รายงานพิเศษโดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน
...................................................
เพียงแค่ครึ่งแรกของปี สถานการณ์ในอุตสาหกรรมวงการสื่อทั้งวงการ สาหัสและหนักหนามาอย่างต่อเนื่อง จนหลายคนบอกว่า “ ปีที่แล้วเผาหลอก ปีนี้เผาจริง ” หลายองค์กรสื่อมีการ ‘เลิกจ้าง’ พนักงาน แม้บางแห่งจะให้เหตุผลว่าเป็นไปตามการ “ปรับโครงสร้างองค์กร” แต่ก็ทำให้คนสื่อหลายร้อยชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงมดงาน ในระดับผู้ปฏิบัติ ต้องกลายเป็นคนตกงานอย่างไม่มีทางเลือก ขณะที่อีกหลายร้อยชีวิต แม้จะโชคดีที่ยังมีงานทำ แต่ก็ถูกปรับลดสวัสดิการ บางแห่งหนักถึงขั้นขอปรับลดเงินเดือนพนักงาน อ้างว่าเพื่อความอยู่รอดขององค์กร
“ราชดำเนิน” พูดคุยกับนักกฎหมาย ถึงข้อกฎหมายที่ลูกจ้าง-พนักงานข่าว ต้องรู้ หากถูกลดสวัสดิการ ลดเงินเดือน หรือ เลิกจ้าง เพื่อไม่ให้ถูกนายจ้างโกง หรือเอาเปรียบ
ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง อดีตเลขาธิการสภาทนายความ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการพัฒนางานบริหารการยุติธรรมแห่งชาติ เล่าว่าสถานการณ์เลิกจ้าง-ลดสวัสดิการที่กำลังคุกคามอุตสาหกรรมสื่อในตอนนี้ แทบไม่ต่างจากหลายปีก่อน ครั้งนั้นสภาทนายความเคยจับมือร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดอบรมกฎหมายแรงงานให้กับสื่อมวลชน เพื่อให้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง หากต้องมีการฟ้องร้องคดีจะต้องทำอย่างไรและยังมีการสาธิตศาลจำลอง ให้เห็นและเข้าใจถึงสถานการณ์จริง ของกระบวนการพิจารณาคดี แต่ผ่านมาหลายปี วิกฤตของอุตสาหกรรมสื่อ ยังคงมีให้เห็น และดูเหมือนว่าสถานการณ์จะหนักหน่วงขึ้นด้วยซ้ำ ที่สำคัญ “ลูกจ้าง” ยังคงเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำและรับผลกระทบมากที่สุด
ลดสวัสดิการ ลดเงินเดือน ทำไม่ได้
ถ้าลูกจ้างไม่ยินยอม
ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ เล่าว่า หัวใจสำคัญของกฎหมายแรงงาน เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งสองฝ่าย แต่หากอยู่ร่วมกันเป็นอย่างดีไม่ได้ กระบวนการทางกฎหมาย จะเข้ามากำกับดูแลทั้งหมด
“ ในแง่กฎหมาย เวลาที่ลูกจ้างเข้าไปทำงานจะมีเกณฑ์ต่างๆ เป็นเรื่องปกติ ถือเป็นสภาพการจ้าง และกฎหมายจะคุ้มครองว่าสภาพการจ้างจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าลูกจ้างและนายจ้างไม่ได้ตกลงยินยอมด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นการที่ตัวนายจ้างจะไปลดสวัสดิการ ไม่ว่าจะลดเงินเดือน หรืออะไรต่างๆของตัวลูกจ้าง ถือว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไขตามข้อตกลงแห่งสภาพการจ้าง นายจ้างต้องเอามาจ่ายคืนลูกจ้างให้ครบ และอาจจะเป็นสิทธิของลูกจ้างที่จะเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมได้ กฎเกณฑ์ต่างๆเหล่านี้จะอยู่ในเกณฑ์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีสภาพมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ”
