Media influence
โดย รุ่งนภา พิมมะศรี
Podcast ในไทย
ความนิยมมากขึ้น แต่ยังไม่สร้างรายได้?
สื่อโซเชียลมีเดีย อีกหนึ่งช่องทางที่เข้ามาในวงการสื่อบ้านเรานานพอควรแล้ว แต่ต้องยอมรับว่า จนถึงขณะนี้ คนทำสื่อ-คนบริโภคสื่อ จำนวนไม่น้อย ยังไม่รู้จักสื่อ-ไม่สื่อสารผ่านสื่อช่องทางนี้มากนัก แม้จะพบว่าเป็นแพลตฟอร์ม สื่อใหม่ ที่มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ
พอดแคสต์ (Podcast)
ที่เป็นการนำเสนอเนื้อหาโดยการเผยแพร่เสียงผ่านอินเทอร์เน็ต
เนื้อหาของพอดแคสต์เป็นเรื่องอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับความถนัด ความสนใจ หรือคอนเซ็ปต์การนำเสนอของผู้ทำพอดแคสต์นั้น ๆ มีตั้งแต่เล่าชีวิตส่วนตัว ข่าว การเมือง เทคโนโลยี กีฬา ดนตรี หนัง ศาสนา ความสวยความงาม ฯลฯ
เนื่องจากเป็นการนำเสนอเนื้อหาด้วยเสียง พอดแคสต์จึงมีความคล้ายกับรายการทอล์กในวิทยุ แต่ไม่ต้องฟังจากสถานีวิทยุ ไม่ต้องฟังตอนออกอากาศสด สามารถฟังย้อนหลัง หรือดาวน์โหลดเก็บไว้ในเวลาที่ไม่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้
พอดแคสต์เกิดขึ้นมาเมื่อปี 2546 หรือ 15 ปีที่แล้ว ในปี 2556 หรือ 10 ปีหลังกำเนิดพอดแคสต์ บริษัทแอปเปิลได้เปิดเผยว่าทั่วโลกมีผู้ติดตามพอดแคสต์ 1 พันล้านบัญชี หลังจากนั้นยังไม่มีข้อมูลอัพเดท แต่มีข้อมูลว่าใน 1 ปีมีการผลิตเนื้อหาพอดแคสต์มากถึงปีละ 29 ล้านนาที หรือวันละ 8 หมื่นนาที
พอดแคสต์เติบโตมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีข้อมูลว่า ปี 2560 ในสหรัฐอเมริกามีผู้ฟังพอดแคสต์ทั้งหมด 112 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11% จากปี 2559 และมีผู้ฟังพอดแคสต์รายเดือนจำนวน 67 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 14% ในเวลาหนึ่งปี
ด้านรายได้ก็เติบโตมากเช่นกัน จำนวนเม็ดเงินการซื้อโฆษณาพอดแคสต์ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นปีละเกือบเท่าตัว โดยปี 2558 มีจำนวน 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2559 จำนวน 116 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการวิจัยของ Edison Researchพบว่าผู้ฟังพอดแคสต์ ฟังจากสมาร์ทโฟน แทปเล็ท อุปกรณ์พกพาอื่น ๆ รวม 69% และฟังจากคอมพิวเตอร์ 31%
ส่วนประเภทเนื้อหาพอดแคสต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ คอเมดี้ การศึกษา ข่าว ตามลำดับ
หลายคนอาจจะตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของพอดแคสต์ จะรู้ได้อย่างไรว่าพอดแคสต์รายการไหน ผู้ทำพอดแคสต์คนไหนที่เชื่อถือได้/ไม่ได้?
คำตอบคือ ผู้ฟังส่วนหนึ่งเลือกติดตามพอดแคสต์ของสื่อ สำนักข่าว หรือนักทำพอดแคสต์ที่เป็นคนมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อถือ แต่ถ้าฟังพอดแคสต์ที่ไม่ได้รู้จักคนทำมาก่อน ก็ต้องตรวจสอบข้อมูลที่ได้ฟังมา
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ดี การรับสื่อ ไม่ว่าจะรับจากสื่อที่มีชื่อเสียง หรือสื่อที่ไม่เป็นที่รู้จัก ก็ควรตรวจสอบข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งข้อมูล เพราะไม่ว่าจะสื่อเล็กหรือสื่อใหญ่ สื่อใหม่หรือสื่อเก่า ก็มีข้อผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น
เมื่อถูกท้าทายด้วยแพลตฟอร์มใหม่ สื่อเก่าจึงต้องหมุนไปตามโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังจากการเกิดขึ้นมาของพอดแคสต์ สื่อเก่าในประเทศตะวันตกล้วนเดินหน้าเข้าสู่สนามนี้ เช่นกันกับที่เคยเดินหน้าเข้าสู่การนำเสนอข่าวออนไลน์และโซเชียลมีเดีย
ปัจจุบันสำนักข่าวดังระดับโลกล้วนมีการทำรายการพอดแคสต์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นCNN, BBC, Reuters, ESPN, New York Times ฯลฯ
ส่วนสื่อที่ใช้พอดแคสต์ทำเงินได้อย่างเป็นล่ำเป็นสันคือ NPR หรือ วิทยุแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่ครองอันดับ 1 พอดแคสต์ที่มีผู้ฟังและดาวน์โหลดมากที่สุดจำนวน 111,394,000 บัญชี ซึ่งเกือบเท่าจำนวนผู้ฟังพอดแคสต์ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ NPR ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขรายได้ แต่เปิดเผยสัดส่วนรายได้ว่ารายได้จากพอดแคสต์คิดเป็น 35% ของรายได้ทั้งหมด
สำหรับในเมืองไทย พอดแคสต์ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือเป็นที่นิยมในวงกว้าง ผู้ผลิตพอดแคสต์ยังจำกัดอยู่ในแวดวงนักเขียน และอินฟลูเอนเซอร์ ส่วนผู้ฟังก็ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่ติดตามผลงานของคนทำพอดแคสต์มาก่อน
ปี 2558 เป็นปีที่เมืองไทยมีความตื่นตัวเกี่ยวกับพอดแคสต์มากที่สุด มีกลุ่มผู้ทำพอดแคสต์รวมตัวกันจัดงาน PodTalks ขึ้นที่ TK Park
เมื่อปลายปี 2559 โตมร ศุขปรีชา นักเขียน คอลัมนิสต์ชื่อดังที่เป็นคนทำพอดแคสต์กลุ่มแรก ๆ ของเมืองไทยเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ตอนนี้พอดแคสต์เหมือนกำลังมา เพราะมันเป็นสื่อที่ง่ายที่สุด มันไม่มีภาพ ไม่ต้องนั่งเขียน มันพูดได้เลย การตัดต่อใช้เวลาไม่เยอะ มันมีความนิยมมากขึ้น แต่ว่าความนิยมนี้ยังไม่มากพอที่จะทำให้มีรายได้เข้ามา”
สำหรับปัจจัยและเหตุผลที่ทำให้พอดแคสต์ได้รับความนิยม มีดังนี้
1.เป็นทางเลือกสำหรับการหลีกหนีจากหน้าจอและพักสายตา เพราะสื่อรูปแบบอื่นล้วนต้องใช้สายตาเพ่งมองที่หน้าจอ หรือแม้แต่การอ่านหนังสือ (กระดาษ) ก็ต้องเพ่งสายตาไปที่ตัวหนังสือ พอดแคสต์ซึ่งเป็นสื่อที่ไม่ต้องใช้สายตาจึงเป็นที่นิยมขึ้นมา
2.มีเสรีภาพในการนำเสนอ เนื้อหาไม่โดนเซนเซอร์เหมือนสื่ออื่น
3.ความสะดวกคล่องตัว เนื่องจากเป็นการฟังด้วยเสียงเท่านั้น ไม่ต้องมองหน้าจอ ฉะนั้นจึงสามารถฟังที่ไหนก็ได้ ฟังขณะที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้
4.การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ยิ่งประชากรโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากเท่าไหร่ สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ก็ยิ่งเติบโตขึ้น และข้อได้เปรียบของพอดแคสต์คือ สามารถดาวน์โหลดไว้ฟังตอนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตได้
5.จุดเด่นอย่างหนึ่งที่ทำให้พอดแคสต์เติบโตและบ่งบอกว่ายังแนวโน้มจะโตขึ้นอีกคือ กลุ่มผู้ฟังส่วนใหญ่ของพอดแคสต์เป็นคนที่อายุยังไม่มาก (Nielsen Audio Today ของบริษัทวิจัยตลาด Nielsen รายงานข้อมูลว่า คนอายุ 25-34 ปี เป็นช่วงอายุที่ฟังพอดแคสต์เป็นอันดับ 1 ครองสัดส่วนอยู่ 28.2% ตามด้วยช่วงอายุ 35-44 ปี 21.2% ช่วงอายุ 18-24 ปี 18.1% และช่วงอายุ 45-54 ปี 16.1%) ดังนั้นกลุ่มผู้ฟังในปัจจุบันยังมีเวลาอยู่กับพอดแคสต์ไปอีกนาน และจะมีกลุ่มคนอายุน้อยกว่านั้นที่โตขึ้นมาสมทบด้วย
จากปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้พอดแคสต์เติบโตขึ้นมา และภาวะแวดล้อมภูมิทัศน์ใหม่ ที่สื่อกระดาษและโทรทัศน์มีแต่จะลดความนิยมลง สื่อสังคมอย่างเฟซบุ๊กมีข้อจำกัดในการนำเสนอ เว็บไซต์ข่าวยังไม่ดึงดูดผู้บริโภคให้เข้าเว็บโดยตรงได้มากนัก สื่อโทรทัศน์ออนไลน์หรือวิดีโอต่าง ๆ ยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน
พอดแคสต์ ในฐานะสื่อทางเลือกใหม่ที่เข้าถึงง่าย ใช้งานง่าย ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นได้อีก เพียงแต่ว่าจะโตแบบก้าวกระโดดอย่างที่เป็นมาก่อนหน้านี้ หรือจะชะลอตัวแล้วโตแบบค่อยเป็นค่อยไป
‘’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’
ปล.เรียบเรียงจากเนื้อหารายงานเรื่อง
พอดแคสต์ ทะยานต่อเนื่อง- อินฟลูเอนเซอร์-คอนเทนต์ดี
มีชัย โตไวไม่แคร์สื่อ (เก่า)
โดย รุ่งนภา พิมมะศรี ในหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม 2561
ภาพประกอบจากเว็บไซด์ https://blog.directresults.com/
และhttp://www.mischiefsoffaction.com