ทางรอด “นิเทศ จุฬาฯ” คณะสื่อเก่าแก่ในเมืองไทย ปรับตัวอย่างไรไม่ให้ตาย


ทางรอดนิเทศ จุฬาฯ”

คณะสื่อเก่าแก่ในเมืองไทย

ปรับตัวอย่างไรไม่ให้ตาย

…..


ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สื่อเก่า สื่อกระดาษ ได้รับกระทบกันถ้วนหน้า รวมถึง หลักสูตรนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ที่ไม่สามารถสอนเหมือนเดิมได้ หลายสถาบันต้องปรับเปลี่ยน

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะสื่อสารมวลชนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศก่อตั้งเมื่อปี 2482 จนปัจจุบันมีอายุ 80 ปี และนิยามตนเองว่า เป็นคณะนิเทศศาสตร์อันดับหนึ่งของประเทศ น่าสนใจว่ามีการปรับหลักสูตรอย่างไรให้เข้ากับกระแสเทคโนโลยีที่เคลื่อนไหวเร็วในแต่ละวัน

ศ.ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในปี 2561 ​ทางคณะได้ปรับหลักสูตรปริญญาตรี ให้สอดคล้องกับพัฒนาการความรู้ด้านนิเทศศาสตร์ อุตสาหกรรมสื่อและการสื่อสาร รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศในศตวรรษที่ 21 โดยมีการปรับตั้งแต่ชื่อหลักสูตร จากเดิมสาขาวารสารสนเทศ (Journalism and Information) เป็น สาขาวิชาวารสนเทศและสื่อใหม่ (Journalism,Information, and New Media: JN) โดยมีการเติมความเป็นสื่อใหม่ หรือ New Media เข้าไป

ส่วนอีกหลักสูตรที่เปลี่ยนแรงมาก คือ สาขาวิชาการกระจายเสียง (Broadcadting) เปลี่ยนเป็น สาขาวิชาการออกแบบและผลิตสื่อ (Media Design and Production: MD) ให้สามารถใช้ได้ทุกแพลตฟอร์ม ไม่จำเป็นต้องทำงานแค่อุตสาหกรรมโทรทัศน์วิทยุแต่เขาสามารถจะไปเป็นผู้ประกอบการเองก็ได้หรือตั้งเป็นหน่วยผลิตเพื่อซัพพอร์ตกับที่อื่นได้ เช่นเดียวกันกับ สาขาวิชาการโฆษณา (Advertising) เปลี่ยนเป็น สาขาวิชาการโฆษณาและการสื่อสารตราสินค้า (Advertising and Brand Communications: ABC)

สำหรับ ปริญญาโทจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัดในเรื่องของ Big Data มากขึ้น คือ กลุ่มวิชาวารสารศาสตร์ นโยบาย และดาต้าศึกษา (Journalism, Media Policy and Data Studies) เมื่อคลังข้อมูลถูกขยับ เดิมเป็นระบบเอกสาร ตอนนี้ลงไปอยู่ในคลังของดิจิทัลมากขึ้น เราจึงให้ความสำคัญในเรื่องของ Data แต่ไม่ใช่ Data Art แต่เรียกว่า Data Studies เป็นศาสตร์ในการวิเคราะห์ตัวดาต้า ทำการวิจัย ดูในเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และอีกตัว กลุ่มวิชาสื่อสารและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) จะตอบโจทย์ในด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น

กล่าวโดยสรุป คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ทั้ง ระดับปริญญาตรี หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ทั้งหมด 7 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาวารสารสนเทศและสื่อใหม่, สาขาวิชาการออกแบบและผลิตสื่อ, สาขาวิชาการโฆษณาและการสื่อสารตราสินค้า, สาขาวิชาวาทนิเทศ, สาขาวิชาสื่อการแสดง และสาขาวิชาภาพยนตร์และภาพนิ่ง รวมถึง หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) ได้แก่ สาขาวิชาการจัดการการสื่อสาร​

ระดับปริญญาโท หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต ภาคในเวลาราชการ ได้แก่ กลุ่มวิชาวารสารศาสตร์ นโยบาย และดาต้าศึกษา (Journalism, Media Policy and Data Studies), กลุ่มวิชาการจัดการการสื่อสารแบบบูรณาการ (Integrated Communication Management), กลุ่มวิชาสื่อสารและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) และกลุ่มวิชาวาทนิเทศ (Speech Communication)


ภาคนอกเวลาราชการ ได้แก่ กลุ่มวิชาวารสารศาสตร์ นโยบาย และดาต้าศึกษา (Journalism, Media Policy and Data Studies), กลุ่มวิชาการจัดการการสื่อสารแบบบูรณาการ (Integrated Communication Management), กลุ่มวิชาสื่อสารและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) และกลุ่มวิชาวาทนิเทศ (Speech Communication) รวมถึง หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) ได้แก่ สาขาวิชาการจัดการการสื่อสารเชิงกลยุทธ์

ปัจจุบัน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ มีอาจารย์ทั้งหมด 45 คน รวมถึงอาจารย์พิเศษและอาจารย์เฉพาะทางที่มาจากภาคอุตสาหกรรมที่มาช่วยกันทั้งสมาคมนักข่าว สมาคมโฆษณา หรือบริษัทโฆษณาเอง หน่วยงานทางด้านการแสดง รวมถึงอาจารย์ชาวต่างประเทศ 10 คน อาทิ รัสเซีย ฝรั่งเศส อิตาเลียน เบลเยี่ยม อเมริกัน มาเลเซีย ฯลฯ และมีอาจารย์แลกเปลี่ยนที่อยู่ 1 เทอม หรือ 1 ปี ซึ่งเข้ามาร่วมทำวิจัยกับเพื่อพัฒนาความร่วมมือต่างๆ

เมื่อดูจำนวนนิสิตในปี 2561 อยู่ที่ 1,160 คน แบ่งเป็น ปริญญาตรี 645 คน, ปริญญาตรี (หลักสูตรนานาชาติ) 319 คน, ปริญญาโท 144 คน, ปริญญาโท (หลักสูตรนานาชาติ) 27 คน และปริญญาเอก 25 คน

“อัตราการรับของปริญญาตรียังคงระดับไว้ที่เท่าเดิม เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพตามที่สังคมคาดหวังเราจะไม่โกยเด็กเข้ามาแม้ความต้องการเข้าจะสูง เพราะเราต้องการให้เกิดคุณภาพ มาตรฐาน และสัมพันธภาพการอยู่ร่วมกัน” คณบดีนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ กล่าว

ศ.ปาริชาต กล่าวว่า นิสิตที่จบไปมีทั้งที่ทำงานตรงสาย ไม่ตรงสาย และไม่ระบุ ซึ่งในส่วนนี้มักจะเป็นฟรีแลนซ์ ขณะที่เด็กที่ทำงานตรงสายที่เห็นชัดมากคือ ภาพยนตร์ เพราะกลุ่มนี้มีความเข้มแข็งของวิชาชีพ ศิษย์เก่า รุ่นพี่รุ่นน้อง และอีกกลุ่ม คือ สื่อสารประชาสัมพันธ์ซึ่งจะไปดูในเรื่องของแบรนด์ และอยู่ในกลุ่มดิจิทัลมากขึ้น

เด็กสมัยนี้เรียกว่ามี Passion ชัดมาก เขารู้ตัวว่าเขาอยากเป็นอะไร และที่แน่ๆ คือ พอเทคโนโลยีไปอยู่กับเขา เขาก็จะรู้ว่าจะเอาตัวเทคโนโลยีไปต่อยอดอย่างไร เราเริ่มเห็นว่าเขามีกิจกรรมที่สามารถหารายได้ตั้งแต่ในช่วงที่เขายังคงเรียนอยู่ บางทีสิ่งที่เขาทดลองทำมันได้รายได้ตอบแทนเข้ามาเช่น เป็น Youtuber, Blogger หรือ Reviewer ซึ่งมันไม่ต้องผ่านตัวกลาง แต่ก่อนอาจจะต้องเข้าไปอยู่ในสังกัดบริษัทพักใหญ่ แต่ตอนนี้มันลิงค์กันตรงเลย”




 


0การสื่อสารไม่มีวันตาย

ศ. ปาริชาต กล่าวถึงอุตสาหกรรมสื่อปัจจุบันว่า ทุกวันนี้ธุรกิจสื่อเปลี่ยนมาก ดูจากพฤติกรรมผู้บริโภค เมื่อก่อนเราเคยอ่านหนังสือพิมพ์ที่อยู่บนกระดาษ วันนี้คนก็ยังคงติดตามข่าวอยู่แต่อยู่ในสมาร์ทโฟน ตื่นเช้าหยิบมาดูก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมโลก  ขณะเดียวกันมันเกิดอะไรขึ้นในวงการที่เราชอบ  ฉะนั้น มันมีสิทธิที่พวกหนึ่งจะรู้เรื่องของนางงาม แต่พวกหนึ่งอาจจะไม่รู้เลย มันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ว่าทุกคนรู้เหมือนๆ กันหมด นี่คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยน แม้เรายังบริโภคข่าวสารอยู่ แต่ข่าวสารนั้นจะต้องเฉพาะและตอบจริตเฉพาะความสนใจมากขึ้น คำถามคือ แล้วเราจะดีไซน์แมสเซจนั้นอย่างไรให้เฉพาะกลุ่มมากขึ้น การสื่อสารไม่มีวันตายเพียงแต่ว่ามันจะเปลี่ยนเทคโนโลยีไปตามแพลตฟอร์มต่างๆ

เธอ บอกว่า ในมุมตลาดวิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์ ทางจุฬาฯ จะไม่ยึดตัวเทคโนโลยีเป็นตัวผลิตเด็ก เพราะเทคโนโลยีมาเร็ว ตายเร็ว ถ้าใครติดเทคโนโลยีก็แน่นอน โอกาสที่จะตกงาน หลุดออกจากระบบค่อนข้างสูง แต่ถ้าเกิดเราสอนให้เด็กติดที่ตัวคอนเทนต์ ออกแบบ สร้างสรรค์ ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นมันอยู่กับชีวิตของเขา เขาก็จะสามารถเปลี่ยนเป็นเจ้าของที่จะออกแบบสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดกับทุกแพลตฟอร์ม ถ้าเขาสามารถคิดเป็นก็จะสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้ และอาจจะเกิดผู้ประกอบการที่เป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้เราเริ่มเห็นว่าคนอยากจะเป็น Youtuber มากขึ้น อยากจะเป็น Influencer มากขึ้นซึ่งฐานพวกนี้จะทำให้พวกเขาเข้าใจผู้บริโภค พฤติกรรมของผู้คนในสังคม และสามารถออกแบบสารเข้าไปโดนจริตครองใจ ขณะเดียวกันก็ยังทำงานบนพื้นฐานของการเคารพกฏหมาย จริยธรรม และสิ่งที่เป็นคุณค่าความเป็นไทยอยู่”

หมายเหตุ- ถอดความจากหนังสือวันนักข่าวประจำปี 2562 เรื่อง นิเทศศาสตร์ Never Die” จัดทำโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย