รายงานพิเศษโดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน
...................................................
"ศาลรัฐธรรมนูญ"ที่ตั้งขึ้นมาครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี2540 โดยเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2541 ทำให้นับถึงปัจจุบันตั้งมาแล้วร่วม26 ปี โดยบทบาทความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ ในการวินิจฉัยคำร้องคดีต่างๆ ที่ส่งผลในด้านการเมือง-กฎหมาย คงไม่ต้องสาธยายมากเพราะเห็นตัวอย่างได้ชัด คำวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญหลายคดี สร้างการเปลี่ยนแปลง-แรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงให้กับหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยมานับครั้งไม่ถ้วน
อย่างล่าสุดตอนนี้ ก็มีคำร้องสองคดีสำคัญที่อยู่ในการพิจารณาของศาลรธน.นั่นก็คือ"คดียุบพรรคก้าวไกล"ที่ศาลรธน.นัดลงมติและอ่านคำวินิจฉัยคดีในวันพุธที่ 7 ส.ค.นี้ และคดีอดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ชุดที่ผ่านมา ร่วมกันยื่นคำร้องให้ศาลรธน.วินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งฯ กรณีเสนอชื่อนายพิชิต ชื่นบาน ขึ้นทูลเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี
แต่ในความสำคัญของศาลรธน.กลับพบว่า สื่อมวลชนด้วยกันเองทั้งสื่อสายการเมือง-สื่อสายอื่นๆ จำนวนมาก ยังอาจไม่เข้าใจ-มองไม่เห็นภาพการทำงานของนักข่าวที่เกาะติดทำข่าวศาลรธน.ว่ามีการทำงานอย่างไร โดยเฉพาะเวลามีการนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีสำคัญทางการเมือง
ดังนั้น ทีมข่าวจุลสาราชดำเนิน สมาคมนักข่าวฯ จึงพาไปพูดคุยกับนักข่าวที่รับผิดชอบการทำข่าวศาลรธน.เพื่อให้เห็นภาพการทำงาน
เริ่มที่"ชัชดนัย ตันศิริ ผู้สื่อข่าวสายการเมือง รับผิดชอบการทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ของสำนักข่าวไทยโพสต์"ซึ่งช่วงแรกของการพูดคุยได้เล่าให้ฟังถึงการเริ่มต้นทำข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญว่า หลังเข้ามาทำข่าวการเมืองได้สักระยะ ทางออฟฟิศก็มอบหมายให้รับผิดชอบข่าวองค์กรอิสระ ที่ส่วนใหญ่จะมีสำนักงานอยู่ในพื้นที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงองค์กรอื่น ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ๆกับศูนย์ราชการฯ เช่น ศาลปกครอง-กระทรวงยุติธรรม
...ด้วยขอบเขตงานดังกล่าว จึงทำให้รับผิดชอบการทำข่าว"ศาลรัฐธรรมนูญ"ที่ก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์ราชการฯ ด้วย ซึ่งตัวผมเอง เริ่มเข้าไปดูข่าวศาลรัฐธรรมนูญช่วงปี 2560 ที่อยู่ในช่วงยุครัฐบาลคสช.ที่ช่วงนั้นเป็นช่วงรัฐบาลรัฐประหาร ดังนั้น พวกคำร้องคดีต่างๆ ที่จะไปยื่นหรือส่งไปศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยจึงแทบไม่มี
จนกระทั่งเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จ และเข้าสู่ช่วงโหมดเลือกตั้งปี 2562 ก็เริ่มมีคำร้องยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยคดีที่พีกสุด-แรงสุดก็คือ "คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ"(กรณีเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี)และหลังจากนั้น ก็รับผิดชอบการทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
ตัดสินคดีสำคัญ
นักข่าว-สื่อ ทำงานอย่างไร?
“ทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ”เชื่อว่า หลายคนเวลาติดตาม-ดูข่าวศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะตอนตัดสินวินิจฉัยคดีสำคัญๆ ย่อมต้องสงสัยและอยากรู้ว่า ลักษณะการทำข่าวของนักข่าวที่ไปทำข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอย่างไร ?-ศาลรัฐธรรมนูญมีห้องสื่อมวลชนให้นักข่าวนั่งทำข่าวหรือไม่ -นักข่าวที่รับผิดชอบการทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นขาประจำมีมากน้อยแค่ไหน
ข้อสงสัยข้างต้น"ชัชดนัย"เล่าให้ฟังเพื่อให้เห็นภาพการทำงานของนักข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการ ฯ อาคารเอ ซึ่งในพื้นที่ใกล้เคียง ก็มีศาลอื่นๆของศาลยุติธรรมตั้งอยู่ด้วยเช่น ศาลภาษีอากรกลางฯ โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีห้องสื่อมวลชนไว้ให้นักข่าวไปนั่งทำข่าว-พิมพ์ข่าว ที่จะอยู่บริเวณชั้นสอง แต่จะไม่ได้เปิดตลอด จะเปิดเฉพาะวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีหรือวันที่ศาลเปิดห้องไต่สวนคดีต่างๆ รวมถึงวันที่มีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประจำสัปดาห์ ที่จะประชุมกันทุกวันพุธ
..วันที่มีการพิจารณาคำร้องคดีสำคัญๆ ที่สื่อมวลชนไปเฝ้าติดตาม เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ระยะหลัง สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ใช้วิธีออกเอกสารข่าว Press Release สรุปผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ละสัปดาห์ออกมาว่าที่ประชุมมีการพิจารณาคำร้องคดีใดบ้าง - ผลการพิจารณาเป็นอย่างไร จะไม่มีการมานั่งแถลงข่าวจากทีมโฆษกหรือเจ้าหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เช่น ในเอกสารข่าว ก็จะบอกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการพิจารณาคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกลในสัปดาห์นี้แล้ว ผลเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งเอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญแต่ละสัปดาห์ เข้าไปใน"ไลน์กลุ่มสื่อมวลชนประจำศาลรัฐธรรมนูญ"
..สำหรับการนั่งอ่านผลคำวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะคดีสำคัญๆ ที่ศาลออกนั่งบัลลังก์ ก็จะมีการถ่ายทอดสด-ไลฟ์สด ผ่านยูทูบที่เป็นช่องของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ที่จะถ่ายทอดตั้งแต่เริ่มอ่านคำวินิจฉัยจนเสร็จสิ้นกระบวนการ
“ชัชดนัย”เล่าประสบการณ์การทำข่าวที่ศาลรธน.ต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยให้สื่อมวลชน เข้าไปนั่งทำข่าวในห้องพิจารณาคดี ตอนที่มีการอ่านคำวินิจฉัย แต่เนื่องจากช่วงหลัง คงเพราะมีสื่อมวลชนมาทำข่าวกันมากขึ้นโดยเฉพาะคดีสำคัญๆ ก็เลยทำให้อาจเกิดความวุ่นวาย ความไม่เป็นส่วนตัว รวมถึงการดูแลความปลอดภัยต่างๆ ทางศาลก็เลยไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปในห้องพิจารณาคดี แต่ใช้วิธี มีการถ่ายทอดทางทีวีที่ถ่ายออกมาจากห้องพิจารณาคดี โดยทีวี จะตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณภายนอกห้องพิจารณาคดี ซึ่งสื่อมวลชน สามารถติดตามการอ่านคำวินิจฉัยคดีได้จากช่องทางดังกล่าวรวมถึงการติดตามผ่านช่องยูทูบของศาลรัฐธรรมนูญ
...อย่างตัวผมเอง ก็ใช้วิธีเปิดจากช่องยูทูบของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแกะเนื้อหาและประเด็นในคำวินิจฉัยตามไปด้วย ที่สะดวกกว่าการฟังการถ่ายทอดจากโทรทัศน์ของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะสามารถฟังย้อนหลังได้-หยุดได้ หากพิมพ์ไม่ทัน
ศาลรธน.มีนักข่าวประจำหรือไม่?
