สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และ องค์กรภาคีเครือข่าย
ขอเชิญสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ เข้าร่วมฟังการเสวนาในกิจกรรม
ราชดำเนินเสวนา โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ ๔ / ๒๕๕๔
“จุดประกายจริยธรรมเลือกตั้ง จุดเปลี่ยนวิกฤตการเมืองไทย ? ”
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา o๙.oo – ๑๒.oo น.
ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น ๓ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ถนนสามเสน (ตรงข้าม รพ. วชิระ) กรุงเทพฯ
๐๙.๐๐ – ๐๙.๓๐ น. ลงทะเบียน ชี้แจงวัตถุประสงค์
๐๙.๓๐ – ๑๑.๐๐ น. เสวนา “จุดประกายจริยธรรมเลือกตั้ง จุดเปลี่ยนวิกฤตการเมืองไทย ?”
วิทยากร นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี
นำเสนอ “จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้ง ปี ๒๕๕๔”
Mr.Ahdy Aman International IDEA from Indonesia
นำเสนอ "ความเป็นมาและความสำคัญของจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้ง"
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นำเสนอ “จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้ง จะจุดประกายจริยธรรมได้หรือไม่”
นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล
นำเสนอ “จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้ง จะเป็นจริงได้อย่างไร”
นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน
นำเสนอ “จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้ง จะเป็นจริงได้อย่างไร”
นายชลรัช จิตในธรรม ผู้ตรวจการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
นำเสนอ “กกต.กับการส่งเสริมจรรยาบรรณ การหาเสียงเลือกตั้ง”
ผู้ดำเนินรายการ นายธีรเดช เอี่ยมสำราญ
หัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์
๑๑.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. เปิดอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเห็น
รายละเอียดโทร. o๒ – ๖๖๘ - ๙๔๒๒
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
อาจารย์นิติศาสตร์ มธ.แนะพรรคการเมืองทำข้อตกลงร่วมกัน ใครได้เสียงมาก มีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล ประธานวิปฝ่ายค้าน ชี้ นอกจาก กกต. พรรคการเมือง มีบทบาทสำคัญ คุมประพฤตินักการเมือง
วันที่ 24 เมษายน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา “จุดประกายจริยธรรมเลือกตั้ง จุดเปลี่ยนวิกฤตการเมืองไทย?” โดยมีดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน นายศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย นายชลรัช จิตในธรรม ผู้ตรวจราชการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่วมเสวนา
นายวิทยา แก้วภราดัย กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการพัฒนาเรื่องจรรยาบรรณไปไกล ถึงขึ้นมีการจัดตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้ามากำกับดูแลการเลือกตั้ง ทำให้เชื่อได้ว่า จะไม่มีพรรคการเมืองใดกล้าละเมิด หรือใช้วิธีการข่มขู่ ใช้อาวุธในการหาเสียง เพราะกกต จับตาอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังมีมาตรการที่รุนแรงถึงขั้นยุบพรรค ฉะนั้น ปัญหาระบบการเลือกตั้งของไทย จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งในลักษณะเปิดเผย แต่กลับพบว่า เป็นการดำเนินการในทางลับของพรรคการเมืองและนักการเมืองมากกว่า ขณะเดียวกัน ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับกลุ่มองค์กรที่ไม่ใช่พรรคการเมือง ซึ่งเข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหว ดูแลการเลือกตั้ง และอยู่นอกเหนืออำนาจที่ กกต. จะสามารถเข้าไปกำกับดูแลได้
ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ปัญหาการเลือกตั้งที่กำลังเผชิญหน้าในขณะนี้ สร้างความเป็นห่วงใยให้กับประชาชนว่า จะเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรมหรือไม่ เมื่อการพูดถึงเรื่องการซื้อขายเสียง ถูกมองว่า เชย ยิ่งทำให้สังคมตกต่ำ มีสภาพไม่ต่างจากแผ่นเสียงที่ตกร่อง อีกทั้งยังแสดงออกถึงการจำนนต่อการเลือกตั้งที่ผิดกฎหมาย
ขณะที่นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ที่ผ่านมา กกต.เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ ข้อบังคับให้ฝ่ายการเมืองนำไปใช้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีทักษะและกระบวนการที่ให้คำตอบกับสังคมได้พอสมควร แต่ กกต. ก็ยังต้องพัฒนาจรรยาบรรณให้อยู่ระดับที่คนส่วนใหญ่ยอมรับมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันหากจะพูดถึงการจรรยาบรรณทางการเมือง นอกจากจะมี กกต.เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์แล้ว พรรคการเมืองยังเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นผู้กำหนดนโยบายให้นักการเมืองนำไปปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาชัดเจนว่า ไม่มีนักการเมืองคนใด ทำในสิ่งที่นอกเหนือไปจากนโยบายของพรรค สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนว่า ในการเลือกตั้ง กกต. และพรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
“การกำหนดเรื่องจรรยาบรรณทางการเมือง กกต.จะต้องรับฟังความคิดเห็นนักการเมืองมากขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นฉันทามติ และนำไปสู่การยึดถือปฏิบัติโดยทั่วกัน” นายวิทยา บุรณศิริ กล่าว และว่า นักการเมือง เป็นเพียงตัวแปรหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง ทางพรรคจะมีการออกข้อกำหนด ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ผู้สมัครจะต้องปฏิบัติตาม
ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร กล่าวว่า จรรยาบรรณเป็นเรื่องที่สูงกว่ากฎหมาย เนื่องจากการกระทำบางอย่างผิดจรรยาบรรณ แต่ไม่ผิดกฎหมาย อีกทั้งการวินิจฉัยว่าการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณเรื่องใดที่มีผลทางกฎหมาย นับว่าเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในช่วงที่บรรยากาศทางการเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ มีการเมืองภาคประชาชน จัดตั้งเวทีปราศรัย ตามท้องถนนควบคู่ไปกับการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมือง ฉะนั้น คำถามคือ มีเพียงแค่กฎหมาย หรือต้องมีสิ่งอื่นเพิ่มเติม
นายศุภชัย กล่าวถึง กกต.ว่า จะต้องที่มีความตรงไปตรงมา อีกทั้ง กกต.จะต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่ ทั้งในส่วนอำนาจทางกฎหมายและกติกาในการให้ใบเหลือง ใบแดงที่ต้องเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม
ส่วนดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่า กติกาที่จะทำให้การเลือกตั้งกลับสู่ภาวะปกติ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ในแง่ของผู้เล่นก็ต้องมีกติกาเช่นกัน โดยกติกาจะต้องเกิดขึ้นจากการตกลงร่วมกัน โดยเริ่มจากพรรคการเมืองทุกพรรค จะต้องแสดงเจตนาที่ชัดเจนว่า จะไม่โกงการเลือกตั้ง ประการสำคัญ จะยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่ปัจจุบัน กกต. เป็นผู้กำหนดข้อบังคับให้ทุกคนปฏิบัติตาม ซึ่งสวนทางกับการสร้างสังคมที่ทุกคนเคารพกฎหมาย เพราะไม่ใช่แค่ประกาศให้ทำตาม แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างข้อตกลงร่วมกัน
ดร.ปริญญา กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ ไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้ง แต่อยู่ที่เหตุการณ์หลังเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา พรรคใดที่ได้เสียงจำนวน 251 เสียงก็จะได้สิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่คำถามคือ หากไม่มีพรรคที่ได้คะแนนเสียงถึงจำนวนดังกล่าว อาจต้องจัดตั้งรัฐบาลตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรค 3 ที่วางหลักให้ใครก็ได้ที่สามารถรวบรวมเสียงได้ตามจำนวนที่กำหนดเป็นรัฐบาล ได้
“อีกแนวทางหนึ่งคือ การทำตามมารยาทของรัฐสภา ที่กำหนดให้พรรคอันดับหนึ่ง มีสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นอันดับแรก แค่หากไม่ได้สามารถกระทำได้ ก็ให้สิทธิ์แก่พรรคอันดับสอง ทั้งนี้ การตกลงดังกล่าว เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนแก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะภาคประชาชน พรรคการเมือง หรือกระทั่งสปอนเซอร์ของพรรคการเมืองก็ตาม”
สุดท้าย นายชลรัช จิตในธรรม กล่าวว่า การทำหน้าที่ กกต.เป็นไปในลักษณะงานบริการทางการเมือง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเรียบร้อย ซึ่งการกำหนดเขตเลือกตั้ง การให้ใบเหลืองใบแดง หรือการกระทำอื่นของ กกต. ก็ไปตามกรอบของกฎหมาย มีมาตรฐานในการทำงาน โดยยึดจรรยาบรรณ ไม่เล่นพรรคเล่นพวก รวมทั้งสามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้
(เนื้อข่าวโดยศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย)