เปิดเบื้องหลัง สื่อออนไลน์ 4 สายพันธุ์ ทักษะอะไรสำคัญที่สุด (1)

เปิดเบื้องหลัง

สื่อออนไลน์ 4 สายพันธุ์

ทักษะอะไรสำคัญที่สุด (1)



ในขณะที่หลายคนมองว่าในยุคนี้ สื่อออนไลน์เป็นที่น่าจับตามากที่สุด เพราะมีการเติบโตทั้งรายได้และเรตติ้ง แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนข่าวออนไลน์เอง บอกว่าการทำข่าวออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะต้องมีทั้งทักษะเฉพาะทางและการเรียนรู้ อีกทั้งยังต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ จุลสารราชดำเนินได้สัมภาษณ์คนทำข่าวออนไลน์รุ่นใหม่ เปิดเบื้องหลังของเทคนิคการทำงานของตนเอง  ในการทำสื่อออนไลน์ยังไง ให้ปัง !

เริ่มต้นด้วย ธัญญลักษณ์ วรรณโคตร หรือ นัตตี้ ผู้สื่อข่าวสาววัยใส  ประจำ “ข่าวสดออนไลน์” ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ที่เน้นการ Live Streaming ผ่าน facebook เป็นหลัก  ทำหน้าที่นี้มา 2 ปี ซึ่งเธอบอกว่าการทำ Live ไม่ใช่เรื่องง่ายและมีอะไรหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้

“สำหรับนัตตี้ มองว่า 5 skills ที่ผู้สื่อข่าวไลฟ์สด ต้องมี คือ 1. ความรวดเร็ว เราต้องทำการบ้านเสมอ หาข้อมูลของงานที่ต้องไปมาอ่านทำความเข้าใจก่อน  และพร้อมที่จะไปทำงานในทันทีที่ได้รับหมาย โดยจะต้องพูดออกมาจากความเข้าใจ และไลฟ์เฉพาะตอนที่มีความเคลื่อนไหวจริงๆ หรือข่าวใหญ่ หรือน่าสนใจมากจริงๆ เพราะธรรมชาติคนดูไลฟ์ จะไม่ชอบดูอะไรที่นิ่ง หรือนานเกินไป  2. ความสังเกต ดูบรรยากาศรอบข้าง และคนที่เราทำงานอยู่ด้วยตลอดเวลาว่าเขามีพฤติกรรมอย่างไร เพื่อที่จะได้เตรียมตัวถูก 3. ความ รอบคอบ ข้อมูลที่จะรายงานออกไปต้องถูกต้อง ถ้ายังไม่แน่ใจอย่าเพิ่งพูด  เพื่อเซฟตัวเองไม่ให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้น  เช่น ชื่อผู้ตาย หากยังไม่ได้รับการยืนยันจากนิติเวช หรือยังไม่เห็นบัตรประชาชนว่าชื่ออะไร ก็อย่าเพิ่งไปรายงานชื่อเขา เพราะ  ไลฟ์ คือความสดใหม่จริงๆ  หากไม่รอบคอบ จะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ 4. ความมีสติ ไม่ตื่นกับเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้า เตือนตัวเองว่าเรามาทำอะไร และเราต้องทำอะไรก่อน หลัง ในเหตุการณ์นั้นๆ  และ 5. ความความกล้า กล้าเข้าไปไลฟ์ใกล้ๆ และกล้าถาม เพราะเราเป็นสื่อมวลชน ต้องมีคำถามในหัว มีประเด็นที่จะมาทำ ถ้าเราไม่กล้าที่จะถามคำถามที่สังคมให้ความสนใจ  เราก็จะกลายเป็นแค่คนทั่วไปที่มาไลฟ์สด Facebook

อุปกรณ์การทำงานคู่กาย ที่ต้องมี  คือ โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง , ขาตั้งกล้อง  , หูฟัง , สายชาร์จ , พาวเวอร์แบงค์ เลือกใช้ในอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการทำงานของตัวเองมากที่สุดและเน้นความคล่องตัว เช่น ไม่ใช้ไมค์ลอย เพื่อป้องกันปัญหาสัญญาณตีกัน และใช้มือถือ 2 เครื่อง เครื่องหนึ่งถ่ายไลฟ์ ส่วนอีกเครื่องพิมพ์บทและไว้อ่านข้อความที่ทีมงานพิมพ์สื่อสารมา   โดยมีเทคนิคในการ live คือ  จะตั้งกล้องไลฟ์ แช่ไว้ก่อนประมาณ 1 นาที เพื่อรอให้คนเริ่มเข้ามา เมื่อคนเริ่มเข้ามาเยอะ  จึงค่อยเกริ่นเข้าเรื่องราว หากไม่มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ จะไม่ไลฟ์เกิน 10 นาที  แต่ถ้าเหตุการณ์ที่มีความเคลื่อนไหวหรือคนสนใจ  ยิ่งไลฟ์นาน คนยิ่งเข้ามาดูเยอะ  ที่สำคัญคือต้องเลือกใช้อินเตอร์เน็ตแบบไม่จำกัด และหากไปอยู่ในจุดที่มีสื่อเยอะๆ อาจแย่งสัญญาณกัน เทคนิคแก้ คือ การเริ่มไลฟ์ก่อน  เพื่อดึงสัญญาณมาไว้กับตัวเอง

ส่วนชิ้นที่ประสบความสำเร็จและถือเป็นชิ้นโบว์แดง เธอบอกว่าคือการรายงานสดเหตุการณ์ที่ “ถ้ำหลวง” ยอดคนดูคนแชร์ ถล่มทลาย  1 ชั่วโมง มีคนดูหลักแสน

“วันที่ถ้ำหลวง ต้องไลฟ์สดแทบทุกชั่วโมง ฝนตกก็ไลฟ์ เพื่อบอกว่าตอนนี้ฝนตกแล้ว แค่ทหารผ่านไปผ่านมา คนก็อยากดูแล้ว  ยิ่งตอนที่เข้าไปหาแล้วยังไม่เจอ ยิ่งไลฟ์ถี่มาก  แต่ช่วงหลังเริ่มมีการขอความร่วมมือสื่อไม่ให้ไลฟ์  ก็ต้องออกไปหาจุดข้างนอกที่สามารถไลฟ์ได้ เราก็อธิบายให้ฟังว่าตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง แต่จะมีวิธีแก้ปัญหาด้วยการนำภาพใส่ในมือถือแล้วก็เลื่อน คือ เอามือถือเครื่อง ที่ไลฟ์สดอยู่  จ่อหน้าจอของมือถืออีกเครื่องหนึ่งที่กำลังเปิดภาพ  เลื่อนภาพไปเรื่อยๆแล้วก็พูดถึงให้ฟังว่าเหตุการณ์เป็นอย่างนี้อย่างนี้ ซึ่งภาพเหล่านั้นก็จะเป็นภาพที่เราไปถ่ายไว้ตั้งแต่เช้า มีทั้งภาพนิ่ง และวีดีโอ ช่างภาพจะไปเก็บภาพแล้วก็ดู script ว่าวันนี้เราจะพูดเรื่องนี้เรื่องนี้  ก็มาเรียงตามลำดับ  คือพูดง่ายๆต่อให้สถานการณ์ที่เรากำลังไลฟ์สดอยู่ ไม่มีภาพอะไรที่เป็นความเคลื่อนไหวเลย แต่เราก็จะมีวิธีแก้ปัญหาในการหาภาพมาโชว์ให้คนดูเห็น เพื่อให้เขารู้สึกว่าอยู่ในพื้นที่กับเรา  มันเหมือนเราจัดรายการ  ต้องคิดเพิ่มเรื่องโปรดักชั่น create เพิ่มเข้าไป  เพราะเราไลฟ์สดบ่อยๆทุกวัน  ก็อยากจะหาวิธีทำให้มันน่าสนใจ  ให้มันฉีกไปจากที่อื่น”

เมื่อถามถึงข้อดีและข้อเสีย ของงานออนไลน์ที่ทำ นัตตี้ บอกว่า ข้อดี คือ รู้สึกเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น  กลายเป็นคนช่างสังเกตตลอดเวลา และกล้าแสดงออกมากขึ้น พูดคล่องมากขึ้น  จากปกติที่เป็นคนเฉยๆ นิ่งๆ เรื่อยๆ   ส่วนข้อเสีย คือ เรื่องของเวลา  ไม่มีเวลาเลิกงาน เข้างาน ที่ตายตัว เพราะไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ตอนไหน  จนบางครั้งต้องเอากระเป๋าเสื้อผ้าใส่ไว้ในรถเพื่อพร้อมทำงาน พร้อมเดินทางตลอดเวลา  “การไลฟ์สด ต้องตีตอนร้อนๆ ถ้าไปช้ากระแสมันก็หมด  ซึ่งนี่เป็นเสน่ห์ของการทำงานออนไลน์ และทำให้รู้สึกสนุกกับมันมาก เคสที่รับผิดชอบก็อยากจะตามจนจบ  บางครั้งนอกจากไลฟ์เจาะประเด็นแล้ว  เราก็ยังมีไลฟ์เปิดประเด็น เช่น เคสที่น่ายากจน ถูกรถชนตาย เหลือเด็กคนเดียว คู่กรณียังไม่ยอมรับผิด ก็ไปไลฟ์ว่าตอนนี้เขาเป็นอย่างไรบ้าง  เพื่อให้คนได้ช่วยเหลือเขา”

 

มีอ่านต่อโปรดติดตาม