ส่วนที่หลายคนอาจสงสัยว่า นักข่าวที่ไปทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญ มีมากน้อยแค่ไหน ทั้งขาประจำและขาจร โดยเฉพาะเวลามีการนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีสำคัญๆ "ชัชดนัย"ให้ข้อมูลว่า นักข่าวที่ทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญ หากเป็นขาประจำ ก็คือนักข่าวที่ทำข่าวองค์กรอิสระที่ส่วนใหญ่ก็จะนั่งกันที่สำนักงานกกต.ศูนย์ราชการฯ ที่ส่วนใหญ่จะรับผิดชอบข่าวศาลรัฐธรรมนูญไปด้วย ซึ่งนักข่าวขาประจำศาลรัฐธรรมนูญรวมหมดมีประมาณ 20 คน ส่วนนักข่าวจะมาทำข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมากหรือน้อยในแต่ละครั้ง จุดสำคัญก็คือ ความสำคัญของ"คำร้องหรือคดี"ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
..อย่างหากเป็นคดีที่หลายคนสนใจทางการเมือง ก็จะมีนักข่าวการเมืองจากส่วนอื่น เช่นจากรัฐสภา หรือทำเนียบรัฐบาล ที่เขาตามมาทำข่าวด้วยที่ศาลด้วย เช่นมาช่วยทำข่าวสัมภาษณ์ผู้ร้อง -ผู้ถูกร้อง ก่อนและหลังออกจากศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงจะมีช่างภาพอีกหลายสำนักก็มารอถ่ายภาพ ก็ทำให้มีสื่อมาทำข่าว-ถ่ายภาพที่ศาลรัฐธรรมนูญร่วมร้อยคน โดยบางคดีสำคัญที่จะมีการตัดสินในเร็วๆนี้เช่นคำร้องของกกต.ในคดียุบพรรคก้าวไกล ก็คาดว่าจะมีสื่อมาร่วมทำข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญเกินร้อยคนแน่นอน
สำหรับลักษณะการทำข่าวเวลามีคดีสำคัญๆ ส่วนใหญ่หลายสำนัก ที่มีการส่งคนมาทำข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญมากกว่าหนึ่งคนเวลามีคดีสำคัญๆ ก็จะแบ่งงานเป็นสองส่วน คือ
1. การสัมภาษณ์แหล่งข่าวทั้งก่อนและหลังการอ่านคำวินิจฉัยคดี
2.การแกะเนื้อหาในคำวินิจฉัยคดีโดยเฉพาะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีการเปิดห้องพิจารณาคดีเพื่ออ่านคำวินิจฉัยกลางในคดีสำคัญๆ เป็นต้น ซึ่งการทำงานในส่วนนี้ นักข่าวจะมีการคุย-แบ่งงานกับเพื่อนนักข่าวจากสำนักอื่น ที่เป็นทีมเดียวกันว่าใครรับผิดชอบพิมพ์ในส่วนไหน
ยกตัวอย่าง หากเคยเห็นจากที่มีการถ่ายทอดการอ่านคำวินิจฉัย ก็จะเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประมาณ 4-5 คนสลับกันอ่านคำวินิจฉัยกลาง โดยการทำงานของสื่อก็คือ นักข่าวก็จะตกลงกันในทีมว่า คนไหนพิมพ์เวลาตุลาการคนใดอ่านคำแถลง แล้วพอตุลาการคนอื่นสลับอ่านคำแถลงคำวินิจฉัย ก็เป็นหน้าที่ของนักข่าวในทีมคนอื่นคอยรับผิดชอบในการพิมพ์ เป็นต้น ก็จะแบ่งทีมช่วยกันพิมพ์แบบนี้ เสร็จแล้ว ก็นำไฟล์ที่ตัวเองพิมพ์มารวมไว้เป็นอันเดียว คือเนื้อหาคำวินิจฉัยกลางที่แกะออกมา ซึ่งการแบ่งงานแบบนี้ ก็ทำให้ได้ทั้งความเร็วและความละเอียด งานจะได้เสร็จเร็ว
..โดยคดีสำคัญๆ แม้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการทำเอกสารข่าวออกมา แต่ก็มีเนื้อหาเพียงสั้นๆ ว่า ผลการลงมติของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคำร้องคดีดังกล่าวเป็นอย่างไร รวมถึงการสรุปแบบย่อๆ ถึงผลคำวินิจฉัย แต่เนื้อหารายละเอียดที่สำคัญ เช่น เหตุผลว่าทำไมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากตัดสินคดีออกมาแบบนี้ นักข่าวที่รับผิดชอบการแกะเนื้อหาในคำวินิจฉัย ก็ต้องฟังโดยละเอียดแล้วพิมพ์หรือสรุปออกมา ซึ่งเวลาแกะเนื้อหาคำวินิจฉัยที่มีการอ่านกันในห้องพิจารณาคดี เราไม่สามารถตัดทอนหรือตัดเฉพาะบางช่วงมานำเสนอได้เลย เราต้องนำเนื้อหาเกือบทั้งหมดมาพิมพ์และนำเสนอ เพื่อให้รู้เหตุผลในการวินิจฉัยคดี เพราะในคำวินิจฉัยกลางที่มีการอ่านกัน ก็จะบอกที่มาที่ไปความเชื่อมโยงต่างๆ ซึ่งเท่าที่เจอ บางคนอาจจะดูแค่มติที่ออกมาว่าตัดสินอย่างไร เพราะเห็นว่าคำวินิจฉัยกลางยาว ไม่อยากอ่าน โดยไม่ได้ดูรายละเอียดผลคำวินิจฉัยว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีเหตุผลในการวินิจฉัยคดีออกมาแบบนั้นเพราะอะไร แล้วไปตีความว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ตามที่ตัวเองคิด ซึ่งบางที ก็ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป
เรื่องเล่าจากภาคสนาม-ตึกศาลรธน.
เมื่อถามในสิ่งที่นักข่าวสายอื่นหรือประชาชนอาจสงสัยว่า นักข่าวที่ไปทำข่าวที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สามารถเดินหาข่าวตามซอกตึกต่างๆ ไปดักรอสัมภาษณ์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ลานจอดรถหรือดักรอหน้าลิฟต์ในตึกศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ข้อสงสัยดังกล่าว"ชัชดนัย"ให้ข้อมูลว่าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีการออกบัตรนักข่าวประจำศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกับสถานที่อื่นๆ โดยนักข่าวที่ไปทำข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องแลกบัตรกับเจ้าหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากใครไม่อยากเข้าพื้นที่บริเวณศาล ก็อยู่ข้างนอกคอยดูทีวีถ่ายทอดที่ศาลจัดให้ไว้ก็ได้ ก็ไม่ต้องแลกบัตร และสื่อที่แลกบัตรแล้ว จะอยู่ในพื้นที่บริเวณห้องนักข่าวศาลรัฐธรรมนูญที่ก็มีอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ เช่นคอมพิวเตอร์ไว้ให้พิมพ์ข่าว -น้ำดื่ม -WIFI เหมือนหน่วยงานอื่นๆให้กับสื่อมวลชน โดยสื่อจะไม่สามารถเดินไปเดินมาพื้นที่ในส่วนอื่น เช่นจะไปเข้าห้องน้ำในตึกศาลรัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้ หรืออยู่ ๆ จะกดลิฟต์ขึ้นไปข้างบนตึกศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ หรือจะไปดักรอแหล่งข่าว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามจุดต่างๆ ในตึกศาลรัฐธรรมนูญ ก็ทำไม่ได้ ส่วนการจะพูดคุยกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เห็นปัจจุบัน ก็ทำได้ค่อนข้างยาก เว้นแต่บางกรณีเช่น มีสื่อระดับผู้ใหญ่บางสำนักที่ไปอบรมหลักสูตรของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (หลักสูตร “หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย”) ทำให้อาจได้คอนเนกชันกับคนในศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจได้แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญบางคนที่คุยได้ แต่น้อยคนมากที่จะมีแบบนี้ อย่างนักข่าวภาคสนามที่ทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญมานาน บางคนยังไม่สามารถเข้าหาคุยกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้
..สำหรับไลน์กลุ่มสื่อศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้มีประมาณร้อยกว่าคน ซึ่งการสื่อสารหลักๆ ก็คือ เจ้าหน้าที่ของศาลก็จะส่ง Press Release ผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละสัปดาห์ เข้าไปในไลน์กลุ่ม ที่จะมีทุกวันพุธของแต่ละสัปดาห์ ว่าคำร้องแต่ละคดีที่ประชุมมีการพิจารณาไปอย่างไรแล้วบ้าง รวมถึงการแจ้งหมายงานสำคัญของศาลเช่น การจัดงานครบรอบการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนหากอยากได้รูปต่างๆ สื่่อต้องเข้าไปที่เว็บไซด์ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งลักษณะการติดต่อสื่อสารในไลน์กลุ่มสื่อศาลรัฐธรรมนูญ จะค่อนข้างมีความเป็นทางการ จะไม่มีการคุยอะไรกันระหว่างสื่อกับเจ้าหน้าที่ของศาล
การหาข่าว-การเข้าถึง
"แหล่งข่าวตุลาการศาลรธน."
"ชัชดนัย"ให้ทัศนะความคิดเห็นส่วนตัวว่า หากมององค์กรศาลรัฐธรรมนูญในแง่ของการทำข่าว หากเทียบกับการทำข่าวองค์กรอื่นๆ คิดว่าก็เป็นองค์กรที่มีลักษณะปิด แต่ก็เข้าใจดีว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรศาล การที่จะให้แหล่งข่าวมาคลุกคลีกับนักข่าวเหมือนกับองค์กรอื่นๆ จึงเป็นไปได้ยาก เพราะด้วยความที่แหล่งข่าวโดยเฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นแหล่งข่าวตุลาการ ซึ่งองค์กรศาลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง จะมีลักษณะเหมือนกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
...สำหรับแหล่งข่าวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน การที่จะโทรศัพท์ถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ค่อนข้างทำได้ยาก โดยเฉพาะหากจะไปสอบถามเรื่องคดีต่างๆ เช่นคดีทางการเมืองที่สำคัญๆ อย่างไรก็ตาม ช่วงหลัง การเข้าถึง-การสื่อสาร ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ กับสื่อ ก็รู้สึกว่าดีขึ้นจากเมื่อก่อนพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบัน ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มี ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจเพราะประธานศาลรัฐธรรมนูญ เคยเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์มาก่อน ก็เลยทำให้สื่อเข้าถึงได้มากกว่ายุคก่อนหน้านี้ เช่น เวลาศาลรัฐธรรมนูญ มีงานต่างๆ แล้วตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญูมาด้วย พองานเสร็จ ก็เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามได้ถึงความคืบหน้าในคดีต่างๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น คดียุบพรรคก้าวไกล หรือประเด็นเชิงการเมือง ตัวดร.นครินทร์ ก็ให้สัมภาษณ์พูดคุยกับสื่อ เพียงแต่การให้สัมภาษณ์ก็ไม่ได้พูดประเด็นอะไรที่แรงเหมือนพวกนักการเมือง แต่ก็ถามในเรื่องความคืบหน้าคดีได้เช่น ศาลจะมีการเปิดห้องไต่สวนเพื่อเรียกพยานของผู้ร้อง-ผู้ถูกร้องมาให้ถ้อยคำเมื่อใด ตัวดร.นครินทร์ ก็ให้สัมภาษณ์ ซึ่งการให้สัมภาษณ์ ก็จะเป็นในช่วงที่ศาลมีงานต่างๆ แต่หากเป็นช่วงปกติ สื่อก็จะไม่สามารถเจอตัวหรือเข้าถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ทำให้ เวลาสื่อเจอประธานศาลรัฐธรรมนูญ สื่อก็จะถามหลายคำถามมาก เรียกว่าถามกันเต็มที่ ซึ่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็ตอบคำถามสื่อเต็มที่เหมือนกัน
"ชัยดนัย-นักข่าวประจำศาลรัฐธรรมนูญ"มีข้อคิดเห็นว่า หากเป็นไปได้ ก็อยากให้ผู้บริหารศาลรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีการติดต่อสื่อสารกับสื่อมวลชนมากขึ้น เพราะบางคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสร็จสิ้น สื่ออาจไม่เข้าใจที่มาที่ไป โดยบางคดี เป็นเรื่องสำคัญสำหรับบุคคลบางกลุ่มในสังคม ก็จะเป็นเรื่องที่ดี หากศาลรัฐธรรมนูญ จะส่งเจ้าหน้าที่หรือทีมงานโฆษกของศาลรัฐธรรมนูญมาอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมที่มากกว่าที่ปรากฏในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น การขยายความว่าเหตุใด บางคำร้อง ศาลรัฐธรรมนูญถึงมีมติไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย เป็นต้น เพื่อให้การเสนอข่าวการพิจารณาคำร้องแต่ละเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญมีรายละเอียดที่ครบถ้วนมากขึ้น
...เพราะบางคดี คำร้องที่ยื่นมายังศาลรัฐธรรมนูญ หากไม่ใช่คดีการเมือง คนก็อาจไม่เข้าใจที่มาที่ไปของคำร้องดังกล่าว และยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นใด เป็นต้น โดยหากศาลรัฐธรรมนูญ มีการเปิดพื้นที่ในการติดต่อสื่อสารกับสื่อมากขึ้น ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อการเสนอข่าวของศาลรัฐธรรมนูญตามไปด้วย
และแน่นอนว่า คำร้องคดีใหญ่ๆ โดยเฉพาะคดีการเมือง ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ประชาชนให้ความสนใจ ก็จะทำให้ ทุกสื่อ-หลายสำนักข่าว ต่างก็ต้องการความรวดเร็วในการนำเสนอ ทำให้ การทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีการแข่งขันในพื้นที่เหมือนสนามข่าวอื่นๆ เราลองถามประเด็นนี้ กับ"ชัยดนัย"โดยเราได้หยิบยกกรณี "คดีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี"ที่ถูกกลุ่มอดีตสว.ชุดที่แล้ว ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ซึ่งปรากฏว่า วันที่่ศาลมีมติรับคำร้องไว้วินิจฉัย แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พบว่าวันดังกล่าว ก็มีบางสำนักพาดหัวข่าวผิดไปเหมือนกัน เพราะไปพาดหัวว่า สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
หลังฟังคำถามจบ ”ชัยดนัย”บอกว่า วันดังกล่าว ในเอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ อาจสร้างความสับสน โดยมีการไปเขียนให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งต้องเขียนไว้ด้านหน้า แต่วันดังกล่าวไปเขียนไว้หลังประโยค สื่อก็เลยอาจงงว่าศาลสั่งให้นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ แต่จริงๆ ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สื่อบางที่เขาอาจรีบยิงพาดหัวข่าวไปก่อน แต่จริงๆ เป็นแพทเทิร์นการเขียนข่าวของเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้วที่เขียนแบบนั้น ซึ่งตรงนี้สื่อเองก็คงใช้เวลาในการอ่านให้ละเอียด เพื่อแปลความให้ถูกต้องก่อนนำเสนอ ไม่ควรไปเน้นเรื่องความเร็วในการนำเสนอว่าสื่อไหนอัพข่าวหรือนำเสนอข่าวก่อนเพื่อหวังเรื่องยอดวิว
ทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญ
ไม่ยาก ทว่าก็ไม่ง่าย
ต้องทำการบ้าน-ศึกษาข้อมูล
เราต้องรู้ก่อนที่จะไปฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละคดี ต้องทำการบ้านพอสมควร อย่างคดีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เวลาจะมีการพิจารณาคำร้องคดีนี้ในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เราต้องไปดูว่า ก่อนหน้านี้ศาลสั่งอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อที่ว่าเวลาทำข่าวในการประชุมครั้งล่าสุด เราจะได้รู้ว่าต้องติดตามความคืบหน้าในส่วนไหน ไปรอดูคำสั่งศาลที่จะออกมา ..การทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ยากแต่ก็ไม่ถึงกับง่าย นักข่าวต้องทำการบ้าน ติดตามความคืบหน้าคดีตลอด
ถัดมาที่ อีกหนึ่งนักข่าวภาคสนามที่รับผิดชอบการทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ "ญาณี ไหว้ครู ผู้สื่อข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ Thai PBS"ที่เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงการทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญว่า ตั้งแต่เริ่มต้นทำข่าวการเมืองที่ไทยพีบีเอส ก็เป็นนักข่าวสายรัฐสภารวมถึงรับผิดชอบข่าวองค์กรอิสระเช่น สำนักงานคณะกรรมการป.ป.ช.-กกต.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถึงตอนนี้ก็รับผิดชอบทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญมาหลายปีแล้ว
...การทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนหนึ่งก็จะเป็นข่าวที่มีความต่อเนื่องจากหน่วยงานอื่นจนมาถึงที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะจากองค์กรอิสระ เช่นคำร้องของกกต.ที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือคำร้องที่ส่งมาจากสภาฯ ที่ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นคำร้องในประเด็นทางการเมือง อย่างเช่นสมัยปี 2554 ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีคำร้องสำคัญๆที่ส่งไปให้ศาลวินิจฉัยเช่น คำร้องคดีร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทหรือคำร้องกรณีส.ส.เพื่อไทยยุคดังกล่าวมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ภาพรวม ข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นข่าวเรื่องของคำร้องที่แต่ละหน่วยงานส่งคำร้องมาให้ศาลวินิจฉัยว่าประเด็นที่ส่งมา เช่นเรื่องข้อกฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศหรือไม่
..ด้วยการที่เรารับผิดชอบการทำข่าวองค์กรอิสระอย่างกกต.ด้วย เวลากกต.ส่งคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เราก็จะตามผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องหรืออย่างกรณีมีบุคคลไปยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาในประเด็นต่างๆ เพื่อขอให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเช่น ส่งคำร้องให้ศาลตีความว่ากฎหมายบางฉบับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เราก็ตามความคืบหน้าเมื่อคำร้องไปถึงศาลต่อไป
..โดยปกติก็จะมีนักข่าวที่รับผิดชอบการทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นนักข่าวประจำศาลรัฐธรรมนูญ แต่นักข่าว ก็ไม่ได้ไปนั่งอยู่ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทุกวัน แต่นักข่าวก็จะรู้ว่า จะมีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประจำสัปดาห์ทุกวันพุธ และหลังการประชุมเสร็จ จะมีเอกสาร Press Release ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญส่งให้สื่อมวลชน ซึ่งรูปแบบปัจจุบัน จะแตกต่างจากเมื่อหลายปีก่อน ที่มีอยู่ช่วงหนึ่งจะมีผู้บริหารศาลรัฐธรรมนูญเช่นนายเชาวนะ ไตรมาศ อดีตเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ หรือนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ มาแถลงข่าวผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้สื่อฟัง แต่ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่เริ่มมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่ ก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อสื่อสารกับสังคม ก็คือมีการออกเป็นPress Release แทน ไม่มีการแถลงข่าวแบบอดีต
“ญาณี-ผู้สื่อข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ Thai PBS”เล่าให้ฟังอีกว่า การทำข่าวของนักข่าว หากในวันพุธใด มีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีการพิจารณาคำร้องคดีสำคัญที่สังคมติดตามอยู่ เราจะไปเกาะติด-ไปติดตามว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องคดีดังกล่าวออกมาอย่างไร มีคำสั่งออกมาอย่างไรหรือไม่ หรือหากวันใด ศาลรัฐธรรมนูญมีการเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคำร้อง มีการเรียกผู้ร้อง-ผู้ถูกร้องและพยานบุคคลในคดีดังกล่าวมาให้ถ้อยคำ เราก็จะไปติดตามรอทำข่าว รวมถึงไปรอสัมภาษณ์ยกตัวอย่างเช่นคดีกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ แต่ช่วงหลัง ที่แม้ศาลจะไม่ค่อยเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคำร้อง แต่เราก็จะไปเฝ้าติดตามที่ตึกศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรอPress Release ที่จะออกมาเพื่อดูว่าศาลจะมีคำสั่งอะไรทางคดีออกมาหรือไม่ หรือแจ้งการพิจารณาคำร้องคดีที่สังคมสนใจครั้งต่อไปในวันใด
สำหรับจำนวนนักข่าวที่มาทำข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่า เวลาศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีสำคัญทางการเมืองที่เป็นประเด็นระดับชาติ ที่มีอิมแพคเยอะ มีมวลชนสนใจติดตามผลคดีจำนวนมาก จะพบเลยว่ามีสื่อมวลชนมาติดตามทำข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญจำนวนมาก เช่น ตอนตัดสินคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ช่วงการเลือกตั้งปี 2562 -คดียุบพรรคอนาคตใหม่-คดีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นคำร้องคดีอยู่บ้านพักหลวง เป็นต้น
เมื่อถามถึงว่า การหาข่าว-ทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการสัมภาษณ์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยุคปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง สามารถสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ได้โดยตรงแบบในอดีตหรือไม่ เพราะพบว่าสมัยก่อน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์บ้าง แต่ยุคนี้ดูเหมือนไม่ค่อยเห็น "ญาณี"ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงนี้ให้ฟัง โดยบอกว่านักข่าวที่ทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักหรือใกล้ชิดกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน อีกทั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็รักษาระยะห่างเรื่องของความเหมาะสมในการให้ข่าวด้วย
..อย่างเมื่อเร็วๆนี้ ทางประธานศาลรัฐธรรมนูญ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ก็ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การให้ข้อมูลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกับสื่อนั้น ตุลาการไม่สามารถให้รายละเอียดทั้งหมดได้ เพราะศาลต้องพิจารณาคำร้องในมิติต่างๆ เช่นความมั่นคง อาจารย์นครินทร์ก็บอกว่า ก็จะให้เท่าที่จะให้ได้ แต่หากจะให้เช็คข่าวกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่เราก็จะไม่ค่อยได้รู้จัก เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็จะมาจากสายศาลปกครอง ศาลฎีกาด้วย เราก็จะไม่ค่อยได้รู้จัก แต่อย่างล่าสุด ที่ดร.อุดม(อุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เข้าไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยความที่ท่านเคยเป็นอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 มาก่อน สื่อก็รู้จักอาจารย์อุดมมาก่อน ก็ทำให้มีคอนแทคได้ แต่ก็ไม่ใช่การจะมาให้ข่าวได้ โดยเฉพาะวันที่มีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่สามารถติดต่ออาจารย์ได้เลย แต่หลังจากนั้น หากเราสงสัยในบางประเด็นหรือเป็นข้อมูลทั่วไปที่ให้ได้ท่านก็ให้ข้อมูลอยู่ อธิบายในข้อกฎหมาย หากตรงจุดไหนยังไม่เคลียร์ ขณะที่ในยุคก่อนหน้านี้ เช่นยุคที่อาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล ยังเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ให้สัมภาษณ์อยู่ แต่ก็จะมีเทคนิคในการอธิบาย-ทำความเข้าใจกับสื่อ พูดในภาพกว้างโดยไม่แตะเข้าไปในเนื้อหาของคดี เป็นลักษณะเชิงให้ความรู้เช่น ขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดี แต่ก็จะพูดหลังการวินิจฉัยคดีเสร็จสิ้นแล้ว
สิ่งที่เปลี่ยนไปใน
Press Release ศาลรธน.
อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจในการทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือ ระยะหลังเอกสาร Press Release ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีการลงรายละเอียดการลงมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าตุลาการแต่ละคนลงมติอย่างไร โดยเริ่มเห็นตั้งแต่ตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติรับคำร้องคดีนายกฯเศรษฐา ด้วยมติ 6 ต่อ 3 แต่มีมติ ไม่ให้นายกฯหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ด้วยมติ 5 ต่อ 4 ที่มีการให้รายละเอียดไว้หมด ซึ่งก่อนหน้านี้ จะไม่มีการให้รายละเอียดขนาดนี้
เรานำเรื่องนี้ไปถาม"ญาณี"ซึ่งเธอให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเคยจัดงานศาลรัฐธรรมนูญ พบ-พูดคุยกับสื่อมวลชน ที่น่าจะจัดไปประมาณสองครั้ง ในลักษณะเสวนาทำความเข้าใจในเรื่องของการทำงานระหว่างกันและกัน ซึ่งสื่อ ก็มีประเด็นเรื่องเกี่ยวกับ Press Release ก็มีการให้ข้อแนะนำกับศาล ทางศาลก็รับฟังและนำไปปรับ จากเดิมที่ในเอกสารPress Release จะบอกแค่ว่า ผลการลงมติในคำร้องต่างๆ ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติด้วยคะแนนเสียงอย่างไร แต่จะไม่มีรายละเอียดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดอยู่ฝั่งเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย ทำให้สื่อต้องไปสืบ ไปซีฟกันเอาเอง
...และศาลคงเห็นว่าการลงมติดังกล่าว ก็ไม่ได้เป็นข้อมูลที่เป็นความลับอะไร เพราะท้ายที่สุดแล้ว มติต่างๆ ก็จะถูกนำไปเผยแพร่-ประกาศลงในราชกิจจนุเบกษาอยู่แล้ว ศาลก็เลยรับฟังข้อเสนอของสื่อไปพิจารณาเพื่อที่เวลาออกPress Release แต่ละครั้ง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจของประชาชนที่เหมือนกัน ไม่ให้แตกต่างกัน จนเกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด ศาลก็เลยระบุมาใน Press Release เลยว่า ผลการลงมติแต่ละครั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีใครบ้าง
และต่อมา ศาลก็ได้พบกับสื่ออีกครั้งหนึ่ง สื่อก็ได้แนะนำไปว่า ในPress Release ควรบอกให้หมดเลยว่า มติของศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยประกอบไปด้วยใครบ้าง และสื่อยังแนะนำว่า ในการเขียนPress Release แต่ละคดี ไม่ต้องไปเท้าความ ให้เน้นไปเลยว่า มติของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร อย่างกรณีการลงมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการลงมติว่าจะให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เอกสารของศาลรัฐธรรมนูญ ไปเกริ่นเรื่องของประเด็นที่ผู้ร้องส่งมาให้วินิจฉัยไปก่อนว่า ควรต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งสื่อหรือคนทั่วไปอ่าน หากอ่านคร่าวๆ ด้วยความเร่งด่วน เพราะต้องการรายงานข่าว ก็จะเกิดความเข้าใจผิดได้ เพราะผลการพิจารณาของศาล จะไปไว้ในบรรทัดสุดท้ายของPress Release ว่าผลการพิจารณาเป็นอย่างไร โดยจะเกริ่นในประเด็นที่จะพิจารณาก่อน เสร็จแล้วก็บอกว่า ที่ประชุมได้มีการอภิปรายและผลออกมาแบบนี้ ซึ่งผลจะไปอยู่ช่วงท้ายของเอกสารPress Release ทางสื่อ ก็ได้ให้ข้อแนะนำเพื่อสะท้อนไปยังศาลว่า หากมีผลการลงมติออกมา ก็บอกไปเลยว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีมติแบบนี้ ไม่ต้องไปเกริ่น
เมื่อถามถึงการแข่งขันในสนามข่าวศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแข่งขันในเรื่องความรวดเร็วในการนำเสนอ เวลามีการพิจารณาคดีสำคัญที่หลายคนสนใจ ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร "ญาณี-ที่รับผิดชอบการทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญมาหลายปี"บอกเล่าประสบการณ์จริงในการทำข่าวภาคสนามเพื่อตอบคำถามข้างต้นว่า นักข่าวทุกคนก็ได้ข้อมูลมาพร้อมกัน ทั้งจากในไลน์กลุ่มสื่อศาลรัฐธรรมนูญ และเอกสารข่าวที่ศาลนำมาแจกให้สื่อมวลชน ก็จะได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน ห่างกันไม่เกิน 1-2 นาที คือในไลน์กลุ่มสื่อศาลรัฐธรรมนูญ กับนักข่าวที่ไม่ได้อยู่ในไลน์กลุ่มแต่ไปทำข่าวที่ศาลแล้วได้เอกสารที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาแจกให้ ก็จะได้พร้อมๆกัน เพียงแต่เวลาอ่าน โดยเฉพาะในช่วงเร่งรีบ แล้วสื่อบางสังกัด กำลังจะเข้าช่วงชั่วโมงข่าว พอส่ง เอกสารPress Release ไปแต่ตัวเองอาจยังไม่ได้อ่านทั้งหมด ก็อ่านแบบสายตาไล่ไปตามแต่ละบรรทัด พอไปเจอบรรทัดแรกที่เป็นการเกริ่นที่มาของคำร้อง ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ซึ่งตรงนี้เวลาที่สื่อได้รับ Press Release ต้องอ่าน-ทำความเข้าใจก่อน
..ส่วนเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีการเปิดห้องพิจารณาคดีเพื่ออ่านคำวินิจฉัยกลางในคดีต่างๆ ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการแบ่งกันหน้าที่กันอ่านคำวินิจฉัยกลางดังกล่าวคนละส่วน โดยช่วงแรก ๆ ก็จะเป็นที่มาที่ไปของคำร้อง แต่สาระสำคัญ จะไปอยู่ในช่วงท้ายๆ ที่เป็นผลคำวินิจฉัย ที่ศาลจะสรุปว่า ท้ายที่สุด จากที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามา ผลการวินิจฉัยคดีเป็นอย่างไร เราก็จะมาจับประเด็นในส่วนนี้ ซึ่งก็ไม่ยากอะไร
"ญาณี"ย้ำว่า การทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญ นักข่าวต้องทำการบ้านหาข้อมูล เพราะแต่ละคำร้อง ประเด็น-ข้อกฎหมาย จะไม่เหมือนกันทุกเรื่อง อย่างคำร้องที่กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล เราต้องดูว่ากกต.ยื่นผ่านช่องทางใดตาม พรบ.พรรคการเมืองฯ ก็ต้องไปศึกษาดูมาตราที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบทลงโทษตามกฎหมายว่ามีอะไรบ้าง ตลอดจนไปย้อนดูพฤติการณ์ย้อนหลังตามคำร้องก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร ไปหาข้อมูลความเชื่อมโยงว่าก่อนหน้านี้มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง
“เราต้องรู้ก่อนที่จะไปฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละคดี ต้องทำการบ้านพอสมควร หรืออย่างคดีนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เวลาจะมีการพิจารณาคำร้องคดีนี้ในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องไปดูว่า ก่อนหน้านี้ศาลสั่งอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อที่ว่าเวลาทำข่าวในการประชุมครั้งล่าสุด เราจะได้รู้ว่าต้องติดตามความคืบหน้าในส่วนไหน ไปรอดูคำสั่งศาลที่จะออกมา เช่นจะนัดประชุมเพื่อลงมติวินิจฉัยคดีเลยหรือไม่ หรือจะมีการเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคำร้องหรือไม่”
ในช่วงท้ายของการพูดคุย "ญาณี"ที่มีประสบการณ์การทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญมาหลายปี ย้ำว่า การทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ยากแต่ก็ไม่ถึงกับง่าย นักข่าวต้องทำการบ้าน ติดตามความคืบหน้าคดีตลอด ซึ่งเราก็ follow ข่าวตลอด แต่ตัวเราเอง ก็ไม่ได้รับผิดชอบข่าวศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ยังมีข่าวในส่วนอื่นที่ต้องทำอีก แต่ละวันก็จะมีประเด็นรูทีน ข่าวกระแสรายวัน ประเด็นการเมือง ที่ต้องติดตาม แต่ทุกวันพุธ เราก็ไม่ลืมว่า มีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกวันพุธ เราจะคอยติดตามว่าแต่ละสัปดาห์ที่ประชุมมีวาระการพิจารณาเรื่องอะไรบ้าง และผลประชุมจะมีคำสั่งอย่างไรออกมา จะมีการนัดอ่านคำวินิจฉัยคำร้องคดีใดบ้าง อย่างตอนนี้ก็ต้องติดตามคดีสำคัญๆเช่นคดีนายกฯเศรษฐา คดียุบพรรคก้าวไกลเพราะเป็นคดีใหญ่