆ เปิดเผยว่า ปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ให้มาเที่ยวเชียงราย ซึ่งเรื่องนี้กระทบไปถึงความเชื่อมั่นเรื่องการท่องเที่ยวด้วย และความเชื่อมั่นเรื่องน้ำบริโภค มีการตั้งคำถามที่ใหญ่มาก ๆ ของคนในพื้นที่ว่า จะมีทางออก และจะแก้ไขอย่างไร เพราะมันคือชีวิต ที่จะต้องมาเสี่ยงอยู่กับเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐาน สุขภาพอนามัยที่ดี ที่ตอนนี้คนพื้นที่คิด กังวล ระแวงและกลัวไปหมด เวลาซื้อผักปลาถามก่อนว่ามาจากแหล่งไหน
“อธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่ตรวจสอบ - แนะงดกินปลาน้ำกก-น้ำโขง”
โกวิทย์ บอกว่า นอกจากน้ำที่พบสารพิษ ก็ยังเจอตะกอนดินต่าง ๆ กระทบกับปลา ทำให้ปลาติดเชื้อ ซึ่งมหาวิทยาลัยนเรศวร จะนำผลไปวิจัยต่อว่า เป็นผลข้างเคียงจากที่เกิดจากสารพิษต่าง ๆ หรือสารหนูหรือไม่ ส่วนในตัวปลา มีการตรวจวิจัย 2 รอบแล้ว โดยประมงจังหวัดวิจัยครั้งแรก ก็ตรวจพบสารปรอท แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน รวมถึงสารหนู ส่วนครั้งที่ 2 พบสารปรอท ซึ่งแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่บอกว่า ให้คำแนะนำว่า ควรงดบริโภค และพยายามเลี่ยงกินปลา ทั้งในลำน้ำกก กับลำน้ำโขง ที่เชื่อมกันอยู่เพราะเจอสารเหล่านี้ แม้จะไม่เกินปริมาณค่ามาตรฐานเช่นกัน
“สารพิษน้ำกก-น้ำสาย-ฯลฯ แนวโน้มยังสูงขึ้น”
โกวิทย์ บอกว่า ที่จังหวัดเชียงรายตอนนี้เดินหน้าไปหลายเรื่อง มีการตรวจทุกอย่าง ซึ่งการตรวจสารพิษในแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย หรือแม่น้ำสายต่าง ๆ แล้ว 3 ครั้งแนวโน้มของสารพิษที่เจอ ยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้น หมายความว่า ปัญหาเรื่องสารพิษ หรือสารเคมีบริเวณต้นแม่น้ำกก ยังไม่ได้ถูกแก้ไข และยังมีการปล่อยสารพิษเหล่านี้ หรือสารเคมีเหล่านี้ลงสู่ลำน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก ๆ ก่อนหน้านี้ตนได้ลงพื้นที่กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเก็บตัวอย่าง และรวบรวมข้อมูล ผลกระทบในเรื่องของสารพิษทุกด้านว่า เป็นเรื่องของสุขภาพ เศรษฐกิจ และที่สำคัญเกิดสารพิษสารเคมีอย่างนี้ปนเปื้อนลำน้ำ
“น้ำ คือ ชีวิตของชาวบ้าน-ส่งผลกระทบลูกโซ่”
โกวิทย์ บอกว่า พื้นที่บริเวณนี้น้ำ คือ ชีวิตจริง ๆ เพราะชาวบ้านผูกพันกับสายน้ำ เช่น ทำการเกษตรปลูกพืช ต้องใช้น้ำจากแม่น้ำกก และจากลำน้ำสาย แม้ผลตรวจของเกษตรจังหวัดบอกว่า ไม่เจอการปนเปื้อนผลผลิตของพืชผลทางการเกษตร แต่ต้องเฝ้าระวัง เพราะสารเหล่านี้ สะสมระยะยาวในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดเชียงราย มีแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่ ตั้งแต่ลุ่มน้ำกกทั้งหมด จนถึงข้าวโพด และพืชผักต่าง ๆ รวมถึงการเกษตรริมน้ำ และธุรกิจต่าง ๆ เช่น ร้านขายปลา ไม่มีคนรับซื้อ-ส่งขายไม่ได้ ซึ่งกระทบกันไปหมด และผักที่ปลูกตามริมน้ำ ก็ต้องงดและเลี่ยงไปก่อน ต้องซื้อผักที่ปลูกจากแหล่งน้ำอื่น รวมถึงนำเข้าจากที่อื่น แม้ว่าทางจังหวัดเชียงราย แถลงยืนยันตั้งแต่มีข่าวช่วงแรก ๆ ว่า ยังคงดื่มน้ำ หรืออุปโภคบริโภคได้ สวนน้ำตื้นต่าง ๆ หลายจุดเท่าที่ตัวเลขของทางการออกมายังไม่พบว่า มีสารหนูหรือมีสารพิษปนเปื้อนเกินมาตรฐาน
“กองกำลังว้า" ทำเหมืองแร่ ต้นเหตุสารพิษน้ำกก-น้ำสาย”
โกวิทย์ บอกว่า ตนพยายามติดตามข่าว จนมีเอกสารของหน่วยงานรัฐ ทั้งกรมทรัพยากรธรณีที่ตรวจสอบตะกอนดิน ที่น่าจะมาจากการทำเหมืองแร่บริเวณต้นแม่น้ำสาย ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น ที่ต้องไปสืบหาข้อมูลว่า ต้นน้ำสายมีเหมืองแร่หรือไม่ ซึ่งความจริงพยายามที่จะเข้าไปในพื้นที่ข้างใน แต่ก็เป็นปัญหา เพราะเป็นพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มว้า ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ แต่มีภาพและข้อมูลออกมาตรงจุด ที่ทุกคนรู้ว่า มีเหมืองแร่หรือบริเวณต้นน้ำสาย
“สาเหตุหลัก ๆ มาจากเหมืองแร่บริเวณต้นแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย ในฝั่งพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มกองกำลังว้า หรือพื้นที่รัฐฉานตอนใต้ ซึ่งข้อมูลภาพถ่ายทางดาวเทียมก่อนหน้านี้ ที่พยายามหาดูว่า มีเหตุการณ์ หรือมีการทำกิจกรรมอะไรบ้าง และข้อมูลที่ตรวจสอบจากแหล่งข่าว และจากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ ที่เข้าทำงานในเชิงพื้นที่ และเปิดเผยข้อมูลเป็นกลุ่มแรก ๆ เกี่ยวกับเมืองแร่บริเวณต้นน้ำ ประกอบกับผมได้ติดตามในพื้นที่มาหลายเดือนแล้ว เพราะสนใจสถานการณ์น้ำท่วมที่แม่สายช่วงแรก ๆ ว่า ทำไมโคลน และดินถึงมากมายมหาศาล ก่อนหน้านี้ในปี 2565 ก็เคยสงสัยตั้งแต่ช่วงที่พายุมู่หล่านพัดผ่านประเทศไทย เกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมที่แม่สาย แต่พอมาเจอครั้งนี้มันมากกว่าทุกครั้ง” โกวิท ระบุ
“จีนเทาเช่าพื้นที่ทำเหมืองใช้ไซยาไนด์สกัดทอง"
โกวิทย์ บอกว่า แม่น้ำสายหลักที่ปนเปื้อนอยู่ที่ จังหวัดเชียงราย มีแม่น้ำสาย แม่น้ำกก และแม่น้ำโขงที่ไหลลงน้ำโขง ซึ่งผมกับทีมข่าวภาคเหนือ ลงไปตรวจบริเวณใกล้กับชายแดนได้เห็นเลย และตกใจมากว่า ทำไมบริเวณชายแดนมีเหมืองแร่ขนาดกว้าง และใหญ่มาก จึงไปคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านบอกว่า เป็นเมืองแร่ที่เป็นของกลุ่มทุนจากจีน มาเช่าพื้นที่ และขยายพื้นที่ทำเหมืองแร่ ชาวบ้านบอกว่า เป็นเมืองทองโดยวิธีการสกัดทองออกมา โดยใช้สารไซยาไนด์ สกัดตัวทองออกมา
“กรมทรัพยากรธรณี เก็บตัวอย่างดิน อ.แม่สาย 5 จุดตรวจ”
โกวิทย์ บอกว่า มีการตั้งคำถามว่า ตรงนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสารพิษ หรือสารเคมีที่มีการเปิดหน้าดินกว้างมาก บริเวณลำน้ำสายในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ และเมื่อมีฝนตกลงมาในพื้นที่อย่างหนัก อาจทำให้โคลนเหล่านี้ไหลมากับน้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการนำดินไปตรวจส่วนหนึ่ง และดินเหล่านี้น่าจะมาจากดิน ที่เป็นชั้นลึก เป็นหินชั้นแกรนิต ดังนั้น อาจจะเป็นดินที่เกิดจากการเปิดหน้าดิน จากการทำเหมืองแร่ ซึ่งตรงนี้เป็นข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณีของประเทศไทย ที่มีการเก็บตัวอย่างดิน 5 จุดจาก อำเภอแม่สายในช่วงนั้น
“ชาวบ้านสิ่งแวดล้อมฯ จ.เชียงใหม่ 2 เดือนยังไร้ทางแก้”
โกวิทย์ บอกว่า ส่วนกรณีแม่น้ำกกนั้น นักสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ เปิดเผยข้อมูลตรงนี้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากชาวบ้านที่ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เรียกร้องเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ จังหวัดเชียงใหม่ นำตัวอย่างไปตรวจแล้ว เป็นจุดเริ่มต้นของข่าวการเจอสารหนู และตะกั่ว ที่อำเภอแม่อาย ซึ่งตนได้โทรศัพท์สอบถามนายอาวีระ ภัคมาตร์ ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 ได้เปิดเผยข้อมูล ทำให้ผู้คนตกใจว่า ทำไมแม่น้ำถึงขุ่น และด้วยสาเหตุนี้เองหรือไม่ จึงเป็นที่มาของหน่วยงานต่าง ๆ ได้เร่งตรวจหาสาเหตุ พยายามแก้ไขปัญหาสารพิษตัวนี้ จนมาถึงปัจจุบันจะ 2 เดือนแล้วยังแก้ไขไม่ได้
“รบ.เตรียมใช้แผนที่จีสด้าเคลียร์เมียนมา พร้อมตั้งศูนย์แก้ปัญหาในพื้นที่”
โกวิทย์ บอกว่า ปลายเดือนที่ผ่านมา นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมยืนยันจะเจรจากับฝั่งเมียนมา ซึ่งตนก็สอบถามว่า ข้อมูลที่จะไปเจรจากับฝั่งเมียนมาร์มีอะไรบ้าง นายประเสริฐ ก็บอกว่า มีแผนที่ของ “จีสด้า” ที่สามารถเห็นการทำกิจกรรมในบริเวณนั้น เป็นแผนที่ทั้งน้ำกก และน้ำสายอย่างน้อยประมาณ 40 แปลงในการเปิดพื้นที่เหมือง ซึ่งมีจำนวนมาก ที่จะนำไปพูดคุย และเจรจาแบบทวิภาคีเฉพาะกับทางเมียนมาและไทยว่า สาเหตุหลัก ๆ เกิดจากตรงนี้จริงหรือไม่ และจะร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยเบื้องต้นมอบหมายให้กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ประสานนัดวันเวลา ขณะเดียวกัน ได้ตั้งศูนย์ส่วนหน้าขึ้นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดเชียงรายโดย มีนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ดูแลบัญชาการการให้ข้อมูลกับประชาชน รวมถึงการแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการแก้ไขปัญหา
"ว้า-เมียนมา" ยังโยนแก้ปัญหาทำเจรจายาก-ล่าช้า
โกวิทย์ ยังเล่าว่า ตนเคยคุยกับเสนาธิการกองกำลังผาเมือง ซึ่งบอกมีการคุยกับว้าหลายครั้งแล้ว แต่คำตอบที่ได้ คือ ว้าโยนไปให้ไปคุยกับทางเมียนมา แต่พอทางคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (TBC) บริเวณชายแดนท่าขี้เหล็ก และอำเภอแม่สายของไทย บอกว่า เมียนมาตอบกลับมาว่า ให้ไปคุยกันเอง ซึ่งเหมือนกับโยนกันไปมา เป็นสิ่งที่ทำให้คนทำข่าวในเชิงพื้นที่เห็นว่า แม้แต่ท้องถิ่นเอง ยังเจรจาพูดคุยกันไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจว่า การเข้าพื้นที่ของว้าซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพล ไม่ได้เข้าง่าย ๆ และการจะเข้าไปแต่ละจุดนั้น ต้องส่งชื่อ และมีด่านสกัดแต่ละจุดก่อนที่จะเข้าไปในพื้นที่
โกวิทย์ บอกว่า ส่วนอื่น ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ของเขา เช่น ของกลุ่มอิทธิพลว้า หรือกลุ่มนักลงทุนจากต่างชาติที่ยังไม่เจรจาไปถึง แต่จะมีการพูดคุยกับทางการเมียนมาก่อน ส่วนอื่น ๆ จะเข้ามาแก้ไขปัญหาในอนาคต ซึ่งตรงนี้ ก็ต้องมีการพูดคุยกันต่อ เพราะช่วงนี้เข้าหน้าฝน ก็จะเสี่ยงเกิดดินโคลนถล่ม บริเวณพื้นที่ต้นน้ำด้วย และพื้นที่ท้ายน้ำซึ่งอยู่ในฝั่งไทย คือ บริเวณอำเภอแม่สาย ซึ่งน่ากังวลมาก เพราะปีนี้น้ำท่วม 2 รอบแล้ว และพื้นที่เมืองเชียงราย ก็ยังเป็นจุดที่ต้องเฝ้าระวังอีกเช่นกัน เพราะตนลงพื้นที่ 2-3 วันนี้ ยังมีโคลน-ทรายเยอะมาก
“ผอ.บูรณะนิเวศ ชี้ทำงาน 30 ปี ยังไม่เคยสารพิษกว้างใหญ่เท่านี้”
โกวิทย์ บอกว่า คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการบูรณะนิเวศ บอกว่าตั้งแต่ทำงานสารพิษมา 30 ปี ไม่เคยเจอแหล่งสารพิษที่มีบริเวณกว้าง และขนาดใหญ่ที่สุดเท่านี้ พอตนฟังแล้วก็ตกใจ เพราะได้ลงพื้นที่ไปดู ทั้งลุ่มน้ำกก และลุ่มน้ำสายเฉพาะ 2 ลุ่มน้ำ ยังไม่รวมพื้นที่ฝั่งเมียนมาและยังไม่รวมแม่น้ำโขงตอนบน ที่ไหลลงไปในฝั่ง สปป.ลาว และเมียนมา เห็นว่า น่าจะกระทบเยอะไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคน ที่จะต้องใช้น้ำกก น้ำสายในการดื่มกิน และอุปโภคบริโภค การเกษตร ซึ่งกระทบกว้างมากจากสารพิษ และสารเคมีตรงนี้
“ยอมรับอุปสรรครายงานข่าวอื้อ-เข้าพื้นที่ไม่ได้”
ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการรายงานข่าวนี้นั้น โกวิท บอกว่า การทำงานช่วงแรก ๆ มีอุปสรรคเยอะ และกว่าจะพบสาเหตุว่า มาจากเมืองแร่ ตนพยายามนำเสนอข่าวเรื่องนี้ 6-7 เดือนแล้ว แต่ปัญหาคือ ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ และข้อมูลที่ทำได้คือ จากภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA ที่ออกไป ตนต้องหาข้อมูลและความรู้ด้านภูมิศาสตร์, ด้านสารพิษ ,ด้านน้ำ และต้องพูดคุยเยอะมาก แต่สิ่งที่รอมามากที่สุด คือ รู้ว่ามีสารพิษ ซึ่งข้อมูลที่ตนเก็บมา และพยายามนำเสนอให้ประชาชน แจ้งเตือนชาวบ้านในพื้นที่ และต้องยอมรับว่า ภาครัฐพยายามนำเสนอเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ขณะเดียวกันภาควิชาการ และภาคประชาสังคม มีข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง และมีข้อมูลบางอย่างที่ไม่ตรงกัน มีข้อมูลบางอย่างที่ต้องอาศัยความชัดเจนของพื้นที่ ของหน่วยงานที่สร้างความมั่นใจกับชาวบ้าน
“ชาวบ้านคาดหวังศูนย์บัญชาการส่วนหน้าแก้ปัญหา"
โกวิทย์ บอกว่า สิ่งที่ชาวบ้านคาดหวังมากที่สุดตอนนี้ คือ ศูนย์บัญชาการส่วนหน้าที่ตั้งขึ้นมาจะมีบทบาทอย่างไร รัฐบาลบอกกับประชาชนจะเชิงรุก จะทำอย่างไรเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา ทั้งการตั้งรับของคนในพื้นที่ และการสร้างความเชื่อมั่นในการอุปโภคบริโภค อาหารการกินให้จังหวัดเชียงรายได้อย่างไร และที่สำคัญมากที่สุด และเป็นข้อเรียกร้องของทุกส่วน
"ชาวเชียงรายเตรียมรวมตัว 5 มิ.ย.จี้จังหวัด รัฐบาลไทย-จีน-เมียนมาร์แก้ปัญหา"
โกวิทย์ ยังเปิดเผยว่า ภาคประชาชน จะมีการลุกออกมารวมขบวนครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น ของคนเชียงรายในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อที่จะไปยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐบาลไทย จีน และเมียนมา เพื่อข้อเดียว คือ การยุติการทำเหมืองแร่ บริเวณต้นแม่น้ำกก แม่น้ำสาย ไม่ให้แม่น้ำมีสารพิษ และต้องเร่งการฟื้นฟู ซึ่งที่ผ่านมา มีการออกแบบไว้หลายอย่าง มูลค่าของฝาย รวมถึงการจัดการมลพิษตรงนี้เป็นหมื่น ๆ ล้านในการแก้ปัญหา มันมหาศาลมาก นอกจากเรื่องของการสร้างฝาย และเรื่องของตะกอน ยังไม่รวมเรื่องน้ำท่วมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้มีผลกระทบเยอะ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสารพิษอย่างเดียว แต่มีหลายเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ 11.00 น. ถึง 12.00 น. โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5