อดีตเลขาธิการสภาทนายความ บอกว่าการลดเงินเดือนของนักข่าว แม้นายจ้างจะทำเป็นประกาศแจ้งพนักงาน แต่ตามกฎหมายแล้ว ทำไม่ได้เลยถ้าลูกจ้างไม่สมัครใจ เพราะกฎหมายแรงงานจะคุ้มครองลูกจ้าง จะมาตกลงเปลี่ยนแปลงโดยพละการเองไม่ได้ กฎหมายยังให้ถือเป็นโมฆะ เพียงแต่ลูกจ้างจะใช้สิทธิเรียกร้องสิทธิของตนเองหรือไม่
“ มีหลายแห่งที่บริษัททำเป็นประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าสถานการณ์บริษัทไม่ดี จำเป็นต้องขอความร่วมมือลดเงินเดือนพนักงานลง บางทีก็ลดเงินเดือนของผู้บริหารด้วย เช่นลด 20 % พนักงานลูกจ้างระดับล่างลด 10% แล้วดำเนินการตามนั้นเลย หรือจะอ้างว่าถ้าเศรษฐกิจฟื้นจะจ่ายชดเชยคืนให้ปีหน้า ซึ่งบางครั้งลูกจ้างไม่โวยวาย เพราะกลัวบริษัทอยู่ไม่ได้ ซึ่งแปลว่าทุกคนไม่ประสงค์ใช้สิทธิเรียกร้องจากนายจ้าง แต่ตามกฎหมาย การทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง ซึ่งอายุความในการเรียกร้องสิทธิ มีระยะเวลาถึง 10 ปี แต่ก็อยู่ที่ลูกจ้างจะใช้สิทธิหรือไม่เท่านั้นเอง ”
คนสื่อต้องรู้และรักษาสิทธิของตนเอง
ไม่เซ็นรับทราบการถูกเลิกจ้าง ไม่ถือว่ามีความผิด
นอกจากการปรับลดเงินเดือน สวัสดิการต่างๆแล้ว การบอกเลิกจ้าง ก็เป็นอีกสถานการณ์ที่ลูกจ้างเจอ ซึ่งเมื่อถูกเลิกจ้าง ตามกฎหมายคือนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างภายในวันสุดท้ายที่ทำงาน หากลูกจ้างไม่ได้รับสามารถร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ เพราะถือว่าถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม
“ กฎหมายกำหนดหน้าที่ของนายจ้างไว้ว่าต้องแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน ถ้าไม่บอกก่อน ถึงเวลาจะต้องจ่ายค่าตกใจ 1 เดือนและเงินชดเชยตามอายุงานทันที ณ วันที่เลิกจ้าง แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดหน้าที่ของลูกจ้างไว้ ฉะนั้นลูกจ้างมีสิทธิจะเซ็นหรือไม่เซ็นก็ได้ เจตนารมณ์ของกฎหมายมีไว้เพื่อคุ้มครองแรงงานลูกจ้าง ตามชื่อของกฎหมายที่ใช้คำว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงาน การเซ็นหรือไม่เซ็นจึงไม่แตกต่างกัน และแม้จะถูกบังคับให้เซ็นในเอกสารรับทราบการถูกเลิกจ้าง กฎหมายก็ยังคุ้มครอง ไม่ถือเป็นการสละสิทธิตามกฎหมาย เพราะกฎหมายให้ถือว่าเป็นโมฆะ”
....เรื่องของการจ่ายเงินชดเชย แม้กฎหมายไม่ได้กำหนดไทม์ไลน์ไว้ แต่โดยหน้าที่แล้วนายจ้างจะต้องจ่ายทั้งหมดพร้อมเงินเดือนเดือนสุดท้ายทันที หากนายจ้างจะขอแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ขึ้นกับลูกจ้างตกลงด้วยหรือไม่ หากไม่ตกลง นายจ้างก็ต้องจ่ายทั้งหมดทันที บางที่จะใช้วิธีเอาเอกสารรับทราบให้ลูกจ้างเซ็น แต่ในทางกฎหมายถึงเซ็นไป ก็ไม่มีผล เพราะเป็นการรับทราบ ไม่ใช่การเซ็นตกลงยินยอม หรือบางบริษัทจะมาระบุว่า จ่ายเงินชดเชยเพียงเท่านี้ๆ แต่อย่างที่บอก การจะมาบังคับให้ลูกจ้างสละสิทธิ หรือเปลี่ยนแปลงสิทธิ แบบนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงานห้ามทำเลย ต่อให้ถูกบังคับเซ็น แต่สิ่งที่เซ็นไว้ก็จะถือเป็นโมฆะ นายจ้างยังต้องจ่ายเต็มตามที่กฎหมายกำหนด และหากจ่ายไม่ครบ ลูกจ้างสามารถไปฟ้องร้องได้ และสามารถฟ้องเรียกดอกเบี้ยได้ด้วย การที่จะไปฟ้องร้องในคดีแรงงานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องใช้ทนายความ ที่ศาลจะมีเจ้าหน้าที่ให้ เป็นกระบวนการที่รัฐคุ้มครองปกป้องให้กับแรงงาน ”
หลากเหลี่ยมนายจ้าง
อดีตเลขาธิการสภาทนายความ ยังกล่าวว่า ในการเลิกจ้าง นอกจากการจิ้มชื่อให้ออก นายจ้างยังมักจัดโครงการ “จำใจจาก” โดยให้ลงชื่อสมัครใจลาออก ซึ่งแบบนี้มักจะเสนอผลประโยชน์ให้มากกว่ากฎหมายแรงงาน บางบริษัทเสนอให้เงินชดเชยถึง 32 เดือน เพราะต้องการลดพนักงานอย่างรวดเร็ว แต่ก็จะมีกำหนดจำนวนคนไว้ ว่าต้องการกี่คน หรืออีกวิธีหนึ่ง จะใช้วิธีโยกย้ายไปอยู่ตำแหน่งอื่น ทำให้เหมือนลดชั้น กดดันหรือบีบให้ออก เป็นกลยุทธ์ที่ฝ่ายบุคคลของบางบริษัทเลือกใช้ แต่ในทางกฎหมายแล้ว การกระทำแบบนี้ของนายจ้าง ถือเสมือนเป็นการเลิกจ้าง จะ ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้าง สิ่งสำคัญคือลูกจ้างต้องรู้สิทธิของตนเองในเรื่องเหล่านี้
“ การไปเพิ่มเงื่อนไข ภาระให้พนักงาน แล้วพนักงานไม่สมัครใจ อาจจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างได้ เช่น ไปเปลี่ยนแปลงงานหน้าที่ ให้ไปทำสิ่งที่ไม่ถนัด ย้ายให้ไปทำงานที่ต้องเดินทางไกลๆ เช่นเคยทำงานรัชดาภิเษก จู่ๆย้ายให้ไปทำที่อยุธยา กฎหมายคุ้มครองเขียนไว้เลยว่าเป็นการเพิ่มภาระ หากพนักงานไม่สมัครใจไป ก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้างเลย นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าคุ้มครองต่างๆ ตามกฎหมายบัญญัติไว้ การกลั่นแกล้ง กดดันให้ออก ก็ถือเป็นการเลิกจ้างเช่นกัน ”
การที่บริษัทต่างๆ มี “สหภาพแรงงาน” ส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีและมีความสำคัญมากของลูกจ้าง เพราะแสดงถึงความสามัคคีของลูกจ้างทั้งหมด อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นแกนหลักของลูกจ้างในการไปพูดคุยกับนายจ้าง เป็นตัวแทนทำหน้าที่เป็นปากเสียง ปกป้องเรียกร้องสิทธิให้กับลูกจ้าง และยังมีส่วนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างลูกจ้างด้วยซ้ำ
“ อีกประเด็นหนึ่ง ที่บริษัทใหญ่ๆหลายแห่งจัดทำให้เป็นสวัสดิการของลูกจ้าง แม้กฎหมายจะไม่ได้บังคับว่าต้องมี คือเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่กองทุนตรงนี้ จะเป็นเหมือนเงินออมสะสมของลูกจ้าง ที่นายจ้างต้องจ่ายสมทบให้ด้วย ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก มองอีกมุมก็เสมือนเป็นการขึ้นเงินเดือน เพียงแต่เงินตรงนี้ถูกสะสมไว้เป็นกองทุน ทำให้ลูกจ้างมีความมั่นคงในการทำงานมากขึ้น และอยากอยู่กับบริษัท เป็นตัวแปรในการตัดสินใจจะย้ายที่ทำงานด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับความพร้อมของนายจ้างและลูกจ้างด้วย ”
ลูกจ้างต้องอ่านก่อนเซ็น
ตั้งสติให้ไวถ้าถูกเลิกจ้าง รีบรักษาสิทธิที่พึงมี
ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ กล่าวว่า อะไรก็ตามที่นายจ้างออกมา ถ้าขัดกับกฎหมายก็ถือว่าเป็นโมฆะหมด ถึงลูกจ้างจะเซ็นไปก็ไม่มีผล แต่สิ่งที่สำคัญ แม้ว่ากฎหมายจะคุ้มครองลูกจ้าง แต่ก่อนที่จะเซ็นเอกสารอะไรก็ตาม ลูกจ้างเองควรอ่านรายละเอียดให้ดีและรอบคอบ
“ สำหรับลูกจ้างแล้วเมื่อถูกเลิกจ้าง ประการแรกต้องทำใจ เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่บังคับให้นายจ้างไม่เลิกจ้างเราและให้เราอยู่ตลอดไป ดังนั้นต้องทำใจก่อนแล้วรีบตั้งสติ เพื่อเดินไปข้างหน้า หางานหรือจะตั้งหลักอย่างไร ถัดมาต้องรู้สิทธิของตนเอง ว่ามีสิทธิอะไรบ้าง ไม่ว่าฝ่าย HR หรือนายจ้างจะแจ้งเราหรือไม่ก็ตาม แต่เราต้องรู้สิทธิของตัวเอง เช่น ต้องได้รับเงินค่าอะไรบ้าง เมื่อไหร่ ถ้านายจ้างไม่จ่าย เราก็ต้องไปเรียกร้องเพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง รวมถึงรู้ในสิทธิอื่นๆที่เรายังมีอยู่ เช่น เงินทดแทนกรณีว่างงาน ต้องไปขึ้นทะเบียนว่างงานผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน ภายใน 30 วัน และรายงานตัวออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้เสียสิทธิในการรับเงินทดแทน หากเป็นกรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานนาน 180 วัน ได้รับ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย สูงสุด 15,000 บาท เช่น ค่าจ้างเฉลี่ย 10,000 บาท ก็จะได้รับ 5,000 บาท ต่อเดือน ส่วนเรื่องสิทธิประกันสังคม แม้ถูกเลิกจ้าง แต่ลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลต่อไปอีกสูงสุดถึง 6 เดือน
“ อยากจะฝากถึงนายจ้างหรือเจ้าของทุน แม้ในโลกธุรกิจในปัจจุบัน จะเกิดการแข่งขันสูง ตลอดจนความเป็นเป็นที่แต่ละองค์กรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปก็ตาม แต่สิ่งที่นายจ้างจะต้องคำนึงถึงอีกด้านหนึ่งก็คือ จริยธรรมของนายจ้าง ที่จำเป็นต้องใส่ใจถึงชีวิตของคนที่เคยทำงานและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่นายจ้าง เมื่อถึงวันที่ทุกฝ่ายต้องจำใจจาก ก็ควรดูแลลูกจ้างให้มากที่สุดเท่าที่องค์กรจะสามารถทำได้ และต้องไม่ต่ำกว่าสิทธิตามกฎหมายด้วย อย่าลืมว่ากิจการของท่านเติบโตมาได้เพราะตัวลูกจ้าง เวลาที่ท่านจะจากก็ควรจะใช้ความรู้สึกของความเป็นนายจ้างที่มีจริยธรรม
ส่วนกลุ่มผู้บริหาร หรือ CEO ท่านสวมหมวก 2 ใบ นอกจากเป็นนายจ้างแล้ว ท่านยังเป็นลูกจ้างด้วย วันหนึ่งท่านเองก็อาจจะถูกเจ้าของทุน บอกเลิกจ้างได้เช่นกัน ดังนั้นอยากให้ใช้ความรู้สึกของความเป็นมนุษย์คำนึงถึงคนอื่นด้วย” อดีตเลขาธิการสภาทนายความ กล่าวทิ้งท้ายให้คิด
4 ข้อ ต้องจำ! หากถูกเลิกจ้าง
อีก 1 นักกฎหมาย นราธิป ฤทธินรารัตน์ สำนักกฎหมายเนตินรา ทนายผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงาน ที่ย้ำถึงแนวทางของลูกจ้างที่ต้องจำ 4 ข้อหลักหากถูกเลิกจ้าง โดยบอกว่าสิ่งแรกที่ลูกจ้างต้องทำคือ การขอหนังสือรับรองการทำงานจากบริษัท เพราะไม่ว่าจะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานด้วยเหตุถูกเลิกจ้าง โดยจ่ายค่าชดเชย หรือถูกไล่ออก โดยไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย แต่นายจ้างจะต้องออกหนังสือรับรองการทำงานให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 585 โดยไม่มีเงื่อนไข
โดยกรณีที่ได้รับเงินค่าชดเชย ให้ตรวจสอบว่าบริษัทจ่ายค่าชดเชยถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งได้รับเงินค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือเงินอื่นๆที่คงค้างครบถ้วนหรือไม่ หลังจากนั้น ให้ไปแจ้งต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อขึ้นทะเบียนคนว่างงาน ส่วนกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับการถูกเลิกจ้าง ให้พยายามเก็บรวบรวมหลักฐานจากการทำงานให้ได้มากที่สุด เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบในการยื่นฟ้องร้องต่อศาล
“ กรณีการลดเงินเดือน ต้องไปดูพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์มาตรา 5 ระบุความหมายของคำว่าสภาพการจ้าง หลักสำคัญก็คือเงินค่าจ้าง ถือเป็นสภาพการจ้าง แต่ตามมาตรา 20 ของกฎหมายเดียวกันนี้ บอกเอาไว้ว่าในการที่จะเป็นลดเงินค่าจ้าง หรือลดสวัสดิการใดๆ นายจ้างไม่สามารถกระทำได้ ถ้าไม่เป็นคุณต่อตัวพนักงาน แต่ก็มีข้อแม้ เว้นแต่การขอลดต่างๆ บริษัทและลูกจ้างตกลงกันแล้วทำเป็นข้อตกลง หรือเป็นกรณีเป็นการเปลี่ยนไป แล้วลูกจ้างยอมรับไปโดยปริยาย เช่น บริษัททำหนังสือแจ้งว่าขอลดเงินเดือน แล้วลูกจ้างไม่โต้แย้งอะไร หากผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ลูกจ้างไปฟ้อง ศาลก็จะไม่รับ เรื่องนี้เคยมีฎีกา 1921/2545 เรื่อง แนวทางการลดค่าจ้างของบริษัทที่มักใช้อย่างแนบเนียนมาแล้ว แต่ทั้งนี้ในกฎหมายไม่ได้ลงระบุระยะเวลาการโต้แย้ง แต่ส่วนใหญ่ระยะเวลาที่ศาลมอง ก็จะไม่เกิน 1 ปี
ปัญหาหนึ่งที่มักพบคือ ลูกจ้างหลายคน กลัวว่าหากไปโต้แย้ง จะถูกเพ่งเล็งจากนายจ้าง หรือถูกกลั่นแกล้งมีผลกระทบตามมา
“ โดยปกติเวลานายจ้างจะปรับลดคน มักจะทำเป็นกลุ่ม ทางออกตรงนี้ คือ ลูกจ้างก็อาจจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน ไปทำหนังสือหรืออีเมล์ชี้แจง ไปยื่นในนามแผนก หรือทีม ว่าการปรับลดลักษณะนี้ ส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง เช่นเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆที่มันปรับสูงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ ”
ส่วนกรณีที่ถูกบอกเลิกจ้าง สิทธิของลูกจ้างจะไปอยู่ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานมาตรา 118 ที่บริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยตามอายุงาน ซึ่งกฎหมายระบุว่าการจ่ายเงินชดเชย จะต้องจ่ายเงินก้อนในวันที่เลิกจ้างเลย แต่ก็สามารถทำหนังสือบันทึกข้อตกลงแยก ขอผ่อนจ่ายได้ แต่ก็จะต้องได้รับการยินยอมจากลูกจ้างด้วยเช่นกัน
“ การที่บริษัทจะมาขอผ่อนจ่ายเงินชดเชย หากลูกจ้างไม่เซ็นยินยอม หรือไม่เซ็นรับทราบในบันทึกแจ้ง ก็ถือเสมือนว่าเราไม่ได้สนองรับ ดังนั้นบันทึกข้อตกลงสัญญาพวกนี้ ก็ไม่เกิดผล ก็ต้องกลับไปใช้กฎหมายหลักคือนายจ้างต้องจ่ายทั้งหมดภายในวันที่เลิกจ้าง ถ้าไม่จ่ายนายจ้างจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ทำการเลิกจ้าง แต่ถ้าลูกจ้างเซ็นแล้ว เมื่อถึงวันตามที่นายจ้างระบุ ยังไม่มีการจ่าย ลูกจ้างก็สามารถไปฟ้องร้องที่ศาล เพื่อรักษาสิทธิตามกฎหมายได้ ”
เปิดช่องทางเรียกร้องสิทธิ “ เงินชดเชย ”
ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านคดีแรงงาน กล่าวว่าในการเรียกร้องเงินที่เป็นค่าชดเชย ลูกจ้างสามารถเรียกร้องได้ 2 วิธีหลักๆ คือ
1. ไปที่ศาลแรงงานกลาง จะมีนิติกร หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของศาล ทำเรื่องร่างคำฟ้อง คำร้องให้ แล้วจะยื่นคำฟ้องให้ภายในวันนั้นเลย โดยศาลจะนัดนายจ้างมาไกล่เกลี่ยภายใน 1-2 เดือน ถ้าคุยจบ จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล แล้วให้นายจ้างจ่ายเงินให้ในวันนั้นเลย
2. ไปที่สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ตนเองทำงานอยู่ วิธีนี้จะเร็วกว่า ใช้เวลาแค่ 7 – 14 วัน จะมีหนังสือเรียกนายจ้างมาชี้แจง โดยมีกรอบระยะเวลาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างไปร้อง
“ถ้าถามว่าวิธีไหนดีกว่า ผมแนะนำว่าให้ไปที่สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน เพราะถ้ามีคำสั่งแล้วนายจ้างไม่จ่าย นายจ้างจะโดนโทษคดีอาญาด้วย ข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ”
ส่วนกรณีที่คิดว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรม จะใช้สิทธิได้แค่ทางเดียว คือ ไปที่ศาลแรงงาน ความหมายที่ศาลจะมองคือ เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลสมควรเพียงพอหรือไม่ และเป็นการกลั่นแกล้งพนักงานหรือไม่ เช่น ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร แต่กลับเอางานไปจ้างหน่วยงานภายนอกทำ
“ ศาลฎีกาเคยวางหลักว่าการเลิกจ้าง ให้เลือกคนกลุ่มที่อายุงานน้อย เงินเดือนน้อย มีหนังสือตักเตือน มีประวัติการลามาก ออกไปก่อน แต่โดยทั่วไปเวลาเลือกจริงๆ นายจ้างก็มักจะมาจากชอบไม่ชอบใคร ซึ่งตรงนี้ถ้าเราไม่เห็นด้วย ก็ต้องนำเอกสารหลักฐานไปติดต่อที่นิติกรแรงงาน เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเราไม่เห็นด้วยเพราอะไร อย่างไร และเราได้รับความเดือดร้อนอย่างไรบ้าง ศาลจะมีการกำหนดไว้เรื่องของค่าเสียหายอยู่แล้วตามอายุงาน แต่ลูกจ้างสามารถเรียกร้องเป็นตัวเลขที่สูงไว้ก่อนเพื่อจะไปต่อรองได้ ”
ลดเงินเดือนไม่ได้ เว้นแต่พนักงานยินยอม
การลดเงินเดือนพนักงาน ไม่ว่าจะมากหรือน้อย แล้วจะไปจ่ายคืนให้ภายหลัง ตัดค่าเดินทาง หรือค่าโทรศัพท์ที่ให้เป็นประจำ ในอัตราที่เท่ากันทุกเดือนโดยไม่มีเงื่อนไข เหล่านี้ตามกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานมาตรา 14/1 แล้วไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายระบุไว้ว่านายจ้างจะทำระเบียบ หรือข้อบังคับประกาศใด ที่เอาเปรียบลูกจ้างไม่ได้ กฎหมายไม่ให้สิทธิกับบริษัทในเรื่องนี้
“ เว้นแต่อย่างเดียวคือ พนักงานยินยอม แต่หากไม่ยินยอม พนักงานก็สามารถรักษาสิทธิของตนเอง ด้วยการทำหนังสือยื่นในนามแผนก หรือทำเป็นอีเมล์ เพื่อแสดงออกว่าไม่ยินยอม ด้วยเหตุผลอะไร เช่น มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายต่างๆ
สิ่งที่สำคัญที่สุด เวลาเกิดประเด็นพิพาทขึ้น คือเอกสาร ข้อความต่างๆ ที่แสดงออกว่าเราไม่ยอมรับ เพราะการไปติดต่อศาล หรือคุ้มครองแรงงาน ต้องมีเอกสารหรือข้อความที่แสดงออกว่า"เราไม่ยอมรับ"
แฉ! เล่ห์บริษัทเล่นแร่แปรธาตุ เอาเปรียบลูกจ้าง
“ คดีแรงงานมีเจอหลายเคส โดยเฉพาะช่วงโควิดที่บริษัทเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชย มีบริษัทหนึ่งต้องหยุดกิจการ ก็หลอกให้พนักงานกว่า 50 คนเขียนใบลาออก เพื่อไปรับสิทธิจากประกันสังคม และบริษัทไม่ต้องจ่ายชดเชย โดยบอกว่าถ้าบริษัทกลับมาเปิดจะรับกลับมาใหม่ แต่พอถึงเวลา ก็ไม่รับกลับ อ้างว่าลูกจ้างเขียนใบลาออกเอง อีกกรณีที่เจอบ่อย คือ การส่งพนักงานไปทำงานไกลๆ และไม่ตรงกับความสามารถ เจตนากลั่นแกล้งให้ทนอยู่ไม่ได้เอง พอพนักงานไม่ไป ละทิ้งหน้าที่ก็ออกหนังสือเลิกจ้าง หรือแม้แต่การยกเลิกการ work from home แต่ไม่เขียนเงื่อนไขการเพิ่มเงินตอนที่ให้กลับมาทำงานในบริษัท ถ้าไปดูที่ศาลแรงงานจะมีอะไรแบบนี้ทุกเดือน มีหลายรูปแบบ หลายกรณี โดยเฉพาะช่วงหลังๆมานี้ ที่มีปัญหาเลิกจ้างกันเยอะ ”
สหภาพแรงงาน คือปากเสียงสำคัญของลูกจ้าง
“ มีการสำรวจล่าสุดว่ากิจการในประเทศไทยในจำนวน 1 แสนกิจการ มีกิจการที่มีสหภาพแรงงานแค่ 300 กิจการเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วสหภาพแรงงาน มีบทบาทและความสำคัญมาก ที่จะเป็นปากเสียง ปกป้องสิทธิ ดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพชีวิตให้แรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสื่อ เพราะเป็นงานที่มีความเครียด ทำงานแข่งกับเวลา แต่ในขณะเดียวกัน การจัดตั้งสหภาพควรมีการคัดเลือกและหมุนเวียน เพื่อไม่ให้มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามา ”
ซึ่งสหภาพมี 2 แบบ สหภาพเดี่ยว ที่เป็นของบริษัทนั้นๆ และสหภาพรวม ที่ดูแลประเภทกิจการเดียวกัน ถ้าบริษัทที่เราทำงาน ไม่มีสหภาพ ลูกจ้างก็อาจจะไปเข้าร่วมในสหภาพกลางแทนก็ได้ แต่ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาการต่อสู้เรียกร้องของสหภาพเอง ก็จะถูกเพ่งเล็งจากบริษัท โดยเฉพาะกรรมการสหภาพ
นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นสวัสดิการที่ดีให้กับลูกจ้าง คือการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นเงินสำรองที่จะไว้ใช้ในอนาคต เหมือนกับข้าราชการที่จะมีกองทุนบำเหน็จบำนาญ แต่กฎหมายไม่ได้มีการบังคับว่า ทุกบริษัทจะต้องมี ดังนั้นการเรียกร้องให้นายจ้างจัดทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานควรมีโครงสร้างเงื่อนไข เช่น หากบริษัทมีผลกำไรมากเท่าไหร่ ก็ขอให้จัดทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน เพื่อเป็นแรงจูงใจว่าบริษัทจะได้ประโยชน์จากการทำงานของลูกจ้าง แม้บริษัทจะต้องจ่ายเพิ่มก็ตาม
อย่าเสี่ยงเซ็น ถ้าไม่อ่านเอกสารให้รอบคอบ
“ ปัญหาหนึ่งที่พบมากในคดีแรงงาน คือ การเซ็นเอกสารรับทราบการพ้นสภาพพนักงาน ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ร้อยละ 90 จะมีข้อความระบุว่า “ จะไม่ยื่นฟ้อง ไม่เอาเรื่อง ทั้งทางแพ่งและทางอาญา ” ข้อความแบบนี้เข้าลักษณะของสัญญาประนีประนอมยอมความ หากเซ็นไปจะไม่สามารถไปฟ้องเรียกร้องเงินอื่นๆ เช่น ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้อีก จึงเป็นช่องโหว่ ให้แต่ละบริษัทนำมาใช้บ่อยครั้ง
บางบริษัทใช้เหลี่ยมเอาข้อความนี้ไปใส่ในเอกสารการรับเงิน เมื่อเซ็นไปแล้วข้อความก็จะมีผล และเวลาที่ศาลวินิจฉัย จะมองว่าหากทำงานในระดับที่มีวุฒิภาวะ มีความรู้และต้องเจอเอกสารทุกวัน ศาลจะคาดหมายว่าน่าจะได้อ่านและเข้าใจข้อความดีแล้วก่อนเซ็น ซึ่งก็จะมีผลในการไปต่อสู้คดี กรณีแบบนี้ ถ้าไปสู้คดี ก็มักจะแพ้คดีหมด จึงอยากให้ลูกจ้างระมัดระวังในการเซ็นเอกสาร อ่านให้ดีและรอบคอบทุกครั้ง”
“ อยากฝากคำแนะนำสำหรับลูกจ้าง ย้ำเลยว่า ต้องรู้และรักษาสิทธิตามกฎหมายของตนเอง หากถูกเลิกจ้างเงินค่าชดเชยเราต้องได้และต้องได้ครบถ้วนตามอายุงาน และต้องรู้ว่ามีหน่วยงานของรัฐที่ช่วยเหลือในการฟ้องร้องได้ ดังนั้นไม่อยากให้ลูกจ้างไปเกรงกลัว บางคนมองว่าบริษัทใหญ่จะมีอำนาจเยอะ แต่เวลาศาลตัดสิน ท่านตัดสินตามเนื้อหา ที่สำคัญหากจะไปเรียกร้องสิทธิต่างๆ อยากให้รวมกลุ่มไปพร้อมๆกัน เพราะจะทำให้เสียงของลูกจ้างมีน้ำหนักและดังมากขึ้น
ส่วนนายจ้างเอง อยากให้มองถึงวันที่ลูกจ้างทำผลประโยชน์ให้บริษัทและองค์กรของท่าน ทำให้ท่านมีรายได้ มีอยู่มีกิน มีเงินปันผล เมื่อถึงวันที่ลูกจ้างไม่สามารถทำเงินให้ แต่ก็ยังทำงานให้เหมือนเดิม และหนักกว่าเดิมด้วย ก็อยากให้นายจ้างเห็นใจและทำทุกอย่างโดยตั้งอยู่บนขั้นตอนของกฎหมาย หากจะเลิกจ้าง ก็ควรจ่ายเงินและทุกอย่างตามกฎหมาย อย่าใช้เล่ห์เหลี่ยม บางบริษัทใช้วิธีถ่ายโอนทรัพย์สินออกไป พองบบัญชีออกมา ไม่มีทรัพย์สิน ก็อ้างว่าสามารถจ่ายให้ลูกจ้างได้เพียงเท่านี้ ” ทนายผู้เชี่ยวชาญด้านคดีแรงงานกล่าว
ค่าชดเชยหากถูกเลิกจ้าง
ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง อดีตเลขาธิการสภาทนายความ อธิบายว่า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้
อายุงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
อายุงาน 1 – 3 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
อายุงาน 3 – 6 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
อายุงานครบ 6 – 10 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
อายุงานครบ 10 – 20 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน
อายุงาน 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน
การที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยกระทันหันคือนายจ้างไม่บอกกล่าวล่วงหน้า นายจ้างจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าหรือ “ค่าตกใจ” ดังนี้
เลิกจ้างทั่วไป นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง เช่น ถ้าได้ค่าจ้างทุก 30 วัน นายจ้างต้องแจ้งเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย 30 วัน ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน
เลิกจ้างเพื่อปรับปรุงหน่วยงาน ลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน
หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้ง จะได้เงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน
เลิกจ้างเพราะย้ายสถานประกอบกิจการ ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้งจะได้รับเงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
นอกจากนี้ในกรณีที่มีการบอกล่วงหน้า แต่ลูกจ้างไม่ต้องการย้ายไปทำงานที่ใหม่ ก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 50% ของค่าชดเชยถูกเลิกจ้างที่มีสิทธิได้รับ
ระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชย
นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างภายในวันสุดท้ายที่ทำงาน หากลูกจ้างไม่ได้รับสามารถร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ เพราะถือว่าถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม