สมรภูมิ’เฟซไลฟ์’ ปรากฎการณ์’ภาคสนาม’

Social Media Survey

โดยกองบก.เพจจุลสารราชดำเนิน


สมรภูมิ’เฟซไลฟ์’ ปรากฎการณ์’ภาคสนาม’

ขยับรับแรงกระเพื่อม’โลกโซเชียล’
ประโยค”เจอกันบนแผง”เคยเป็นวลีคลาสสิค ที่นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ใช้พูดคุยกัน ที่บางอารมณ์ของการแข่งขันหาข่าวในภาคสนาม ก็มีน้ำเสียงข่มกันว่าข่าวของใคร -สำนักไหน จะเด็ดด้วยประเด็นที่ลึก หรือมุมที่ฉีกออกไปกว่ากัน เมื่อพาดหัวตัวไม้ต้องประชันกันตอนเช้าบนแผงหนังสือพิมพ์

แต่ในยุค 4.0 ที่เพียงแค่หายใจเข้า-ออก ข่าวสารนับร้อยพันก็ประดังพรั่งพรูมาให้เสพกันยิ่งกว่าสายน้ำ ในโลกโซเชียล ข่าวใหม่จะกลายเป็นความเก่าไปเพียงนาทีต่อนาทีที่เลื่อนสัมผัสผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ การเฝ้ารอ”เจอกันบนแผง”ในตอนเช้าของอีกวัน แม้จะเป็นการแข่งขันที่ยังต้องมี แต่ก็อาจไม่ทันต่อแรงกระเพื่อมในโลกโซเชียลนัก

สนามแข่งขันของคนทำข่าว-องค์กรข่าวจึงถูกย้ายสมรภูมิ จากแผงหนังสือ สู่จอโทรศัพท์ ยิ่งปัจจุบัน คือยุคที่การถ่ายทอดสด อาจไม่จำเป็นต้องใช้ทุนมหาศาล รถโอบี หรือทีมงานมากมาย มีเพียงแค่ โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต และแอพพิเคชั่นเฟซบุ๊ค ใครก็สามารถเป็นสื่อได้

ฟังชั่น’เฟซไลฟ์’ จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

‘กองบก.เพจจุลสารราชดำเนิน’สำรวจการขยับ ปรับตัวดังกล่าวของคนสื่อเช่น  ปรากฎการณ์ที่นักข่าวต้องไลฟ์สด วิเคราะห์ หรือเล่าข่าว จากภาคสนาม หรือการสรุปประเด็นข่าวที่น่าสนใจแต่ละวันของกองบก.ของสื่อบางสำนักมานำเสนอ

เริ่มที่ ROOM 44 ซึ่งกองบรรณาธิการข่าวการเมืองของ “ไทยรัฐ” เล็งเห็นช่องทางดังกล่าว โดยมีแนวคิดตั้งต้นว่า สื่อต้องปรับตัว จึงจัดทีม และสร้างเพจ’ROOM 44 ‘ และใช้นักข่าวที่มีประสบการณ์ มานั่งคุยกันด้วยข้อมูลเชิงลึก แต่บรรยากาศเป็นไปแบบสบายๆ

‘ตุ้ม’ รีไรท์เตอร์กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

หนึ่งในทีมเพจ ROOM 44 เล่าว่า ทาง เพจ ROOM 44 จะแยกส่วนออกมาต่างหาก ไม่เกี่ยวข้องกับทั้งหนังสือพิมพ์ และเว็บไซด์ไทยรัฐ  เราไม่อยากจะเอาแบรนด์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำกันเอง สร้างกันเอง และตอนที่ไลฟ์ก็จะไม่ประกาศว่ามาจากไทยรัฐ เราต้องการที่จะสร้างฐานกันขึ้นมาเอง ระยะเวลาที่เปิดเพจมาประมาณปีกว่าๆ ผลตอบรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแต่ยอมรับว่าอาจช้าไปบ้าง เพราะเราเปิดเพจใหม่ ขณะนี้มีคนติดตามเพจประมาณ 2.4 หมื่นคน ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ

ROOM 44 จะเน้นไปที่การเมืองเป็นหลัก โดยมีสองส่วนคือ ส่วนแรกจะเป็นการไลฟ์สดสถานกาณ์ที่น่าสนใจ เช่น เหตุการณ์ที่ทำเนียบ  หรือ อีเวนท์นายกฯ  อีกส่วนคือการพูดคุยเล่าข่าว หรือวิเคราะห์ความเคลื่อนทางการเมือง ที่ตอนนี้มี 3 ทีม คือที่ทำเนียบรัฐบาล ชื่อรายการ”ทำเนียบข่าว”  ที่รัฐสภา “สภากาแฟ “และไลฟ์จากออฟฟิตคือ”กางวงเล่า”

...คนที่เข้ามาติดตามเพจช่วงแรกๆจะเป็นนักข่าวในวงการ ก็ช่วยแชร์ ช่วยกระจายกัน ตอนหลังๆชาวโซเชียลเริ่มเข้ามาติดตามเยอะขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นคอการเมือง ก็จะมีคอมเม้นเข้ามากขึ้น ก็เข้าใจว่าเราเน้นจะคุยเรื่องการเมือง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความคิดเห็นทั้งบวกและลบในประเด็นนั้นๆเข้ามา แต่ต่อไปก็จะมีการขยายรูปแบบออกไป ตามสถานการณ์การเมือง เช่น ช่วงที่จะนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้ง ก็จะให้นักข่าวที่ตามพรรคการเมือง มาต้องไลฟ์พูดคุยความเคลื่อนต่างๆอย่างเนื่อง

... แม้จะยังไม่มีรายได้ หรือสปอนเซอร์เข้ามาเป็นเรื่องเป็นราว แต่นักข่าวที่ไลฟ์ให้กับ ROOM 44 จะมีรายได้ประมาณเดือนละ1-2 พันบาทต่อคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่ก็มาจากการลงขันกันของกลุ่มผู้ก่อตั้งเพจ เพื่อเป็นค่าเหนื่อย และกำลังใจในการทำงาน

..ปรากฎการณ์เหล่านี้ถือเป็นเรื่องดี เพราะแต่เดิมนักข่าวมีข้อจำกัดในสื่อของตัวเอง แต่เมื่อมีแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น แต่ละคนขยับมาทำแบบนี้ ก็เหมือนรายงานสดที่ถูกจริตกับคนเสพสื่อโซเชียล เป็นการกระจายช่องทาง เพราะเราเชื่อว่านักข่าวภาคสนามแต่ละคนก็มีของอยู่แล้ว ก็ถือเป็นช่องทางหรือพื้นที่ได้ปล่อยของกัน
‘ลับหลังครม.’-‘แนวหน้าไลฟ์’

ใช่ว่าจะมีแต่สื่อใหญ่ ที่หันมาจับช่องทางการ’ไลฟ์สด’ เพื่อสร้างแพลตฟอร์ม และฐานเป้าหมายกลุ่มใหม่           สื่อเก่าแก่ย่านหลักสี่ อย่างหนังสือพิมพ์’แนวหน้า’ก็หันมาให้ความสำคัญกับการสร้าง’เพจ’ และการ’ไลฟ์สด’เช่นเดียวกัน
“หนึ่งในทีมข่าวแนวหน้า” เล่าว่า นอกจากหนังสือพิมพ์ และเว็บไซด์ที่เป็นแพลตฟอร์มหลักในการเสนอข่าวแล้ว เฟซบุ๊คก็เป็นช่องทางสำคัญ ที่เราต้องอัพข่าวขึ้น เพื่อสร้างฐานคนติดตาม โดยแบ่งเป็นสามเพจสามเนื้อหา คือ ‘หนังสือพิมพ์แนวหน้า’ เน้นเสนอข่าวหนักๆ อย่างการเมือง อาชญากรรม หรือประเด็นร้อนๆในสังคม พูดง่ายๆก็คือข่าวหน้าหนึ่ง อีกเพจคือ ‘แนวหน้าวาไรตี้’ ที่จะโฟกัสที่วงการบันเทิง สีสัน และเรื่องเบาสมอง และสุดท้าย’แนวหน้าตะลุยข่าว’ เสนอข่าวชาวบ้านๆ ข่าวภูมิภาคทั่วไทย

“คนข่าวแนวหน้า”ให้ทัศนะว่า เมื่อโลกเปลี่ยน เราต้องยอมรับความจริงว่า แพลตฟอร์มการเสนอข่าวเกิดขึ้นมากมายในโลกโซเชียล ไม่แปลกที่คนจะอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง เฟซบุ๊ค กลายเป็นสิ่งที่ไม่ต่างกับปัจจัยห้า เราจึงมีนโยบายที่จะรุกในเรื่องนี้ ให้เป็นส่วนเสริมจากหนังสือพิมพ์ และเว็บไซด์ โดยนอกเหนือจากที่จะอัพข่าวขึ้นเพจเฉยๆ จึงนำการไลฟ์สดมาใช้ด้วย โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆ เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้ แถลงข่าวจับกุมยาเสพติด หรือการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ในส่วนของรายการ’ลับหลัง ครม.’ โดยทีมข่าวทำเนียบรัฐบาลนั้น เราเห็นว่านักข่าวของเรามีศักยภาพ เพราะมีประสบการณ์ในการจัดรายการวิทยุ น่าจะมานำร่องตรงนึ้ ซึ่งรูปแบบของรายการก็จะเป็นไปแบบสบายๆ เน้นการเล่า หรือสรุปความเป็นไปในทำเนียบรัฐบาลวันประชุมคณะรัฐมนตรีทุกวันอังคาร ทั้งมติครม. การตอบคำถามของนายกฯ รองนายกฯหรือแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง นักข่าวของเราจะย่อยเรื่องราวให้เข้าใจง่ายๆ พูดคุยกับแบบชาวบ้านๆไม่ต้องเป็นทางการ หรือลงลึกมากนัก 
“ก็ถือว่าผลตอบรับในช่วงแรกๆออกมาดีพอสมควร เพราะการไลฟ์พูดคุยแบบนี้ เป็นรูปแบบใหม่สำหรับกลุ่มผู้ติดตามเพจ ซึ่งเราก็ใช้ฐานเดิมของเพจที่มีคนติดตามอยู่ในหลักแสน และเมื่อเรามาเป็นแอดมินเองก็สามารถตรวจดูได้ว่ามีคนมาชมเท่าไหร่ บางครั้งก็แตะไปถึง4-5 พันคน ยอมรับว่าช่องทางนื้ เหมือนเป็นทางลัด เพราะบางทีข่าวที่เราเขียนและอัพลงเว็บไซด์ คนอ่านหลักร้อย แต่พอมาไลฟ์สด นั่งพูดคุยกัน คนเข้ามาดูมากกว่าเป็นสิบเท่า”

..ช่วงหลัง หลายสำนักก็หันมาใช้รูปแบบการไลฟ์กันเกือบทั้งหมด ฐานคนติดตามก็ต้องเฉลี่ยแบ่งกันไป ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นการแข่งขัน ที่เราต้องฝึกทักษะตัวเอง และหาข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งที่สุดแล้วคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดก็แฟนเพจที่เข้ามาชม

เช่นเดียวกับ’โพสต์ทูเดย์’แม้จะไม่ใช่เจ้าแรกสุด ที่นำเทรนด์ แต่’โพสต์ทูเดย์ ทอล์ค’ก็เป็นรายการทอล์คไลฟ์ ในยุคบุกเบิกแรกๆที่เฟซไลฟ์เริ่มแพร่หลาย

‘ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม-กองบก.หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์” บอกกับเราว่า ในโลกปัจจุบันจะใช้ช่องทางสื่อสารแค่กระดาษอย่างเดียวก็คงไม่ได้ หลายสำนักมีการไลฟ์สดกัน เราก็ต้องทำบ้าง ซึ่งเรามีจุดแข็งในเรื่องข้อมูลเชิงลึก อินไซด์ จึงนำมาสู่การทอล์คเพื่อมาถ่ายทอดพูดคุย วิเคราะห์ข่าว ทุกเย็นวันจันทร์เวลา 18.00 น.โดยรูปแบบจะไลฟ์พูดคุยกันในออฟฟิศ แต่แม้จะมาพบแฟนๆเพียงสัปดาห์ละครั้ง แต่ก็เป็นการนำร่องเปิดหัวทำความรู้จักกับผู้อ่าน ผู้ชม ซึ่งเรามีนโยบายว่าในอนาคตจะพยายามให้ถี่ขึ้น หลังจากที่เปิดเพจมาปีกว่าๆ ขณะนี้เริ่มมีบริษัทเอกชนติดต่อเข้ามาจะขอลงโฆษณา เป็นสปอนเซอร์ให้แล้ว แต่ขั้นตอนก็ยังอยู๋ระหว่างการเจรจา พูดคุย ในข้อตกลงต่างๆ
“เป็นเรื่องที่ดีในแง่การฝึกทักษะโดยเฉพาะนักข่าวภาคสนาม ได้ฝึกการพูด การลำดับเหตุการณ์ ลำดับความคิด เป็นศาสตร์ที่ทุกอาชีพต้องเรียนรู้ แต่ที่สุดก็สำคัญที่คอนเทน เพราะใครๆก็พูดได้ จะเก่งหรือไม่เก่ง อาจไม่สำคัญ เท่าใครมีข้อมูลเชิงลึกกว่ากัน ส่วนนี้คือผู้ชมต้องการ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นเล่า คุยไปคุยมา ข่าวมันมีมากมายอยู่แล้วนักข่าวจึงต้องขยัน มีข้อมูลอินไซด์ ทำงานหนักขึ้น”ชัยฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ แม้จะไม่มีคำสั่งอย่างเป็นทางการจากกองบรรณาธิการ แต่นักข่าวภาคสนามหลายคนก็เลือกที่จะใช้เฟซบุ๊คส่วนตัว ไลฟ์สดสื่อสารกับเพื่อนในเฟซ เพื่อใช้พื้นที่นี้วิเคราะห์ เล่ามุมมอง ความเคลื่อนไหวทางการเมือง แบบไพรเวทส่วนตัว หลังว่างจากหน้าที่การงาน

“ปรัชญา นงนุช” ผู้สื่อข่าว สายทหารเครือมติชน เลือกวันเกิดของตัวเองเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมาไลฟ์สดครั้งแรกในชีวิตพูดคุยกับเพื่อนๆในเฟซ เขาทอล์คในประเด็นการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะแวดวงทหารที่คลุกคลี จากวันนั้น จนวันนี้ เขายังทำมันมาอย่างต่อเนื่อง และประเด็นที่หยิบยกมาถ่ายทอดก็มีความแหลมคมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“ที่ไลฟ์เพราะต้องการจะสรุปประเด็นของตัวเองว่าวันนี้เกิดปรากฎการณ์อะไรบ้าง แค่ครั้งละประมาณสิบนาที สัปดาห์ละ1-2 ครั้ง ซึ่งจะเป็นการบันทึกความจำของเราด้วย นอกจากนี้ก็จะมีการเก็บตกสีสันหลังประชุมครม.ให้คนมาคอมเม้น หรืออยากถามอะไร เราก็จะตอบถ้าเรารู้ หรืออยากจะฝากให้เราถามอะไรกับแหล่งข่าวที่เราเจอ ทั้งผู้นำเหล่าทัพ หรือนายกฯ ถ้าเราเห็นว่าคำถามดี เราก็จะถามให้ “
“ปรัชญา”มองว่า สิ่งที่ทำถือเป็นปรากฎการณ์ของสื่อยุคใหม่ ที่ต้องตามแพลตฟอร์มใหม่ จากเดิมที่มีแค่ทีวี หนังสือพิมพ์ แต่ตอนนี้นักข่าวก็ต้องทำงานเพิ่มขึ้น การไลฟ์ก็เป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างสื่อกับสังคมแต่ก่อนก็เป็นแค่แปะลิ๊งข่าวลงไป หรือแค่รูปภาพ กับคลิป แต่เมื่อเฟซบุ๊กพัฒนาขึ้นให้มีการถ่ายทอดสด ก็ต้องนำมาใช้ ซึ่งเป็นช่องทางที่ใครก็จะสามารถมีได้ ซึ่งจำนวนผู้เข้าชมจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา แม้คนคนติดตามเฟซจะมีประมาณแค่หลักพัน แต่เคยมีบางประเด็นที่เสนอแล้วเป็นกระแสสังคม ก็จะถูกนำไปแชร์ต่ออย่างรวดเร็วมาก
“ที่เคยสัมผัสพลังตรงนี้ได้ ก็ตอนที่ตูน บอดี้สแลม มาหานายกฯ เราก็โพสต์ไปในเรื่องที่น่าจะเป็นประเด็น แต่แล้วเพจที่ดังๆเอาของเราไปแชร์ คนก็มากดติดตามเราเพิ่มขึ้น วันนั้นยอดไลฟ์ไปเป็นหมื่น ทั้งที่เรามีคนตามแค่หลักพัน มันทำให้เรารู้ว่า แม้สิ่งที่เราโพสตจะเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม เรื่องการเมือง แต่ก็มีคนที่สนใจเฉพาะกลุ่ม ที่ติดตาม แต่เขาพร้อมนำไปขยายผลต่อด้วย”
รูปแบบการทำงาน 'ปรัชญา'บอกว่าส่วนใหญ่ไลฟ์ที่บ้าน เพราะสะดวกกว่า ใช้เวลาหลังเลิกงาน เคยไปใช้พื้นที่ในร้านกาแฟ แต่รู้สึกว่าเป็นสถานที่ส่วนบุคคล อีกทั้งเรื่องที่เราพูดเป็นเรื่องการเมือง เรื่องหนัก ก็ไม่รู้ว่าคนที่กินกาแฟข้างๆจะคิดยังไง

...  สำหรับการเตรียมข้อมูล จะเตรียมเรื่องรายละเอียด เช่นตัวเลข หรือชื่อยศตำแหน่ง และบรรยากาศเป็นแบบสบายๆก็ไม่อยากจะให้มีอะไรที่ตายตัวว่าจะต้องพูดอะไรยังไง แต่ก็จะวางประเด็นไว้เบื้องต้น เพื่อไม่ให้หลุดกรอบ ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที นานกว่านี้เราคิดว่าผู้ชมอาจจะเบื่อ

..เราเคยตั้งคำถามกับสังคม เรื่องที่เราพูดเป็นเรื่องสาระ แต่คนดูอาจจะไม่เยอะมาก แต่พอเป็นเรื่องของการโชว์เต้น โชว์หวิว คนกลับเข้ามาดูถล่มทลาย เราก็คิดว่าบางทีสังคมเราอาจต้องมีอะไรที่มาศึกษาร่วมกัน มาทบทวน มาย้อนดู ในการที่เราจะร่วมสร้างสังคมแห่งความภูมิปัญญา แต่ถึงกระนั้น ในอนาคตกำลังคิดจะปรับปรุงรูปแบบ เพราะเรื่องการเมืองเป็นเรื่องหนัก และทุกคนก็ไม่อยากจะรับอะไรที่หนักตลอดเวลา เวลาเสพโซเชียล ก็อยากจะรับอะไรที่สบายๆ  
...แม้การเพิ่มแพลตฟอร์มการนำเสนอให้ทันโลกโซเชียล จะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็เป็นโอกาสในการฝึกทักษะของนักข่าว เพื่อการแข่งขัน การนำเสนอด้วยรูปแบบที่ต่างไป เพราะท้ายที่สุดคนเสพสื่อจะผู้ตัดสิน 
...............................