ปกรณ์
ร่อนตะแกรง แถลงไข ไฟใต้
Permalink : http://www.oknation.net/blog/kobkab
วันอาทิตย์ ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2554
เรื่องเล่า (เบาๆ) ตอน 2 “แย็บๆ”...อเมริกันอันตราย!
“แย็บ แย็บ” เป็นถ้อยคำสั้นๆ ที่คนอเมริกันชอบพูดกัน มันคือคำเดียวกับ “เยส” หรือ “Yes” ที่แปลว่า “ใช่” หมายถึงการตอบรับในภาษาอังกฤษนั่นเอง
ผม ได้ยินเสียง “แย็บๆ” มาตลอดตั้งแต่สัมผัสน่านฟ้าอเมริกา และจะว่าไปก็เคยได้ยินมาก่อนหน้านี้บ้างจาก “เดวิด ปาร์คเกอร์” อาจารย์ฝรั่งที่สอนภาษาอังกฤษให้ผมกับเพื่อนๆ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนลุยเมืองลุงแซม
เดวิดเป็น คนอังกฤษ แต่พยายามใช้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน หรือ “อเมริกัน อิงลิช” เพื่อให้พวกเราคุ้นเคย เขาจึงพูด “แย็บๆ” บ่อยครั้ง กับอีกคำหนึ่งที่พูดทุกทีที่เจอหน้ากันก็คือ “What’s up” ซึ่งแกบอกว่าเป็นประโยคที่ไม่มีความหมายอะไรในเชิงสาระ แต่อเมริกันชนชอบใช้เพื่อทักทายอย่างไม่เป็นทางการ
ผม จึงทึกทักเอาเองว่าหากฝรั่ง (ในที่นี้หมายถึงอเมริกัน) พูดกับผมว่า “แย็บๆ” หรือ “What’s up” น่าจะหมายถึงว่าเราสนิทกันแล้ว เป็นเพื่อนกัน...อะไรทำนองนั้น
ทว่าไม่กี่วันบนแผ่นดินอเมริกาครั้งแรกในชีวิต ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองรู้สึกและเข้าใจนั้นผิดถนัดเลยทีเดียว!
ช่วยหรือซ้ำ...
ความ เดิมจาก “เรื่องเล่า (เบาๆ)ฯ” ตอนที่แล้วคือคณะของพวกเราซึ่งเป็นนักข่าว 3 คน และอาจารย์สอนวิชาสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยบูรพาอีก 1 ท่าน ได้รับโอกาส (ทอง) เหินฟ้าไปเมืองแมดิสัน รัฐวิสคอนซิน ทางตอนเหนือของอเมริกาเพื่อศึกษาต่อกึ่งฝึกอบรมเป็นเวลา 6 เดือน เนื่องจากได้ทุนจากมูลนิธิอิศราอมันตกุล
แต่ การเดินทางไปอเมริกาครั้งแรกกลับต้องเจอกับอุปสรรคอย่างสาหัสสากรรจ์คือ “พายุหิมะ” ทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางบิน และไปติดอยู่ที่นครเดนเวอร์ เมืองหลวงของรัฐโคโรลาโด ห่างจากจุดหมายปลายทางถึงร่วม 3 ชั่วโมงบิน
พวก เราไปติดอยู่ที่นั่น 3 วัน 3 คืน ไปนอนโรงแรมที่ชื่อว่า “Sleep Inn” ในย่านที่มีแต่โรงแรมใกล้สนามบินสำหรับผู้ที่ต้องพักรอเปลี่ยนเครื่องหรือ เที่ยวบินยกเลิก
เรื่อง ราวของคนไทย 4 คน ภาษาอังกฤษงูๆ ปลาๆ ไปตกระกำลำบากในเมืองที่ไม่รู้จักใครและไม่มีใครรู้จักจนต้องไปอาศัย “ข้าววัด” ประทังชีวิต ผมก็ว่าแย่แบบสุดๆ แล้ว แต่สิ่งที่เราเผชิญหลังจากนั้นมันหนักยิ่งกว่า
และมันก็เกี่ยวข้องกับไอ้คำตอบรับ “แย็บๆ” ที่ผมกล่าวถึงในตอนต้นนั่นด้วย
เรื่อง ของเรื่องก็คือ พลันที่เที่ยวบินไปแมดิสันยกเลิก เราได้รับการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเพียงประการเดียวจากสายการบินยูไนเต็ด ก็คือกระดาษแผ่นเล็กๆ สีชมพู ขนาดเศษหนึ่งส่วนสี่ของ เอ 4 เขียนข้อความตัวโตว่า “ACCOMMODATION” ซึ่งหมายถึงการให้ความช่วยเหลือ หรืออำนวยความสะดวก พร้อมเบอร์โทรศัพท์ยาวยืด เพราะเป็นเบอร์โทร.ระหว่างประเทศ
เจ้ากระดาษ แผ่นที่ว่านี้ดูไม่มีราคาค่างวดอะไรเลย เพราะเป็นแค่แผ่นซีรอกซ์แบบหยาบๆ (ถ้าเป็นสมัยก่อนคงใช้โรเนียว) เจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์ของยูไนเต็ดแอร์ไลน์ยื่นให้ผม และบอกว่าให้โทรศัพท์ไปตามเบอร์ที่ระบุไว้ในกระดาษแผ่นนี้เพื่อจองห้องพัก ซึ่งจะมีโรงแรมใกล้ๆ สนามบินไว้รอรับ
ฟังดูก็ ง่ายๆ และไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อน แต่พอผมอ่านข้อความในแผ่นกระดาษที่ว่านี้โดยละเอียด ทำให้ทราบเลาๆ ว่าเบอร์โทรศัพท์ดังกล่าวน่าจะเป็นเบอร์ของเอเยนต์รับจองโรงแรมทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะที่เดนเวอร์ เพราะมันระบุเอาไว้ชัดเจนว่าเมื่อโทร.ติด ให้แจ้งเมืองที่อยู่ จากนั้นให้จดข้อมูลตามที่ปลายสายบอก คือชื่อโรงแรม เลขยืนยันการจอง และราคา โดยราคานั้นจะเป็นราคาพิเศษ ทำนองว่าเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างเอเยนต์รายนี้กับสายการบินยูไนเต็ด และโรงแรมทั่วโลกที่เข้าร่วมแคมเปญ
เมื่อจด ข้อมูลตามที่แจ้งแล้ว ให้เอาเจ้ากระดาษแผ่นเล็กๆ ใบนี้ไปยื่นที่เคาน์เตอร์ของโรงแรม ก็จะได้รับการบริการพร้อมราคาตามที่ตกลงกัน (ทางโทรศัพท์)
“โอ้ ว...อะไรจะดีขนาดนี้” ผมคิดในใจ พลางให้เพื่อนนักข่าวมติชนกดโทรศัพท์ซึ่งโชคดีโรมมิ่งมาจากเมืองไทย โทร.ไปตามเบอร์ที่ปรากฏหราอยู่บนกระดาษทันที
แต่ การพูดโทรศัพท์ครั้งแรกในต่างแดนทำให้เกิดอาการเกี่ยงกันระหว่างคณะผู้ร่วม เดินทาง สุดท้ายผมในฐานะที่ปฏิเสธใครไม่เป็น ก็เลยได้รับเกียรติให้พูดโทรศัพท์เป็นภาษาอังกฤษเพื่อจดข้อมูลที่ล้ำค่าที่ สุด ณ ห้วงเวลานั้น
ต้องไม่ลืมความเดิมตอนที่ แล้วว่า พวกผมใช้เวลาเดินทางกว่า 20 ชั่วโมงจากสนามบินสุวรรณภูมิ จนถึงตอนนั้นยังไปถึงแค่เดนเวอร์ และเหนื่อยล้ากับการรอรับกระเป๋าคืนอีกนานหลายชั่วโมง จนมีบางคนนั่งหลับข้างๆ สายพานส่งกระเป๋าด้วยซ้ำ
ฉะนั้นข้อมูลการจองโรงแรมเพื่อให้ได้ที่พักหลับนอนจึงสำคัญไม่มีอะไรเทียบ
“Please speak slowly” ผมตะโกนใส่โทรศัพท์หลังจากพูดประโยคที่ว่า “Please speak again” แล้วถึง 3 ครั้งก็ยังฟังไม่ออกว่าโรงแรมในเดนเวอร์ที่เอเยนต์ปลายสายบอกให้ไปนอนและจอง ให้แล้วนั้นชื่ออะไร จดได้แค่ราคา 58 เหรียญต่อคืน
ตอน หลังผมเลยเดาสุ่ม เอเยนต์ซึ่งเป็นชายเสียงใหญ่ปลายสายดันบอกแบบตัดรำคาญว่า “แย็บ” เสียอีก ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะเดาถูก (ซึ่งปัจจุบันผมก็จำไม่ได้แล้วว่าพ่นชื่ออะไรออกไป) แต่โชคร้าย เมื่อเอาชื่อนี้ไปถามคนขับรถชัตเติลบัสของสนามบินที่ให้บริการไปส่งตาม โรงแรมต่างๆ รอบๆ ท่าอากาศยาน เขากลับไม่รู้จัก ทั้งๆ ที่เจ้าเอเยนต์บอกว่ามีชัตเติลบัสไปถึงแน่ๆ
เอาล่ะสิ...จะทำอย่างไรกันดี?
สัญญาณอันตราย...
การ ไปยืนรอรถชัตเติลบัสเพื่อถามหาโรงแรมที่ผมมั่วชื่อขึ้นมานั้น เป็นเรื่องทุกข์อย่างมหันต์ เพราะต้องไปยืนนอกอาคารท่ามกลางอุณหภูมิติบลบ 4 องศาเซลเซียส
พวกเราเห็นท่าไม่ดี จึงถอนกำลังกลับ (พร้อมลากกระเป๋าทุลักทุเล)
โชค ดีที่มีเจ้าหน้าที่สนามบินใจดีมาสอบถาม เขาแนะว่าให้ไปใช้โทรศัพท์ฟรีของสนามบินซึ่งติดตั้งอยู่หน้าป้ายโฆษณาโรงแรม ต่างๆ รอบๆ ท่าอากาศยานซึ่งมีทั้งเบอร์โทร.พร้อมรายการสิ่งอำนวยความสะดวกให้เลือกกว่า 10 แห่ง
แต่โทร.ไปหลายโรงแรมก็ได้รับคำตอบว่า ห้องพักเต็ม (การโทร.รอบนี้ เพื่อนนักข่าวจากมติชนขอคุยเองแล้ว ไม่ยอมให้ผมมั่วอีกแต่ประการใด) สุดท้ายก็ได้โรงแรม “Sleep Inn” ตามที่เล่าตั้งแต่ตอนแรกนั่นแหละ
ราคาที่ พนักงานโรงแรมแจ้งทางโทรศัพท์คือ 94 เหรียญต่อคืน คิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 2,800 บาท แต่นาทีนั้นคืนละหมื่นก็ต้องเอาแล้ว พวกเราจึงตอบรับทันที
เมื่อ ได้โรงแรมนอนแน่ๆ พวกเราก็คิดกันว่าถึงเวลาโชคเข้าข้างบ้างแล้ว แต่ที่ไหนได้ต้องไปยืนทนหนาวรอรถจากโรงแรมมารับร่วมครึ่งชั่วโมงก็ยังไม่ เห็นแม้แต่เงา เวลาก็เข้าใกล้เที่ยงคืนเต็มที สุดท้ายเราจึงต้องยอมควักกระเป๋าขึ้นแท็กซี่ป้ายดำ (แท็กซี่เถื่อนในเมืองนอกก็มีเหมือนกันนะ) และไปถึงหน้าโรงแรมในอีกราว 25 นาทีต่อมา
นึกว่าโชคเข้าข้าง...
จังหวะ นั้นพวกเราคิดถึงเตียงนอนกันเต็มแก่ จึงไม่ได้ปริปากบ่นเรื่องที่รถโรงแรมไม่ยอมไปรับ และไม่ได้ต่อรองราคา 94 เหรียญตามที่ตกลงกันทางโทรศัพท์ เข้าทำนอง...จะเอาอะไรก็เอาเหอะ ง่วงนอนทนไม่ไหวแล้ว
พนักงานโรงแรมเป็นสาวอเมริกันลูกผสม ผมดำ คิ้วเข้ม ถามอะไรเธอก็ “แย็บๆ” ตามด้วยรอยยิ้มตลอด ท่าทางเป็นมิตร ไม่มีพิษไม่มีภัย
เธอ ขอบัตรเครดิตของพวกเราไปการันตีก่อนเข้าพัก ซึ่งเป็นธรรมเนียมของโรงแรมในต่างประเทศซึ่งจะไม่เรียกเงินก่อนหรือเก็บมัด จำเป็นเงินสดแบบโรงแรมในบ้านเรา
“อาจารย์หน่อย” รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพาซึ่งร่วมคณะไปกับพวกเราด้วย รีบควักบัตรเครดิตให้ในฐานะอาวุโสสูงสุด
หลาย นาทีอยู่เหมือนกันในตอนนั้นที่เราไม่ได้นึกถึงเจ้ากระดาษสีชมพูที่เขียนว่า “ACCOMMODATION” กันเลย แต่แล้วจู่ๆ ผมก็เกิดนึกขึ้นได้ ก็เลยลองยื่นไปเล่นๆ
“อ้าว...คุณมีการ์ดนี้ ด้วยเหรอ ถ้าอย่างนั้นเราลดราคาให้ครึ่งหนึ่ง เหลือ 42 เหรียญ” พนักงานสาวบอกทันทีที่เห็นกระดาษซึ่งตอนนี้มีค่าดั่งทองไปแล้วในสายตาของพวก เรา
“จริงเหรอ โอ้...ดีอะไรอย่างนี้...” 4 คนไทยที่พากันไปติดพายุหิมะถึงเดนเวอร์พร้อมใจกันระล่ำระลัก แล้วต่างคนต่างก็ถามโน่นถามนี่พนักงานสาวผมดำคิ้วเข้มอีกหลายประโยค ไม่รู้ว่าเธอฟังรู้เรื่องบ้างหรือเปล่า แต่ก็ตอบ “แย็บๆ” ทุกประโยค
สวรรค์เริ่มชำเลืองตามาทางพวกเราแล้ว!
หน้าเนื้อแต่ใจเสือ...
คณะ นักข่าวกับอาจารย์ไทยนอนที่โรงแรม “Sleep Inn” เป็นเวลา 3 คืนจึงได้ไฟลท์บินต่อไปแมดิสัน ตลอด 3 วันผมเริ่มรู้สึกไม่ค่อยดีกับโรงแรมแห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะบริการไม่ได้เอาอ่าวเลย
ผมยังคิดว่าเมือง ไทยไม่ต้องไปแข่งด้านเทคโนโลยีหรือสะสมอาวุธสู้กับประเทศมหาอำนาจที่ไหนหรอก แค่ขาย “ยิ้มสยาม” กับ “service mind” แบบไทยๆ ก็โชติช่วงชัชวาลแล้ว
โรงแรม ที่พวกผมไปพัก (จริงๆ คือไปติดพายุหิมะ) แม้พนักงานจะพูด “แย็บๆ” กันเกือบตลอดเวลาก็จริง ทว่าไปขออะไรจริงๆ กลับไม่เคยได้รับบริการ เช่นตอนบ่ายวันที่ 2 ห้องเริ่มรก เราไปขอแม่บ้านให้เข้าไปทำความสะอาด พนักงานตอบว่าไม่มี ต้องแจ้งก่อนตอนเช้าเท่านั้นถึงจะหาแม่บ้านให้ได้
นี่คือตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ แต่ที่หนักที่สุดคือตอนเช็คเอาท์ เพราะพนักงานแจ้งราคารวม 280 เหรียญ...อ้าว! ไหนว่าคืนละ 42 เหรียญไง
“2 คืนหลังคุณไม่ได้ยื่นการ์ด ACCOMMODATION เราจึงต้องคิดราคาเต็ม” พนักงานสาวกะกลางวันซึ่งหน้าคมไม่แพ้กะกลางคืนอธิบาย
“งั้น เอานี่ไป เรามีอีกเยอะแยะเลย” ผมวางกระดาษสีชมพูเกือบ 10 ใบบนเคาน์เตอร์ตรงหน้าเธอ สาเหตุที่ผมมีเยอะเพราะผมจิ๊กมาจากเคาน์เตอร์ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ไม่ใช่รอบคอบอะไรหรอก กลัวเขียนผิดน่ะ
“แย็บๆ” เธอตอบรับเป็นเชิงว่าถ้าอย่างนี้ก็โอเค แต่เรื่องยังไม่จบ เพราะเธอถามหา “เลขยืนยันการจอง” ซึ่งคราวนี้เราไม่มีกันจริงๆ เนื่องจากไม่ได้โทร.ไปแจ้งเอเยนต์ทุกคืนที่พัก เพราะเข้าใจว่าแจ้งคืนแรกที่เข้าพักก็น่าจะครอบคลุมแล้ว ไม่ว่าเราจะพยายามอธิบายอย่างไรพนักงานสาวก็ไม่ยอมฟัง เรียกเก็บ 280 เหรียญท่าเดียว (เป็นราคารวมภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ทั้งหมด รวมทั้งค่าชมภาพยนตร์ด้วยซึ่งยังไม่รู้เลยว่าได้ดูตอนไหน)
เมื่อ ถึงคราวบ้อท่า เราจึงขอจ่ายเป็น “มาสเตอร์การ์ด” ซึ่งก็คือบัตรเครดิต เพราะไม่กล้าทุ่มจ่ายเงินสดในกระเป๋า กลัวไปเจอเรื่องราวไม่คาดฝันอีก
“แย็บๆ” เธอส่งสัญญาณว่าได้เลย และการติดต่อสื่อสารระหว่างพวกเรากับโรงแรม Sleep Inn ก็สิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น
สอง วันต่อมา ที่ห้องพักในเมืองแมดิสัน “อาจารย์หน่อย” โวยวายเสียงดังเมื่อสามีโทรศัพท์ข้ามประเทศมาจากชลบุรีแจ้งว่าธนาคารเจ้าของ บัตรเครดิตส่งคำเตือนมาว่ามีการเบิกเงินสดผิดปกติที่อเมริกา มีใครเดินทางไปต่างประเทศหรือเปล่า
สามีของ อาจารย์หน่อยเล่าว่า จริงๆ เจ้าหน้าที่ธนาคารโทร.มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้หลายวันแล้ว บอกว่ามีการใช้บัตรเบิกเงินสดหลายครั้งที่เมืองเดนเวอร์ วงเงินในบัตรใกล้หมด จะให้ธนาคารดำเนินการอย่างไรหรือไม่ แต่ด้วยความเป็นสามีที่แสนดี คิดว่าภรรยาต้องใช้เงินมากในต่างประเทศ กลัวว่าคนรักจะตกระกำลำบาก แกจึงสั่งเพิ่มวงเงินเข้าไปอีก
คราว นี้บัตรจึงถูก “มือมืด” กดสนุกกระทั่งวงเงินที่เพิ่มเข้าไปก็ถูกเบิกจนเกือบชนเพดาน ทำให้ธนาคารต้องแจ้งเตือนมา เนื่องจากบางวันกดถึง 4-5 ครั้ง รวมยอดเงินที่สูญไปร่วมครึ่งแสน
อาจารย์หน่อย บอกว่า ตั้งแต่เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ บัตรเครดิตออกจากกระเป๋าสตางค์แกครั้งแรกก็วันที่ยื่นให้พนักงานสาวโรงแรม Sleep Inn เอาไปการันตีนั่นแหละ และครั้งที่ 2 คือตอนรูดจ่ายเงินอีก 3 วันถัดมา
จากการตรวจสอบของธนาคารที่ชลบุรีพบว่า บัตรถูกกดเงินตั้งแต่คืนวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่พวกเราเข้าพักที่โรงแรมวันแรก...โอ้!
ผมได้ยินเสียง “แย็บๆ” ก้องอยู่ในหัว...แหม! มันแสบจริงๆ
โทรศัพท์ลวงโลก...
เรื่อง ราวการถูกหลอกของพวกเรายังไม่หมด เพราะวันที่คณะจากเมืองไทยหิ้วท้องไปขอพึ่ง “ข้าวก้นบาตร” ที่วัดพุทธวรารามในนครเดนเวอร์นั้น เมื่อออกจากวัดแล้ว แท็กซี่ที่เราว่าจ้างก็เสนอพาทัวร์ดาวน์ทาวน์ที่เต็มไปด้วยแสงสีประดุจเมือง ฟ้า
ระหว่างทางบนถนนสายจอแจ รถแล่นผ่านร้านขายโทรศัพท์มือถือชื่อ “T Mobile” คนขับแท็กซี่ซึ่งเป็นชาวเกาหลีใต้ให้ข้อมูลว่า ในอเมริกานั้นนิยมใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่กัน 2 ระบบ 2 ยี่ห้อ คือ “T Mobile” กับ “AT&T” (คล้ายๆ “ดีแทค” กับ “เอไอเอส” บ้านเรา)
แต่ รูปแบบการขายโทรศัพท์มือถือในสหรัฐนั้นไม่เหมือนเมืองไทย เพราะเขาจะขายเครื่องพ่วงเบอร์พร้อมโปรโมชั่น โดยต้องทำสัญญาไม่ต่ำกว่า 2 ปีจึงจะได้โปรโมชั่นแบบเหมาจ่ายรายเดือน และราคาแอร์ไทม์หรือค่าโทร.ต่อนาทีจะค่อนข้างถูก แต่พวกเรามีกำหนดอยู่อเมริกากันแค่ 6 เดือน จึงต้องซื้อแบบ “พรีเพด” คือจ่ายก่อนโทร. ทว่าเป็นการขายเครื่องพ่วงเบอร์เหมือนกัน
ช่วง ที่ไปติดพายุหิมะอยู่นั้น เพื่อนๆ ในกลุ่มของเราบางคนอยากโทร.กลับบ้านมาก เพราะการอยู่ท่ามกลางหิมะขาวโพลนมันช่าง “เหงา เศร้า และรัก” เหมือนในโฆษณา คนขับแท็กซี่จึงชี้ชวนให้ซื้อโทรศัพท์แบบพรีเพด แล้วไปซื้อการ์ดโทรข้ามประเทศ หรือ “คอลลิ่ง การ์ด” เพื่อให้ค่าแอร์ไทม์ถูกลงเหลือแค่นาทีละ 4 เซ็นต์
เรา จึงแวะร้าน “T Mobile” และได้โทรศัพท์พ่วงเบอร์พร้อมโปรโมชั่นมา 1 เครื่อง ราคา 93 เหรียญ เป็นโทรศัพท์แบบป๊อกแป๊กคล้ายของเล่น จนบางคนเอ่ยแซวว่าเป็น "ไอโฟน 5" คือ "ไอโฟนฮ่าๆๆ" แต่พวกเราก็ยังรอบคอบสอบถามพนักงานสาวในร้านที่หน้าตาสวยสะระดับนางงามเวเน ซูเอลาว่า พวกเรากำลังจะออกจากเดนเวอร์ในอีกไม่กี่วันนี้ โทรศัพท์ที่ซื้อไปสามารถนำไปใช้ที่เมืองแมดิสันหรือรัฐวิสคอนซินได้หรือไม่
“แย็บๆ” (อีกแล้วครับท่าน) เธอตอบในความหมายว่าใช้ได้ชัวร์ พร้อมอธิบายสรรพคุณว่า เครือข่ายของ “T Mobile” มีครอบคลุมทุกรัฐในอเมริกา พวกเราสามารถไปเติมเงินได้อย่างสะดวกสบายที่ศูนย์บริการในเมืองแมดิสันหรือ เมืองอื่นๆ ในรัฐวิสคอนซิน
“โอ้...แย็บ” ผมตอบเชิงล้อเลียนเธอบ้าง ก่อนจะกำโทรศัพท์เดินกรำหิมะไปขึ้นแท็กซี่กลับโรงแรม
ถัด จากนั้นไม่กี่วัน เราเดินทางถึงเมืองแมดิสัน มีคณะนักเรียนไทยไปรอรับพวกเราที่สนามบิน ระหว่างเส้นทางสู่ที่พัก เราเอ่ยถามถึงระบบโทรศัพท์ที่พวกเขานิยมใช้
“ที่นี่ AT&T อย่างเดียวเลยครับพี่” นักศึกษาหนุ่มบอก
“อ้าว! แล้ว T-Mobile ล่ะ” เรายิงคำถามด้วยความฉงน ไอโฟน 5 ยังอุ่นๆ อยู่ในกระเป๋าเสื้อหนาว
“ไม่มีใครเขาใช้กันหรอกครับพี่ เพราะสัญญาณมันไม่ดี ที่อื่นผมไม่รู้นะ แต่ที่เมืองนี้ไม่มีศูนย์บริการของ T-Mobile เลย”
โดนอีกแล้วไหมล่ะ..."แย็บๆ"