โอกาสและทางรอดสื่อยุคใหม่ Content วีดีโอจะชิงพื้นที่ข่าวได้มาก

โอกาสและทางรอดสื่อยุคใหม่

Content วีดีโอจะชิงพื้นที่ข่าวได้มาก

ท่ามกลางสถานการณ์ Media Disruption ในวงการสื่อสารมวลชนของไทย ต่อการเปลี่ยนผ่านในยุคดิจิทัลได้กลายเป็นสึนามิถาโถมคนในวงการสื่อไม่หยุดยั้ง เพราะไม่ใช่แค่การปรับตัวเท่านั้น แต่หมายถึงการยืนระยะในฐานะวิชาชีพที่ผลิตคอนเทนท์ให้กับสาธารณะชน จะต้องก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีในโลกยุค 4.0 ไปให้ได้

นอกเหนือจากคนในวงการสื่อมวลชนที่เห็นยอดคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง ยังมีกลุ่มคนหลายวงการกลับมองสถานการณ์ Disruption เป็นโอกาสท้าทายต่อการ "Up-Skill " เพื่อพัฒนาคอนเทนท์ดิจิทัลให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างเข้าถึงและเข้าใจ

"ดร.ภูริพันธุ์ รุจิขจร" อาจารย์ประจำภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ หรือ "ดร.โจ้" Data Specialist และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท บุญมีแล็บ (Boonmee Lab )ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องระบบจัดการ Data โดยมีผลงานเด่นๆ เช่น การเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมากับเว็บไซด์ https://elect.in.th/ที่เป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับหลายภาคส่วนในช่วงการเลือกตั้งดังกล่าว ซึ่งเขาได้มองถึงแสงสว่างปลายอุโมงค์ในภาวะ Disruption ยังไม่หยุดนิ่ง

ภูริพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ตีพิมพ์ลงหนังสือวันนักข่าวของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ปี 2563 โดยวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในแพลตฟอร์มต่างๆ ว่าคอนเทนท์ในการรับสารจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก คนยังสนใจดาราเหมือนเดิม ยังสนใจเรื่องกีฬาเหมือนเดิม แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปเชื่อว่าเป็นเรื่องของรูปแบบที่ต้องมีการผสมอย่างอื่นเข้ามา ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากเดิมข่าวระยะยาวจะเล่นได้ แต่จากนี้อาจจะสั้นลง โดยมีเทคโนโลยีช่วยพัฒนาคอนเทนท์เหล่านี้ ซึ่งทิศทางของเทคโนโลยีที่จะเห็นชัดเจนมากคือ การสื่อสารจะเร็วขึ้นจากการเข้ามาของ 5G ทำให้คนจะเสพคอนเทนท์ที่เป็นวิดีโอมากขึ้น ขณะนี้เริ่มเห็นชัดที่สำนักข่าวออนไลน์มีคอนเทนท์วิดีโอ จากเดิมที่คอนเทนท์มีแบบเดียว แต่จากนี้จะมีรูปแบบอื่นมากขึ้น แต่เมื่อจำนวนคู่แข่งจะมากขึ้น ทำให้ต้องแข่งขันตามไปด้วยว่าใครจะชิงพื้นที่ข่าวได้มากกว่ากัน

ส่วนความสำคัญของ Data จะเข้ามามีบทบาทกับคนทำสื่อแต่ละแพลตฟอร์มมากแค่ไหน "ภูริพันธุ์" มองว่า Data ที่อยู่ในข่าวนั้นมีข้อดีที่ว่าทำให้ข่าวมีน้ำหนัก และมีความน่าเชื่อถือได้ง่ายขึ้น ส่วนอีกมุมถ้าเป็นฐานะคนทำข่าวจะทราบข้อมูลของผู้ใช้งานว่าชอบข่าวประเภทไหน และอ่านข่าวเรื่องอะไร ทำให้ตรงนี้จะมีบทบาทสำคัญนำมาใช้ออกแบบการทำข่าวในอนาคต ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมต่างๆ หากเปรียบในประเทศไทยกับต่างชาตินั้น ถ้าเทียบคนที่เหนือกว่า เราก็แย่กว่าเขา แต่ถ้าเทียบคนที่เขาแย่กว่าเราก็จะดีกว่าเขา แต่สำหรับประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ หากเปรียบเทียบเทคโนโลยีด้านสื่ออย่างฮ่องกง อาจจะไปไกลกว่าประเทศไทย แต่ถ้าเป็นญี่ปุ่นคิดว่าไม่ต่างจากเรามากนัก เพราะยังมีการเสพข่าวในรูปแบบเดิมๆ นักข่าวญี่ปุ่นก็ทำข่าวในรูปแบบเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

“ภูมิพันธุ์”กล่าวต่อไป ถึงการให้ความสำคัญกับ Data ในการทำงานของสื่อมวลชนว่า ถ้าเป็นเรื่องข้อมูลสำหรับสื่อสำนักไหนที่อยู่มานาน จะมีข้อมูลมากกว่าสำนักอื่นที่มีข้อมูลย้อนหลัง แต่สำนักข่าวส่วนใหญ่ใช้ไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่ อย่างในต่างประเทศจะเขียนว่า 10 ปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง หรือถ้ามีเหตุการณ์ปัจจุบันก็สามารถดึงสถิติย้อนหลังออกมาได้ แต่เข้าใจว่าทุกวันนี้จะมาจากนักข่าวซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก แต่ยังไม่ได้ดึงข้อมูลอะไรบางอย่างในระบบมาใช้ได้ ถ้าภายในสำนักข่าวมีระบบตรงนี้มาช่วยจะทำให้มีข้อมูลดีขึ้นมาก เพราะนอกจากค้นหาชื่อแหล่งข่าว และปรากฏข่าวของคนๆนั้นแล้ว อาจมีประวัติและค่าสถิติพื้นฐาน เช่นเป็นรัฐมนตรีมาแล้วกี่ครั้ง แต่ทุกวันนี้ข้อมูลต่างๆ ยังไม่ถูกจัดเก็บเป็นระเบียบเท่าไหร่ อาจจะมีข้อมูลทางสถิติทางเศรษฐกิจ เช่นจีดีพี หรือข่าวกีฬา เพราะแทนที่จะเก็บเป็นข่าวหรือตารางข้อมูลเฉยๆ ถ้าสร้างข้อมูลย้อนหลังได้อาจจะเห็นอะไรบางอย่าง และถ้าสำนักข่าวที่มีวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องการปรับตัว ผมว่าสบาย เพราะอย่างน้อยต้องรู้ว่าต้องปรับตัวอย่างไร กับรูปแบบนำเสนอใหม่ๆ ที่เข้ามา ผ่านไปอีก 5 ปีก็ต้องมีแบบใหม่ ก็ต้องมาดูกันว่าได้หรือไม่ อาจจะทดลองเสี่ยงด้วย ผมคิดว่าหลายคนไม่มีทางตอบได้ว่าอีก 5 ปีอะไรจะมา อาจแบ่งส่วนหนึ่งมาทดลองว่าจะคุ้มหรือไม่คุ้มอย่างไร

สำหรับการปรับตัวขององค์กรข่าว  ในยุค Digital Transformation  "ภูริพันธุ์” มองว่า ทุกสำนักข่าวก็พร้อมจะปรับตัวทั้งหมด แต่อาจจะขาดบุคลากร ไปพร้อมกับการเปลี่ยนวิธีคิด รวมถึงการเพิ่มทักษะบางอย่างเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ต้องถือว่าผู้รับสารสามารถรับสื่อได้มากมาย แต่จากสิ่งที่ผู้รับสารไม่ได้เสพคอนเทนท์อย่างเดียว เพราะยังมีการเสพรูปแบบการนำเสนอไปด้วยนั้น จะทำให้คนทำสื่อทำงานยากขึ้นหรือไม่ ก็ยังเชื่อว่า คนทั่วไปไม่ได้สนใจเรื่องพรีเซนเทชั่นมากกว่าคอนเทนท์ เพียงแต่บางครั้งพรีเซนเทชั่นก็เป็นคอนเทนท์ไปด้วยในตัวเอง เรียกว่าถ้านำเสนอแบบนี้จะแตกต่างจากการนำเสนออีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าพรีเซนเทชั่นดีแค่คอนเทนท์ไม่ดี คนไม่น่าจะดูอยู่ดี จึงคิดว่าพรีเซนเทชั่นกับคอนเทนท์ต้องไปด้วยกัน

การแตกแขนงนอกจากสื่อหลักที่มีไลน์ไอดี มียูทูปเบอร์ หรือตั้งสำนักข่าวเองขึ้นมา จะมีผลต่อการแข่งขันในทางบวกหรือทางลบอย่างไร ระหว่างสื่อใหม่ด้วยกันเอง?  "ภูริพันธุ์” ตอบว่า เรื่องนี้ มองไปถึงทางบวก เพราะอย่างน้อย ทำให้ผู้รับสารมีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้นจากตัวเลือกที่มากขึ้น ส่วนผลลบด้านเดียวที่เห็นนั้นอาจไม่ชัดเจนในประเทศไทยหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ มาจากการเสพสื่อเฉพาะที่ตัวเองสนใจ จะอยู่แค่ในวงนั้นซ้ำๆ ซึ่งในต่างประเทศจะแยกขั้วกันชัดเจน แต่จะเป็นข้อเสียหลักที่ไม่มีการควบคุมด้วยกันเอง เมื่อไม่มีองค์กร สมาคม หรือหน่วยงานควบคุมกันเองทำให้เกิดปัญหาจริยธรรม ที่ไม่ใช่เกิดจากสื่อหลักอย่างเดียว

ภูริพันธุ์ ยังกล่าวถึง กรณีคอนเทนท์ "ปลาทู" ในไทยรัฐออนไลน์ ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท Punchup ร่วมกับไทยรัฐออนไลน์ว่า มีเสียงตอบรับมาค่อนข้างดี ทางไทยรัฐออนไลน์ก็แฮปปี้ว่ามีคนเข้ามาดูคอนเทนท์นี้จำนวนมาก แต่แน่นอนว่าเสียงตอบรับที่เข้ามาจะเปรียบเทียบกับข่าวตรงๆ ไม่ได้ เพราะถ้าเป็นข่าวต้องถือว่าคอนเทนท์เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าคอนเทนท์ดีทำเป็นข้อความเฉยๆ คนก็สนใจ แต่กรณีปลาทูต้องให้เครดิตทางไทยรัฐที่ช่วยคิดว่าคอนเทนท์ควรเป็นอย่างไร จากเรื่องราวปลาทูที่ไม่น่าสนใจมาก แต่กลับทำให้น่าสนใจจากมิติที่ซับซ้อน ตั้งแต่การจับสัตว์น้ำ การทำอาหาร เมื่อนำมารวมกันจึงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ จากนั้นก็เพิ่มวิธีการนำเสนอข้อมูลให้น่าสนใจแทรกลงไป ถือว่าเป็นการเปิดตัวที่ดีที่ไทยรัฐเปลี่ยนแปลงการทำข่าวในวิธีการใหม่ๆ มากขึ้น

ส่วนที่มีการพูดกันว่าคนจะไม่อ่านหนังสือแล้วก็คงไม่ใช่ เพราะขณะนี้ก็มีคนยังอ่านหนังสืออยู่ ดังนั้นจะพูดว่าจะมาทดแทนรูปแบบเก่าอย่างเดียวคงไม่ได้ เพียงแต่จะต้องอยู่ด้วยกัน ส่วนแพลตฟอร์มแต่ละสนามที่สื่อยังคงใช้อยู่ตั้งแต่เฟซบุ๊ต ทวิตเตอร์ ฯลฯ คิดว่าถึงแม้จะยังไม่อิ่มตัว แต่สื่อหลายที่จะพอเข้าใจว่ามีขีดจำกัดอะไรบางอย่าง เช่น ไม่สามารถควบคุมได้ว่าจะให้คนเห็นสื่อตัวเองมากน้อยขนาดไหน ดังนั้นหากเฟซบุ๊คปรับวิธีการเข้าถึงในเพจ ก็ทำให้คนดูลดลงและมีผลต่อยอดโฆษณาตามมาทันที ถึงแม้ขณะนี้หลายคนรู้แล้วแต่ยังออกมาไม่ได้ เพราะกระโจนไปเข้าไปแล้ว แต่ได้เห็นหลายๆ เจ้า สร้างแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมา เพื่อให้คนเข้าไปดาวโหลดเพื่ออ่านคอนเทนท์จากแพลตฟอร์มนั้นเองอย่างเช่น เว็บและเพจ “ลงทุนแมน” ดังนั้นสื่อหลายแห่งจะต้องทำ หรืออย่างน้อยต้องทำร่วมกัน ผมคิดว่าสมมุติถ้าผู้บริโภคต้องโหลดแอพแต่เพื่ออ่านข่าวแยกกันแต่ละสำนักข่าวอาจไม่ดีเท่าไหร่ ทางที่เป็นไปได้อาจต้องทำร่วมกัน หรือถ้ารวมกลุ่มกันอาจมีข้อต่อรองกับเฟซบุ๊คได้มากขึ้นว่าจะนำเสนอข่าวอย่างไร

ถามปิดท้ายถึงนิยาม Media Disruption  ภูริพันธุ์ บอกไว้ว่า ทุกคนคิดว่าจะกลัวว่าจะตกงานหรือไม่ หรือจะไปทำอะไรในอนาคต แต่ส่วนหนึ่งอยากให้มองว่าเป็นโอกาส ไม่ว่าเป็นคนทำสื่ออะไร เรามีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จริงๆ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะไม่ต้องทำแบบเดิมแล้ว จะได้ทำอะไรใหม่ๆ อาจไม่ต้องเขียนข่าวเองเพราะมีคอมพิวเตอร์มาช่วยเขียน ก็ได้เวลาจะได้ไปทำอย่างอื่นดีกว่า ถ้าไม่ตกงานคงมีอะไรตื่นเต้นให้ทำเยอะ จากเดิมหลายคนเขียนข่าวเฉยๆ แต่จากนี้ทุกคนรับรู้ความเปลี่ยนแปลง แต่ขอให้อย่าไปกลัว เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเข้ามาแล้วต้องปรับตัวอยู่แล้วเช่นกัน