เสวนา “ทางออกโทษประหาร กับปัญหากระบวนการยุติธรรม” มองพฤติกรรมรุนแรงสะท้อนจากครอบครัว ชี้สังคมเหลื่อมล้ำ-เชื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตได้ยาก หนุนยกเครื่องกระบวนการยุติธรรมให้เชื่อถือได้

เสวนา "ทางออกโทษประหาร กับปัญหากระบวนการยุติธรรม" มองพฤติกรรมรุนแรงสะท้อนจากครอบครัว ชี้สังคมเหลื่อมล้ำ-เชื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตได้ยาก หนุนยกเครื่องกระบวนการยุติธรรมให้เชื่อถือได้


เมื่อวันที่ 8 ก.ค. เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ"ทางออกโทษประหาร กับปัญหากระบวนการยุติธรรม" โดยมี รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการ สันติศึกษา และพ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ เป็นวิทยากรผู้เสวนา

รศ.ดร.สุณีย์ กล่าวว่า ในเชิงอาชญาวิทยามองการกระทำความผิดเป็นเรื่องพฤติกรรม ในเรื่องทฤษฎีเกิดจากสังคม จากพันธุกรรม หรือการขาดสารบางประเภทหรือไม่ โดยสาเหตุการกระทำความผิดไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง จึงต้องดูตั้งแต่วัยเด็กว่ามีเหตุอะไรมากระทบจิตใจ อาทิ ความรุนแรงในครอบครัว การถูกรังแกตั้งแต่เด็ก หรือการไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อน จากนั้นเมื่อโตขึ้นมาพบกับกระบวนการขัดเกลาทางสังคมก็ทำให้มีผลกระทบเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะการขาดผู้ที่คอยประคับประคอง ทำให้มีการเบี่ยงจากพฤติกรรมที่ทำผิดพลาด แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่จะเป็นผู้กระทำผิด เพราะหลายคนกลับกลายเป็นคนดีได้ ส่วนการก่ออาชญากรรมนั้น ถ้ามาจากครอบครัวที่กระทำควาผิดด้วย ก็อาจจะทำให้ลูกหลานกระทำความผิดได้ ที่ผ่านมาในคดีต่างๆ พบว่าผู้ที่กระทำผิดมีเยาวชนไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะมีการไกล่เกลี่ยตั้งแต่เริ่มต้น หากนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะเป็นเรื่องติดลบมากกว่า ซึ่งคดีเยาวนขณะนี้มีประมาณ 3-4 หมื่นคน โดยพบว่าจะกระทำความผิดในกรณีเดียวกับผู้ใหญ่ในคดีต่างๆ เช่นคดียาเสพติด

"ยังเชื่อมั่นในกระบวนการขัดเกลาทางสังคม อยากให้มีการเปิดโอกาสและยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่อยากให้เป็นการตีตรา โดยในกระบวนการสุดท้ายควรเป็นกระบวนการช่วยกันหรือให้โอกาส โดยผู้ต้องหาที่ปล่อยออกมาก็มีหลายคนเป็นคนดีแล้ว เพื่อให้กระบวนการยอมรับคนเหล่านี้มีพื้นที่ยืน เป็นความภูมิใจในความเป็นมนุษย์ วันนี้อยากให้เปิดใจไปด้วยกัน เพื่อไม่ให้สังคมต้องมาถึงอะไรบางเรื่อง แต่ถ้าสังคมตีตราเขาก็ต้องกลับไปจุดเดิมได้"รศ.ดร.สุณีย์ กล่าว

 

นายอนันต์ชัย กล่าวว่า ตั้งแต่เป็นทนายมา 34 ปี การว่าความแต่ละครั้งจะดูตามพยานหลักฐาน โดยในคดีวัยรุ่น 7 คนทำร้ายคนพิการนั้นรู้ว่าผู้ที่ถูกกระทำมาจากการกระทำที่โหดร้ายมาก มีการรุมทำร้ายจากวัยรุ่นกว่า 10 แผล เมื่อเห็นข้อเท็จจริงตรงนี้จะเห็นภาพความทรมานของคนตาย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงล้วนๆ ไม่ได้เกี่ยวกับทฤษฎีเลย ส่วนการพิพากษาประหารชีวิตจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคน มีหลายคดีที่พบว่ามีดวงวิญญาณก็ไม่เคยสงบสุข ขณะที่ญาติก็มีความทุกข์ เพราะเรื่องชีวิตที่ชดใช้ด้วยชีวิตเป็นเรื่องที่สะเทือนใจที่สุด การประหารชีวิตเกิดขึ้นไม่ได้ ตราบใดยังมีความเหลื่อมล้ำ เพราะอาชญากรส่วนใหญ่ไม่มีเงินหรือด้อยการศึกษา ทำให้เป็นอาชญากรโดยอาชีพจึงต้องทำให้สังคมเสมอภาคกัน ดังนั้นเชื่อว่าจะยังไม่มีการยกเลิกการประหารชีวิต ถ้าสังคมยังเหลื่อมล้ำกันแบบนี้ เพราะทางออกเห็นว่ายังหาไม่เจอ ทำให้โทษประหารยังต่อมีต่อไป

"ผมจะเป็นทนายความที่มีความสุขที่สุดในโลกถ้าวันนั้นไม่มีโทษประหารแล้ว แต่วันนี้เรายังมีสังคมในอุดมคติอยู่ แต่การยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ยาก ที่ผ่านมาต้องดูที่กระบวนการยุติธรรมต้นน้ำตั้งแต่ตำรวหรืออัยการ ซึ่งมีความสำคัญในการนำความยุติธรรสำหรับผู้ต้องหา ส่วนศาลถือเป็นกระบวนการยุติธรรมกลางน้ำ หากจะลงโทษใครต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมหลายช่วง จากนั้นกระบวนการยุติธรรมปลายน้ำคือราชทัณฑ์ ที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน และไม่เข้มแข็ง จนอาชญากรไม่เข็ดหลาบ การมีโทษไว้เพื่อไว้ปราบจำเลยไม่ได้ทำความผิดเพิ่มขึ้น แต่ผมเชื่อว่าจากนี้จะมีการลงโทษประหารชีวิตหายไปอีก 9 ปี แต่จะมีคดีประหารชีวิตอีกครั้งในช่วงปีที่ 9 หรือ 10"นายอนันต์ชัย กล่าว

 


ด้านศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า อยากชวนทุกคนตั้งคำถามว่า โทษประหารเป็นโทษอย่างหนึ่ง จะต้องมีการโทษทำไม การเรียกร้องโทษประหารสังคมไทยต้องการอะไร หรือคำถามคือการลงโทษมีเพื่อแก้แค้นหรือป้องกันหรือไม่ ที่ผ่านมาในอดีตจึงมีการประหารในที่สาธารณะเพื่อป้องกัน เพื่อให้คนเชื่อฟังกฎหมายและไม่ทำความผิดอีก นอกจากนี้มีการเชื่อว่าการลงโทษเพื่อแก้ไขผู้กระทำผิด แต่ผู้กระทำผิดมีเหตุปัจจัยจำนวนมาก ส่วนเรื่องการยกเลิกโทษประหารที่มีการพูดว่ามาจากความเหลื่อมล้ำ หรือความยากจนนั้น ตนเรียกว่าเป็นปัจจัยทางโครงสร้างให้กำเนิดฆาตกร นอกจากนี้ทางวิทยาศาสตร์ก็พบว่า มีเด็กบางกลุ่มจะมีความรุนแรงในส่วนหนึ่งของร่างกาย เมื่อนึกเรื่องโทษคนร้าย มีการคิดว่าคนยิงเป็นคนรุนแรงส่วนอีกฝ่ายเป็นเหยื่อ แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีเหยื่อสองคนคือคนยิงกับคนถูกยิงด้วย
"ความน่าสนใจมีตัวแปรไม่เท่ากัน ในหลายประเทศได้ยกเลิกโทษประหารไปแล้ว หรือมีคนเรียกร้องให้อภัยไม่ต้องฆ่าฟันกันอย่างเดียว ที่ผ่านมาโทษประหารของไทยเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ส่วนสังคมไทยต้องการอะไร ถ้าตอบแบบเร็วๆ คือคนทำผิดได้รับการลงโทษ เพราะเป็นความทุกข์ของญาติคนตาย ผมเห็นว่าเป็นการบ่งชี้ความรู้สึกหมดหวังกับคนนี้ไม่ได้แล้ว แต่คิดว่ายังมีทางออกอยู่ได้ จึงเป็นคำถามต้องถามว่า สังคมอยากเดินทางไปทิศทางไหนหรือไม่"ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว


ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ที่สุดแล้วการลงโทษประหารสังคมไทยต้องมาร่วมคิดกันหรือไม่ สิทธิเรื่องชีวิตถือเป็นที่สุดจากระบบที่คัดกรองมาว่าถูกต้องแล้วหรือไม่ ดังนั้นเวลาเราใช้โทษประหารเราเห็นอะไร แล้วสังคมจะมีส่วนรับผิดชอบแค่ไหนหรือไม่ เรื่องนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะมีคุยร่วมกันได้ ขณะเดียวกันการมีโทษประหารอาจเป็นข้อแก้ตัวของสังคม เพื่อจะไม่ต้องไปแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่า ทั้งในเรื่องความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำเช่นกันหรือไม่

 

ขณะที่พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า การพูดเรื่องโทษประหารเป็นการสิ้นหวังของกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่หรือไม่ ในสมัยก่อนทั้งไทยและต่างประเทศมีการประหารที่โหดร้ายเพื่อให้คนได้กลัว ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมสมัยโบราณที่ทำต่อผู้กระทำความผิดทางอาญา โดยใช้หลักลงโทษอย่างรุนแรงมาตลอด จากนั้นมีการคลายตัวไปตามความก้าวหน้าของสังคม ส่วนประเทศไทยก็เจริญไปตามประเทศตะวันตกเช่นกัน สังคมตะวันตกที่เจิรญแล้วจะเห็นคุณค่าชีวิตมนุษย์มากกว่า จึงมีการยกเลิกโทษประหาร โดยเฉพาะประเทศจำนวนมาก แต่ยังมีบางประเทศยังคงโทษประหารอยู่ อาทิ จีน ปากีสถาน นอกจากนี้ยังมีประเทศสองจิตสองใจที่จะมีหรือไม่มีโทษประหารอย่างประเทศไทยก็เช่นกัน โดยการกระทำผิดส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมมากระตุ้นเป็นส่วนใหญ่ อาทิ เรื่องป้าใช้ขวาน เป็นต้น เพราะรัฐไม่มีการควบคุมการใช้กฎหมาย ไม่สามารถมีผลในทางปฏิบัติจริง 

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ เชื่อว่าศาลไม่อยากมีบทลงโทษประหารอย่างเดียว แต่เมื่อจำเลยรับสารภาพแล้ว ศาลต้องลดโทษก็เป็นเรื่องที่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่มีคนมองว่าทำไมไม่ถูกประหารเหมือนเดิม หรือต้องมีกระบวนการลดโทษมาแทน ส่วนผู้ที่เห็นด้วยกับโทษประหาร แต่อีกกลุ่มอยากให้เปลี่ยนแปลง ก็ไม่ควรจะตำหนิกัน เพราะในโลกส่วนใหญ่มีการจะยกเลิกโทษประหาร ดังนั้นเมื่อเราไม่มีการประหารมาแล้ว 9 ปี ถือเป็นกระบวนการที่พยายามสู่ไปการยกเลิกเช่นกัน ทำให้เป็นสิ่งที่ต้องคิดร่วมกันต่อการแก้ไขกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีการผิดพลาดด้วย เพราะที่ผ่านมามีคดีความกว่าร้อยละ 40 ที่มีการยกฟ้อง

"โทษประหารเป็นทางอับจนทางความคิดที่ว่า ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว จึงต้องดูว่าจะป้องกันอาชญากรรมอย่างไรให้น้อยที่สุด รวมถึงควบคุมไม่ให้ถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าสังคมเรียนรู้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้แต่ไม่ใช่เวลาอันสั้น แต่ขณะนี้เป็นช่องทางเดียวเกี่ยวกับความรู้สึกของผู้คน ดังนั้นต้องทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมองเรามีความแม่นยำและเชื่อถือได้"พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุ

 


ดูวิดีโอ ราชดำเนินเสวนา

หรือ

ฟังเสียงการเสวนา