“พิสิฐ” แจงเร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ ล่าสุดเพิ่มงบฯอีก 100 ล้านบาท อธิบดีอัยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิชี้ข้อจำกัดการทำงานคือดีเอสไอ เผยกองทุนยุติธรรม ช่วยเหลือเยียวยา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตแนะเยียวยาต้อง ถูกที่ ถูกเวลา ถูกวิธี โดยค้นต้นตอปัญหาและแก้ให้ตรงจุด ไพโรจน์ เสนอคืนความจริงให้ประชาชน เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และแยกการปฏิรูปออกจากแผนปรองดอง
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 7/2553 หัวข้อ“กระบวนการเยียวยาและความเป็นธรรม” ในโครงการ “ร่วมปฏิรูปประเทศไทย” ที่ ห้องประชุมอิศร อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพฯ
นายพิสิฐ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ศูนย์เยียวยาฯ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมามีผู้ขอรับความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม – 18 มิถุนายน 2553 แล้ว 1,656 ราย ในจำนวนนี้ได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 1,086 ราย ที่เหลือรอดำเนินการด้านเอกสาร ซึ่งในวันที่ 22 มิถุนายน 2553 ให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมจากเดิมอีก 33 ราย และบาดเจ็บอีก 402 ราย รวมเป็น 435 ราย ทั้งนี้ญาติผู้เสียชีวิตได้เงินช่วยเหลือ 400,000 บาท และบุคคลทุกขพลภาพ 200,000 บาท นอกจากนี้จะมีเงินช่วยเหลืออีกเดือนละ 1,000-3,000 บาท รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่บุตรของผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย
“เราต้องตามไปดูว่าผู้เสียชีวิตมีบุตรที่ต้องเรียนหรือไม่ ถ้ามีเราจะสนับสนุนให้เรียนจนถึง ปริญญาตรี ส่วนผู้ทีทุกขพลภาพก็จะช่วยเหลือเป็นรายเดือน ตรงนี้นักสังคมฯ และนักจิตวิทยา ต้องลงไปตรวจสอบ และดูว่าต้องช่วยเหลือด้านใดบ้าง ซึ่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ได้เงินเพิ่มจากรัฐมาอีก 100 ล้านบาท เราก็จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ต่อไป”
นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน กล่าวว่า ข้อจำกัดในการช่วยเหลือประชาชน คือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของภาครัฐ โดยต้องไม่ใช่คู่กรณีของรัฐ แต่ผู้ที่ได้รับความเสียหายยังสามารถใช้กระบวนการทางศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ ซึ่งกองทุนกระทรวงยุติธรรม สามารถช่วยเหลือค่าเสียหาย เพื่อเป็นการเยียวยาในเบื้องต้นได้ หรือขอรับความช่วยเหลือจากทนายอาสา เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับภาครัฐได้ โดยแจ้งความจำนง ที่กรมคุ้มครองสิทธิ์ เพื่อขอรับความช่วยเหลือโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นายนันทศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงเดือนเมษาที่ผ่านมา มีคดีที่เกี่ยวข้อง กับ นปช. ฟ้องร้องหลายราย ส่วนใหญ่ฟ้องทางแพ่ง ด้านคดีอาญา เกี่ยวเนื่องกับการประกาศขอศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ). เช่น ออกจากเคหะสถานในช่วงเวลาประกาศเคอร์ฟิว เป็นต้น ทั้งนี้ การออกหมายจับคดีก่อการร้าย คิดว่ายังเก็บรวมรวมหลักฐานยังไม่เพียงพอ ก็ต้องไปหาหลักฐาน เพิ่มแต่สิทธิ์ขาด สำหรับการยื่นฟ้องอยู่ที่ เจ้าหน้าที่ ของดีเอสไอ แต่ทางเราเน้นสิทธิความเป็นมนุษย์ ที่ต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญเต็มที่ และเน้นการปฏิติตามนิติธรรม ไม่ใช่นิติรัฐ
