TikTok 2023 สำนักข่าวปรับตัวอย่างไร กับการเผยแพร่ข่าวในแพลตฟอร์มยอดนิยม

ในปี 2023 นี้ TikTok กลายมาเป็นหนึ่งในแอพพลิเคชันยอดนิยมที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก ด้วยระบบอัลกอริธึมที่นำเสนอวิดีโอขนาดสั้นแบบไม่รู้จบ ทำให้ผู้คนเสพติดการเล่นแอพพ์นี้กันงอมแงม แต่สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งของ TikTok คือการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแอพพ์ที่เต็มไปด้วยคลิปตลกชวนขำ และคอนเทนท์เบาสมองให้คนได้ไถโทรศัพท์ดูเล่นในเวลาว่าง ไปสู่แพลตฟอร์มที่นำเสนอเรื่องราวมีสาระและประเด็นต่างๆ ที่สำคัญในสังคม อาทิ Black Lives Matter การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือแม้กระทั่งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเนื้อหานี้ รวมถึงฟีเจอร์ของแอพพ์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถอัพโหลดวิดีโอที่มีความยาวมากกว่าเดิมและไลฟ์สตรีม ได้ทำให้สำนักข่าวต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ สนใจใช้ TikTok เป็นช่องทางสื่อข่าวและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนให้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะการขยายฐานคนดูไปสู่คนรุ่นใหม่ที่ใช้แอพพ์นี้อย่างแพร่หลาย 

อย่างไรก็ดี ผู้ถ่ายทอดข่าวต่างๆ ในTikTok กลับเป็นกลุ่มโซเชียลมีเดียอินฟลูเอ็นเซอร์ นักกิจกรรม และประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังมีอุปสรรคในเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูล และลักษณะของคอนเทนท์ที่เหมาะสมกับแอพพ์ดังกล่าวที่แตกต่างกับงานข่าวแบบดั้งเดิม รายงานที่เขียนโดย Nic Newman และเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ Reuters Institute For The Study of Journalism จึงได้ศึกษาการผลิตเนื้อหาสําหรับ TikTok ของสำนักข่าว และผู้ผลิตข่าวอิสระอื่นๆ ด้วยการติดตามกิจกรรมบนแอพพ์ดังกล่าวขององค์กรข่าวที่มีชื่อเสียงกว่า 40 ชาติ และมีข้อค้นพบต่างๆ ดังนี้

ทำไมสำนักข่าวถึงหันไปใช้ TikTok มากขึ้น และมันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

สาเหตุหลักมาจากการที่แอพพ์ดังกล่าวซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2018 โดยบริษัทจีนอย่าง Bytedance มีความนิยมอย่างมากในขณะนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งตอนนี้มีผู้ใช้รายวันมากกว่าหนึ่งพันล้านคนและยังเป็นแอพพ์มือถือที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในโลกตั้งแต่ต้นปี 2020 ขณะที่ผู้คนเริ่มใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คยุคบุกเบิกอย่าง Facebook น้อยลง 

โดยจุดเปลี่ยนที่สำคัญของแพลตฟอร์มนี้ดูเหมือนจะเป็นช่วงล็อกดาวน์ในช่วงต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คนหนุ่มสาวจำนวนมากได้ดาวน์โหลด TikTok มาทดลองเล่น และสำรวจอินเตอร์เฟซการตัดต่อวิดีโอที่ไม่ซับซ้อน รวมถึงการอัพโหลดคลิปลงในแอพพ์ดังกล่าวขณะที่ติดอยู่ในบ้าน นอกจากนี้การรุกรานของรัสเซียในยูเครนยังช่วยกระตุ้นการรับรู้ของแพลตฟอร์มดังกล่าวในด้านข่าวสาร เนื่องจากเยาวชนยูเครนได้ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านความสามารถในการแชร์ข้อมูลอย่างรวดเร็วทันทีและความใช้ง่ายของแอพพ์ในการอัพโหลดวิดีโอ เพื่อแบ่งปันเรื่องราวชีวิตที่แสนรันทดที่พวกเขาต้องหลบหนีระเบิดและสงครามแบบเรียลไทม์ อีกทั้ง ความแตกต่างจากโซเชียลเน็ตเวิร์คอื่นๆ ที่ไม่พึ่งพายอดการติดตาม แต่กลับใช้อัลกอริธึมที่เรียนรู้และพัฒนาเนื้อหาคอนเทนท์ที่ผู้ชมชอบอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดการใช้แอพพ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีการใช้ TikTok เผยแพร่ข่าวสารมากขึ้น องค์กรด้านข่าวบางรายจึงได้หันมาใช้แพลตฟอร์มนี้ในวัตถุประสงค์ดังกล่าวมากขึ้นตามมา

งานวิจัยค้นพบว่า จาก 44 ประเทศทั่วโลก มีสำนักข่าวราวเกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 49% ที่ลงคอนเทนท์ที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารเป็นประจำในบัญชีTikTok โดยที่สำนักข่าวที่หันมาใช้ TikTok กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ อย่างกระจัดกระจาย ซึ่งสำนักข่าวที่หันมาใช้แอพพ์นี้เร็วที่สุด อยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกซึ่งรวมทั้ง ฝรั่งเศส สเปน สหราชอาณาจักร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย สหรัฐ รวมถึงลาตินอเมริกา ขณะที่กลุ่มประเทศนอร์ดิก ญี่ปุ่น ยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออกกลับมีความกระตือรือร้นน้อยกว่า

โดยกลุ่มประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก จะอยู่ในอันดับต้นๆ ของการจัดอันดับบัญชีข่าวที่มีผู้ติดตามมากที่สุดบน TikTok เช่น สหรัฐ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และบราซิล และยังเป็นเรื่องที่น่าทึ่งที่สำนักข่าวเยาวชนที่ขับเคลื่อนทางสังคมก็มีกระแสตอบรับที่ดีทั้งในยุโรปและสหรัฐ อาทิ NowThis ที่มีผู้ติดตามบัญชีข่าวและประเด็นการเมืองใน TikTok กว่า 8.5 ล้านคน และ Ac2ality ที่มีภารกิจในการเล่าข่าวภายใน 1 นาทีก็มีผู้ติดตามมากถึง 3.9 ล้านคน

อย่างไรก็ดียอดผู้ติดตามในบัญชี TikTok มีอิทธิพลต่อความนิยมของโพสต์ใดโพสต์หนึ่งในบัญชีนั้นน้อยกว่าเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ โดย NBC สำนักข่าวของสหรัฐที่มียอดผู้ติดตามเป็นอันดับสามอยู่ที่ 3.9ล้านคนกลับมีค่าเฉลี่ยของยอดชมวิดีโอสูงที่สุด อยู่ที่มากกว่า 1,000,000วิวต่อคลิป กระนั้นการมีส่วนร่วมกับเนื้อหามีแนวโน้มที่จะต่ำกว่ามากในประเทศอย่างอินโดนีเซียและไทย ที่แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดตามสำนักข่าวในประเทศดังกล่าวสูง ขณะที่สำนักข่าวที่มีค่าเฉลี่ยการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้ชมต่อหนึ่งโพสต์อยู่ในอันดับต้นๆ ของการจัดลำดับนี้ มักเป็นบัญชีที่ผลิตวิดีโอเนื้อหาข่าวให้เข้ากับรูปแบบของแอพพ์มากกว่า จึงอาจกล่าวได้ว่ายอดผู้ติดตามไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของคอนเทนท์ที่เหมาะสมกับรูปแบบและฐานผู้ใช้ของแอพพ์ ที่จะทำให้ปฏิสัมพันธ์ของคนดูสูงขึ้น

เมื่อมองไปในอนาคต TikTokอาจขยายเวลาในการเผยแพร่วิดีโอให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบันที่อยู่ที่ 30 ถึง 60 วินาทีซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสให้กับผู้ผลิตสื่อมากขึ้น อีกทั้งผู้ใช้ TikTok ก็จะมีอายุที่เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา ซึ่งจะเป็นโอกาสให้สำนักข่าวขยายประเด็นข่าวให้กว้างขวางขึ้น แต่แน่นอนว่าการแข่งขันในอนาคตของเหล่าสำนักข่าวในแอพดังกล่าวก็จะมีเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ทำไมสำนักข่าวบางรายถึงหันมาใช้ TikTok ขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังไม่?

จากการสัมภาษณ์ของงานวิจัยพบว่า สำนักข่าวส่วนใหญ่ตระหนักว่าพวกเขาจำเป็นต้องขยายฐานผู้ชม โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และทำให้การรับข่าวสารมีความคล่องตัวไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เครื่องมือดังกล่าวที่สำคัญก็คือ TikTok ที่ข้อมูลจาก Ofcom ระบุว่าคนอายุต่ำกว่า 25 ปีในสหราชอาณาจักรใช้เวลาเล่นแอพพ์ดังกล่าวราว 57นาทีต่อวัน สอดคล้องกับที่สำนักข่าวจำนวนหนึ่งมองว่าการเปลี่ยนแปลงล่าสุดในแพลตฟอร์มนี้ เช่น การโปรโมตไลฟ์สตรีมมิ่งและวิดีโอที่ยาวขึ้น เอื้อต่อการทำงานในด้านเผยแพร่ข่าวมากขึ้น

แต่ TikTok ไม่ใช่ตัวเลือกหลักสําหรับทุกคน บางองค์กรยังไม่ใช้แอพพ์ดังกล่าวหรืออาจใช้อย่างระมัดระวัง เพราะยังมีความลังเลหรือมีความตื่นตัวต่ำในการหันมาใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวในการสื่อสารข่าว เช่น BBC News และ NHK ขณะที่สำนักข่าวแบบสมัครสมาชิกจํานวนมาก เช่น New York Times ก็หลีกเลี่ยงแอพพ์สัญชาติจีนนี้เช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความคิดที่ว่า TikTok อาจไม่เอื้อต่อการทำข่าวที่มีเนื้อหาจริงจัง หรือกังวลเรื่องความเป็นเจ้าของของจีนและประเด็น Free speech ขณะที่บางส่วนกลัวว่าการเสนอข่าวในสื่อสไตล์ TiKTok จะทำให้ประเด็นข่าวไม่สลักสำคัญสูญเสียแก่นสาร ข้อจำกัดด้านการสร้างเม็ดเงินจากเนื้อหาก็เป็นอีกสิ่งที่ขัดขวางการลงทุนของสำนักข่าวในแพลตฟอร์มนี้

อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงคือข้อกังวลเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลลวงหรือบิดเบือนลงบน TikTok ประเด็นนี้อาจเป็นปัจจัยยับยั้งการมีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มดังกล่าว แต่ก็มีนักข่าวบางคนที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องจึงตัดสินใจหันมาใช้ TikTok เป็นเครื่องมือในการสื่อสารข่าวกับกลุ่มผู้ชมคนรุ่นใหม่

อัลกอริธึม: “เวทมนตร์” ของ TikTok

อัลกอริธึมที่มีความเฉพาะตัวและปรับเปลี่ยนไปตามความสนใจของผู้ใช้ คือจุดแข็งของ TikTok ที่ทำให้ผู้คนเสพติดการนั่งดูแอพพ์ดังกล่าว โดยอัลกอริธึมนี้จะเรียนรู้คอนเทนท์ที่ผู้ใช้ชื่นชอบจากปฏิสัมพันธ์อย่างการกดไลค์ การแสดงความคิดเห็น การแชร์ รวมถึงระยะเวลาในการดูคลิป และนำเสนอวิดีโอที่เชื่อมโยงกับปัจจัยเหล่านี้แก่ผู้ใช้แอพพ์แต่ละคนผ่านฟีเจอร์ “For You” 

ตัวชี้วัดหลักที่สำนักข่าวควรตระหนักถึงในการอาศัยเวทมนตร์ของอัลกอริธึมของ TikTok ในการเผยแพร่ข่าวจึงประกอบด้วย 1) จำนวนผู้ติดตาม ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการดึงดูดผู้ที่มีความสนใจ แม้ว่าจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์และความไวรัลของคลิป 2) ยอดวิว ที่เป็นตัวชี้วัดมาตรฐานในการประเมินคุณภาพของคลิป 3) อัตราการชมวิดีโอจนจบ (Complete rate) ที่อัตราส่วนที่ดีควรอยู่ที่กว่า 60% ของวิดีโอที่มีความยาว 1 นาที 4) ยอดไลค์ คอมเมนต์ และการแชร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่อัลกอริธึมใช้จับสัญญาณความไวรัล ที่วิดีโอหนึ่งยิ่งมียอดเหล่านี้มากเท่าไร ก็ยิ่งมีความเหมาะสมในการแสดงคลิปดังกล่าวให้ผู้อื่นต่อมากเท่านั้น

หนึ่งในประโยชน์ที่สำคัญของอัลกอริธึม TikTok คือบัญชีผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีจำนวนผู้ติดตามสูงเพื่อที่จะผลักดันให้คลิปประสบความสำเร็จ ขณะที่ ผู้นำเสนอข่าว Ac2ality กล่าวว่าบัญชี TikTok ควรลงคลิปวิดีโอเป็นประจำ โดยการอัพโหลดวิดีโอสูงราว 6 คลิปต่อวันจะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากเวทมนตร์อัลกอริธึมของแอพพ์นี้อย่างสูงที่สุด

การนำเสนอคอนเทนท์ที่มี “authenticity” ก็สำคัญอย่างมากใน TikTok ด้วยความที่อัลกอริธึมของแอพพ์ค่อนข้างลื่นไหลและอุปสรรคในการเข้ามามีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มดังกล่าวค่อนข้างต่ำ การผลิตวิดีโอที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับแอพพ์ มีความแท้จริงและความซื่อสัตย์ต่อเป้าประสงค์ของตนจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสำนักข่าว

กลยุทธ์ใดที่สำนักข่าวใช้ใน TikTok?

การวิจัยนี้ได้ระบุแนวทางหลักสองประการที่สำนักข่าวใช้ในการนำเสนอเนื้อหาข่าวบน TikTok ประการแรกคือ “กลยุทธ์ครีเอเตอร์-เฟิร์ส” ที่มักใช้ทีมครีเอเตอร์อายุน้อยซึ่งเข้าใจและคุ้นเคยกับธรรมชาติแอพพ์มากกว่าในการผลิตเนื้อหาข่าวลง TikTok โดยสำนักข่าวที่ใช้แนวทางนี้ อาทิ The Washington Post ที่เน้นการนำเสนอข่าวที่ผสมผสานระหว่างสาระแก่นสารและความตลกขบขัน แต่อาจไม่ได้ใช้หลักการนี้กับทุกประเด็นข่าว The Los Angeles Times ที่ตั้งทีมผู้ผลิตคอนเทนท์ลงแอพพ์นี้โดยเฉพาะ ด้วยกลยุทธ์การทดลองเล่าเรื่องด้วยภาพ เพื่อเป้าหมายในการขยายฐานผู้ชมให้หลากหลายและเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ The News Movement ที่ใช้แนวทางคอนเทนท์ “โดยคนรุ่นใหม่เพื่อคนรุ่นใหม่” ที่แสดงภาพลักษณ์ขององค์กรที่ดูสดใหม่และแท้จริง Ac2ality ที่เผยแพร่ข่าวด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและอ้างอิงข้อเท็จจริงในวิดีโอสไตล์ TikTok อีกทั้งยังได้เปรียบเพราะเป็นสำนักข่าวแรกๆ ที่หันเข้าสู่แพลตฟอร์มดังกล่าวตอนที่ยังไม่ค่อยมีคู่แข่ง และ Le Monde ที่ใช้เทคนิคการนำเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์ อย่างการแสดง การเปรียบเทียบ และภาพวาด เป็นต้น อย่างไรก็ดีความท้าทายของกลยุทธ์นี้คือการสร้างสมดุลระหว่างบุคลิกภาพที่สดใหม่จากฝั่งครีเอเตอร์และความต้องการด้านภาพลักษณ์ขององค์กรข่าว

ประการที่สองคือ “กลยุทธ์สำนักข่าวเป็นหลัก” ที่ให้ความสำคัญกับสาระของข่าวเป็นสำคัญและมักให้ผู้สื่อข่าวเป็นคนนำเสนอเนื้อหา อาทิ Sky News ที่มองว่า TikTok เป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งให้ผู้สื่อข่าวนำเสนอข่าว คล้ายคลึงกับ  Vice World News ที่เน้นผลิตวิดีโอสั้นๆ อธิบายเรื่องราวข่าวต่างประเทศด้วยผู้สื่อข่าวภาคสนาม รวมถึง The Economist ที่ใช้ภาพลักษณ์ขององค์กรที่เข้มแข็งและเนื้อหาของข่าวที่กระตุ้นปฏิสัมพันธ์ของผู้ชมเป็นจุดแข็งในการเล่าเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และประเด็นเศรษฐกิจใน TikTok กลยุทธ์นี้จะทำให้สำนักข่าวใช้ประโยชน์จากข่าวที่หน่วยงานมีอยู่แล้วได้สูงสุด ขณะที่สำนักข่าวขนาดเล็กที่ไม่สามารถสู้เรื่องยอดขายได้ อาจมีแนวโน้มผลิตข่าวตามกระแสและมีความเสี่ยงสูงในด้านรูปแบบของข่าว

แน่นอนว่ากลยุทธ์ที่ใช้อาจแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ตรงกันก็คือ เนื้อหาในTikTok จะต้องสั้น กระชับ เข้าถึงง่าย และดึงดูดผู้ชมตั้งแต่ในวินาทีแรกๆ ของวิดีโอ อย่างไรก็ดีความสำเร็จในการทำให้คลิปไวรัลใน TikTok ไม่มีสูตรสำเร็จ

นอกจากนี้ยังมีบัญชี TikTok ส่วนตัวของผู้สื่อข่าวแต่ละคน ที่ประสบความสําเร็จเช่นกัน แต่บัญชีเหล่านี้พบได้น้อยกว่าของสำนักข่าวใหญ่ๆ และยังมีบัญชีของปัจเจกบุคคล เหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ รวมถึงนักกิจกรรมที่ผลิตวิดีโอด้านข่าวสารลงในแอพพ์นี้อีกจำนวนมากด้วย

แล้ว TikTok สำหรับวงการข่าวจะเป็นอย่างไรต่อไป?

ด้วยความที่ TikTok ไม่ใช่แอพพลิเคชันที่ถูกสร้างมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับข่าวโดยเฉพาะ และมันยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็นและมีแนวโน้มที่จะไม่ทำเงิน แต่เนื่องจาก Facebook และ Twitter สูญเสียแรงดึงดูดในฐานะช่องทางการเผยแพร่ข่าว องค์กรจำนวนมากจึงหันมาสนใจ TikTok ในฐานะเครื่องมือถ่ายทอดข่าวและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ชมมากขึ้น อย่างไรก็ดีธรรมชาติและวิธีการทำงานของแพลตฟอร์มในตอนนี้ยังคงมีหลายเรื่องที่ต้องการการพัฒนาให้เหมาะสมกับงานด้านสื่อสารมวลชนประเภทข่าว

โดยทั่วไปแล้ว สำนักข่าวต้องการการมีปฏิสัมพันธ์กับประเด็นที่มีความเฉพาะเจาะจง รวมถึงเนื้อหาที่ดีต่อสังคมมากขึ้น ขณะที่งานศึกษานี้ได้เสนอข้อเสนอ 4 ประการที่ทางสำนักข่าวหวังว่า TikTok จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต ได้แก่ การโปรโมตและเพิ่มพื้นที่ให้กับเนื้อหาข่าวคุณภาพสูงที่ดีขึ้น การสร้างความโปร่งใสเกี่ยวกับการลบหรือบล็อกเนื้อหาข่าวให้มากขึ้น การพัฒนาระบบของการสร้างรายได้จากเนื้อหาที่ดีขึ้น และการปรับปรุงฐานข้อมูลผู้ชมสื่อและเครื่องมือที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพและรายละเอียดมากขึ้น

บทสรุป

ธรรมชาติของโซเชียลมีเดียกำลังถูกปรับโฉมใหม่ TikTok ได้พุ่งทะยานขึ้นมา โดยอาศัยคลื่นแห่งความคิดสร้างสรรค์และพลังของคนหนุ่มสาว งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าสำนักข่าวทั่วโลกต่างหันมาใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและความสัมพันธ์กับกลุ่มประชากรคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังเป็นการทดลองสร้างข่าวในรูปแบบใหม่ อย่างวิดีโอแนวตั้งระยะสั้นซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในโลกโซเชียลมีเดีย

แต่อุปสรรคและข้อถกเถียงในหลายเรื่อง อาทิ ความเป็นเจ้าของของจีน ประเด็น Free Speech ความน่าเชื่อถือของข้อมูล ประเด็นข่าวปลอม-ลวง-บิดเบือน ได้ทำให้สำนักข่าวเกิดความลังเล อีกทั้งยังมีภาวะที่อาจสร้างความยากลำบากระหว่างโอกาสในระยะสั้นและความเสี่ยงในระยะยาว รวมถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการสร้างคอนเทนท์ที่มีความเหมาะสมกับ TikTok เมื่อคำนวณกับข้อจำกัดในการอ้างถึงและการสร้างลิ้งค์เชื่อมโยงสำนักข่าว ที่เป็นรูปแบบธุรกิจหนึ่งในการสร้างรายได้จากการอ้างอิงในเครือข่ายโซเชียล ก็ทำให้หลายหน่วยงานคิดหนักในการลงทุนด้านข่าวในแพลตฟอร์มนี้

ขณะที่เมื่อมองไปในอนาคต TikTokอาจขยายเวลาในการเผยแพร่วิดีโอให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบันที่อยู่ที่ 30 ถึง 60 วินาทีซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสให้กับผู้ผลิตสื่อมากขึ้น อีกทั้งผู้ใช้ TikTok ก็จะมีอายุที่เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา ซึ่งจะเป็นโอกาสให้สำนักข่าวขยายประเด็นข่าวให้กว้างขวางขึ้น แต่แน่นอนว่าการแข่งขันในอนาคตของเหล่าสำนักข่าวในแอพดังกล่าวก็จะมีเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้เป็นการฉายภาพเพียงส่วนหนึ่งของการปรับตัวด้านการสื่อข่าวในโลกที่มีพลวัตทางสื่อออนไลน์อยู่ตลอดเวลาเท่านั้น ในอนาคตงานด้านข่าวสารคงมีการพัฒนาต่อไปและใช้รูปแบบรวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ภายใต้บริบทที่แตกต่างกับในปัจจุบัน ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร