มหาลัยฯ เอกชน กับการปรับตัวไม่ให้คณะนิเทศฯ-สื่อสารมวลชนถูกเทตึกเงียบ ห้องเรียนร้าง

“มีความจำเป็นที่ต้องเรียนด้านนิเทศศาสตร์ เพราะการผลิตสื่อในทุกแพลตฟอร์มต้องการความเป็นมืออาชีพ และไม่ใช่ทุกคนทำสื่อแล้วให้เกิดความสนใจได้ ต้องเรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนการสอน การลงมือปฎิบัติก่อนจะไปสู่วงการสื่อ ดังนั้น การเรียนด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ที่มีการปรับรูปแบบใหม่ เรียนแล้วไม่ตกงานอย่างแน่นอน”

อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต

Special  Report

มหาลัยฯ เอกชน กับการปรับตัว ไม่ให้ คณะนิเทศฯ-สื่อสารมวลชน

ถูกเท ตึกเงียบ ห้องเรียนร้าง

 

เดือนหน้า สิงหาคม สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน ก็จะเริ่มเปิดภาคการศึกษาประจำปี  2562 กันแล้ว ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ที่เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์ –สื่อสารมวลชน-วารศาสตร์ศาสตร์ แขนงต่างๆ  ที่ผ่านมา มักมีข่าวออกมาทำนองว่า ประสบปัญหา ขาดแคลนคนมาสมัครเรียน จากเหตุเกรงเรียนจบไปแล้ว ต้องตกงาน หางานทำไม่ได้ ในยุคที่สื่อโดยเฉพาะสื่อกระแสหลักถูก Disrupt   อย่างหนัก จนสถาบันการศึกษาเอกชนหลายแห่ง ต้องปรับปรุงหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์ กันแขนงใหญ่ เพื่อดึงดูดคนให้มาสมัครเรียน เพราะหากไม่ปรับตัว สถาบันการศึกษาเอกชน ก็ลำบากเช่นกัน

ในหนังสือ”วันนักข่าว 5 มีนาคม 2562 “ของ “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ได้มีการเสนอรายงานพิเศษ ที่มีการสอบถามความเห็น การปรับตัวของผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ที่เปิดการเรียนการสอนด้านสื่อสารมวลชน-นิเทศศาสตร์ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ที่ทำให้เห็นถึงสภาพการณ์ปัจจุบันของสถาบันการศึกษาเอกชนต่อการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ในยุคปัจจุบัน

 

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์

“เรียนนิเทศศาสตร์ไม่ตกงานแน่นอน”

--------------------------

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่เปิดสอนด้านนิเทศศาสตร์มานานหลายปี มีศิษย์เก่า ทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชนจำนวนไม่น้อย

“กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” มองว่าจากการที่โลกได้เปลี่ยนเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้หลายคนแม้จะไม่ได้จบด้านนิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชนก็สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร คัดเลือกประเด็นข่าวสารได้ไม่แตกต่างจากผู้ที่จบการศึกษาจากสายวิชาชีพนี้ แต่ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการเรียนการสอน ผลิตบัณฑิตเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม ความต้องการของสังคมและประเทศชาติ  นิเทศศาสตร์ ยังคงเป็นสาขาที่มีความจำเป็นต้องผลิตบุคลากรด้านนี้ เพียงแต่กระโดดจากสื่อกระแสเดิมๆ อย่าง หนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ มาสู่ดิจิทัล  โลกแห่งการสื่อสารในยุคเทคโนโลยีมากขึ้น

คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงการปรับตัวของสถาบันว่า ทาง ม.ธุรกิจบัณฑิตย์  มีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนิเทศศาสตร์  ทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก  อย่างเช่น ระดับปริญญาตรี เปิดสอนทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่  1.สาขาวิชาสื่อดิจิทัลและการสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสาขาที่บูรณาการมาจากสาขาด้านวารสารศาสตร์ และสาขาวิทยุกระจายและโทรทัศน์  โดยนอกจากวิชาพื้นฐานอย่างเรื่องของ “ข่าวและสถานการณ์ปัจจุบัน” ยังมีวิชา “การผลิตข่าว” และ วิชา “วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล” (Data journalism)  ที่นักศึกษาได้เรียนรู้แล้ว ยังเป็นการบัณฑิต DigiM  โลกเปลี่ยน - สื่อเปลี่ยน – คนเปลี่ยน เน้นพัฒนาให้นักศึกษาเป็น Smart Person ที่สามารถสร้าง Smart Media เรียนรู้การสร้างสื่อให้เป็นเงิน

เป็นการผลิตนักสื่อสารสายพันธุ์ใหม่ที่มีทักษะรอบด้านในการผลิตสื่อดิจิทัล และสามารถสร้างสรรค์เนื้อหาตอบโจทย์ทุกความต้องการของโลกแห่งอนาคต นักศึกษาจะได้เรียนรู้กระบวนการผลิตสื่อ เขียนข่าว เขียนบท ตัดต่อ การถ่ายภาพ และการสร้างสรรค์เสียง ไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ ไลน์ ยูทูบ และสื่อใหม่ รวมทั้งเข้าใจในธุรกิจสื่อ และวิธีการหาแหล่งเงินทุนในการผลิต การสร้างรายได้ สามารถบริหารสื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน

“กอบกิจ” กล่าวต่อว่า สำหรับ สาขาอื่นๆเช่น สาขาการสื่อสารการตลาดดิจิทัล  เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ครอบคลุมด้านการสื่อสารการตลาดดิจิทัล ทั้งความรู้ การคิดสร้างสรรค์ การวางแผนสื่อการผลิตชิ้นงาน ลงมือปฏิบัติงานด้านสื่อดิจิทัล ทั้งในห้องปฏิบัติการกับอุปกรณ์และโปรแกรมที่ทันสมัยรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พร้อมฝึกงานจริงกับองค์กรชั้นนำ เพื่อมุ่งสร้างทักษะและความเชี่ยวชาญ รวมถึงการพัฒนาบุคลิกภาพก้าวสู่อาชีพ ในการเป็นบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง เมื่อจบออกไป บัณฑิตสามารถทำงานด้านการโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การสื่อสารการตลาด ทั้งบริษัทในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

“คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์”  ย้ำว่า หลักสูตรนิเทศศาสตร์ ของ ม. ธุรกิจบัณฑิตย์  มีจุดเด่นเรื่องสื่อดิจิทัล สื่อใหม่ เน้นสร้างผู้ประกอบการสื่อดิจิทัลที่ไม่ได้มุ่งหวังว่าต้องไปทำงานในองค์กรใหญ่ๆ อย่างเดียว หากแต่มีความใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการด้วยตัวเอง ทำสื่อเอง หาแฟนคลับ ทำช่องทางการสื่อสารของตัวเอง กล้าที่จะออกไปหารายได้มาเลี้ยงธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง เป็นการเตรียมวิชาพื้นฐานเบื้องต้นภายใต้การเรียนรูปแบบใหม่ สอนทำโครงงานธุรกิจให้เกิดขึ้นตั้งแต่ในห้องเรียน มีระบบโค้ชและสถานที่ทำธุรกิจช่วงแรก ให้รองรับในการทำธุรกิจตั้งแต่เริ่มจากการสร้างไอเดีย จนถึงการลงมือทำ และการติดต่อหานักลงทุน ไปจนถึงการนำธุรกิจทดสอบตลาดออกสู่โลกแห่งความเป็นจริง อาจารย์ที่คณะหลายคน มีธุรกิจ Start-up ด้านสื่อของตัวเองสามารถเป็น Mentor ได้ดี

