วงเสวนา “ส่อง สว.ใหม่ ความหวังหรือวิกฤติครั้งใหม่” หนุน กกต. ประกาศรับรองผลก่อนแล้วสอยทีหลัง หวั่นยืดอายุ สว.ปัจจุบัน ชี้ 8 ก.ค. ไม่ควรนัดประชุมวุฒิสภา เพราะทำให้สังคมสงสัยต้องการลากยาวเพื่อหวังเลือกกรรมการองค์กรอิสระ เชื่อ สว.ใหม่ แม้หน้าตาไม่ดีแต่มีความหวัง ชี้อาจแก้ รธน. เปลี่ยนระบบเลือกใหม่ ด้าน “นันทนา” ชี้ สว.สีน้ำเงินเพียบ มองนิยามศึก “โหดเหี้ยม หักหลัง ฮั้ว” นัดคุย 30 ว่าที่ สว. อุดมการณ์ตรงกันวันนี้ เล็งเสนอเลือกองค์กรอิสระ ให้แสดงวิสัยทัศน์แบบประกวดนางงาม / แฉขั้นตอนระดับประเทศ มือมืดต่อสายล็อกโหวตแลกจ่าย 2 แสน
วันที่ 6 ก.ค. เวลา 10.00 น. ที่ห้อง Meeting A ชั้น 7 ที่ทำการชั่วคราวสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อาคารบางซื่อจังชั่น (ตึกแดง) ถนนกำแพงเพชร 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 2/2567 หัวข้อ “ส่อง สว.ใหม่ ความหวังหรือวิกฤตครั้งใหม่” โดยมีวิทยากรผู้บรรยาย ประกอบด้วย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส ว่าที่สมาชิกวุฒิสภา และนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ว่าที่สมาชิกวุฒิสภา
หนุนประกาศก่อนสอยภายหลัง
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า วันนี้ กกต.ยังไม่มีการประกาศ สว.ชุดใหม่ออกมา ถึงแม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 (พรป.สว.) ไม่ได้เขียนกรอบเวลาไว้ และยิ่ง กกต.ยังไม่มีการสื่อสารกับประชาชน ก็อยู่ในท่ามกลางความคลุมเครือที่หลายคนมองมา โดยสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากระบบการเลือกที่ซับซ้อนที่สุดในโลก ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้เลือกตั้งโดยตรง เพราะกลัวฝ่ายการเมืองจะไปมีบทบาทในสภาสูง แต่หากเป็น สว.แต่งตั้งก็จะกลายเป็นรัฐบาลควบคุม สว.อีก จึงมาแนวทางเลือกกันเองที่เชื่อว่าจะได้ สว.ที่มาจากตัวแทนทุกกลุ่มอาชีพ และสุดท้ายใครจัดตั้งจะได้เปรียบซึ่งเรื่องนี้มีแน่นอน เพราะบางจังหวัดมี สว.มากเกินไป หรือมีจำนวน 13 จังหวัดที่ไม่มี สว.แม้แต่คนเดียว ส่วน จ.บุรีรัมย์มี สว.มากที่สุด 14 คน
“การไม่ประกาศผล สว.ชุดใหม่ คือการที่ สว.ชุดปัจจุบันยังมีอำนาจต่อไป และถามว่าทำไมมีเครือข่ายบ้านใหญ่มาลงกันมา เพราะ สว.สามารถเลือกองค์กรอิสระ หรือไปถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งคล้ายกับปี 2540 ที่ฝ่ายการเมืองส่งคนเข้ามาเป็น สว.”ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า กกต. ควรประกาศรับรอง สว. 200 คน หรือไม่ครบก่อนก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ ก็แปลว่าต้องครบ 200 คนหรือไม่ หรือประกาศเท่าที่ประกาศก่อนได้ แต่ถ้ามีการสืบสวนจะทำให้การประกาศลากยาวไปหรือไม่ ดังนั้นเสนอว่า กกต.ควรสื่อสารกับประชาชนว่า จะขอเวลาหากมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก และหากใครมีหลักฐานก็จะไปสอย จึงเชื่อว่าประชาชนก็จะรับได้ สิ่งสำคัญ กกต.ต้องแจ้งว่าจะใช้กรอบเวลากี่วันถึงจะประกาศออกมา ไม่ใช่ให้ประชาชนรอไปเรื่อยๆ ถ้า กกต.ประกาศช้า สว.ชุดปัจจุบันยิ่งอยู่ในวาระต่อไป
“กกต.ควรประกาศ สว.ไม่ควรนานกว่า สส. คือ 60 วัน แต่ถ้ามีหลักฐานชัดแจ้ง แต่ถ้า กกต.อยากขอเวลาเพิ่มก็เชื่อว่า ประชาชนก็ให้ได้ แต่ไม่ควรแขวนไปเรื่อยๆ”ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
ส่วนกระแสข่าว สว.สีน้ำเงิน ครอบงำสภาสูงมีจริงหรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า เป็นการคาดการณ์และสันนิษฐานกับความเกี่ยวข้องของเครือข่าย แต่ไม่อยากให้สรุปว่า สว.ชุดนี้ใช้ไม่ได้ และต้องเลือกกันใหม่ ทั้งนี้ สว.ชุดใหม่ ถือเป็นความหวัง เพราะมีที่มาหลากหลาย แม้จะมีข้อครหา แต่ กกต. ควรจะเร่งประกาศรับรองผล เพราะหากต้องรอให้บริสุทธิ์ผุดผ่องทุกคนอาจต้องรอข้ามปี จะยิ่งเป็นการลากยาวให้กับ สว.ชุดปัจจุบัน ขณะที่ระยะเวลาอันใกล้นี้จะมีการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 2 คน จึงอาจถูกมองได้ว่าลากยาวเพื่อเหตุนี้ ส่วนการนัดประชุม สว. วันที่ 8 ก.ค.นี้ ต้องถามว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
นายปริญญาทิ้งท้ายว่าการเลือก สว. ระบบนี้น่าจะเป็นครั้งสุดท้าย น่าจะมีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน
“นันทนา” สับ สว.ชุดเก่าอย่าดิ้นรน
รศ.ดร.นันทนา กล่าวว่า อาชีพแรกของตนเป็นผู้สื่อข่าวในนิตยสารอาทิตย์สยามใหม่ และสื่อก็เป็นอาชีพเงินน้อยและงานหนัก ทำให้บทบาทของ สว.ของตนจะไปผลักดันในเรื่องนี้ นอกจากนี้เห็นด้วยที่ กกต.จะประกาศไปก่อนและสอยภายหลัง แต่หากรับรองช้าอาจจะไปร้อง กกต.บ้างได้หรือไม่ ขณะเดียวกันตามที่ สว.ชุดปัจจุบันที่มาเปิดประชุมเพื่อตรวจสอบการได้มาของสว.ชุดใหม่ จะถือว่าใช่หน้าที่หรือไม่ ดังนั้น ถ้า สว.ชุดใหม่เข้าไปจะเปิดสภา เพื่อตรวจสอบการได้มาของ สว.ชุดเก่าได้หรือไม่ ดังนั้นโดยมารยาทแล้ว สว.ชุดเก่าควรยุติบทบาทและไม่ดิ้นรนต่อไป
”การได้มาของ สว.ครั้งนี้พิสดารและวิปริตที่สุดในโลก จึงไม่ควรมาใช้กับการคัดเลือกกับผู้ที่มาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะเป็นเหมือนเล่นเกมโชว์ไปรับรางวัลใหญ่ จึงขอเรียกวิธีการคัดเลือกเป็นประเภทว่า โหด เหี้ยม หักหลัง และฮั้ว ที่ผ่านมายังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติผู้คัดเลือก ทั้งที่อย่างน้อยต้องกำหนดให้มีความรู้ขั้นต่ำในระดับปริญญาตรี เพราะหากไม่รู้จะตรวจสอบกฎหมายได้อย่างไร ก็เห็นว่าจะได้คนที่ไม่มีคุณภาพและไม่ตรงปกมาทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ“รศ.ดร.นันทนา กล่าว
ขอผลักดันถ่ายทอดสดประชุม สว.ทุกคณะ
รศ.ดร.นันทนา กล่าวอีกว่า สำหรับกติกาคัดเลือก สว. ครั้งนี้ ตนก็ไม่เห็นด้วย การเลือกกันเองในครั้งนี้อาจไม่ได้คนไม่มีคุณภาพ ตนเห็นว่าอยากให้ประชาชนตัดสินใจเลือก สว.กันเองดีกว่าหรือไม่ เพราะอำนาจที่ไหนไม่ปลอดภัยเท่ากับอยู่ที่ประชาชน นอกจากนี้ที่ผ่านมา ได้รวมกลุ่มว่าที่ สว.ที่มีอุดมการณ์ร่วมกับตนอยู่ที่ประมาณ 30 คน ถึงจะมีจำนวนน้อยก็ไม่เป็นไรเพราะถือว่าเป็นความหวัง ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า สว.สายสีน้ำเงิน เข้ามามากที่สุดนั้น ถือเป็นเรื่องเจ็บจี๊ดและมีจริง
“ดิฉันเปิดโอกาส สว.ยุคใหม่ต้องสื่อสารกับประชาชน และเรียกร้องให้ถ่ายทอดสดการประชุม สว.และการประชุมกรรมาธิการทุกนัด เพราะหาก สว.รู้อะไร ประชาชนต้องรู้เหมือนกัน รวมถึงการเลือกองค์กรอิสระต้องแสดงวิสัยทัศน์ และถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้ดู เพื่อความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนสนใจการประชุมของ สว.มากขึ้น เป็นความหวัง”รศ.ดร.นันทนา กล่าว
แฉจ่ายเงินแสนแลกล็อกโหวต
ขณะที่ นายสมชัย กล่าวว่า วันนี้มาพูดในฐานะอดีต กกต.และอดีตผู้สมัคร สว. ก็จะเห็นกระบวนการคัดเลือกสว.ครั้งนี้ ซึ่งเจตนารมณ์การออกแบบกติกาการคัดเลือกตั้งการ สว.เพื่อให้ได้กลุ่มอาชีพที่หลากหลาย แต่ภายใต้การออกแบบทั้งหมดตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พรป.สว. จนถึงระเบียบ กกต.ก็ถือว่าเราได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ เกินกว่าครึ่งว่าที่ สว.ดูเหมือนว่า ถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง ทำให้ความเป็นกลางจะไม่เกิดขึ้นตามสิ่งที่ตั้งไว้
นายสมชัย กล่าวว่า แต่ในขั้นตอนระดับประเทศมีผู้สมัครที่เป็นอิสระได้รับการติดต่อจากโทรศัพท์จากคนกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเพื่อจะเสนอตัวเลขให้มาอยู่กลุ่มเดียวกัน มีค่าโรงแรม ค่าเครื่องบินออกให้ ให้เงิน 1-2แสนบาทถ้าไปถึงรอบสุดสายเพื่อเลือกคนตามบัญชีในโพยที่ให้ไว้ โดยพบว่าจะมีโพยสำเร็จรูปไม่ว่าอยู่ในกลุ่มไหนใน 20 กลุ่มก็จะกำหนดว่าต้องเลือกใคร โดยโพยเหล่านี้ไม่มีการพิมพ์ แต่ให้จดด้วยลายมือ โดยลำดับที่ 1-7 จะมีคะแนนเกาะเป็นกลุ่ม เพราะบัตรที่ใช้เลือกรอบบ่ายจะมีเพียง 5 เบอร์เท่านั้น ก็เป็นกระบวนการที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นจึงเห็นว่าคนกลุ่มนี้มีคะแนนสูงที่มาจากโพย
นายสมชัย ยังกล่าวถึงการทำหน้าที่ กกต.ว่า ที่ผ่านมา กกต.บอกว่า รู้ทั้งหมดว่ามีการประชุมที่ไหน และมีสายลับทั้งหมด ทำให้ราคาคุยของ กกต.มีไม่น้อย แต่ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นอาจทำให้สังคมรู้สึกว่าจะมี กกต.ไปทำไม และคงต้องมีราคาที่ต้องจ่ายกลับไม่น้อย แต่เชื่อว่า กกต.จะประกาศรับรองแน่นอนและประกาศจนครบ แล้วไปดูหลักฐานเพื่อสอยภายหลัง
“สว.ไม่ได้หน้าตาดีทั้งหมด แต่หน้าตาดีก็มีเยอะ แต่อย่าเพิ่งคิดว่าจะทำงานไม่ได้ ถึงแม้จะคิดว่ามีคุณสมบัติแบบนี้มาเป็น สว.แต่ต้องยอมรับกติกาที่เกิดขึ้น ส่วนตรงไหนเป็นปัญหาต้องหาทางแก้ไขต่อไป“นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า อนาคต สว. ยังมีความหวัง แม้ไม่ได้หน้าตาดีหมด แต่อนาคตทางการเมืองไทยถือว่าวิกฤติ ทั้งนี้อย่าเพิ่งคิดว่า ว่าที่ สว.ใหม่ทำงานไม่ได้ มีที่มาไม่ชอบมาพากล ต้องยอมรับถึงผลและกติกาที่เกิดขึ้น ซึ่งก็หาทางแก้ไขต่อไปในอนาคต และมองว่าการนัดประชุมวุฒิสภา 8 ก.ค.นี้ จะมาขยันอะไร ตั้งคำถามว่าการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษา ตรวจสอบ การเลือก สว.67
ว่าที่ สว.ไม่ตรงปก 20 คน
ด้าน นายไชยยงค์ กล่าวว่า แม้ตนจะมาเป็นที่หนึ่งในการเลือกรอบแรกของสายสื่อมวลชนในระดับประเทศ แต่ที่ผ่านมาตนชนถูกสกัดมาตั้งแต่ระดับจังหวัด ก็สามารถผ่านมาในรอบแรกได้ จนมาถึงรอบไขว้ก็ยังสามารถผ่านมาได้จนถึงระดับประเทศอันดับสอง แต่ไม่มีใครโทรศัพท์มาหา เพราะคงไม่มีใครอยากจะคุยด้วยเนื่องจากเป็นสื่อมวลชน และทราบว่ากลุ่มนักกฎหมายก็ไม่มีใครโทรศัพท์มาหาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ต่อให้ผู้สมัครโปรไฟล์ดีแต่ไม่มีการคุยกันก็ไม่มีคนเลือก ซึ่งเป็นไปตามลักษณะสังคมไทย จึงต้องมีการพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นๆ เพื่อหวังว่าคนเหล่านี้ถ้ามาถึงรอบสุดท้ายจะมีการแลกคะแนนกัน
นายไชยยงค์ กล่าวต่อว่า จากนี้ต้องรอว่า กกต.จะประกาศรับรองเมื่อไหร่ แต่ สว.ชุดใหม่ใน 200 รายชื่อมองว่าจะมีคนไม่ตรงปกประมาณ 20 คน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการมีคนทุกสาขาอาชีพจะมาสะท้อนปัญหาต่างๆ ของสังคมได้ดีกว่า ในฐานะมีประสบการณ์ที่สะท้อนจากอาชีพ ดังนั้น สว.ชุดใหม่ก็ถือว่าเป็นความหวังของประเทศ
“ผู้ที่เป็นประธานเลือก สว.ก็จะเป็นลางบอกเหตุได้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งสังคมจะเห็น สว.ชุดนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเป็นที่คาดหวังของประชาชนได้หรือไม่”นายไชยยงค์ กล่าว
นายไชยยงค์ ยังเห็นว่าประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะฝากการแก้วิกฤติไว้กับการมี สว. ครั้งนี้ได้ แต่ สว.ชุดนี้อาจจะไปทำให้สามารถที่จะขับเคลื่อน แก้ปัญหาบางสิ่งบางอย่าง ให้ดีกว่าที่ผ่านมา และเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหากมีช่องทาง ซึ่งส่วนตัวมีจุดยืนสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สำหรับการจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนานั้น เป็นเวทีสร้างความรู้ ความเข้าใจ ระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าวในประเด็นต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเชิญสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมฟัง มีเป้าหมายในการพัฒนา และส่งเสริมคุณภาพการทำงานข่าวในปัจจุบัน บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง