TJA ผนึก  TIJ จัดอบรมการรายงานข่าวสืบสวน “กรณีทิ้งกากของเสียอันตราย”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย(TJA) ร่วมกับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ จัดอบรมสื่อมวลประเด็นความยุติธรรรมทางสิ่งแวดล้อม  หัวข้อการรายงานข่าวเชิงสืบสวนกรณีลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย  เมื่อวันศุกร์ที่ 1 - วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2567 ณ แคนทารี โฮเทล กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี  ผู้เข้าร่วมอบรมรวม 17 คน  ทั้งสื่อมวลชน และนิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ  รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน  

โดยมีรูปแบบกิจกรรมทั้งการลงพื้นที่ดูปัญหาและรับฟังสถานการณ์สิ่งแวดล้อมจากการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมของเสียอันตรายกลุ่มทุนจีนในพื้นที่จ.ปราจีนบุรี  จากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมจ.ปราจีนบุรี และการรับฟังบรรยายในหัวข้อต่างๆ ทั้ง การประมวลความรู้พื้นฐานสถานการณ์ลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายในประเทศไทย  โดย นายสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและดูแลภาพลักษณ์องค์กรสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ข้อมูลเชิงลึกการขยายตัวของปัญหาลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมและการผลักดันให้ข้อมูลมลพิษต้องเป็น "ข้อมูลเปิด” , พื้นที่ประสบภัยและรูปแบบต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทย  โดยนางดาวัลย์ จันทรหัสดี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม , ความเป็นมาและความจำเป็นในในการผลักดันร่างกฎหมาย PRTR โดยนางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ  , ถอดประสบการณ์กับเพื่อนนักข่าวในการทำข่าวกากอุตสาหกรรม โดย นายมนตรี อุดมพงษ์ ..ข่าว 3 มิติ , ถอดบทเรียนการทำคดีกากอุตสาหกรรมการต่อสู้ทางกฎหมายคดี โดย นายชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความ  และปัญหาเชิงเทคนิคที่นักข่าวควรรู้ในการทำข่าวโรงงานอุตสาหกรรม 

 นายสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา  หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและดูแลภาพลักษณ์องค์กรสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดอบรมครั้งนี้เพราะ TIJ เล็งเห็นว่าปัญหากากขยะอุตสาหกรรมสะท้อนให้เห็นถึงการที่ประชาชนเข้าไม่ถึงความยุติธรรม  แม้แต่ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมแล้วก็ยังไม่สามารถได้รับความเป็นธรรม    บางครั้งกฎหมายและกลไกที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้ทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นกับประชาชนได้ แม้ว่าจะทำไปตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งหมดจนชนะคดีแล้วก็ตาม  

ดังนั้นการทำให้มีสื่อมวลชนเข้าใจปัญหานี้แบบลงลึกได้มากขึ้น ตลอดจนมีหน่วยงานรัฐหรือองค์กรภาคประชาสังคม ที่จะสามารถจับมือกันเป็นเครือข่ายเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาเรื่องนี้ได้มากขึ้น ก็จะเป็นการช่วยทำให้ประชาชนที่ต้องเผชิญกับปัญหาด้านนี้ สามารถได้รับความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริงในอนาคต 

หัวข้อต่างๆที่เลือกมาจัดอบรมในครั้งนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความเข้าใจเมื่อเจอปัญหาเกี่ยวกับขยะกากอุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและอาจจะเข้าใจยากต้องใช้เวลาศึกษาพอสมควรแม้แต่สื่อมวลชนเองก็ยังมีคนที่เข้าใจปัญหานี้อย่างแท้จริงน้อยหากเราสามารถช่วยสร้างให้คนมีความรู้ความเข้าใจได้โดยตรงนำผู้ที่ทำงานในพื้นที่เครือข่ายหรือแม้แต่นักกฎหมายที่ทำคดีเหล่านี้รวมถึงผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์ในการทำข่าวด้านสิ่งแวดล้อมมาแลกเปลี่ยนและแชร์ความรู้กันก็จะทำให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้นและจะมีผู้ช่วยในการสื่อสารเรื่องเหล่านี้ได้มากขึ้นเป็นการผลักดันให้นำไปสู่การแก้ปัญหาได้เร็วและง่ายขึ้นสิ่งเหล่านี้เป็นความคาดหวังและวัตถุประสงค์ของ TIJ ” นายสถาพรกล่าว

ขณะที่ นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการและโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของสมาคมนักข่าวฯ ที่จัดอบรมด้านการทำข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หัวใจของการอบรมเพื่อให้นักข่าวมีความรู้และเข้าใจในสิ่งที่ “ต้องรู้” ในการทำข่าวเจาะกากขยะอุตสาหกรรม ที่ถือเป็นอีกพาร์ทหนึ่งของการทำข่าวสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันนักข่าวสายนี้ลดลงไปเรื่อยๆ  โดยการทำข่าวกากขยะอุตสาหกรรมและข่าวสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่การที่โรงงานโรงงานหนึ่งปล่อยมลพิษ แต่ยังมีรายละเอียดต่างๆ ทั้งมิติในด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจ การบังคับใช้กฎหมาย  โดยสมาคมนักข่าวฯ คาดหวังว่า การอบรมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับสื่อมวลชนในการทำข่าวด้านสิ่งแวดล้อม   

ทั้งนี้ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2567 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จะจัดอบรมสื่อมวลชน ประเด็นความยุติธรรรมทางสิ่งแวดล้อม  หัวข้อการรายงานข่าวเชิงสืบสวนกรณีลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย  รุ่น 2 ที่ จ.ระยอง อีกด้วย