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกระบวนการเยียวยาทางด้านจิตใจว่า การเยียวเป็นการสมานแผลกายและใจ การสร้างความเป็นธรรมเป็นหลักธรรมอย่างหนึ่งที่ทำสังคมมั่นคงและสงบเรียบร้อย ส่วนผู้ที่ควรได้รับการเยียวยาคือคนไทยทุกคนที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือความรู้สึก อาจเสี่ยงที่จะเกิดโรคเครียดรุนแรงจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ
“ประชาชนบางคนไม่มีอาการบาดเจ็บ แต่เสี่ยงต่อการเป็นโรคสุขภาพจิตมากกว่าผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ชุมนุม เพราะผลกระทบจากความรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นจากการสะสมและเกิดผลกระทบต่อพื้นฐานคุณธรรม โดยเฉพาะเมื่อชุมชนเกิดความไม่ไว้วางใจกัน สังคมม่ความหวาดระแวง กลายเป็นปัญหาสำคัญคือเป็นผลกระทบต่อคุณธรรมประจำใจของทุกคนซึ่งจะจบหรือไม่ขึ้นอยู่กับตรงนี้ด้วย”
จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตพบว่า ช่วงเวลานี้ ประชาชนมีอารมณ์ดีขึ้นและความรุนแรงลดลงแล้ว แต่ยังมีอีกหลายเงื่อนไขที่ควบคุมลำบากทำให้บางส่วนยังหดหู่ หมดหวัง หรือรู้สึกโทษตัวเอง โทษคนอื่น และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นอีกได้ โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนมีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้เด็กเยาวชนมีพฤติกรรมเลียนแบบหรือปลูกจิตสำนึกความเกลียดชังให้กับคนที่สูญเสีย
นพ.วชิระ กล่าวต่อไปว่า แนวทางการเยียวยาต้องทำให้ถูกทาง ถูกเวลา และถูกวิธี บางครั้งต้องอาศัยการทำงานของแกนนำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข ปราชญ์ชุมชน หรือสื่อท้องถิ่น เช่น วิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี จะได้ผลมากกว่าสื่อกระแสหลัก เพราะมีความใกล้ชิดและรู้สึกถึงความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
“การเยียวยาเพื่อมุ่งสันติสุขมีความเป็นไปได้ แต่ควรทำด้านจิตใจมากกว่าป้องกันรักษา ซึ่งทำได้ง่ายมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าทุกคนเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งหรือไม่ว่ามีสาเหตุจากอะไร เข้าถึงส่วนลึกของจิตใจมีองค์ความรู้ที่เหมาะสมและสามารถประยุกต์ได้กับบริบทขอสังคมโยงสู่การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในมิติอื่น”
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า สังคมแตกแยกมากหากปล่อยไว้ อนาคตคนไทยจะตายเร็วขึ้นเพราะความเครียด การแก้ปัญหาอาจใช้โมเดลจากส่วนภูมิภาค หรือชุมชน เช่น ภาคใต้ที่มีผู้นำทางศาสนาเป็นแกนหลัก อย่างไรก็ตามจุดต่างสำคัญที่ต้องคิดให้ลึกมากขึ้นในกระบวนการเยียวยาคือปัญหาครั้งนี้ซับซ้อนและลึกซึ้งมาก หากเยียวยาไม่ทันเวลาสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความทุกข์ยากของประชาชนที่ไม่ได้รับการแก้ไข เช่น แม้บาดแผลทางกายจะรักษาได้ แต่เมื่อกลับไปอย่างน้อยต้องช่วยเหลือด้านปัจจัย 4 ด้วย เพื่อทำให้ประชาชนอยู่ได้ และไม่รู้สึกว่าเหลื่อมล้ำหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม
นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มีความแตกต่างด้านการจัดการ ภายหลังสถานการณ์สิ้นสุด คือมีมาตราการฟื้นฟูเยียวยา หากเปรียบเทียบกับวิกฤติหลายครั้ง เช่น 14 ตุลา สถานการณ์ภาคใต้ หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วง 4-5 ปีที่ก่อน ฝ่ายที่ต่อสู้กับรัฐมักถูกมองเป็นศัตรูทางการเมืองหรือมองแค่ผลแพ้-ชนะเท่านั้น
ในมุมมองส่วนตัวมี 3 ประเด็นหลักต้องเร่งทำ เรื่องแรกคือการคืนความจริงให้สังคม ในแง่ของเหตุการณ์ ข้อมูลของผู้เสียชีวิต บาดเจ็บหรือสูญหาย ต้องมีวิธีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมายังไม่สามารถจัดการหรือทำให้เห็นได้อย่างจริงจัง แม้ว่าอาจทำไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยต้องมีมีหลักการในการวินิจฉัยที่ชัดเจน เช่น ประเด็นคนสูญหายที่ทำแบบกระแสจบเรื่องจบ ต่อไปอาจต้องคิดในเชิงโครงสร้างมากขึ้นและใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย แทนที่จะมองในแง่คดีความอย่างเดียว
“เราต้องให้ข้อมูลทั้งในแง่ของหลักการใช้อำนาจรัฐ ว่าจริงๆ รัฐสามารถใช้อาวุธได้หรือไม่ ขอบเขตมีความสมดุลจริงหรือไม่ ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องรู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเองมีสิทธิในการแสดงออกมาน้อยแค่ไหน ต้องรู้ว่าการกระแบบไหนคือการชุมนุม หรือจลาจล เพราะเรื่องเหล่านี้มีผลในวินิจฉัยความผิด”
ประธานคณะกรรมการประสานงานพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นยังต้องสร้างความชัดเจนของคณะกรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบความจริง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลายฝ่ายหวั่นว่าจะไม่ปลอดจากอำนาจฝ่ายต่างๆ สำคัญคือกรรมการชุดนี้ต้องเป็นมืออาชีพ คือสามารถเข้าถึงข้อมูลข้อมูลของทุกฝ่าย ประเด็นที่สองคือ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ต้องมีการวางระบบและเผยแพร่ข้อมูลในเชิงลึกและเปิดกว้างกว่าจำนวนตัวเลข เช่น การให้ความรู้เรื่องสิทธิ การจำแนกข้อกล่าวหา การประกันตัว หรือหากเป็นคนจนจะมีกระบวนการช่วยเหลือให้ต่อสู้ทางกฎหมายได้อย่างไร
“ทำอย่างไรให้ข้อมูลข่าวสารเชิงลึกและเปิดเผยแบบไม่มั่วกันไปหมด และทำอย่างไรให้ชาวบ้านรู้ว่าถึงสิทธิที่จะพิสูจน์ตัวเองอย่างบริสุทธิ์ อีกเรื่องที่สำคัญคือการนิรโทษกรรม ตรงนี้ต้องแยกแยะให้ชัดว่าจะให้คนกลุ่มใด เป็นความผิดทางการเมืองแท้ๆ หรือข้อหาทางอาญา ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้สภาวะความตึงเครียดลดลง”
นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ควรยกเลิก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งหลายคนเห็นตรงกันว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการให้อำนาจทหารเข้ามาควบคุมจัดการเป็นเหตุให้ประชาชนหวาดระแวงและไม่กล้าเดินเข้ามาขอความช่วยเหลือเพราะกลัวข้อหา หากลดเงื่อนไขตรงนี้ได้ ความขัดแย้งจะลดลง นอกจากนั้นอาจต้องทบทวนมาตรการควบคุมสื่อมวลชนด้วย
สุดท้ายคือการปฏิรูปประเทศอาจต้องแยกออกจากแผนปรองดอง เพราะการปฏิรูปเป็นการทำเชิงโครงสร้างเพื่อสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ เป็นภารกิจระยะยาวที่ต้องทำควบคู่ไปกับการแก้ไขฟื้นฟูเร่งด่วน