นักข่าวสะท้อนความทรงจำ “ป๋าเปรม” “เตมีย์ใบ้” และ “กลับบ้านเถอะลูก”

นักข่าวสะท้อนความทรงจำ  “ป๋าเปรม”

เตมีย์ใบ้” และ “กลับบ้านเถอะลูก”

 

 

นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญกับการจากไปของ  พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ 2 แผ่นดินที่เคยฝากผลงานและมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางบ้านเมืองในหลายด้านทั้ง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเททำงานตลอดชีวิตเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์

นักข่าวถือเป็นอีกกลุ่มอาชีพที่มีโอกาสได้สัมผัสและใกล้ชิดกับ พล.อ.เปรม ตั้งแต่ในบทบาททหารเรื่อยมาจนถึงเส้นทางการเมือง ทั้ง รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย จนก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งบุคลิกที่ทุกคนพูดตรงกันคือความเป็นคนพูดน้อย จนสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลมอบฉายา “เตมีย์ใบ้”


ชุติมา บูรณรัชดา รองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เล่าย้อนถึงที่มาที่ไปของฉายานี้ ว่า หลังจากที่ป๋าเปรมทำงานมาได้สักพัก  อ.ป๋อง พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร จากมติชน ได้เสนอให้จัด 10 อันดับการทำงานของรัฐมนตรีในขณะนั้นเหมือนที่ต่างประเทศทำ  นักข่าวประจำทำเนียบที่เวลานั้นมีอยู่ไม่กี่คน เช่น ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ จากไทยรัฐ  ยุวดี ธัญญสิริ  จากบางกอกโพสต์ ฯลฯ  ก็มาคุยกัน โดยเป็นลักษณะหยิกแกมหยอก ติเพื่อก่อติดเพื่อก่อไม่ได้เอาเป็นเอาตายแบบยุคหลังๆ  ตอนนั้นพอพูดถึง พล.อ.เปรม ก็มีคนเสนอตั้งฉายาให้ “เตมีย์ใบ้”

(คณิต นันทวาณี อดีตนักข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์บ้านเมือง)


“อย่างที่รู้ป๋าเป็นคนพูดน้อยมาก อยู่ในตำแหน่งมา8 ปี  เป็นนายกฯ สามสมัย พูดคำตอบคำ พูดน้อยมากจนเป็นที่รู้กันของนักข่าว  ฉายาจึงเป็นการสะท้อนภาพความเป็นคนพูดน้อยมากเหมือนกลัวดอกพิกุลจะล่วง แต่เหมือนนักมวยเฮฟวีเวท ถามคำตอบคำแต่พูดน้อยต่อยหนัก” ชุติมา ซึ่งเริ่มทำข่าว พล.อ.เปรมตั้งแต่สมัยยังเป็นรมช.มหาดไทย ระบุว่าป๋าพูดน้อยมาตั้งแต่ก่อนมาเป็นนายกฯ

อย่างไรก็ตาม นักข่าวก็ยังต้องมีหน้าที่เฝ้าติดตามรอสัมภาษณ์ทำข่าวอยู่ที่ทำเนียบตั้งแต่เช้า ถึงค่ำ หลายครั้งป๋าเปรม ก็มักจะใช้คำพูด “กลับบ้านเถอะลูก” เป็นอีกวิธีในการเลี่ยงไม่ตอบคำถามของบรรดาผู้สื่อข่าวที่รอทำข่าว  จนบางทีก็กลายเป็นคำพูดพาดหัวหนังสือพิมพ์

ชุติมา อธิบายเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ในเวลานั้นการเมืองยังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ป๋าก็จะมองว่าไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ  และยังติดการปกครองแบบทหารมีสายบังคับบัญชา อีกทั้งการเมืองเวลานั้นนอกจากเป็นรัฐบาลผสม และยังมีปัญหาเรื่องภัยจาคอมมิวนิสต์ เรื่องความมั่นคงจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ การระมัดระวังเรื่องคำพูดจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ประเด็นเรื่องการพูดน้อยนี้ทำให้ บ่ายวันหนึ่ง ป๋าเรียกนักข่าวไปพูดคุยทำความเข้าใจว่า สาเหตุที่พูดน้อยเพราะว่าป๋าเป็นนายกฯ พูดอะไรจะต้องมีความชัดเจนถูกต้อง หากเป็นรัฐมนตรีคนอื่นพูดอะไรผิด ป๋าที่เป็นนายกฯ ก็ยังมาพูดจาแก้ให้ถูกต้องได้ แต่หากป๋าที่เป็นนายกฯ พูดผิดใครจะมาชี้แจงให้   เมื่อป๋าพูดน้อย บทหนักจึงตกไปอยู่ที่โฆษกรัฐบาลอย่างไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ต้องทำหน้าที่เป็นปากเสียง

“สิ่งที่สัมผัสได้คือป๋าเป็นผู้ใหญ่ใจดี เป็นคนโสด ไม่มีลูก ไม่มีเมีย เลยทุ่มเททำงานเต็มที่ ไม่รู้จะสะสมทรัพย์สมบัติไปให้ใคร เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตไม่มีใครสงสัยเรื่องนี้  ที่สำคัญเป็นคนที่สุภาพ ไม่เคยเห็นป๋าเกรี้ยวกราด แม้จะเป็นทหารม้าที่มีคำขวัญ รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด แต่ป๋า ไม่เคยแสดงอาการไม่พอใจ พูดสุภาพเรียกลูกทุกคำ ทั้งที่เวลานั้นมีอำนาจเต็มที่ แต่เป็นคนนิ่งซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อยู่ในตำแหน่งในยาวนาน ไม่เหมือนบางยุคที่ผู้นำพูดเพ้อเจ้อไร้สาระจนประชาชนต้องปิดทีวีหนี”

ชุติมา สะท้อนมุมมองว่า ป๋ายังเป็นคนที่มองการไกลในยุคนั้น  อย่างเริ่มดึงเทคโนแครตมาร่วมทำงานเยอะมาก มาเป็นที่ปรึกษา เช่น ดร.โกร่ง วีรพงษ์ รามางกูร  ด้านเศรษฐกิจ หรือ  ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง  ด้านสังคม  ซึ่งแต่ละด้านก็จะมีผู้เชี่ยวชาญ มาเป็นคลังสมอง  ทำให้การตัดสินใจของป๋ามีทิศทาง และมีข้อมมูลชัดเจน  และการตัดสินใจหลายเรื่องก็เป็นคุณูปการณ์จนถึงปัจจุบัน เช่น  อีสเทอร์นซีบอร์ดหรือเรื่องพลังงานยุคโชติช่วงชัชวาลที่เป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด


ด้าน ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ ที่ปรึกษาเนชั่นกรุ๊ป อดีตหัวหน้าข่าวการเมืองไทยรัฐที่เริ่มรู้จักกับป๋าเปรมตั้งแต่รับตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ทบ. เรื่อยมาจนถึงตำแหน่งนายกฯ วันแรกจนถึงวันสุดท้ายรวมเวลา 8 ปี 5 เดือน เรียกว่าอยู่กับป๋ามากกว่าอยู่บ้าน ไปไหนไปกันหมดทั้งเสาร์ อาทิตย์  ไปจังหวัดนู้นนี้ เยี่ยมประชาชน หรือไปต่างประเทศทั่วโลกหลายรอบ  แม้แต่ตอนป๋าป่วยไปรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกาก็ไปนอนเฝ้าที่นู่น  ยืนยันว่าป๋าเป็นคนพูดน้อย เพราะเคยบอกว่าหากพูดอะไรไปผิดพลาดก็จะไม่มีคนมาแก้ให้ ดังนั้นเมื่อเป็นเบอร์หนึ่งก็ต้องสุขุมรอบคอบ


 


แต่ภายใต้ความเงียบก็สะท้อนความเป็นคน “น้ำนิ่งไหลลึก” เฉียบขาด ไม่เกรงใจใคร แม้แต่คนใกล้ชิด หากทำไม่ถูกต้องก็ต้องโดนหมด รวมทั้งเด่นอย่างหนึ่งของป๋าคือไม่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องทุจริต คอรัปชัน  เหมือนคำพูดว่าหากหัวไม่ส่ายหางก็ไม่กระดิก การบริหารประเทศที่ผ่านมาจึงไม่มีเรื่องนี้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น

ปราโมทย์ มองว่า ป๋าเปรมเป็นนายกฯ ที่สร้างความปรองดองให้กับประเทศมากกว่าที่นายกฯคนอื่นๆ เคยทำมาทั้งหมด อย่างการแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ ที่ออกมาตรการ 66/23 เอาคนเข้าป่าที่กลับใจออกมา ช่วยแก้ปัญหา ลดความขัดแย้ง สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น  ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจก็ให้ความสำคัญมีมือมาร่วมทำงาน เดินไปต่างประเทศก็พานักธุรกิจยกขบวนไปเป็นร้อย  โดยเฉพาะเรื่องก๊าซอ่าวไทยที่เริ่มเปิดสัมปทานจนเป็นยุคโชตช่วงชัชวาล

“ป๋าเป็นคนไม่ยึดติด อย่างบ้านท่านที่โคราช หาดใหญ่ ก็ยกให้หลวงหมดพูดแต่เรื่องตอนแทนบุญคุณแผ่นดิน ป๋าเป็นคนที่จงรักภักดีกับสถาบัน เป็นที่รับรู้ของทุกคนส่วนใหญ่ในประเทศ  ซึ่งป๋าทำมาโดยตลอดทุกยุค ตั้งแต่ทหารจนมาเป็นนายกฯ  สิ่งที่ป๋าทำ ไม่ได้หวังทำเพื่อตัวเอง แต่เกิดมาแล้วต้องทดแทนบุญคุณแผ่นดิน”

 

 

ในขณะที่ มุมของ นาตยา เชษฐโชติรส ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว บางกอกโพสต์ ระบุว่า เมื่อครั้งยังเป็นนักข่าวใหม่สังกัดหนังสือพิมพ์มาตุภูมิที่ถูกส่งไปประจำทำเนียบรัฐบาล  และมีโอกาสได้เดินทางติดตามพล.อ.เปรมไปต่างประเทศ ในช่วงรับตำแหน่งใหม่ ทั้ง ปากีสถาน บังกลาเทศ ก็ทำให้ใกล้ชิด คุ้นเคยพี่ๆ ทส. หมอประจำตัว ติดตามไป ได้เห็นวัตรปฏิบัติของพล.อ.เปรมที่เป็นคนพูดน้อย  ไม่ค่อยได้มีโอกาสสัมภาษณ์ยาวๆ นอกจากแถลงข่าวใหญ่


“ท่านเป็นคนน่ารักแม้จะพูดน้อย ไม่ได้ไม่ชอบ รังเกียจ ท่านก็ให้ความเอ็นดู มีวีรกรรมครั้งหนึ่งตอนนักข่าวจะอยู่รังนกกระจอก พล.อ.เปรมก็จะอยู่ตึกไทยคู่ฟ้า ที่มีประชุมเยอะมาก แต่ด้วยสมัยนั้นห้องนักข่าวมีโทรศัพท์น้อยและไม่มีโทรศัพท์มือถือเหมือนสมัยนี้  พี่ก็จะไปอาศัยขอใช้โทรศัพท์ที่ชั้นล่างของตึกไทยคู่ฟ้า แต่วันนั้นมีโทรศัพท์เข้ามาเครื่องที่พี่กำลังจะใช้ บอกว่าขอพูดกับ ทส.แล้ว ทส.ก็ไปเชิญพล.อ.เปรมมาพูดโทรศัพท์ ซึ่งเป็นเรื่องลับที่ไม่อยากให้ใครฟัง ท่านก็มองเราไม่ยอมออกไปซะที ท่านก็ส่งสายตามองหัวจรดเท้าอยู่สามรอบ  แต่ก็ไม่ได้ตำหนิด้วยวาจาในการกระทำที่ไม่เหมาะสมของเรา”

นาตยา กล่าวว่า   พล.อ.เปรม ไม่เคยว่าใครให้ต้องเสียอกเสียใจ  มองนักข่าวเหมือนลูกเหมือนหลาน  บางทีเราถามอะไร ท่านไม่อยากตอบก็บอกว่ากลับบ้านเถอะลูก จน“กลับบ้านเถอะลูก” กลายเป็นวรรคทองของท่าน ยิ่งถ้าเป็นข่าวคอมเมนต์ ไปถามว่าคนนู้นว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างนี้แล้วท่านว่าอย่างไร อย่างนี้ไม่ต้องไปถามเลย เสียเวลาท่านไม่พูด  ไม่ตอบโต้อะไรทั้งนั้น ไม่มีทางเลย

อย่างไรก็ตาม เพียงแต่การไม่พูดของท่านก็อาจทำให้นักข่าวน้อยใจบ้าง เช่น ตอนรอนแรมตามไปต่างจังหวัดสองสามวันแต่ท่านก็ไม่พูดอะไร  ท่านชอบบอกท่านไม่ใช่นักการเมืองแต่ความจริงท่านเป็นผู้นำนักการเมืองเป็นหัวหน้านักการเมือง เป็นคนเลือก รมต. มาอยู่ในทีมครม. ท่านจะไม่ใช่หัวหน้านักการเมืองหรือ

“จนมาถึงการลงจากอำนาจทั้งที่มีคนเสนอให้เป็นนายกฯ ต่อ ตอนนั้นท่านบอก ”ผมพอแล้ว” สะท้อนว่าท่านเป็นคนที่มีความเพียงพอ รู้ว่าต้องยุติบทบาทการเมืองตอนไหน ไม่ยึดติดตำแหน่ง  ขึ้นได้ ลงได้ เป็นลูกผู้ชายพอ เป็นความสวยงาม เด็ดเดี่ยว มั่นคง เคารพหลักการประชาธิปไตย  ไม่ได้อยากเป็นนายกฯ ประชาธิปไตยครึ่งใบไปตลอด แต่เคารพเสียงส่วนใหญ่”

นาตยา ยังเล่าถึงความประทับใจในเล็กๆ ที่ได้สัมผัสมาเช่นในการสอนคนสนิทใกล้ชิดอย่างเช่นสอน ทส. ว่าอย่าไปกินของที่รีดไถจากชาวบ้าน ไม่ให้ไปกินน้ำตาของชาวบ้าน ที่ยึดปฏิบัติมา ยิ่งตอนหลังได้รู้ข่าวจาก พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์  นายทหารคนสนิท  ที่บอกว่า พล.อ.เปรม บริจาคเงิน ทรัพย์สินให้คนจน ยิ่งสะท้อนตัวตนของท่านที่มีความปรารถนาให้คนไทยพ้นจากความยากจน  เหมือนอย่างในอดีตที่คิดโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.)