เรื่องเล่า (เบาๆ) ของนักข่าวไทยที่ไปติดพายุหิมะในอเมริกา

ปกรณ์
ร่อนตะแกรง แถลงไข ไฟใต้

Permalink : http://www.oknation.net/blog/kobkab
วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554

เรื่องเล่า (เบาๆ) ของนักข่าวไทยที่ไปติดพายุหิมะในอเมริกา
Posted by ปกรณ์

อุ่นวัดไทยในพายุหิมะ

ข้าวสวยร้อนๆ กับผัดไก่พริกไทยดำที่ผมตักเข้าปากและกลืนลงคออย่างหิวโหยคำนี้ ไม่อยากเชื่อตัวเองเลยว่าเป็น “ข้าววัด”

ที่ พูดแบบนี้ไม่ใช่กระแดะอวดร่ำอวดรวยว่าชีวิตนี้ไม่เคยพึ่งพาข้าววัด แต่กำลังจะบอกว่าชีวิตคนไทยวัยทำงานอย่างผมซึ่งคงเหมือนกับอีกหลายๆ คนกำลังห่างวัดมากขึ้นทุกที เพราะทุกวันนี้ขนาดจะไปทำบุญกันทีแทนที่จะหอบลูกจูงหลานไปวัดถวายสังฆทาน ก็หันไปจ่ายเงินบริจาคโลงศพแทนจนกลายเป็นแฟชั่นแห่งยุคสมัยไปแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความง่าย สะดวกสบาย หรือคิดว่าได้บุญมากกว่ากันแน่

ด้วย เหตุนี้ผมจึงไม่ค่อยได้เข้าวัดมานานโข (ยกเว้นไปงานศพ) เพิ่งได้เข้าวัดครั้งแรกในรอบหลายปีแถมยังรบกวนกินข้าววัดด้วยเสียอีกก็ ครั้งนี้ แต่ดันเป็นวัดไทยในต่างแดน!

ผมเป็น หนึ่งในผู้โชคร้ายที่ไปติดพายุหิมะอยู่ในอเมริกายามนี้ (ผู้โชคร้ายอีกกลุ่มหนึ่งติดอยู่ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์) ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เพราะเป็นปีที่สภาพอากาศเลวร้ายมากที่สุดปีหนึ่ง ผมอ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทำให้ทราบว่าปีนี้บางพื้นที่ของสหรัฐมีหิมะตกมาก ที่สุดในรอบ 30 ปีเลยทีเดียว

จากสุวรรณภูมิถึงเดนเวอร์

ผม กับเพื่อนๆ นักข่าวมติชนอีก 2 คน และอาจารย์สอนวิชาหนังสือพิมพ์จากมหาวิทยาลัยบูรพาอีก 1 คน ระเหระหนไปอเมริกาเนื่องจากได้ทุนไปศึกษาต่อหลักสูตรการเรียนกึ่งฝึกอบรม เป็นเวลา 6 เดือนที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมืองแมดิสัน ซึ่งอยู่ในรัฐชื่อเดียวกันกับมหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสหรัฐ

เส้น ทางบินที่กำหนดไว้เดิมคือ “สุวรรณภูมิ-นาริตะ(ญี่ปุ่น)-ชิคาโก-แมดิสัน” แต่ก่อนเดินทางไม่ถึง 1 วันก็มีอีเมลจากมหาวิทยาลัยปลายทางแจ้งว่า ท่าอากาศยานนานาชาติโอแฮร์ที่ชิคาโก ซึ่งมีความหนาแน่นของเที่ยวบินสูงสุดเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และจะใช้เป็นจุดเปลี่ยนเครื่องเพื่อต่อสายการบินในประเทศเข้าไปที่เมือง แมดิสันนั้น เจอพายุหิมะเข้าไปเต็มๆ

ผมรีบเข้า อีเมลไปเช็คเที่ยวบิน ปรากฏว่ายังไม่มีการแจ้งยกเลิกไฟลท์ ทำให้พอจะใจชื้นขึ้นบ้างว่าอย่างไรเสียคงได้เดินทางแน่ และยังคิดเข้าข้างตัวเองด้วยว่าพายุหิมะไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่โตอะไรนักหนา ไม่ใช่ฝนตกฟ้าผ่าที่ทำให้เครื่องตกเสียหน่อย กระทั่งไปเช็คอินที่สุวรรณภูมินั่นแหละจึงได้รับแจ้งข่าวร้ายเพิ่มเติมว่า สนามบินโอแฮร์ปิด ต้องเปลี่ยนเส้นทางบินเป็น “สุวรรณภูมิ-นาริตะ-ซีแอตเติล-เดนเวอร์-แมดิสัน” เพิ่มจุดที่ต้องแวะมากขึ้นอีก 1 แห่ง

การเดิน ทางไปอเมริกาครั้งแรกทำให้รู้สึกลิงโลด ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น การเปลี่ยนเส้นทางบินก็คิดเสียว่าได้ไปแวะเมืองที่ไม่เคยไปเพิ่มอีก 2 เมือง คล้ายๆ ได้ไปเที่ยวนอกแผน เอากลับมาโม้ให้ลูกฟังได้อีกต่างหาก

ผม กับเพื่อนๆ ร่วมชะตาผ่านสนามบินนาริตะและซีแอตเติลอย่างสะดวกโยธิน โดยเฉพาะที่ซีแอตเติล (เมืองต้นกำเนิดร็อคสายพันธุ์ “ซีแอตเติลซาวด์” อันโด่งดังเมื่อกว่า 20 ปีก่อนช่วงผมเป็นหนุ่มรุ่นกระทง) ดูแผนที่แล้วอยู่ในรัฐวอชิงตัน ห่างจากแคนาดาแค่ 154 กิโลเมตร ยังไม่เห็นมีหิมะสักเกล็ด การผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองก็ง่ายกว่าที่คิด ตอนนั้นหัวใจของเพื่อนร่วมทางทุกคนติดปีกบินล่วงหน้าไปถึงแมดิสันกันแล้ว

ทว่า 3 ชั่วโมงจากซีแอตเติลไปเดนเวอร์ ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป ข้อเท้าผมเริ่มปวดจนนอนไม่หลับ พอเครื่องร่อนลงมองผ่านหน้าต่างเห็นหิมะขาวโพลนทั่วทั้งรันเวย์ เสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่บนเครื่องทำให้ทราบว่าอุณหภูมิขณะนั้นลบ 4 องศาเซลเซียส!

เดินจากงวงช้างเข้าสู่สนามบิน เดนเวอร์ เราพบว่าต้องรอไฟลท์ไปแมดิสันนานถึง 4 ชั่วโมง แต่นั่นยังไม่ร้ายเท่ากับข่าวล่าที่หน้าเกต B81 ว่า เที่ยวบินยกเลิก!

 

The Terminal ภาคนักข่าวไทย

สาย การบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ไม่ได้มีระบบประกันการยกเลิกไฟลท์แบบการบินไทย ฉะนั้นเมื่อเที่ยวบินยกเลิก ผู้โดยสารจึงจำเป็นต้องรับผิดชอบตัวเอง สายการบินไม่ได้ช่วยเหลืออะไรทั้งสิ้น

คณะจาก ประเทศไทย 4 ชีวิต ภาษาอังกฤษก็ยังงูๆ ปลาๆ ต้องเจอโจทย์ข้อยากที่สุด เบื้องต้นต้องไปขอรับกระเป๋าเดินทางกลับมา ซึ่งแต่ละคนก็ “จัดหนัก” ใช้กระเป๋าใบยักษ์คนละ 2 ใบไม่นับกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง เพราะต้องไปอยู่นานถึง 6 เดือน แค่รอรับกระเป๋าก็เผาเวลาไปอีก 2-3 ชั่วโมง ยังดีที่กระเป๋าไม่หาย แต่ที่แย่ก็คือได้กระเป๋ามาแล้วไม่รู้จะไปไหนต่อดี

ข่าว ร้ายชิ้นใหม่ที่เราได้รับก็คือ สนามบินที่แมดิสันน่าจะปิดถึงวันเสาร์ (ตอนที่รอกระเป๋าในสนามบินเดนเวอร์เพิ่งค่ำๆ วันอังคาร) ฉะนั้นจึงต้องเลิกล้มความตั้งใจที่จะนอนรอไฟลท์ใหม่อยู่ในสนามบินเหมือนกับ “ทอม แฮงค์” ในภาพยนตร์ที่หลายคนชื่นชอบ “The Terminal”

ทางออก ที่ดีที่สุดในนาทีนั้นคือ หาโรงแรมใกล้ๆ กับสนามบินเดนเวอร์เพื่อพักผ่อนและเก็บกระเป๋า แต่ด้วยความที่เที่ยวบินยกเลิกเยอะมาก ทำให้จำนวนผู้โดยสารตกค้างเยอะตามไปด้วย โรงแรมในละแวกสนามบินส่วนใหญ่จึงเต็มหมด บวกกับความติดขัดเรื่องภาษาที่ใช้สื่อสาร ทำให้กว่าจะได้โรงแรมนอนก็ปาเข้าไปเกือบเที่ยงคืน

รวมเวลาตั้งแต่ออกจากสุวรรณภูมิถึงห้องพักแคบๆ ห่างจากสนามบินเดนเวอร์ 9 ไมล์คือ 24 ชั่วโมง!

อุ่นวัดไทยในหิมะโปรย

โรงแรม ที่พวกเราไปนอนพักรอเครื่องชื่อ “Sleep Inn” อยู่ในละแวกที่มีแต่โรงแรม เข้าใจว่าน่าจะสร้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับผู้โดยสารพลาดเที่ยวบินจากสนามบิน เดนเวอร์ซึ่งเพื่อนร่วมทางของผมคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า เป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐขณะนี้

โรงแรม Sleep Inn ช่างสมชื่อเสียนี่กระไร เพราะทั้งโรงแรมไม่มีอะไรให้เลยนอกจากที่นอน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน หรือแม้แต่ร้านค้าเล็กๆ ก็ยังไม่มี นักข่าวกับอาจารย์ไทยรวม 4 ชีวิตได้แต่นั่งๆ นอนๆ ดูหิมะ ไม่รู้จะไปไหน เปิดทีวีดูก็พบช่อง The Weather Channel รายงานสภาพอากาศกันทั้งวันทั้งคืน ต้องเสพข่าวร้ายมากขึ้นไปอีกเพราะมีแต่ข่าวพายุหิมะตามรัฐต่างๆ

สุดท้ายทนไม่ไหว พวกเราจึงพยายามหาข้อมูล “วัดไทยในเดนเวอร์” ด้วยหวังว่าจะเจอคนไทยคนอื่น เผื่อจะขอความช่วยเหลือได้บ้าง

และวัดไทยที่เราพบข้อมูลว่าอยู่ไม่ห่างจากโรงแรมของเรามากนัก อีกทั้งคนขับแท็กซี่ก็พอรู้จักคือ “วัดพุทธวราราม”

ที แรกผมจินตนาการเอาเองว่า วัดไทยในต่างแดนคงต้องมีอย่างน้อยๆ ก็โบสถ์ วิหาร หรือหอระฆังเป็นจุดสังเกตแหละน่า แต่พอคนขับแท็กซี่จอดรถสนิทที่หน้าอาคารเลขที่ 4801 จูเลียนสตรีท ในนครเดนเวอร์ ซึ่งจีพีอาร์เอสบอกว่าเป็นที่ตั้งวัดไทยตามที่แจ้งไว้ในระบบ สิ่งที่ผมเห็นเป็นเพียงแค่บ้านคล้ายๆ ทาวน์เฮาส์ขนาดใหญ่ 2 ชั้นตั้งเด่นอยู่กลางลานหิมะซึ่งน่าจะเป็นสนามหญ้าหน้าบ้านในหน้าร้อน เพราะมีโต๊ะเก้าอี้นั่งเล่นจัดวางอยู่มุมหนึ่งของลาน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

สิ่งเดียวที่บ่งบอกว่าน่าจะเป็นวัดคือ “ธงตราธรรมจักร” บนหน้าจั่ว และป้ายชื่อวัดภาษาไทยบนบอร์ดหน้าประตูบ้านเท่านั้น

เมื่อ เราเดินผ่านประตูเหล็กเล็กๆ เข้าไปภายในก็เริ่มเห็นรูปภาพคุ้นตาที่อธิบายความเป็นไทย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นภาพประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นประเพณีสงกรานต์ หรือตลาดน้ำดำเนินสะดวก

กระทั่ง เราก้าวขึ้นไปชั้น 2 เพื่อนมัสการ พระมหาเกรียงศักดิ์ รมณีโย ซึ่งทำหน้าที่ไม่ต่างจากเลขานุการเจ้าอาวาส นั่นแหละเราจึงได้เห็นห้องโถงที่มีบรรยากาศคล้ายในโบสถ์ มีพระประธานองค์ใหญ่และพระพุทธรูปปางต่างๆ ประดิษฐานเรียงกัน ถัดลงมาเป็นโต๊ะหมู่บูชาและพรมผืนหนาสำหรับจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย

บรรยากาศ ในห้องโถงนี้อบอุ่นอย่างประหลาด เพราะอุ่นเข้าไปถึงในหัวใจ ความเป็นคนไทยที่พวกเราสัมผัสได้ ไม่ใช่แค่พูดภาษาไทยเท่านั้น แต่คือ “น้ำใจไทย” ที่พระมหาเกรียงศักดิ์ถามเราเกือบจะเป็นประโยคแรกที่ได้พบหน้าว่า “กินข้าวกินปลากันมาหรือยัง” และโดยไม่ฟังคำตอบ ท่านก็พาเราลงไปที่ห้องครัวชั้นล่าง

อาหารไทย มื้อแรกในต่างแดน และเป็นอาหารมื้อแรกที่ตกถึงท้องตั้งแต่ออกจากสนามบินเดนเวอร์ของพวกเรา จึงเป็น “ข้าววัด” แม้จะไม่ชัดว่าเป็น “ข้าวก้นบาตร” เพราะพระที่นี่ไม่ได้ออกบิณฑบาต แต่พวกเราทุกคนก็เห็นตรงกันว่า เป็นข้าวที่อร่อยที่สุดมื้อหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว

ที่พึ่งทางใจ...วัดไทยในต่างแดน

พระ มหาเกรียงศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า วัดพุทธวรารามเป็นวัดไทยที่ติดกลุ่มเก่าแก่ที่สุดในสหรัฐ สร้างขึ้นเมื่อราว 30 ปีก่อนในห้วงเวลาใกล้เคียงกับวัดไทยในแอลเอนั่นเลยทีเดียว และวัดแห่งนี้ก็กลายเป็นศูนย์รวมทั้งกายและใจของคนไทยในเดนเวอร์ เมืองเอกของรัฐโคโลราโดที่มีเทือกเขาร็อคกี้เป็นวิวสวยทอดยาวสุดลูกหูลูกตา

“เรา มีกิจกรรมทุกๆ วันสำคัญทางศาสนา ทั้งวันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา รวมไปถึงวันขึ้นปีใหม่และวันสงกรานต์ด้วย คนไทยที่นี่ก็จะมารวมตัวกันทำบุญ สวดมนต์ นั่งวิปัสนา บางคนก็มาขอใช้สถานที่จัดงานวันเกิดและทำบุญไปด้วยในตัวเลย เพราะไปเช่าสถานที่ข้างนอกราคาแพงมาก มาขอใช้ที่วัดดีกว่า วัดไม่ได้คิดอะไรนอกจากค่าน้ำกับค่าไฟ” พระมหาเกรียงศักดิ์ บอก

เท่า ที่เดินดูบรรยากาศรอบๆ วัดพุทธวราราม ด้านหนึ่งจัดเป็นกุฏิให้กับพระซึ่งมีจำพรรษาอยู่ 6 รูป แม่ชี 1 รูป มีบอร์ดเล็กๆ เป็นตารางกิจนิมนต์ และรายชื่อเจ้าภาพถวายภัตตาหารในแต่ละวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของร้านอาหารไทยในเดนเวอร์

วัด พุทธในเดนเวอร์มีอยู่ 5 วัด เป็นวัดไทย 3 วัด ที่เหลือเป็นวัดเขมรกับวัดพม่า พระมหาเกรียงศักดิ์เล่าว่า บางวัดอยู่ลึกเข้าไปถึงใกล้ๆ เทือกเขาร็อคกี้ สภาพอากาศไม่ต้องพูดถึง หนาวเหน็บกว่าในตัวเมืองหลายเท่าตัว

ตอนแรกที่ ไปถึงพวกเราไม่ได้บอกพระมหาเกรียงศักดิ์ว่าเรามีที่พักกันอยู่แล้ว ทำให้ พระครูโพธิธรรมวิเทศ (ยรรยง แก้วยา) เจ้าอาวาส ออกมาจัดแจงให้พระลูกวัดเตรียมหาที่พักให้พวกเรา ยิ่งทำให้ผมรู้สึกละอายใจ เพราะนอกจากจะไม่ได้ตั้งใจมาทำบุญแล้ว ยังมาเบียดเบียนวัดกับพระอีก

หลัง อิ่มหนำสำราญกับ “ข้าววัด” ที่มาล้อมวงกินกันไกลถึงเดนเวอร์ พวกเราได้นั่งคุยกับแม่ชีรูปเดียวของวัด และน่าจะเป็นรูปเดียวในเดนเวอร์ด้วย แม่ชีท่านนี้ชื่อ “สร้อยราตรี” อายุอานามกว่า 60 ปี บวชเป็นชีมาตั้งแต่อายุ 13 และมีปัญหาสุขภาพ เป็นเบาหวานเข้าขั้นรุนแรง เพิ่งผ่านการผ่าตัดไตมาได้ไม่นาน

“แม่ ชีมีพุทธศาสนาเป็นที่พึ่ง ตอนมาผ่าตัดที่โรงพยาบาลในเดนเวอร์ แม่ชีไม่รู้จักใครเลย กลัวมาก ได้แต่สวดมนต์เสียงดังตลอดทั้งคืนจนคนที่นอนเตียงข้างๆ ตกใจ ในที่สุดก็ปลอดภัย” แม่ชีสร้อยราตรี กล่าวกลั้วหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ไม่เหมือนคนที่ป่วยหนักที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดใหญ่มา

ภาพ ความเป็นอยู่ในวัดพุทธวรารามทำให้พวกเราเต็มตื้นในหัวใจ มีเรี่ยวแรงต่อสู้กับพายุหิมะและการรอคอยอย่างไม่ค่อยจะมีหวังกันต่อไป ก่อนลากลับพระครูโพธิธรรมวิเทศให้ศีลให้พรบอกให้พวกเราโชคดี ร่ำเรียนสำเร็จกลับไปช่วยกันดูแลบ้านเมือง

ฟ้า มืดแล้ว...พวกเราเดินลุยหิมะกลับไปขึ้นแท็กซี่ ความรู้สึกของคนอื่นผมไม่รู้ แต่สำหรับผมเองไม่หนาวเลย เพราะไออุ่นวัดไทยกรุ่นอยู่ทั่วกาย...

ผมรักเมืองไทยมากขึ้นอีกเยอะเลย!