นอกจากนั้น ในส่วนของหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต (ปริญญาโท) จะมีการเปิดสอนเพียงสาขาเดียว คือ สาขาการสื่อสารมวลชนและวารสารศาสตร์ยุคสื่อหลอมรวม  ที่เรียนทั้งเรื่องวารสารศาสตร์และการสื่อสารมวลชนยุคดิจิทัล  การบริหารสื่อใหม่  การบริหารจัดการองค์กรสื่อรูปแบบต่างๆ  และปริญญาเอก เปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์  มุ่งสร้างงานดุษฎีนิพนธ์ทางนิเทศศาสตร์ โดยร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ/เอกชน และสถาบันการศึกษา ส่งเสริมบุคลากรให้ได้ทำวิจัยระดับปริญญาเอก โดยเน้นโจทย์ที่สร้างองค์ความรู้เพื่อการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาหน่วยงาน สถาบัน หรือชุมชน พร้อมกับการพัฒนาองค์ความรู้ทางนิเทศศาสตร์ มุ่งสู่การพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0

“คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์” เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักศึกษารวมทุกชั้นปีประมาณ 465 คน เทียบย้อนหลัง 3 ปี นักศึกษาเข้าใหม่สาขานี้อยู่ที่เท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเป็นภาพรวมของนิเทศศาสตร์ทุกสาขานั้น  ต้องยอมรับว่า ขณะนี้นิเทศศาสตร์ไม่ได้มีเด็กให้ความสนใจเข้าเรียนเหมือนในอดีต เพราะส่วนหนึ่งรูปแบบของสื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สื่อดิจิทัลมากขึ้น และทุกคนที่มีเครื่องมือเทคโนโลยีก็สามารถสร้างสรรค์สื่อได้ แต่ในวงการสื่อ ผู้ผลิตสื่อในองค์กรต่างๆ ยังคงต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในทักษะการสื่อสาร การเขียนข่าว การจับประเด็น และทักษะด้านเทคโนโลยีต่างๆ

..ขณะนี้มหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ จึงได้ปรับการเรียนการสอนเน้นให้เด็กรู้จักสามารถใช้สื่อดิจิทัลต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ได้ดี ควบคู่กับการเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพื่อให้พร้อมและสามารถเข้าไปทำงานได้ทันที ไม่ใช่เพียงจะเข้าไปทำงานสื่อเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ผลิตสื่อ สร้างสรรค์สื่อได้

...หลักสูตรวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัย มีการปรับปรุงหลักสูตรครั้งแรกจากสาขาวารสารศาสตร์มาเป็นสาขาการสื่อสารมวลชนและนวัตกรรมสื่อ จนในยุคที่สื่อหลอมรวม ได้รวมกับสาขาวิทยุ-โทรทัศน์ มาเป็นสาขาสื่อดิจิทัลและการสร้างสรรค์ เพราะการทำสื่อในยุคปัจจุบันไม่ได้ยึดที่ช่องทางการนำเสนอแบบเดิมอย่างเดียวอีกต่อไป หลักการด้านนิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์ ยังคงอยู่แต่ต้องมีการพัฒนาให้เท่าทันสื่อใหม่ สื่อดิจิทัลด้วยเช่นกัน

คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ บอกว่า นักศึกษาที่เรียนนิเทศศาสตร์ ในอนาคตต้องเป็นผู้ที่ปรับตัวไว มีหัวธุรกิจ รู้จักการทำงานเป็นทีม เข้าหาคนรุ่นใหม่ พันธมิตรใหม่ๆ ไม่ยึดติดอะไรเดิมๆ สถาบันวิชาชีพและสถาบันการศึกษากลับจะต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงให้ทันในยุคนี้ก่อนจะไปช่วยใครเสียด้วยซ้ำ

..จากการสำรวจในปีล่าสุด บัณฑิตของคณะนิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ทำงานในด้านสื่อใหม่ ในองค์กรทันสมัยที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ประมาณ 40%

โดยสัดส่วนคนที่ทำงานในด้านสื่อใหม่ มักจะเอนเอียงไปทางด้านผู้ผลิตสื่อที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารการตลาด การทำรายการบันเทิง ในสื่อออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ในส่วนของวงการสื่อสารมวลชนเดิม นักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่จะได้งานในส่วนของการดูแลเนื้อหาในเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เป็นส่วนมาก

เรียนสาขาด้านวารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์ไม่ตกงานแน่นอน

... เพราะขณะนี้ทุกมหาวิทยาลัยได้มีการปรับหลักสูตรดังกล่าว ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะการทำสื่อใหม่ การทำเนื้อหาใหม่ๆ ที่ผสมกับหลักการด้านวารสารศาสตร์เดิม เพื่อทำให้นักศึกษาสามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น  ไม่จำกัดตัวเองในวงการสื่อสารมวลชนเพียงอย่างเดียว หากแต่สามารถทำงานอิสระก็ได้ เป็นผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลก็ได้ รวมทั้งข้ามสายไปในโซนของการสื่อสารการตลาด การสื่อสารองค์กร การทำหนังได้คล่องตัวกว่าแต่เดิมมาก ดังนั้น การเรียนวารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์ในยุคนี้ไม่ได้ทำงานด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ ทำงานได้หลายทักษะ เหมาะสมกับการทำงานในสื่อยุคหลอมรวม

 

 

ม.กรุงเทพ ปรับหลักสูตรทุก 5 ปี

ยันยอดคนสมัครเรียนไม่เคยตก

----------------

ขณะที่”คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ”ซึ่งจัดการเรียนการสอนมายาวนาน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2514 ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกการที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีในสาขานี้ ระยะแรกก่อตั้งชื่อว่า“แผนกวิชาสื่อสารมวลชน” มีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นคณะที่มีความ เข้มข้นด้วยหลักสูตรทันสมัยที่ผสมผสานศาสตร์และศิลป์แห่งการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เน้นปฏิบัติจริงด้วยห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์ทันสมัยมาตรฐานสากล เพื่อสร้าง “นักสื่อสารหัวใจสร้างสรรค์”

ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ

 

ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ กล่าวว่า คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ จัดการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก หลักสูตรไทยและนานาชาติ โดยในระดับปริญญาตรีเปิดสอน

1.สาขาวิชาวารสารศาสตร์ เน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ฝึกฝนทักษะและความชำนาญ เพื่อพร้อมประกอบอาชีพตอบโจทย์ตลาดแรงงานในสาขาวิชาชีพด้านวารสาร รู้จักใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูล และนำข้อมูลเหล่านั้นมาประเมินคุณค่าทางข่าว เพื่อนำเสนอต่อผู้อ่านอย่างมีสาระและสร้างสรรค์

2.สาขาวิชาการผลิตอีเว้นท์และการจัดการนิทรรศการและการประชุม หลักสูตรน้องใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงานทั้งภายในประเทศและทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุมมองความคิดใหม่ที่ไม่ได้สร้างเพียงมนุษย์งานอีเว้นท์และไมซ์ แต่เป็นครีเอทีฟ ดีไซน์เนอร์ หรือเจ้าของธุรกิจสร้างสรรค์ด้านอีเว้นท์และไมซ์

3.สาขาวิชาการสื่อสารตรา เตรียมพร้อมนักศึกษาก้าวสู่การเป็นนักวางกลยุทธ์ด้านการสร้างแบรนด์และการสื่อสารแบรนด์ การออกแบบเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์และองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ การสร้างแบรนด์ตัวบุคคล

4.สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ สร้างนักประชาสัมพันธ์ยุคดิจิทัลที่มากด้วยความคิดสร้างสรรค์ มองการณ์ไกล ก้าวล้ำไปกับเทคโนโลยี และแนวโน้มของโลก ธุรกิจสมัยใหม่อย่างรอบด้าน เป็นนักเล่าเรื่อง นักประชาสัมพันธ์มืออาชีพ

