นกน้อยในรังมังกร: เมื่อ “กฎหมายความมั่นคง” เริ่มกระเทือนเสรีภาพสื่อฮ่องกง
เมื่อเดือนที่แล้ว “จุลสารราชดำเนิน” ได้นำเสนอประเด็นเสรีภาพสื่อในฮ่องกง ที่อาจจะถูกริดรอนด้วย “กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ” (อ่านต่อที่นี่) ของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนความกังวลต่อกฎหมายฉบับดังกล่าวจะได้กลายเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว เมื่อตำรวจฮ่องกงบุกรวมตัว “ไหล่จี้เย็ง” หรือ “จิมมี่ ไหล” มหาเศรษฐีเจ้าของสื่อมวลชนรายใหญ่ของฮ่องกง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ Apple Daily ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลจีนมาหลายปี
นายจิมมี่ถูกตั้งข้อหาว่า “สมคบคิดกับขบวนการต่างชาติ” ก่อนจะได้ประกันตัวในภายหลัง
ในวันเดียวกันตำรวจฮ่องกงระบุว่าได้มีการจับกุมบุคคลอีกอย่างน้อย 9 รายด้วยข้อหาเดียวกัน ในจำนวนผู้ถูกจับกุมมีบรรดาผู้บริหารระดับสูงของสำนักข่าว Next Media ซึ่งเป็นธุรกิจหนึ่งของนายจิมมี่ รวมถึง “โจวถิง” หรือ “แอกเนส โจว” นักกิจกรรมประชาธิปไตยชื่อดัง ก็โดนจับในข้อหา “สมคบคิดกับขบวนการต่างชาติ” เช่นเดียวกัน
การจับกุมนายจิมมี่ในแง่หนึ่งก็อาจไม่น่าแปลกใจนัก เพราะรัฐบาลจีนและสื่อโฆษณาชวนเชื่อในการควบคุมของจีน ได้ตราหน้าเจ้าสัวรายนี้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในฮ่องกงตลอดปี 2562 ส่วนนายจิมมี่เอง ก็ได้เดินสายปราศรัยและเขียนบทความโจมตีรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์หลายครั้ง
เมื่อไม่กี่เดือนก่อนจิมมี่ก็เพิ่งมีงานเขียนในหนังสือพิมพ์สัญชาติอเมริกัน “นิวยอร์กไทมส์” ด่าทอพรรคคอมมิวนิสต์อย่างดุเดือด ก่อนจะทิ้งท้ายว่าตนอาจจะถูกจับกุมเร็วๆนี้
แต่สิ่งที่ทำให้สื่อฮ่องกงต้องหนาวตามๆกัน คือการบุกเข้าค้นสำนักข่าว Next Media ด้วยกำลังตำรวจกว่า 200 นาย โดยทางตำรวจฮ่องกงยืนยันว่าเป็นการค้นหาหลักฐานในคดีความมั่นคงของนายจิมมี่ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับใช้อำนาจค้นดูสมุดโน้ตและไฟล์ต่างๆของนักข่าวกันอย่างโจ๋งครึ่ม
เชื่อกันว่าผู้อ่านที่มีอาชีพสื่อมวลชนคงพอเข้าใจดีว่า ข้อมูลส่วนนี้ของนักข่าวถือเป็นความลับระหว่างสื่อกับแหล่งข่าว บรรดาสมาคมสื่อในฮ่องกงจึงดาหน้ากันประณามเหตุการณ์ที่สำนักข่าว Next Media ตามระเบียบ พร้อมชี้ว่าเป็นการละเมิดหลักการเสรีภาพสื่อที่คุ้มครองด้วยธรรมนูญปกครองฮ่องกง (Basic Law)
“สื่อมวลชนมีความรับผิดชอบในการรายงานความจริง เปิดโปงการใช้อำนาจโดยไม่ชอบและความอยุติธรรมต่างๆในสังคม ดังนั้น การปกป้องแหล่งข่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก” แถลงการณ์จากสมาคมนักข่าวฮ่องกง (HKJA) ระบุ
ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรกเสียอีก เมื่อตำรวจกีดกั้นไม่ให้สื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งเข้าทำข่าวในพื้นที่และฟังแถลงข่าวในกรณีการจับกุมนายจิมมี่
นายตำรวจท่านหนึ่งให้เหตุผลว่าเป็นนโยบายใหม่ จะอนุญาตให้เฉพาะ “สื่อที่มีพฤติกรรมเป็นมิตร” เข้าทำข่าวในบางพื้นที่เท่านั้น
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีก บรรดาสมาคมสื่อย้ำว่าฮ่องกงมีชื่อเป็นแดนเสรีภาพด้านสื่อมวลชน และที่ผ่านมาตำรวจไม่เคยมีอำนาจในการกำกับการทำงานของสื่อ การกระทำครั้งนี้ของตำรวจจึงเป็นเสมือนริเริ่มระบบ “ขึ้นทะเบียนสื่อ” เลือกปฏิบัติเฉพาะสื่อบางกลุ่มไปโดยปริยาย
แถมยังมีรายงานข่าวระบุว่า ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองฮ่องกงและกระทรวงต่างประเทศจีน อาจทำให้การขอวีซ่าสื่อมวลชนจากต่างประเทศยากขึ้นในยุคกฎหมายความมั่นคง ถึงแม้กระทรวงต่างประเทศจีนยืนยันว่าไม่มีแผนดังกล่าว แต่ก็ทำให้หลายคนหายใจไม่ทั่วท้องอยู่ดี
กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นภายในเงาของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.หลังการพิจารณาอย่างรวดเร็วโดยทั้งสองสภาของจีน
ดังที่กล่าวแล้วในบทความครั้งก่อนหน้า กฎหมายฉบับดังกล่าวให้อำนาจรัฐบาลและตำรวจฮ่องกงอย่างเต็มที่ในการปราบปรามกิจกรรมใดๆ อันเชื่อได้ว่าจะ “ต่อต้านอำนาจรัฐบาลแผ่นดินใหญ่” หรือ “สนับสนุนการแยกดินแดน” หรือ “ร่วมมือกับกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่างชาติ” ฯลฯ
นับเป็นกฎหมายที่มีลักษณะกว้างครอบจักรวาลมากจนไม่มีใครทราบได้ว่า การกระทำใดบ้างที่จะเข้าข่ายความผิด
นอกจากนี้ ยังให้อำนาจทางการฮ่องกงในการ “ให้คำแนะนำ จัดการ และกำกับดูแล” สื่อมวลชนไม่ให้เข้าข่ายละเมิดกฎหมายข้างต้น
ที่น่าสนใจอีกประการคือกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมแม้กระทั่งความผิดที่อยู่นอกฮ่องกง และปัจจุบันทางตำรวจฮ่องกงระบุว่ากำลังติดตามตัวบุคคลนอกประเทศจีนจำนวนหนึ่งที่ต้องความผิดในกฎหมายนี้ด้วย
ด้านผู้อำนวยการขององค์กรสิทธิ Human Rights Watch ก็โดนสั่งห้ามเข้าฮ่องกงเรียบร้อยแล้ว ภายใต้ข้อหา “แทรกแซงกิจการภายใน” ของจีน
ความคลุมเครือนี้จึงทำให้เกิดบรรยากาศ “เซนเซอร์ตัวเอง” ในฮ่องกง เพราะองค์กรต่างๆต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดกฎหมาย ทั้งที่ไม่มีใครตอบได้ว่ากฎหมายครอบคลุมอะไรบ้าง (ปรากฏการณ์เช่นนี้ผู้เขียนเชื่อว่าสื่อมวลชนไทย เข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีเช่นกัน)
เช่น สื่อยังสามารถรายงานการประท้วงได้หรือไม่? จะยังเสนอภาพหรือข้อความของผู้ประท้วงได้ หรือต้องตัดออกเพราะกลัวจะผิดกฎหมาย?
เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการด้านสื่อมวลชนในมหาวิทยาลัยฮ่องกงคนหนึ่งที่กำลังวิจัยความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์การเมือง ระบุว่าบริษัททำโพลล์ชื่อดังของโลก YouGov ที่ตนทำงานด้วย ได้ลบชุดคำถามออก 6 ข้อ รวมถึงคำถามเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อกฎหมายความมั่นคง และเสรีภาพสื่อภายใต้กฎหมายความมั่นคง
รายงานข่าวระบุว่า บริษัท YouGov (ซึ่งมีผลประโยชน์ธุรกิจในประเทศจีน) ปฏิเสธที่จะตอบว่ามีการเซนเซอร์ตนเองหรือไม่
ผู้อ่านคงพอจะนึกภาพตามได้ว่า ถ้าหากแม้แต่การตั้งคำถามกับตัวบทกฎหมาย ก็ไม่มีใครกล้าทำ เพราะเกรงกลัวผลกระทบที่ตามมา จะมีการถกเถียงและพูดคุยเกี่ยวกับความเหมาะสม หรืออำนาจของกฎหมายดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใดในสังคม?
และสื่อมวลชนสามารถ “เชื่อใจ” ได้หรือไม่ ว่าผู้มีอำนาจจะไม่ใช้ตัวบทกฎหมายเพื่อปิดปากผู้เห็นต่าง?
1. จิมมี่ ไหล เจ้าของสื่อรายใหญ่ฮ่องกง ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 (ภาพโดย AP)
2. ตำรวจเข้าค้นสำนักข่าว Next Media ในฮ่องกง เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 (ภาพโดย Reuters)
3. ผู้ชุมนุมโบกธงเรียกร้อง "เอกราชฮ่องกง" เมื่อเดือน พ.ย. 2562 (ภาพโดย South China Morning Post)
4. ภาพบรรยากาศการพิจารณากฎหมายความมั่นคงฮ่องกง ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2563 (ภาพโดย Reuters)