5.สาขาวิชาศิลปะการแสดง ครอบคลุมทุกมิติของธุรกิจบันเทิง ทั้งสร้างสรรค์ผลงานระดับโลกและความสามารถเชิงธุรกิจเพื่อสร้างหลักประกัน ความมั่นคงทางวิชาชีพ ตลอด 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย คือช่วงเวลาสะสมประสบการณ์ การแสดงสดและธุรกิจบันเทิงในระบบดิจิทัล ด้วยหลักสูตร Project-based Learning ที่การเรียนคือการทำงาน และการทำงานคือการเรียน

6.สาขาวิชาโฆษณา สร้างคนโฆษณาที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์นําการตลาด หลักสูตรออกแบบให้ผู้เรียนพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อก้าวสู่การเป็นนักโฆษณา ผู้บริหารงานโฆษณา และครีเอทีฟที่มีศักยภาพระดับมืออาชีพ

7.สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จากความใฝ่ฝัน จินตนาการ และแรงบันดาลใจ ก้าวสู่เส้นทางแห่งความคิดสร้างสรรค์ เน้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัตินําความคิดสร้างสรรค์สู่การปฏิบัติงานจริง         8.สาขาวิชาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ ความเป็นพลวัตรเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีการสื่อสารกฎหมายและวัฒนธรรม เป็นองค์กรสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ ปรับทิศทางองค์กรสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ส่วนหลักสูตรปริญญาโท เปิดสอนหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการสื่อสารการตลาดดิจิทัล ขณะที่หลักสูตรนานาชาติ Communication Arts และ Innovative Media Production มีหลักสูตรปริญญาโท Master of Communication Arts Program in Global Communication และหลักสูตรปริญญาเอก Ph.D. of Philosophy in Communication Arts

“คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ” กล่าวต่อว่า ทุกสาขาของคณะนิเทศศาสตร์ จำนวนนักศึกษาไม่ลดลง ยังคงรับนักศึกษาได้จำนวนเท่าเดิม 1,000 กว่าคน แม้ว่าระยะหลังๆ มีกระแสออกมาว่าอุตสาหกรรมสื่อ วงการสื่อมวลชนอยู่ไม่รอด และเด็กน้อยลง แต่ในส่วนของคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ ซึ่งมีอัตลักษณ์ชัดเจน ในเรื่องการเรียนแบบลงมือทำ เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณในการรับนักศึกษา จึงทำให้คณะไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนสาขาวารสารศาสตร์ยังรับนักศึกษาได้เท่าจำนวนที่กำหนดไว้ คือ 30 คน เมื่อเปรียบเทียบในอดีตจำนวนนักศึกษาจึงไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง

“ดร.พีรชัย” กล่าวต่อไปว่า ทุก 5 ปี ทุกคณะจะมีการปรับปรุงหลักสูตรอยู่แล้ว และในแต่ละปี คณะมีการปรับรายวิชา หรือเปิดหลักสูตรใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของวงการวิชาชีพสื่อ บุคลากรที่อุตสาหกรรมสื่อต้องการ นิเทศศาสตร์วารสารศาสตร์ จึงได้บูรณาการรายวิชาบรอดแคสติ้งร่วมกับวารสารศาสตร์ เปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนการสอน โดยเชิญผู้ประกอบการข้างนอก บริษัท วิชาชีพสื่อ มามีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตร จัดการเรียนการสอน และมีการสร้างระบบนิเวศทางการศึกษา ผลิตสื่อนวัตกรรมหลักสูตรนานาชาติ ตอบโจทย์ตลาดงานที่โตขึ้น เป็นการขยายขอบเขตวงการสื่อภายในประเทศ และวงการสื่อนานาชาติ ผลิตนักศึกษาสามารถสื่อสารได้ทั้งไทยและต่างประเทศ ทำงานสื่อสารได้ทั่วโลก มีความเป็นนวัตกรรม เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้ผลิตบัณฑิตเข้าสู่สิ่งพิมพ์อย่างเดียว

วารสาร เป็นเพียงชื่อที่ทุกคนเข้าใจว่าต้องทำงานเกี่ยวกับหนังสือ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเรียนการสอนเป็นลักษณะบูรณาการ ผู้เรียนต้องมีทักษะการผลิตสื่อให้เหมาะสมกับแพลตฟอร์ม เป็นวารสารศาสตร์ ดิจิทัล มีทักษะครบถ้วนทั้งด้านการเขียน การคิดเนื้อหา ประเด็นในการนำเสนอ การผลิตสื่อ การครีเอทเนื้อหาต่างๆเป็นการเรียนรู้ที่จะทำให้นักศึกษาเป็นนักนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ที่สามารถทำงานได้หลากหลายแพลตฟอร์ม และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยี" ดร.พีรชัย กล่าว

ทั้งนี้ บัณฑิต นิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ มีงานทำ 100 % เพราะตอนนี้การทำงานไม่ได้จำกัดเฉพาะในวงการสื่อ หน่วยงาน องค์กรล้วนต้องการนักนิเทศศาสตร์ นักสื่อสารมวลชนที่เข้าไปช่วยสื่อสารภายในองค์กร ทำให้ตอนนี้บริษัท องค์กรใหญ่ล้วนมีแผนกการสื่อสารในองค์กร ทำหน้าที่นักสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร และทักษะด้านนิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชน ทำให้สามารถผลิตเนื้อหา กลยุทธ์การสื่อสารที่ทำให้องค์กร หน่วยงานเจริญเติบโตได้

 

 

ตลาดแรงงาน นิเทศศาสตร์

รู้ยัง สาขาไหนขาดแคลนคนทำงาน?


และปิดท้ายที่ “นิเทศฯ ม.รังสิต โดย”อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต” กล่าวว่า ขณะนี้วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ได้มีการจัดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี 11 สาขา ปริญญาโท 2 สาขา และปริญญาเอก 1 สาขา โดยทุกหลักสูตรมีการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลมากขึ้น เน้นเรื่องดิจิทัล เสริมทักษะให้ความรู้ ผู้เรียนสามารถเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมสื่อ หรือเป็นผู้ผลิตสื่อ สร้างสรรค์งานอิสระได้ด้วยตนเอง ระดับปริญญาตรีเปิดสอน 11 สาขา ได้แก่ 1. สาขาวิชามัลติมีเดีย  2.สาขาวิชาสื่อสารการแสดง 3.สาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล

อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต


4.สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร 5.สาขาวิชานวัตกรรมการโฆษณาและสื่อสร้างสรรค์ 6.สาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์มัลติแพลตฟอร์ม  7.สาขาวิชาคอนเทนต์และสื่อดิจิทัล 8.การสื่อสารการตลาดดิจิทัล 9.สาขาวิชานิเทศศาสตร์การกีฬา  10.สาขาวิชาการเขียนบทและการกำกับภาพยนตร์และโทรทัศน์ และ 11.นิเทศศาสตร์นานาชาติ  ส่วนหลักสูตรระดับปริญญาโทนั้น มี 2 สาขา คือ 1.สาขาวิชานิเทศศาสตร์ และ2.สาขาวิชาการเขียนบทและการกำกับภาพยนตร์และโทรทัศน์ และปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์

“คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต” กล่าวต่อว่าต้องยอมรับว่า  วารสารศาสตร์ไม่ได้รับนิยมอย่างในอดีต โดยดูจากจำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียน เมื่อก่อนสามารถรับนักศึกษาปีละ40-50 คน แต่ปัจจุบันมีนักศึกษาเข้าเรียนเพียงปีละ 10 กว่าคน ซึ่งประเด็นที่ทำให้เด็กเกิดความสนใจสาขาด้านนี้น้อยลงนั้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสื่อ และค่านิยมของผู้คนส่วนใหญ่ เมื่อมองวารสารศาสตร์จะมองว่าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ และขณะนี้สิ่งพิมพ์ปิดตัวจำนวนมาก ทำให้ทุกคนเกิดความรู้สึกว่าวารสารจะอยู่ไม่รอด

" หลักสูตรนิเทศศาสตร์มีการปรับปรุงเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา โดยการปรับใหญ่นั้นมี 4 ปีครั้ง แต่ถ้าการเป็นการรายวิชาให้เหมาะสมกับรูปแบบของเทคโนโลยี สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นจะปรับทุกปี โดยปี 2561 มีการยกเครื่องหลักสูตรใหม่ให้เป็นนิเทศศาสตร์ดิจิทัล โดยในส่วนของการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์นั้น นอกจากเปลี่ยนชื่อสาขาวารสารศาสตร์ เป็นสาขาวิชาคอนเทนต์ และสื่อดิจิทัลแล้ว หลักสูตรมุ่งเน้นสร้างนักผลิตคอนเทนต์ หรือกระบวนการผลิตเนื้อหาของสื่อต่างๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเดียว สามารถทำงานได้ทุกแพลตฟอร์ม"

คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวต่อไปว่าองค์กรทุกสายวิชาชีพต้องการคนที่สามารถทำงานได้หลากหลาย และเข้าใจแพลตฟอร์มต่างๆ ดังนั้น นักศึกษาของนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต จะมีทักษะมัลติสกิล และมีทักษะศตวรรษที่ 21 ทั้งด้านการใช้เทคโนโลยี การสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ต่างๆ รู้จักการปรับตัว ที่สำคัญจะมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการด้านสื่อ ผลิตสื่อได้ด้วยตนเองเพื่อสร้างอาชีพ รายได้ และอยู่รอดได้ ดังนั้น บัณฑิตนิเทศศาสตร์ของม.รังสิต ถ้าไม่อยู่ในแวดวงสื่อ ก็จะเป็นผู้ประกอบการด้านสื่อ

ในทัศนะ “คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต” มองว่าตลาดนิเทศศาสตร์ ต้องการคนเป็นมืออาชีพสูงมาก โดยเฉพาะตอนนี้สาขาที่กำลังขาดแคลนคน คือ สาขาเขียนบทและการกำกับ เพราะในปัจจุบันมีคนเขียนบทโทรทัศน์ ไม่ถึง 10 คน ทำให้สถานีโทรทัศน์หลายแห่งสะท้อนมายังวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิตว่าต้องการให้เปิดสาขาด้านนี้ เนื่องจากต้องการบัณฑิตเขียนบท ซึ่งบางคนอาจชื่นชอบ มีพรสวรรค์แต่อาจจะมีทักษะ องค์ความรู้การเขียนบทที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น จำเป็นต้องมีการผลิตบุคลากรด้านนี้

ส่วนสาขาด้านวารสารศาสตร์ ตลาดยังคงมีความต้องการ เพราะวารสารไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร การทำงานด้านข่าวเท่านั้น แต่เป็นการผลิตคอนเทนต์เนื้อหา ที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากโลกในตอนนี้ต้องการนักผลิตคอนเทนต์ผ่านกระบวนการเรียนการสอนแบบวารสารศาสตร์

ทั้งนี้จากการสำรวจการมีงานทำของบัณฑิตปีที่ผ่านมา สภาวะการได้งานทำ 85% แบ่งเป็น ทำงานตรงกับสาขาวิชาที่เรียนมา 57% ทำงานอื่นๆ ที่ไม่ตรงกับสาขา 28% ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น 5% และอื่นๆ เช่นติดทหาร/บวช 1% ดังนั้น เรียกได้ว่า ตอนนี้ตลาดงานด้านนิเทศศาสตร์ สื่อสารมสลชนก็ยังมีให้กับผู้ที่สนใจด้านนี้ เพียงแต่ผู้ที่เรียนด้านนี้จะต้องมีทักษะที่เหมาะสม และรู้จักการปรับตัว มีความรู้ ทักษะรอบด้าน

 


หมายเหตุ- ถอดความจากหนังสือวันนักข่าวประจำปี 2562 เรื่อง “นิเทศศาสตร์ Never Die” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย